ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ว่าด้วยเรื่องกีฬา สัปดาห์นี้ กำลังจะเข้าโค้งสุดท้ายกับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ฝั่งในประเทศเอง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแต่งตั้ง ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คนที่ 13 ประมุขคนใหม่ของคนกีฬา เป็นการนั่งเก้าอี้ต่อจาก “บิ๊กเสือ”นายสกล วรรณพงษ์ หลังคณะกรรมการสรรหา ผู้ว่าฯกกท. เทคะแนนให้เป็นอันดับที่ 1 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ดร.ก้องศักดิ์ เป็นบุตรชาย ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ยุคขิงแก่ เป็นหลานของ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวง และองค์กรต่างๆ มาแล้วมากมาย โดยจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระหว่างปี 2561-2564
ตามสัญญาจ้างผู้ว่าฯกกท.แล้ว รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นผู้ลงนามตกลงรับจ้างตามสัญญาจ้าง ปฏิบัติงานบริหารในตำแหน่ง
โดยมีอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบอัตราค่าตอบแทน “ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย”คงที่ 213,000 บาทต่อเดือน และเมื่อครบกำหนดทุก 1 ปี อาจปรับขึ้นค่าตอบแทนคงที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนคงที่ ยังมีค่าตอบแทนพิเศษประจำปี ตามผลประกอบการของ กกท. และผลการประเมินการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการ กกท. กำหนดอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปีรวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการ กกท. เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาอัตราเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่น รวมทั้งเงื่อนไขการจ้างของผู้ว่าฯ กกท. เป็นไปตามพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 มาตรา 21 กำหนด
ขณะนี้“ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย”ก็ได้เริ่มปฏิบัติงานแล้ว โดยเฉพาะกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่กำลังแข่งกันอยู่
อีกเรื่องหนึ่งของ “การกีฬาแห่งประเทศไทย”หลังจากมีการออก “ร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การส่งเสริมหรือการสนับสนุนเพื่อการดำเนินกิจกรรมกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา และการเตรียมนักกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ พ.ศ. ....”
แต่มาติดตรงว่า ใคร ?? จะเป็นผู้จัดทำแผนงานโครงการ และเป็นผู้มีสิทธิยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ตามข้อ 7 และข้อ 8 ของร่างประกาศดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข หาก กกท. จะเป็นผู้จัดทำแผนงานโครงการ และเป็นผู้มีสิทธิยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน เพื่อนำมาพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ได้หรือไม่
วันก่อนมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดย น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จ ที่ 1289/2561 เรื่อง การเป็นผู้จัดทำแผนงานโครงการและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติของการกีฬาแห่งประเทศไทย
ตามที่ มาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการกีฬาของชาติ และประกอบกิจการอื่นๆ อันเกี่ยวแก่ หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา รวมทั้งในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดให้ กกท. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาชาติ และยุทธศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้
ต่อมาคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีมติรับหลักการการเสนอร่างประกาศฉบับนี้ และให้คณะอนุกรรมการของกองทุนที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมกัน ในการนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานตามนโยบายของกองทุน ร่วม 2 คณะ (คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านสวัสดิการกีฬาและปรับปรุงแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ)
โดยประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยรับหลักการการปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นของ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการของกองทุนในทุกข้อ ยกเว้นในข้อ 7 และข้อ 8 ของร่างประกาศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย “ฝ่ายแรก”มีความเห็นว่า กกท. สามารถจัดทำแผนงานโครงการ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน เพื่อนำมาพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้โดยไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งที่ผ่านมา กกท. เป็นองค์กรกีฬาที่มีหน้าที่พัฒนากีฬาของชาติ และควบคุมกำกับดูแลสมาคมกีฬา และทำหน้าที่กลั่นกรองแผนงานโครงการ หรือรวบรวมคำของบประมาณของสมาคมกีฬา ก่อนเสนอขออนุมัติต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกองทุน และคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติรวมทั้งในแผนงานโครงการที่สมาคมกีฬาไม่สามารถดำเนินการเองได้ กกท. จึงได้เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากีฬาขึ้นมา โดย กกท. ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาที่กำหนดขึ้น และพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนากีฬา เพื่อความเป็นเลิศ กีฬาเพื่อการอาชีพรวมทั้งการพัฒนาบุคลากรกีฬาด้านต่างๆ เช่น การเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการเตรียมนักกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ แผนการเตรียมนักกีฬาสำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และซีเกมส์ หรือการพัฒนาบุคลากรกีฬา อาทิ ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้บริหารสมาคมกีฬา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือบุคลากรกีฬาอื่น และการพัฒนากีฬาด้านอื่น
“ฝ่ายที่สอง”มีความเห็นว่า กกท. อาจจะไม่สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อนำมาพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ได้ เนื่องจากไม่มีมาตราใด ในพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ระบุให้ กกท. สามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนได้**ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณา มีความเห็นว่า มาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้น ในการกีฬาแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือและจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา และกำหนดให้เงินและทรัพย์สินกองทุนนี้เป็นของการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
โดยกำหนดให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุน
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนไว้ใน มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 63/2559 เรื่อง การส่งเสริม สนับสนุน และปฏิรูปการกีฬาของประเทศ ด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุน และการจัดหาผลประโยชน์ นั้น มาตรา 19 (12) ประกอบกับมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย” ในการออกระเบียบเรื่องดังกล่าว โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่งปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2559
ส่วนอำนาจหน้าที่ในการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน รวมทั้งการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากกองทุนและติดตามผลการดำเนินการของโครงการ มาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน
สำหรับกรณีตามข้อหารือ ที่มีประเด็นต้องพิจารณาว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยสามารถเป็นผู้จัดทำแผนงานโครงการ และเป็นผู้มีสิทธิยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อนำมาพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อมาตรา 36 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 บัญญัติให้เงินและทรัพย์สินของ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเป็นของการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ประกอบกับไม่ปรากฏบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่กำหนดห้ามมิให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดทำแผนงานโครงการและยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยบัญญัติแต่เพียงให้การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนตาม มาตรา 36 และให้ใช้จ่ายในกิจการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 42 เท่านั้น
ดังนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าของเงินและทรัพย์สินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จึงย่อมมีสิทธิใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อนำมาส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาได้ภายใต้วัตถุประสงค์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตาม มาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และเมื่อการพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาเป็นกิจการหนึ่งที่สามารถนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการดังกล่าวได้ตาม มาตรา 42 (2) แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกีฬาแห่งประเทศไทยตามมาตรา 8(1) และ (9) แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงมีสิทธิเสนอแผนงานโครงการและยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อนำมาพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแผนงานโครงการและเป็นผู้พิจารณาว่าแผนงานโครงการที่เสนอนั้นเป็นไปตามกิจการในการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตาม มาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 หรือไม่
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนอาจกำหนดแนวปฏิบัติในกรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอแผนงานโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพิจารณาว่า แผนงานโครงการดังกล่าว เป็นไปตามกิจการในการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตาม มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ก็ได้
การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าของเงินและทรัพย์สินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จึงมีสิทธิบริหารเงิน ในกรอบวงเงินประมาณแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในวงเงินประมาณการ 4,110,000,000 บาท และวงเงินที่คงเหลือ ก่อนเสนอขอคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ.