ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแก้ไขกฎหมายยาต้องบอกว่าหยิบขึ้นมาเมื่อไหร่ก็กลายเป็นเรื่องเมื่อนั้น ด้วยว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ผ่านมาแต่ละครั้งมักมีประเด็นหมกเม็ด ไม่ได้ยึดหลักการสำคัญ “ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน” เป็นแก่นสารสาระ แต่ทว่าเจือปนไปด้วยตรรกะที่บิดๆ เบี้ยวๆ ภายใต้ข้ออ้างโน่นนี่นั่นสารพัด และที่ขาดไม่ได้คือการแทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มทุน
เหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยต้องทนใช้กฎหมายยาตั้งแต่สมัยปีมะโว้ คือ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่ผ่านมาครึ่งศตวรรษเสียยังดีกว่าแก้ไขใหม่ ทั้งที่โลกก้าวหน้าไปมากแล้วและหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ควรปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย
มาคราวนี้ก็เช่นกัน ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ที่กำลังเป็นเรื่องอยู่ในขณะนี้ มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหาสาระสำคัญ จนนำไปสู่ความเห็นที่แตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ส่วนจะเข้าทาง “กลุ่มทุน” ที่กำลังนั่งบนภูดูการฟัดกัน แล้วรอเก็บเกี่ยวประโยชน์เต็มๆ ทีหลังหรือไม่ อีกไม่นานก็รู้
ก่อวิวาทะเพราะดันทุรังตั้งแต่เริ่มต้นแก้
เริ่มจากประเด็นแรก คือที่มากันก่อน ความต้องการแก้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 นี้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง แต่ตั้งต้นนับหนึ่งได้คือ สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณากันแบบยาวไปเกือบ 8 ปี ระหว่างนั้นมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ เป็นหัวหอกจัดทำร่างกฎหมายยาฉบับประชาชนขึ้นมาประกบ และเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2555 ต่อประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 แต่ทั้งร่างกฎหมายยาทั้ง “ฉบับ สคก.” และ “ฉบับประชาชน” ก็มีอันต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดการรัฐประหาร ปี 2557
หลังจากรัฐประหารไม่ถึงเดือน กระทรวงสาธารณสุข ไปปัดฝุ่นเอาร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ.... “ฉบับ สคก.” ออกมาเผยแพร่ จนเกิดการทักท้วงเพราะมีหลายประเด็นที่เป็นปัญหา ที่สำคัญยังเป็นเรื่องคือให้ผู้ที่ไม่ใช่ “เภสัชกร” จ่ายยาได้ จนเกิดกระแสต้านว่าจะเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ นำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อย. และสภาเภสัชกรรม เพื่อจัดทำร่าง “ฉบับกระทรวงสาธารณสุข” ที่เสร็จแล้วก็นอนนิ่งอยู่ในแฟ้มเหมือนเคย
กระทั่งต่อมา อย.ได้ยกร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ขึ้นมาใหม่ โดยนำทั้งฉบับเดิม ปี พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน บวกกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยำรวมๆ กัน แต่ก็ถูกทักท้วงจากหลายฝ่ายจนต้องกลับไปเอาร่าง “ฉบับกระทรวงสาธารณสุข” เข้ามาเพิ่มเติมอีก แล้วนำออกเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเมื่อดูจากเส้นทางร่างกฎหมายที่กลายเป็นวิวาทะทุกรอบนั่นก็เห็นแล้วว่ามีปัญหาชนิดกระพริบตาไม่ได้เด็ดขาด
รับฟังความเห็น แต่ไม่ได้ยิน
ประเด็นถัดมา คือกระบวนการรับฟังความเห็นของร่างกฎหมายยาใหม่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ร่ายยาวแบบมั่นมากว่า อย.ได้รับฟังความคิดเห็นจากองค์กรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกทางเว็บไซต์สำนักยาระหว่างวันที่ 11-26 ม.ค. 61 และเมื่อปรับปรุงร่างกฎหมายแล้วได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 26 ก.พ. 61 และรับฟังผ่านเว็บไซต์สำนักยาระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-31 มี.ค.61 จากนั้นยังเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจนถึงวันที่ 10 พ.ค. 61 ทั้งในรูปแบบจดหมายและอีเมล
ต่อมา อย.ได้นำร่างดังกล่าวรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 17-31 ก.ค. 61 โดยหน่วยงาน สมาคม ชมรม สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้ร่วมให้ความเห็นในทุกครั้ง จากกระบวนการรับฟังความเห็นทั้งหมดมีความคิดเห็นเข้ามาราว 2,000 ความเห็น
ขณะที่ เลขาธิการ อย. อวดโอ่ว่าเปิดรับฟังความเห็นหลายรอบ มีความคิดเห็นเข้ามามากมาย แต่เอาเข้าจริงกลับมีเสียงสะท้อนว่า อย.หาได้ยินและหาได้รับฟังความเห็นที่เสนอเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายยาใหม่ไม่
ผศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพสภาเภสัชกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยาและสุขภาพ บอกว่า จากที่ได้วิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่นำเสนอ โดย อย. พบว่า 1.อย.รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง โดยเลือกเพียงบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง 2.ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อประชาชน เป็นการใช้หลักการกฎหมายที่ผิด 3.ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา และ 4.ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งนำไปสู่กระแสคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างกว้างขวาง
เช่นเดียวกันกับที่ ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ระบุว่า ได้นำเสนอจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก แต่ อย.ไม่ได้นำข้อตกลงที่ได้จากการรับฟังความเห็นไปแก้ไข เช่น นิยามยาสามัญประจำบ้านที่ไม่รัดกุม การปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ การไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล การให้จดแจ้งยาชีววัตถุและการโฆษณาที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเป็นหลัก ทำให้มีปัญหาขาดความรอบคอบด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่คำนึงถึงหลักการในระดับสากลที่กำหนดให้การถ่วงดุลระหว่างผู้สั่งยาและผู้จ่ายยา
ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน องค์กรตัวแทนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานวิชาชีพในร้านยาทั่วประเทศ กล่าวทำนองเดียวกันในประเด็นไม่คุ้มครองความปลอดภัยประชาชนโดยให้จดแจ้งการโฆษณาและยาชีววัตถุที่หละหลวม ซึ่งการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่ามีปัญหาด้านสถานที่ผลิตเถื่อนจนส่งผลกระทบต่อประชาชน ที่สำคัญคือ ร้านยามีหน้าที่หลักคือขายยาโดยเภสัชกรตามกฎหมาย กลับจะออกกฎหมายมาให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ด้วย หรืออย่างกรณีขายยาออนไลน์ก็ไม่ควบคุมจริงจัง ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพเสนออะไรไปก็ไม่สนใจ รอจังหวะแต่เพียงจะออกกฎหมายมาให้ได้เท่านั้น
โยนทิ้งหลักการ “ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน”
ในประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมาย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ย้ำว่า การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ “....เพื่อให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาต และเกิดความมั่นคงด้านยาของประเทศ” และการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายกว่า 90% มีความเห็นพ้องกัน เช่น เรื่องการขึ้นทะเบียนยาเดิมแก้ไขให้มีการทบทวนทุกๆ 7 ปี จากเดิมเป็นการขึ้นทะเบียนตลอดชีพ ฯลฯ
เลขาฯ อย. บอกว่า ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน มีเพียง 10% เท่านั้น เช่น คำนิยามยา, การเปิดเผยโครงสร้างราคายา, การกำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้านในร้านขายยาที่เปิดใหม่ ส่วนร้านขายยาที่เปิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้านก็อนุโลมให้เปิดต่อได้, การจดสิทธิบัตรยา รวมถึงเรื่องวิชาชีพที่อนุญาตให้ปรุงยาและจ่ายยาได้ ซึ่งมีความคิดเห็นให้ลดเหลือเพียงวิชาชีพเดียว และอีกความเห็นก็เสนอให้เพิ่มเป็น 4-5 วิชาชีพที่ปรุงยา จ่ายยาได้ ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าจะลดวิชาชีพหรือเพิ่มวิชาชีพก็ได้
“มองว่าควรเสนอร่างกฎหมายที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องแล้วเข้าไปก่อน ส่วนความเห็นที่ยังไม่ลงตัวก็เปิดช่องเขียนไว้ในกฎหมายว่าให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับแก้ แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเสร็จ หลังได้ข้อสรุปอาจพิจารณาในพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หรือ ออกเป็นกฎหมายรองได้ ซึ่งจะเสนอร่างกฎหมาย พร้อมแนบความเห็นทั้งหมดไปให้ครม.พิจารณา ถ้าดูตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 เพื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่ แต่ถ้าอยากให้ทันสนช.ชุดนี้ก็ต้องเข้ากฤษฎีกาอย่างช้าภายใน ต.ค.นี้” เลขาธิการ อย. วางไทม์ไลน์ผลักดันพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่แบบด่วนๆ
ขณะที่นักวิชาการด้านยา รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในแกนหลักของ “กลุ่มศึกษาปัญหายา” ที่สืบสานเจตนารมณ์ต่อจาก ภก.สำลี ใจดี ผู้ก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี สวนกลับไปว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยา ในเวลานี้ เป็นการแก้ไขที่ผิดหลักการสากล เป็นเรื่องที่ไม่สามารถผ่อนปรนหรือถอยคนละก้าวได้ เพราะเป็นเรื่องหลักการความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน
รศ.ภญ.จิราพร ระบุต้องวางหลักไว้ให้ชัดเจนกันก่อนเลยว่า การปรับปรุง พ.ร.บ.ต้องมีหลักการว่าปรบปรุงเพื่อแก้ปัญหาที่ พ.ร.บ.ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ได้ ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าปัญหา พ.ร.บ.ยา ปัจจุบันคืออะไรแล้วจึงแก้ในแต่ละจุด แต่ปรากฏว่าร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับที่กำลังปรับแก้ใหม่นี้ผิดหลักการไปหมด เพราะหลักการดูแลเรื่องยาต้องมี check and balance กล่าวคือแพทย์สั่งจ่ายยา เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา แต่ก่อนจ่ายยาก็ต้องมาดูว่ามีปฏิกิริยาระหว่างตัวยาหรือไม่ เป็นการ balance ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายควบคุม ถ้าเภสัชกรจ่ายยาแล้วมีปัญหาก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายซึ่งแบบนี้ประชาชนปลอดภัย แต่เนื่องจากสมัยก่อนขาดแคลนเภสัชกร จึงไม่ได้แยกบทบาทที่ชัดเจนระหว่างแพทย์กับเภสัชกร คือมีการยกเว้นให้หมอสั่งยาและจ่ายยาได้ในกรณีเป็นคนไข้เฉพาะรายของตัวเอง แต่พ.ร.บ.นี้ เปิดให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ เช่น พยาบาล และไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยเฉพาะรายด้วย แปลว่าคนที่ได้รับยาจากพยาบาลหรือบุคลากรอื่นไม่มีมาตรการที่จะควบคุมเลย
“กฎหมายฉบับนี้เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้วมันผิดหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญคือ ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน เภสัชกรถึงออกมาต่อต้าน ตอนนี้เรามีปัญหาการใช้ยาพอสมควรแล้ว ถ้ายิ่งปล่อยให้การควบคุมอ่อนลง ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น” รศ.ภญ.จิราพร กล่าว
ในประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งต่างๆ นั้น ที่พีคสุดคือ การให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาหรือขายยาให้กับคนไข้ โดยกลุ่มวิชาชีพที่ตกเป็นเป้าคือ พยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อย่าง รพ.สต. พยาบาลเป็นผู้ทำหน้าที่จ่ายยาให้คนไข้ หากควบคุมเฉพาะวิชาชีพ อาจจะกระทบกับประชาชนที่ต้องการยาซึ่งต้องเดินทางเพื่อไปรับยาจากเภสัชกร ซ้ำยังมีดรามาถือเป็นการดูถูกวิชาชีพพยาบาลหรือไม่ กลายเป็นกระแสเดือดขึ้นมาระหว่างพยาบาลที่เรียนวิชาเภสัชศาสตร์ 3 หน่วยกิต และเภสัชกร เรียน 200 หน่วยกิต โดยทางสภาพยาบาล ออกมาแถลงจุดยืนหนุนร่างพ.ร.บ.ยา กลายเป็นขั้วตรงข้ามกับเภสัชกรไปโดยปริยาย
สภาพยาบาล ซึ่งหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ให้เหตุผลว่าจะเอื้อให้ทุกวิชาชีพทางด้านสุขภาพ สามารถทำงานร่วมกันบนความทับซ้อนของวิชาชีพในระบบสุขภาพได้ด้วยจิตวิญญาณของทีมสหวิชาชีพที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมแจงหลักสูตรการพยาบาลสอนให้มีความรู้และมีทักษะในการบริหารยาอย่างปลอดภัย สามารถจ่ายยาจำนวน 18 กลุ่มกับผู้ป่วยที่พยาบาลวิชาชีพได้ให้การวินิจฉัยแยกโรคและตรวจรักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตที่กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์กำหนด
ขณะเดียวกัน สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ว่าแพทย์มีหน้าที่ ในการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค ดังนั้นการที่แพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยรายนั้น คือ ขั้นตอนหนึ่งในประกอบวิชาชีพเวชกรรม มิใช่การ “ขายยา” ให้แก่ประชาชนทั่วไป ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของ อย.จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม และการดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ รวมทั้ง ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ยังคงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคกับแพทย์สามารถเข้าถึงยา โดยมิต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การมาพบแพทย์แล้วนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา และยาที่แพทย์สั่จ่ายให้เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว
ส่วนยาอันตราย วัตถุเสพติดและยาควบคุมต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ง่ายก็มีการจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว และคลินิกก็มีกฎหมายในการควบคุมยาในกลุ่มนี้เช่นกัน จึงเชื่อมั่นได้ว่าพรบ.ยาฉบับใหม่นี้จะสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชนได้แม้จะเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายของตนเองได้
ร่างกฎหมายยา ฉบับลับ ลวง พราง ที่เริ่มดรามาไปกันใหญ่นั้น ภก.จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) อธิบายความว่า พยาบาลในภาครัฐไม่ได้เดือดร้อนหาก ร่าง พ.ร.บ.ยาจะผ่านหรือไม่ผ่าน การจ่ายยา เป็นส่วนหนึ่งของนิยามคำว่า การขายยา ซึ่งในภาครัฐได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 13(3) อยู่แล้ว สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ....จะอยู่ในมาตรา 22(1) การจ่ายยา หรือ การขายยาของภาครัฐ และแน่นอนรวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มักถูกอ้างถึงแหล่งที่อยู่ไกลและทุรกันดาร จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต และการใช้บุคลากรใดจะทำหน้าที่ในการจ่ายยา ก็จะอาศัยระเบียบต่างๆของภาครัฐ ซึ่งพยาบาลที่ทำงานใน รพ.สต. อาจทำหน้าที่จ่ายยาให้คนไข้ได้ ตามบริบทของการให้บริการของภาครัฐในแต่ละท้องถิ่นอยู่แล้ว
ร่าง พ.ร.บ.ยาในส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ที่ มาตรา 22(5) ซึ่งกำกับการจ่ายยา หรือ ขายยาในคลินิกส่วนตัว กฎหมายยาปัจจุบันยกเว้นให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ขายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายในคลินิกโดยไม่ต้องขออนุญาต พยาบาลที่เปิดคลินิกส่วนตัวไม่ได้รับการยกเว้น จึงจ่ายยาได้เฉพาะยาสามัญประจำบ้าน การสนับสนุนของสภาการพยาบาล ต่อ ร่าง พ.ร.บ.ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.22(5) ที่ระบุว่าจะยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเพิ่มเติม (กำหนดภายหลังในกฎกระทรวง) ให้สามารถจ่ายยาแก่ผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จึงเป็นการสนับสนุนต่อการขยายกรอบยาในคลินิกส่วนตัวของพยาบาล และแน่นอนยา 129 รายการ ที่มักถูกนำมาพูดถึงในแง่ของการดูแลผู้ป่วย ก็จะเอื้อต่อคลินิกส่วนตัวของพยาบาล ซึ่งยาหลายตัวใน 129 รายการนั้น ครอบคลุมไปถึงยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษด้วย และความมุ่งหวังในการขยายกรอบรายการยาในคลินิกส่วนตัวของพยาบาลโดยการสนับสนุนของสภาการพยาบาล จะดูแลแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่มีการตรวจทานซ้ำในการจ่ายยาโดยวิชาชีพเภสัชกรรม
“ส่วนนี้แหละครับที่จะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อ ระบบการคุ้มครองความปลอดภัยด้านยาต่อประชาชน และไม่ควรให้เกิดขึ้น ระบบยาของเมืองไทยจึงควรปักธงระบบที่เรียกว่า Check&balance ในทุกๆ ส่วนที่มีการกระจายยา การแก้กฎหมายยาจึงควรเป็นการวางหลักเพื่อนำไปสู่การพัฒนา เพราะกฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วอาจใช้ไปอีกหลายสิบปี .... หากเราไม่วางหลักเพื่อนำไปสู่อนาคตของระบบ Check&balance เพื่อดูแลความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ณ วันนี้แล้ว คำถามก็จะย้อนกลับมาที่ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับลับ ลวง พราง นี้ เพื่อใคร?”
ทว่า ประเด็นใหญ่ที่สุด ซึ่งจะถือเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ไม่ทราบได้ เพราะในขณะที่มีการขอแก้ไข .พ.ร.บ.ยา นั้น เป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ “ยักษ์ใหญ่” ในวงการ “ร้านสะดวกซื้อ” เปิดปฏิบัติการครั้งใหญ่ด้วยการลงทุนตั้ง “บริษัทใหม่” เพื่อทำธุรกิจร้านขายยา-เภสัชภัณฑ์-ยาแผนโบราณ อย่างพอดิบพอดี
คำถามจึงดังขรมทั้งแผ่นดินว่า เป็นการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อต่อร้านสะดวกซื้อหรือไม่ อย่างไร และเป็นคำถามที่จำเป็นต้องเคลียร์ให้กระจ่าง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของทาง อย. พบว่า ประเทศไทยมีร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาต 17,069 ร้าน แบ่งเป็น ในกรุงเทพ 4,965 ร้าน และต่างจังหวัด 12,104 ร้าน ขณะที่ตลาดธุรกิจร้านขายยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ มีมูลค่ารวมกว่า 600,000 ล้านบาท และเติบโตขึ้นในทุกๆ ปีเพราะฉะนั้นการได้รับส่วนแบ่งในธุรกิจนี้ย่อมหมายถึงรายได้อันมหาศาลเช่นกัน
และด้วยเหตุดังกล่าว การแก้ไขร่างกฎหมายยาจึงเป็นมหากาพย์ความคิดต่างที่ชวนน่าติดตามอย่างยิ่ง