xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคม และผู้เล่นทางการเมือง (จบ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ทุกครั้งที่คณะรัฐประหารจำเป็นต้องส่งมอบการเลือกตั้งแก่สังคม ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนเองต่อไป โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ทว่าประวัติศาสตร์บอกเราว่า พรรคการมืองของคณะรัฐประหารแทบทุกพรรคไม่ประสบความสำเร็จในสนามการเลือกตั้งแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้นมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคมตามมา

ในบางยุคสมัย แม้พรรคการเมืองของคณะรัฐประหารประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ในไม่ช้าก็ประสบปัญหาชะงักงันในการบริหารประเทศ ทำให้คณะรัฐประหารต้องหวนกลับไปใช้วิธีการเข้าสู่อำนาจที่ตนเองชำนาญ นั่นคือการใช้กำลังอาวุธ และในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยความรุนแรงทางการเมือง ดังกรณี พรรคสหประชาไทยของคณะรัฐประหารชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ความล้มเหลวของพรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหารก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ดังกรณี “พรรคสามัคคีธรรม” ที่แม้จะได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลได้เพียงไม่กี่วัน ความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมืองก็เกิดขึ้นตามมาทันที และนำไปสู่การล่มสลายของพรรค ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารคือ กรณี “พรรคมาตุภูมิ” ซึ่งจัดตั้งโดยกลุ่มผู้สนับสนุนพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙

ในปัจจุบัน ภายหลังที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารชุดพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา ครองอำนาจทางการเมืองมาสี่ปีเศษ วงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาถึงจุดที่ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ร่องรอยของแบบแผนเดิมก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มจากความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจ จากนั้นก็กำหนดโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ โดยให้อำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

แต่ด้วยการที่ความคิดทางการเมืองของสังคมมีพัฒนาการขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ อาจเกิดความกระดากใจ จึงไม่เขียนแบบมอบอำนาจโดยตรงแก่วุฒิสมาชิกในการเลือกนายกรัฐมนตรีดังในอดีต แต่ได้กำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น และพยายามกำหนดเงื่อนไขให้เชื่อมโยงระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชนกับความต้องการของคณะรัฐประหาร โดยในขั้นแรกกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากรายชื่อบุคคลที่เสนอโดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคก่อน อันเป็นการประนีประนอมระหว่างความปรารถนาในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร กับบริบทสังคมไทยในยุคปัจจุบันที่ไม่อาจละเลยอำนาจของประชาชนได้

แม้ว่ามีโครงสร้างของรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจ แต่กระบวนการสืบทอดอำนาจต่อไปก็ต้องอาศํยความชอบธรรมจากเสียงของประชาชน ดังนั้นการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็น กลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารจึงพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในเบื้องต้นอันเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะพรรคดังกล่าวชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นการนำชื่อของนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ที่กันเชื่อว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมาตั้งเป็นชื่อของพรรค

ทว่ากรอบความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารยังคงเป็นกรอบความคิดที่ล้าหลัง นั่นคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหรือได้คะแนนมากเป็นลำดับหนึ่งเพื่อจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่อย่างใด เมื่อมีกรอบความคิดแบบนี้ ความคิดที่ตามมาคือ ต้องรวบรวมอดีตส.ส.เก่าจากพรรคการเมืองอื่นๆให้เข้ามาอยู่ในพรรคนี้มากที่สุด วิธีการที่ทำให้บรรดาอดีต ส.ส.เก่าเข้ามาอยู่ในสังกัดคือ “การดูด” อันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทยนั่นเอง

ตรรกะของการดูดคือ เมื่อนักการเมืองคนใด ได้รับการเสนอผลประโยชน์ในจำนวนที่พวกเขาพึงพอใจ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะย้ายจากพรรคการเมืองเดิมมาสู่พรรคการเมืองใหม่ หรือในบางกรณี สำหรับนักการเมืองบางคนที่อาจมีคดีความบางอย่างอยู่ ก็จะมีการใช้เงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐยับยั้งการดำเนินคดี หากนักการเมืองผู้นั้นกระทำในสิ่งที่ผู้ดูดต้องการ แต่หากไม่ทำตามก็จะเร่งรัดให้มีการดำเนินคดี ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงทำให้นักการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. จำนวนไม่น้อยไหลทะลักเข้าสู่พรรคการเมืองที่เป็นแหล่งดูด

ทว่า ด้วยบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน บรรดานักการเมืองที่มีพฤติกรรมล้าหลัง คล้อยไหลตามพลังดูด มักจะเป็นนักการเมืองที่ชนชั้นกลางรังเกียจ เพราะชนชั้นกลางมองนักการเมืองกลุ่มนี้ว่า เป็นนักการเมืองน้ำเน่าและสร้างปัญหาให้ประเทศและสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ดังนั้นหากพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดูดนักการเมืองเหล่านี้เข้าไป ก็เท่ากับว่า เป็นการดูดน้ำเน่าเข้าไปอยู่ในพรรคนั่นเอง ส่งผลให้ชนชั้นกลางจำนวนมากเกิดความอิลักอิเหลื่อที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ของคณะรัฐประหาร แม้ว่าพวกเขาบางส่วนนิยมชมชอบบุคลิกและการทำงานของหัวหน้าคณะรัฐประหารคนปัจจุบันอยู่ไม่น้อยก็ตาม
สังคมไทยประกอบด้วยผู้เลือกตั้งที่มีลักษณะหลากหลาย มีทั้งชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์และความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ส่งผลให้ทางเลือกของคณะรัฐประหารในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แล้วสามารถสร้างความนิยมให้ครอบครอบคลุมทุกกลุ่มชน เพื่อได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามีความไม่ลงรอยกันของปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมจากชนชั้นกลาง ชาวบ้าน และชนรุ่นใหม่

ครั้นจะตั้งพรรคขึ้นมาสองพรรคที่มีลักษณะตอบสนองอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน ก็จะเกิดความเสี่ยงที่พรรคทั้งสองจะไม่มีพรรคใดเลยที่ประสบชัยชนะได้รับคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งในการเลือกตั้ง กรณีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากพรรคที่สนับสนุนคณะรัฐประหารดันทุรังในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งที่มีเสียงน้อยกว่าพรรคอื่นคือ ปัญหาความชอบธรรม

ที่นี้เราลองมาดูว่า คะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารมาจากแหล่งใดบ้าง ผมคิดว่าแหล่งที่สำคัญคือ ความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง ซึ่งเกิดจาก บุคลิก การพูด และการแสดงออกของพลเอกประยุทธ์ที่ปรากฎต่อสาธารณะ ในสายตาของคนจำนวนมากเห็นว่า พลเอกประยุทธ์มีบุคลิกลักษณะที่ตรงไปตรงมา มีความตั้งใจทำงาน จริงใจ แสดงตัวตนในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่เสริมแต่งเสแสร้ง หรือแสดงมายาดังนักการเมืองทั่วไป ประชาชนจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงบุคลิกของพลเอกประยุทธ์เข้ากับอัตลักษณ์และความเชื่อของตนเอง และเกิดความรู้สึกประดุจว่า พลเอกประยุทธ์พูดและแสดงออกแทนใจของพวกเขา

ชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครบ้าง หลักๆ คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่เอานายทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย บางส่วนอาจเคยนิยมพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่อาจไม่ชมชอบบุคลิกแบบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงหันไปสนับสนุนคนที่มีบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์แทน ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยเคยเข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อน และส่วนใหญ่มีวัยกลางคนเป็นต้นไป และยิ่งสูงวัยอัตราการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ก็ยิ่งมีสัดส่วนสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับกลุ่มชาวบ้านทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่นิยมนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย มีจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนใจและหันมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์แทน เหตุผลหลักมีสามประการ

ประการแรกคือ บุคลิกของพลเอกประยุทธ์ มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคลิกที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชาวบ้าน ประการที่สองคือ ชาวบ้านอยากได้พรรคที่ตนเองเลือกเป็นรัฐบาล และพรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่าจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคต และประการที่สาม พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็จะใช้นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันหาเสียง และเกือบทั้งหมดของรัฐบาลเป็นนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยในอดีตแต่อย่างใด

สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อจุดยืน และอัตลักษณ์ทางการเมืองแตกต่างจากพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์จึงมีน้อย อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้บางส่วนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีอาจจะชมชอบบุคลิกแบบพลเอกประยุทธ์ ก็ได้ แต่ผมประเมินว่ามีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่นิยมค่อนข้างมาก

ด้วยเงื่อนไขเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ความนิยมต่อตัวพลเอกประยุทธ์ การมีอำนาจรัฐ และการมีเงินทุนจำนวนมหาศาล โอกาสที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีสูงกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่สิ่งที่พึงระลึกเอาไว้คือ บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่บอกให้เราทราบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารนั้น นอกจากจะไร้สมรรถนะในการบริหารการเมืองภายในระบบรัฐสภาแล้ว ยังขาดความสามารถในการรับมือและจัดการกับการเมืองนอกสภาอีกด้วย

ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกรัฐสภา ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเมืองอย่างน้อย ๓ อย่างเกิดขึ้นตาม อย่างแรกรัฐบาลของคณะรัฐประหารอาจลาออก และมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นรัฐบาลแทน อย่างที่สอง รัฐบาลอาจยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และอย่างที่สาม อาจมีคณะรัฐประชุมชุดใหม่เกิดขึ้น ล้มล้างรัฐบาล และนำประเทศสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งก็ได้

สิ่งที่คณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนกระทำอยู่ในเวลานี้ เป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า ตราบใดที่กรอบความคิดทางการเมืองของกลุ่มอำนาจนำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารหรือนักการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง หรือถูกประชาชนกดดันให้เปลี่ยนแปลง ตราบนั้นวงจรน้ำเน่าของการเมืองไทยก็ยังคงทำงานของมันต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น