xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น กางไทม์ไลน์ “โรงพักฉาว” ใครต้องรับผิดชอบ กฎแห่งกรรมของ “กำนันเทือก”??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หงุดหงิดงุ่นง่านไม่ต่างกับ “หนูติดจั่น” สำหรับ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังงานประชาชาติไทย (รปช.) ที่กำลังเผชิญศึกใหญ่ ที่เจ้าตัวประกาศ “เดิมพันด้วยชีวิต” หลังถูก คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หรือ “โดยทุจริต” ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจหรือโรงพักทดแทน 396 แห่ง งบประมาณ 5,848 ล้านบาท

เป็น “คดีเก่าเก็บ” ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2552 สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ “สุเทพ” เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

โดยให้หลังจากที่ “อนุฯ ป.ป.ช.” หรือจะพูดให้ถูกก็คือ “ป.ป.ช.ชุดใหญ่” ที่มี “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. พร้อมบอร์ด ป.ป.ช.เต็มคณะ ลงมติแจ้งข้อกล่าวหา ก็ทำเอาฝ่ายผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ของขึ้น” โผล่หน้าไลฟ์สดแก้ต่าง-แก้ตัวกันต่อเนื่องร่วมสัปดาห์ ตีคู่ไปกับ “พี่เสก ไลฟ์สด” เลยทีเดียว

หากจำกันได้ เมื่อช่วงต้นปี 2560 “สุเทพ” นี่เอง ที่ทำหนังสือขอให้ปลด วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ออกจากอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ ทำให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ลงมติยกเลิก อนุกรรมการไต่สวนชุดของ “วิชา” และใช้ “ป.ป.ช.ชุดใหญ่เต็มคณะ” เป็นอนุกรรมการผู้ไต่สวนแทน

นอกจากยืนยันความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตัวเองเหมือนที่ผ่านๆ มาแล้ว ก็ยังท้าทายให้ ป.ป.ช. รีบสรุป และส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปเลย ไม่ต้องมา “ดองเค็ม” ให้เสียเวลา

ยิ่งไปกว่านั้นยังสาดซัด ป.ป.ช.อย่างดุเดือด ถึงขนาดชี้หน้าว่า “แกล้งโง่” กันเลยทีเดียว ด้วยมองว่าถูกดำเนินคดีช่วงนี้ เป็นปฏิบัติการ “เตะตัดขา” เหตุที่ “กำนันเทือก” เป็น “ผู้ร่วมก่อตั้ง” พรรค รปช.นั่นเอง

หลังไล่เรียงชี้แจงอยู่หลายวัน “เทพเทือก” ก็ควงทนายคู่บุญ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ว่าที่เลขาธิการพรรค รปช. ไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อ ป.ป.ช.ตามนัด พร้อมพกเอกสาร 94 หน้า ที่ปะหน้าด้วยภาพสมัยครองผ้าเหลืองเป็น “พระสุเทพ ปภากโร” ไปประกอบการชี้แจง เหมือน “เล่นของ” ซะด้วย

เนื้อใน “หนังสือพระสุเทพ” ที่ชี้แจงกับ ป.ป.ช. ตลอดจนไลฟ์สดต่อเนื่องนั้น ก็ไม่ต่างจาก “แผ่นเสียงตกร่อง” เล่นวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่ที่ลำดับขั้นตอนการเสนอโครงการที่ชงมาจาก สตช.ในฐานะเจ้าของเรื่อง พร้อมออกตัวว่าในฐานะ “ฝ่ายบริหาร” ก็อนุมัติตามที่เสนอมา

“การอนุมัติ การจัดซื้อจัดจ้าง การเปลี่ยนแปลงวิธีการประมูล และการทำสัญญา ทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการก่อสร้างว่าจะเสร็จหรือไม่เสร็จ” นายสุเทพอธิบายหรือแก้ตัวไว้เช่นนี้

ถือเป็นคำพูดที่ตลกสิ้นดี เพราะหลังจาก “สุเทพ” อนุมัติโครงการไม่นาน ก็เกิดปัญหาโครงการก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมาทิ้งงาน ที่หนักกว่านั้นก็เพราะหลายแห่งยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง แต่ได้ทุบ “โรงพักหลังเก่า” ทิ้งไปแล้ว เพื่อใช้สถานที่ในการก่อสร้าง บางแห่งมีเสาเข็มปักไว้ดูต่างหน้าแค่ต้นเดียวก็มี

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงาน ต้องไปขอใช้สถานที่หน่วยราชการ หรือต้องกางเต็นท์เป็นสำนักงานชั่วคราว กระทั่งสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุกับการไปเช่าพื้นที่เอกชน หลายสถานีสาหัสต้องหันเข้าทางธรรม ขอใช้ “ศาลาการเปรียญ-ศาลเจ้า” เป็นออฟฟิศชั่วคราวก็มี

ถือเป็นสภาพ “น่าสังเวช” เป็นอย่างยิ่งสำหรับ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ในช่วงนั้น

ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากล จนถูก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ยกเป็น “คดีตัวอย่าง” ในแคมเปญ “พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ” ที่มีเรื่อง “ทุจริตโรงพัก ตำรวจโดนปล้นโรงพักทั่วประเทศ” โชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ เคียงคู่กับ “คดีจำนำข้าว-จีทูเจ๊” เลยด้วยซ้ำ

ไม่เท่านั้นภาพและบรรยายประกอบ ยังค่อนข้างชี้ชัดว่า “ใคร” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง-ผู้รับผิดชอบอีกด้วย
  สภาพส่วนหนึ่งของโรงพัก 396 แห่งที่มีปัญหาจนก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ
เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายก็ขอไล่เรียงไทม์ไลน์ของ โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่งทั่วประเทศ โดยคัดเฉพาะ “จุดไคลแมกซ์” เพื่อให้เห็นภาพว่า “ใคร” ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

แรกเริ่มโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) เป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ ที่มีการรวบรวมปัญหาของจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ที่ประสบปัญหาสถานีชำรุดทรุดโทรม หลายแห่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี

ทั้ง 2 โครงการถูกตั้งขึ้นมาพร้อมกันในปี 2550 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยที่ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มโครงการไว้ และ “ครม.สมชาย” อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 วงเงินงบประมาณ 17,679 ล้านบาท และให้ สตช.กลับไปทำรายละเอียดขึ้นมาเสนอ ครม.อีกครั้ง

ก่อนได้ข้อสรุป ให้สร้างโรงพักใหม่ 396 แห่ง ตั้งงบประมาณไว้ 6,672 ล้านบาท และแฟลตตำรวจ 163 แห่ง งบประมาณ 3,010 ล้านบาท งบผูกพัน 3 ปี เมื่อปี 2552 อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาลอภิสิทธิ์

ทั้งนี้ “บิ๊กป๊อด” ได้เสนอแนวทางการดำเนินโครงการออกเป็น 4 แนวทาง ในหนังสือลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 โดยแนวทางที่ “คณะรัฐมนตรี” มีมติอนุมัติ คือการการแยกสัญญาออกเป็น 9 ภาคตามรายภาคสายบังคับบัญชาของ สตช.

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่จะได้ลงนามประกาศจัดซื้อ-จัดจ้าง “บิ๊กป๊อด” ก็ถูกย้ายออกจากตำแหน่ง โดยเป็น “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เข้ามารักษาราชการแทน ผบ.ตร. ซึ่ง “สุเทพ” อ้างว่า “ปทีป” เป็นผู้ทำหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เสนอขอยกเลิกวิธีการจัดจ้างเดิม ให้เปลี่ยนจาก 9 สัญญา เป็น “สัญญาเดียว-บริษัทเดียว” ดำเนินการทั่วประเทศ อ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบงบประมาณ ปี 2553

โดย “รองนายกฯ สุเทพ” ก็เห็นดีด้วยตามข้อเสนอ “รวมศูนย์” นี้ และลงนามอนุมัติเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2552 โดยไม่ได้นำเข้าที่ประชุม ครม. แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ก็ตาม

แต่กว่าจะมีการประมูลได้ผู้ชนะ และลงนามในสัญญา ก็ผ่านมาถึงยุค “บิ๊กน้อย” พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. ที่ทำหนังสือถึง “สุเทพ” ขอรับความเห็นชอบราคาและขออนุมัติจ้างก่อสร้าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 หลังเข้ารับตำแหน่ง “จ่าฝูงสีกากี” อย่างเป็นทางการได้ไม่นาน โดยระบุไปถึงการประมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ที่มีการเคาะราคาแข่งกันหลายสิบครั้ง จนได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 5,848 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางราว 540 ล้านบาท เฉพาะในส่วนของโรงพัก 396 แห่ง

จนวันที่ 7 ตุลาคม 2553 “สุเทพ” ก็ลงนามตามที่ “วิเชียร” เสนอขึ้นมา อ้างว่ามีอำนาจให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุม ครม. จากนั้นก็เริ่มก่อสร้าง

ผู้ที่ได้รับงานคือ “บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด” ในวงเงิน 5,848 ล้านบาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 สัญญาเริ่มต้นวันที่ 26 มีนาคม 2554 สิ้นสุดวันที่ 17 มิถุนายน 2555 เวลาการก่อสร้างรวม 450 วัน

เรื่องมาแดงขึ้นเมื่อช่วงปี 2555 สมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หลังจากที่ “เฮียชู” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทยในขณะนั้น ได้นำเรื่องนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแล สตช. แฉสภาพของโรงพักมีแต่เสา สนิมเขรอะ รกร้าง บางโรงพักทุบโรงพักเก่าเพื่อนำพื้นที่มาก่อสร้าง แต่ทำไม่เสร็จ ผู้รับเหมาทิ้งงาน
  สุเทพ เทือกสุบรรณ
แต่แทนที่จะเดือดร้อน “รัฐบาลเพื่อไทย” กลับกลายเป็น “พรรคประชาธิปัตย์” ที่โดนขุดคุ้ยถึงความไม่ชอบมาพากลสมัยมีอำนาจไปซะอย่างนั้น ด้วยความเก๋าเกมทางการเมืองของ “เฉลิม” ที่แม้จะถูกตั้งแง่การต่อสัญญาที่ดูจะมีข้อครหา แต่ก็ดีดลุกชิ่งแคนนอนกลับไปถึงตัว “สุเทพ” โครมเบ้อเริ่ม

หลังการอภิปรายไม่ไว้วาง ก็ต้องมีเรื่องส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ แล้วก็ค้างเติ่งจนมาแจ้งข้อกล่าวหา “สุเทพ” พ.ศ.นี้นี่เอง

จากไทม์ไลน์ที่ไล่เรียงมาก็พอสรุปข้อสังเกตได้ดังนี้

หนึ่ง ข้อเสนอการแย่งรายภาคที่ “พัชรวาท” ชงมาแต่ต้นน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในการทำงานของผู้รับเหมา ที่มีการพูดถึงขนาดว่าแม้แต่ “เทวดา” ก็ยังทำไม่ได้ กระทั่งทำให้ผู้รับเหมารายอื่นๆเบือนหน้าหนี ด้วยคิดง่ายๆว่าการส่งบุคลากรไปสร้างโรงพักเกือบ 400 สถานี ที่กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ให้เสร็จพร้อมกันตามกำหนดเวลา โดยไม่สามารถจ้างช่วงต่อได้ ก็ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย อีกทั้งยังมีกระแสข่าวมีการเรียกรับผลประโยชน์กันล่วงหน้าก่อนการประมูลด้วยซ้ำ

สอง เหตุผลกลใดถึงทำให้ “ปทีป” ถึงกล้าเปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ของโครงการ เป็นการ “รวมศูนย์” ให้บริษัทเดียวรับทำงานทั่งประเทศ ทั้งที่มีมติ ครม.อนุมัติแยกรายภาคออกมาแล้วแท้ๆ คิดไปได้ว่า “ข้าราชการ” ที่ไหนจะกล้าหัก “ฝ่ายการเมือง” หากไม่ได้แรงสนับสนุนหรือโดนกดดันจาก “ฝ่ายการเมือง” เอง

สาม การเปิดประมูล และอนุมัติจัดจ้างก่อสร้าง ที่บังเอิญเหลือเกินว่า มาเสร็จสิ้นในช่วงที่ “วิเชียร” เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน

และประการที่สี่ ที่ยังไม่มีใครพูดถึงเท่าไรกับข้อมูลระดับ “อินไซด์” ในมือของ “หน่วยงานตรวจสอบ” ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถึง “เส้นทางการเงิน” ที่วิ่งตรงไปถึง “ผู้มีอำนาจ” ที่โยงใยกับโครงการโรงพักฉาวที่ว่านี้ด้วย

ว่ากันว่า แนวทางของ ป.ป.ช.ต่อคดีนี้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยทั้ง “บิ๊กป๊อด” ในฐานะ “อดีตจ่าฝูงสีกากี” ย่อมรู้ดีถึงความอำมหิตโหดเหี้ยมของโครงการดังกล่าว ที่ทำให้พี่น้องข้าราชการตำรวจต้องตกระกำลำบาก อีกทั้งยังมีคนสำคัญอย่าง สุภา ปิยะจิตติ ที่รู้เรื่องเป็นอย่างดีเป็นกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ด้วย โดยสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง และเป็นประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ “รองฯสุภา” เคยเคยทำหนังสือท้วงติงว่า การประมูลและจัดจ้าง “โรงพักฉาว” ไม่ปฏิบัติตามมติคณะ ครม.มาแล้ว

ลืมกันหึ่งด้วยว่า ก่อนที่ “อนุฯ ป.ป.ช.” จะมีมติแจ้งข้อกล่าวหา ก็ได้มีความพยายาม “วิ่ง” เพื่อให้บทสรุปออกมาเหมือนกับที่ไม่แจ้งข้อกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯในสมัยเดียวกัน แต่ “ผู้มีอำนาจตัดสินใจ” ปฏิเสธแบบไม่ต้องคิด เนื่องการกรณีของ “อภิสิทธิ์” นั้นเป็นเพียงการไม่ตรวจสอบโครงการตามข้อร้องเรียนเท่านั้น หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไข “สาระสำคัญ” ที่ “สุเทพ” เป็นผู้ลงนามแต่อย่างใด

เมื่อบีบคั้นมากเข้า “ผู้มีอำนาจตัดสินใจ” ก็เลยขู่ว่าหากมีการบังคับให้ “ล้มมวย” ขนาดนั้น ก็พร้อมที่จะลาออกจากตำแหน่งใหญ่โตเสียด้วย

เป็นที่มาของการแจ้งข้อกล่าวหา “สุเทพ” และเป็นที่มาของอาการ “ตบะแตก” ไล่ด่ากราด ป.ป.ช.อย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งที่รู้เต็มอกว่า ป.ป.ช.สังกัด “บ้านไหน”

ในทางกลับกัน “สังคม” ต่างมองว่า การแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ต่อ “กำนันเทือก” นั้น “ช้าเกินไป” สำหรับคดีที่มีความเสียหายชัดเจน อีกทั้งรายละเอียดต่างๆก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมาย เห็นว่าในชั้นของอนุฯ ป.ป.ช.สรุปออกมาได้ไม่ถึง 20 หน้ากระดาษด้วยซ้ำไป

ความชัดเจนตรงนี้เองที่ทำให้ “กำนันเทือก” เริ่มเห็นเค้าลางชะตากรรมชีวิตของตัวเองว่ากำลัง “หนีไม่พ้น” กอปรกับผิดหวังขุ่นเคือง “ผู้มีอำนาจ” อย่างแรง ที่ต้องมาถูกคดีในยุค คสช. ที่เจ้าตัวสู้อุตส่าห์ออกหน้าเป็น “ผู้นำม็อบ” ปูทางให้มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจ แต่กลับไม่สามารถปัดป้องภัยพาลให้พ้นตัวได้

งานนี้จึงได้เห็นอาการพล่านไม่หยุด และพยายาม “ปัดสวะ” ไปทั่ว ที่สังเกตเห็นคือความพยายามลากเอา “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องออกมาให้มากที่สุด โดยเฉพาะในฟากฝั่ง “บิ๊ก สตช." ทั้ง “บิ๊กอ๊อด-ปทีป” หรือ “บิ๊กน้อย-วิเชียร” รวมทั้ง “บิ๊กจูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดจ้าง

ที่เน้นย้ำเป็นพิเศษในระยะหลังก็รายของ “บิ๊กป๊อด-พัชรวาท” ที่ถูกพูดถึงไม่ขาดปาก ทั้งที่หากดู “ตามเนื้อผ้า” แล้ว การตั้งเรื่องเสนอมายัง “สุเทพ” เพื่อให้ ครม.อนุมัติ ก็แจกแจงทางเลือกไว้เสร็จสรรพ สำคัญที่ ครม.ก็เลือกทางเลือกที่ดูจะเข้าท่าที่สุดกับการแยก “สัญญารายภาค” ไปแล้วด้วยซ้ำ

ทว่า “จุดเปลี่ยน” มันมาเกิดในช่วงให้หลัง “พัชรวาท” พ้นตำแหน่งต่างหาก ที่รายละเอียดของโครงการ มีการปรับเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่มีการแยกเป็น 9 สัญญา ตามรายภาคของ สตช. ก็มีการรวมศูนย์เป็นสัญญาฉบับเดียว และผู้ประกอบการรายเดียว จนโครงการเกิดความเสียหาย ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจ ตลอดจนการสูญเสียงบประมาณมหาศาลทั้งการเช่าสถานที่ การต่อสัญญา การเริ่มโครงการใหม่ และน่าเจ็บใจยังต้องเสียค่าปรับให้กับคู่สัญญาที่ทำงานไม่ทัน ด้วยเหตุว่ามีช่วงโหว่ในสัญญาจนทำให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบเต็มประตู

มองเกมไม่ยากว่า วัตถุประสงค์ของ “สุเทพ” ที่พยายามลากชื่อ “น้องชายบิ๊ก คสช.” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น ก็เพียงเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด คล้ายกับ “บางคดีดัง” ที่มีชื่อ “น้องชายผู้มีอำนาจ” ร่วมเป็นจำเลย กลายเป็นอานิสงส์ให้ “จำเลยสำคัญ” คนอื่นๆ หลุดรอดคดีไปด้วยหรือเปล่า

ถือเป็นอาการน่าเป็นห่วงของ “กำนันเทือก” ที่เพิ่งประกาศลุยถนนสายการเมืองต่อในฐานะแกนนำจัดตั้งพรรค รปช. หรือที่เข้าใจกันว่าเป็น “เจ้าของพรรค” ที่ดูเหมือนว่า “กรรมเก่า” สมัยเป็น “นักการเมืองน้ำเน่า” จะตามมาหลอกหลอน จนลืมหมดสิ้น “วาระปฏิรูป” อะไรทั้งหลายแหล่ที่เคยพูดไว้พร่ำเพรื่อเอาไว้

ชะตากรรมของ “สุเทพ” จึงกระทบ “พรรค รปช.” ที่มี “อดีตแกนนำม็อบสายโลกสวย” เข้าไปร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้นจะพูดเรื่องปฏิรูปก็พูดได้ไม่เต็มปาก ด้วย 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เหมือนไม่รู้สึกรู้สาอะไรมาตลอด หรือจะชูธงวาระปราบคอร์รัปชั่นก็ย้อนมาเข้าตัว “เจ้าของพรรค” จน “ลิ้นจุกปาก”

และกลายเป็นว่า นโยบายอย่างเดียวของ รปช.คือ “ต้องเป็นรัฐบาล” เท่านั้น ที่ “กำนันเทือก” ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ก็หาใช่หวังร่วมขับเคลื่อนฝ่ายบริหารเพื่อวาระปฏิรูปที่เคยหล่นวาจาขายฝัน “มวลมหาประชาชน” ไว้แต่อย่างใด

ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเพียงเพื่อเป็นหนทางรอดพ้นบ่วงกรรมส่วนตัวเท่านั้นเอง

ส่วนจุดจบของคดีเป็นอย่างไร อีกไม่นานคงรู้กัน




กำลังโหลดความคิดเห็น