xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โรงไฟฟ้าขยะเจอแต่ “สายแป๊ก” “บิ๊กป๊อก” ดิ้นรนไปทำไมมี โมเดลพื้นที่ทหารยินดีต้อนรับคือคำตอบสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

-ชาว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ รวมตัวกันหลายร้อยคน นำรถอีแต๊ก-อีแต๋นนับร้อยคันตั้งขบวนริมถนนสายหนองบัว-นครสวรรค์ บริเวณหน้าวัดหนองบัว ล่าชื่อถวายฎีกาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ และเตรียมเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ หลังจากที่เคลื่อนไหวคัดค้าน-ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้งตลอดปีกว่าที่ผ่านมาแต่ไม่เป็นผล
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังย่ำอยู่กับที่แม้จะมี “อำนาจพิเศษ” ก็ไม่อาจทำให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เฝ้าเพียรผลักดัน เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเหลียวมองไปทิศทางไหนก็เจอแต่สายแป๊ก จะมีแต่เพียง “โมเดลพื้นที่ทหารยินดีต้อนรับ” เท่านั้นที่พอจะขยับได้บ้าง

ทั้งนี้ หนึ่งเดือนที่มหาดไทยตั้งเป้าเร่งเคลียร์ปัญหากองขยะทั่วประเทศ วางหมุดหมายสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะให้เห็นหน้าเห็นหลัง พร้อมทั้งให้กระทรวงพลังงาน เปิดโควตารับซื้อเพิ่มไว้รอรับ แต่แรงต้านยังแรงทุกพื้นที่จนกลุ่มทุนผวา ข้าราชการก็ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรบุ่มบ่าม

จึงไม่น่าแปลกใจที่สถานะโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานว่า มีโครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตรวม 53 โครงการ รวมกำลังผลิตประมาณ 300 เมกะวัตต์ และหลายพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมจะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะได้อีก 324 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่มีขยะมูลฝอยเกินกว่า 500 ตัน/วันขึ้นไป รวม 10 กลุ่ม กลุ่มที่มีขยะมูลฝอยตั้งแต่ 300-500 ตัน/วัน จำนวน 11 กลุ่ม และกลุ่มที่มีขยะมูลฝอยน้อยกว่า 300 ตัน รวม 303 กลุ่ม โดยภาพรวมแล้วต่างยังอยู่ในสภาพแน่นิ่ง ฝ่าแรงต้านไปต่อไม่ได้

ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงคิวของจ.นครสวรรค์ ที่ชาวหนองบัว ลุกฮือระดมอีแต๊ก-อีแต๋น ตั้งขบวนมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อถวายฎีกาคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ในพื้นที่หมู่ 17 ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ จนทหาร-ฝ่ายปกครอง ต้องรีบรุดเจรจาหยุดทัพชั่วคราวไว้ก่อน 3 วัน

โครงการดังกล่าว ลงทุนโดยบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ลงมือก่อสร้างไปแล้วกว่า 20% ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้านที่ร้องเรียนมาแล้วหลายหน่วยงานแต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนต้องระดมอีแต๊ก-อีแต๋น เข้ากรุงนั่นแหละจึงเป็นเรื่องขึ้นมา

เหตุผลที่ชาวหนองบัวคัดค้านโครงการ เพราะมีข้อห่วงกังวลและชวนสงสัยหลายประการ ทั้งที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขยะที่อยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (เทือกเขาพระ-เขาสูง) ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาของอ.หนองบัว และใกล้ชุมชุม วัด โรงเรียน โรงพยาบาล, การจัดประชุมรับฟังความเห็นที่ไม่โปร่งใส, ข้อกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน, การนำขยะจากชลบุรีและเพชรบูรณ์มาเผากำจัดที่หนองบัว ขัดต่อมติครม. และการออกใบอนุญาตต่างๆ มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ1) ใบรับแจ้งขุดดิน/ถมดิน ของ อบต.หนองบัว เป็นต้น

ปัญหาและข้อห่วงกังวลมากมายนั้นจะเคลียร์ได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนราชการ บริษัท และชาวบ้าน ที่เพิ่งตั้งขึ้นช่วงหยุดม็อบอีแต๋นว่าจะคุยกันรู้เรื่องหรือไม่ เพราะเอาแค่จะส่งตัวแทนมาร่วมเป็นอนุกรรมการทางฝ่ายบริษัทก็เกี่ยงไม่อยากเข้าร่วมเสียแล้ว

ไม่ใช่แต่เพียงเมืองปากน้ำโพ ที่มีปัญหา หลายจังหวัดในภาคเหนืออยู่ในสภาพเดินหน้าต่อไม่ได้ ตามที่ “ศูนย์ข่าวภูมิภาค ผู้จัดการ” สำรวจตรวจสอบ อย่าง จ.พิษณุโลก ที่ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าขยะถึง 3 แห่ง ก็นิ่งสนิท โดยแห่งแรก บริษัท วีเค เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เทรดดิ้ง ยื่นเรื่องขออนุญาต ลงวันที่ 24 มิ.ย. 56 ขอสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 63 ไร่ บ้านตลุกแรด ม.16 ต.บางระกำ อ.บางระกำ แต่เจอต้านจากชาวบ้านจนบัดนี้ยังเงียบ

ส่วนอีกแห่งคือโครงการของ บริษัท อีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด บนผืนนา 60 ไร่ หลังวัดบ้านป่า อ.เมืองพิษณุโลก ประมาณ 2 กม. หลังจากผู้ว่าฯ ซุ่มลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ตามด้วยโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาด 10 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,700 ล้านบาท เมื่อ 6 ส.ค. 2558 ปรากฏว่า ระหว่างทำอีไอเอและรับฟังความเห็นจากชาวบ้านก็ถูกต้านจนต้องล้มเลิก ว่ากันว่านักลงทุนสูญเงินมัดจำค่าที่ดินและเงินก้อนใหญ่ที่ใช้เบิกทางไปหลายสิบล้าน

อีกรายที่ลงทุนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ต.บ้านกร่าง ต.ไผ่ขอดอน อ.เมืองพิษณุโลก นับร้อยไร่เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 9 เมกะวัตต์ แต่ก็ถูกชาวบ้านรวมตัวประท้วง-ยื่นหนังสือคัดค้านถึงผู้ว่าฯ พิษณุโลก เมื่อ 6 ก.พ. 2560 เพราะหวั่นผลกระทบจนต้องพับไป
  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ส่วนอุตรดิตถ์ มีแผนโครงการโรงไฟฟ้าขยะแต่ก็เงียบหายไป ขณะที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ก็มีการคัดค้าน ขณะที่พิจิตร แม้จะหลีกเลี่ยงการทำประชาคมด้วยการขอตั้งโรงไฟฟ้าขยะภายในนิคมอุสาหกรรมพิจิตร แต่สุดท้ายเจอประท้วงไม่ให้เอาขยะไปทิ้งในนิคมฯ ด้าน อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล ใช้เฉพาะวัสดุจากเศษไม้เท่านั้น และที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร มีแผนตั้งโรงไฟฟ้า แต่ทำประชาคมไม่สำเร็จ สำหรับสุโขทัย เทศบาลฯ ยังใช้แนวทางกำจัดขยะระบบคัดแยกและฝังกลบ

ขณะที่โรงงานขยะเทศบาลนครเชียงราย ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่บ้านดงป่าเหมี้ยง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ด้วยงบ230.9 ล้านบาท แต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ด้วยติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ โดยเทศบาลนครเชียงราย ต้องการให้เป็นสถานที่กำจัดขยะในลักษณะคลัสเตอร์เพื่อให้มีขยะเพียงพอและคุ้มทุนในการดำเนินงาน แต่เทศบาลตำบลห้วยสัก ไม่เห็นด้วยทำให้ปัญหาค้างคาจนถึงขณะนี้

สรุปได้ว่า โรงไฟฟ้าขยะสายภาคเหนือจนถึงทุกวันนี้ต่างนิ่งเงียบ แม้ว่าเอกชนบางรายควักกระเป๋าลงทุนทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะหลายสิบล้านเพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่การขออนุญาต ทำอีไอเอ ทำประชาคม ฯลฯ ซึ่งต้องจ่ายตั้งแต่ระดับพื้นที่ในจังหวัดจนถึง “กระทรวงคลองหลอด” ไปแล้วก็ตาม

สำหรับโซนภาคกลาง ที่ จ.เพชรบุรี กำลังคุกรุ่นได้ที่ เพราะชาวบ้านกำลังรวบรวมข้อมูลยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ภายในต้นเดือน ก.ย. นี้ เพื่อให้ระงับโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่ง บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด (WPP) เข้ามาเช่าพื้นที่บ่อขยะเก่าจาก ดร.ปรีดา หวานใจ เจ้าของที่ดินเอกชน เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการขยะเพชรบุรี ด้วยการขุดขยะเก่าในบ่อที่มีขยะสะสมกว่า 3 แสนตัน ขึ้นมาผสมขยะใหม่ที่เข้ามาทุกวัน และนำไปผลิตไฟฟ้า ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ตามเป้าจะสร้างโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าและดำเนินการได้ภายในปี 2561

ส่วนอีกแห่งที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาขออนุญาตสร้างโรงกำจัดขยะเพิ่มในพื้นที่หลังวัดเขาทะโมน ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ ชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าพื้นที่ของ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ที่ขอใช้เป็นโรงงานกำจัดขยะนั้น มิได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยในจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2559-2560 และแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเพชรบุรี ปี 2558-2562 และโรงแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้าที่อ.ท่ายาง ก็น่าจะเพียงพอต่อการกำจัดขยะของจังหวัดแล้ว

ส่วนที่ จ.อ่างทอง ล่าสุด เทศบาลเมืองอ่างทอง และองค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช ร่วมกับบริษัท สยาม เวสท์ เพาเวอร์ จำกัด เริ่มโครงการบริหารขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงตามโรดแมปแล้วเช่นกัน แต่จะดันไปได้สำเร็จหรือไม่ต้องรอลุ้น

สำหรับสายใต้ เวลานี้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่เทศบาลเมืองกระบี่ที่ดึง บริษัท อัลไลแอนซ์คลีนเพาเวอร์ จำกัด หรือ ALCP ร่วมลงทุนนับพันล้าน บริเวณพื้นที่ฝังกลบขยะของเทศบาลฯ ในพื้นที่บ้านทับไม้ ม.1 ต.ไสไทย และ ม.1 ต.ทับปริก อ.เมือง ภายในบ่อกำจัดขยะปัจจุบันของเทศบาลเมืองกระบี่ เนื้อที่ 250 ไร่ ตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ แต่เวลานี้ ชาวบ้านในช่อง จ.กระบี่ ออกโรงคัดค้านหวั่นทำชุมชนวิบัติ เหตุพื้นที่ไม่เหมาะสม ใกล้ชุมชน ที่ผ่านมาแค่ปัญหากองขยะกลิ่นเน่ายังแก้ไม่ได้ มาแนวนี้ก็คงแจ้งเกิดได้ยาก

ส่วนที่จ.สงขลา กลุ่มรักถิ่นเกิด ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะของอปท.สงขลา ที่ต.เกาะแต้ว ที่มีกำลังการเผาขยะ 700 ตันต่อวัน มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาบ่อฝังกลบขยะขนาด 200 ไร่ ที่อยู่ใกล้เคียงก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านหนักหน่วงอยู่แล้ว

โครงการที่พอเป็นไปได้ในขณะนี้ อาจเป็นโรงไฟฟ้าขยะ จ.อุดรธานี กำลังผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานี ได้จัดหาบริษัทเอกชนมาดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอย แบบ Refuse Derived Fuel หรือ RDF เมื่อปี 2559 และได้ บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มาดำเนินการ ขณะนี้กำลังยื่นขออนุมัติจากรมว.กระทรวงมหาดไทย ยกเว้นระเบียบประกวดราคาเพื่อให้ทันขั้นตอนยื่นขอสายส่งที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือนก.ย.2561

ทั้งนี้ บริษัทจัดซื้อที่ดินใกล้บ่อขยะเทศบาล ที่ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ลงมือก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะคืบหน้าไปแล้ว 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานี มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเพราะผ่านประชาพิจารณ์มาแล้วสองรอบและได้รับการเห็นชอบจากชุมชนในพื้นที่โดยรอบ

ส่วนอีกแห่งที่คาดว่าจะแจ้งเกิดได้เพราะใช้โมเดลเขตทหารยินดีต้อนรับ ก็คือ จ.กาญจนบุรี โดยใช้พื้นที่ของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ บริเวณเขาเชิงทอง หมู่ 5 ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 100 ไร่ จุดที่ทิ้งขยะเดิมของจังหวัดที่มีปริมาณขยะสะสมไม่ต่ำกว่าล้านตัน ซึ่งผู้ว่าฯ ได้อนุมัติงบจ้างม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่และรูปแบบการบริหารจัดการขยะเขาเชิงทอง โดยผลศึกษาเบื้องต้น ชาวบ้าน 9 หมู่บ้าน ในรัศมี 5 กม. เห็นด้วยให้ปรับปรุงบ่อขยะเชิงทอง 66.28% และเห็นด้วยกับระบบเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 65.3% จากนี้จะสรุปและเปิดเผยผลศึกษาต่อไป

เจอสายแป๊กทั่วประเทศ ดูท่า มท.1 ต้องคิดใหม่ ย้ายโรงไฟฟ้าขยะเข้าเขตทหารอย่างจริงจังเสียที เพราะแทบไม่มีแรงต้าน เพียงแต่ต้องทำ “ตัวอย่าง” ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า “ไร้ปัญหา” เท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น