ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่อง “โรงงานยาสูบ” ในรอบปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อเหลือเกินว่า คง “งงๆ” กันอยู่ไม่น้อยว่า อะไรคือ “จริง” อะไรคือ “เท็จ” เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงงานยาสูบ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “การยาสูบแห่งประเทศไทย” มีสถานะเป็นนิติบุคคลตั้แต่เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ) หนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรให้กับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เพราะในช่วงปี 2560 หลังมีการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ โรงงานยาสูบก็ออกมาตีโพยตีพายว่า ส่งผลทำให้สถานการณ์ร่อแร่ ประสบกับปัญหาตัวเลขรายได้อย่างหนักถึงขั้นที่อาจต้อง “กู้” เพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงานกันเลยทีเดียว จนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการของผู้บริหารที่ดำรงเป็น “เสือนอนกิน” มาเป็นเวลานาน แต่หลังจากเข้าสู่ปี 2561 โรงงานยาสูบก็มีการขยายงานอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับว่า ไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรเกิดขึ้น
ที่สำคัญคือ มีคำถามถึง “รัฐบาล” ที่มีนโยบายลักลั่นจนประชาชนสับสนว่า จะเอาอย่างไรกันแน่ ระหว่างมาตราควบคุมการบริโภคยาสูบหรือบุหรี่ที่เป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ในอีกทางหนึ่งกลับลงทุนควักงบประมาณถึง 4,000 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคำประกาศจาก “นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่า “จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป”
หรือแปลไทยเป็นไทยคือต้องการแสวงหาเงินจาก “ภาษีบุหรี่” ให้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้นนั่นเอง
นี่คือสิ่งที่ย้อนแย้งกับการณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่จนทำให้เกิดคำถามตามาว่า ตกลงแล้วรัฐบาลต้องการให้คนสูบบุหรี่ “เพิ่ม” หรือ “ลดลง” กันแน่ และกลายเป็น หนึ่งใน “ดรามา” ยอดฮิตในโลกสังคมออนไลน์กันเลยทีเดียว
ความจริงในเรื่องนี้อะไร เป็นสิ่งที่น่าค้นหายิ่ง?
ความจริงประการแรกคือ คนไทยสูบบุหรี่ลดลงจริงๆ โดยผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.9
ความจริงประการที่สองคือ บุหรี่เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพจจริง โดยเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคเรื้อรังในหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งพบว่าในทุก 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 6 - 7 คน องค์การอนามัยโลก ได้คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2563 - 2573 จะมีการสูญเสียประชากรก่อนวัยอันควรถึงประมาณ 100 ล้านคน และประเทศต่างๆ ต้องแบกรับภาระประชากรที่เจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตมากขึ้น
ความจริงประการที่สามคือ โรงงานยาสูบประสบกับปัญหาในการดำเนินงานจริงๆ เช่นกัน
ทั้งนี้ หากยังจำกันได้หลังการประกาศใช้ “โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560ได้เพียง 2 เดือน โรงงานยาสูบ ก็เสนอต่อกระทรวงการคลัง ให้ยกเลิกโครงสร้างภาษีใหม่ กลับไปใช้โครงสร้างเดิม เพราะภาษีใหม่ มีผลกระทบต่อยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบ จนอาจจะทำให้มีผลขาดทุนถึงพันกว่าล้านบาท จากที่เคยมีกำไรปีละ 5-6 พันล้านบาท จ่ายโบนัสให้พนักงานสูงถึง 7 เดือน และจะไม่สามารถส่งรายได้เข้ารัฐได้ จากที่เคยส่งรายได้ปีละหลายพันล้าน มาอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2561 น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการการยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรงงานยาสูบเตรียมเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอกู้เงินมาใช้ดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1.ใช้ในการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานยาสูบแห่งใหม่ในปีนี้ ประมาณ 2,900 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 7,000 ล้านบาท และ 2.ใช้เสริมสภาพคล่องที่จะเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงาน
เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่โรงงานยาสูบต้องขอกู้เงิน เพราะผลกระทบจากภาษียาสูบใหม่ ทำให้โรงงานยาสูบไม่มีกำไร จากเดิมที่มีสภาพคล่องเพิ่มเข้ามาเดือนละ 4,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ไม่มีเข้ามาเลย และเหลือสภาพคล่องไม่ถึง 5,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ดูเหมืออนสถานการณ์ของโรงงานยาสูบจะดีขึ้น และมีการปรับเป้าการดำเนินงานในปี 2561 ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขาดทุน 1,500 ล้านบาทกลายมาเป็นมีกำไรแทน และไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่ต้องกู้มาเพื่อลงทุนตามแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ ที่สำคัญคือ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ขยับขึ้นมากว่า 60% แล้ว และใกล้ที่จะไปยืนอยู่ในระดับเดิมคือ 70%
และความจริงที่ต้องค้นหาประการสุดท้ายก็คือ อะไรคือเบื้องหลังของการใช้งบประมาณถึง 4,000 ล้านบาทในการขยายโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ซึ่งก็ได้กลายเป็นประเด็น “ดรามา” ที่ผู้คนให้ความสนใจทั่วบ้านทั่วเมือง
ต้นสายปลายเหตุของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่27 สิงหาคม 2561 เมื่อ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดผลิตบุหรี่โรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ เป็นปฐมฤกษ์ ณ โรงงานผลิตยาสูบ 6 สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกล่าวว่า มีความยินดีที่โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมผลิตบุหรี่ที่มีคุณภาพ ด้วยมาตรฐานของเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตบุหรี่และเครื่องจักรการพิมพ์ที่มีความทันสมัย สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคและแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งกระทรวงการคลังมีความเชื่อมั่นว่าศักยภาพของโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่นี้ จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป
ขณะที่มีข้อมูลจากปากของ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ถึงศักยภาพโรงงานแห่งใหม่ว่า โรงงานผลิตยาสูบ 6 สร้างขึ้นตามแนวคิด Smart Green Factory ถือเป็นแบบอย่างของอาคารยุคใหม่ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพและพลังงาน เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานที่มีบรรยากาศการทำงานที่มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ที่สำคัญคือมีความพร้อมในด้านคุณภาพของเครื่องจักรผลิตบุหรี่ที่ทันสมัยจากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมายาวนาน มีกำลังการผลิตใบยาและยาเส้น 12,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง กำลังการผลิตยาเส้นพอง 2,280 กิโลกรัมต่อชั่วโมง กำลังการผลิตด้านกระบวนการมวนและบรรจุ 30,000 ล้านมวนต่อปี
“ในขณะนี้การยาสูบแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้า เนื่องจากศักยภาพของโรงงานผลิตยาสูบ 6 แห่งนี้ มีความพร้อมในการผลิตบุหรี่เพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะนำรายได้สู่รัฐอย่างมหาศาลในอนาคต”น.ส.ดาวน้อยกล่าว และมีคำทักท้วงจาก ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ตามมาในทันทีว่า “การสร้างรายได้ที่สวนทางกับการดูแลสุขภาวะคนไทย ไม่ควรเคลมว่าเป็นการพัฒนาประเทศ...อย่าเอาเรื่องการผลิตสินค้าที่บั่นทอนสุขภาพมาพูดว่าเป็นการพัฒนาประเทศ เป็นการเข้าใจผิด เพราะความเจ็บป่วยโรคภัยที่เกิดจากบุหรี่นั้นสูงกว่ารายได้และสิ่งที่ได้รับจากบุหรี่”
พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า ในปี 2552 รัฐจัดเก็บภาษีจากยาสูบได้ราว 6 หมื่นล้านบาท แต่มีการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ไปกับการบริโภคยาสูบ ทั้งผู้ป่วย ตาย รวมถึงขาดงาน รวมแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
สรุปก็คือ รัฐคาดหวังว่าโรงงานแห่งใหม่นี้จะสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศจริง ซึ่งถามว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ปกติ เพราะที่ผ่านมาการยาสูบแห่งประเทศไทยก็เป็นรัฐวิสาหกิจลำดับต้นๆ ที่ส่งรายได้เข้าคลังเป็นจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ดี ข้อมูลเรื่องการจัดส่งรายได้ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร กล่าวคือแม้การเก็บภาษียาสูบในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 จัดเก็บได้ทั้งหมด 3.47 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8.03% แต่ยังต่ำกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วงปีเดียวกันเมื่อปีที่แล้วอยู่ 0.88% แสดงให้เห็นว่าการบริโภคบุหรี่ยังมากขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ภาษีที่เก็บมิได้มาจากโรงงานยาสูบไทยเพียงแหล่งเดียว หากยังมาจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย
ขณะที่เฉพาะตัวการยาสูบแห่งประเทศไทยนั้น คาดว่า ปี 2561 นี้จะมีผลกำไรอยู่ที่ 200-300 บาทเท่านั้น ซึ่งต้องถือว่าลดลงอย่างมากจากเดิมที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น และทางการยาสูบฯ เองก็กำลังเร่งปรับตัวในทางธุรกิจครั้งใหญ่ เช่น กำลังเจรจากับโรงงานไพ่เพื่อขอให้มาผลิตที่โรงงานของตนเอง รวมทั้งมีแผนที่จะแตกไลน์เข้าสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่าง กัญชงและกัญชา เป็นต้น
ส่วนกรณีของบุหรี่นั้น น.ส.ดาวน้อย ระบุว่าเพิ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากกระทรวงการคลังว่าจะเลื่อนการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในอัตรา 40% ออกไปอีก 2 ปี กล่าวคือจากเดิมที่จะจัดเก็บช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นตุลาคม 2564 ซึ่งส่งผลทำให้โรงงานยาสูบสามารถรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรต่อไปได้ แต่จะลดสัดส่วนลงเหลือ 50% เท่านั้น