นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ (a landmark case) สำหรับรัฐแคลิฟอร์เนีย, สำหรับสหรัฐฯ, และสำหรับทั้งโลกที่คณะลูกขุนของศาลที่แคลิฟอร์เนียตัดสินให้โจทก์ชนะคดี ที่เขากล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า (weed killers) 2 ยี่ห้อของบริษัท Monsanto เป็นอันตรายยิ่งต่อมนุษย์ และบริษัทมอนซานโต ทั้งๆ ที่รู้ถึงอันตรายนี้แต่ได้ละเลยที่จะแจ้งเตือนผู้ใช้ยาทั้งสอง
นับเป็นคดีแรกที่ผ่านการตัดสินของศาลที่ตัดสินว่า สารเคมีไกลโฟเสต (Glyphosate) มีความสัมพันธ์ทำให้เกิดโรคมะเร็ง (Cancer) ได้
คดีนี้ โจทก์คือชายผิวดำ ดเวย์น จอห์นสัน (Dewayne Johnson) อายุ 46 (พ่อลูก 3 อาศัยอยู่ที่ Bay Area) ซึ่งกำลังป่วยหนักด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ซึ่งหมอได้ให้การรักษาด้วยคีโมตั้งแต่ปีที่แล้ว และแพทย์วินิจฉัยเมื่อปีที่แล้ว (2017) ว่า เขาจะอยู่ได้อีกแค่ 6 เดือน
กลุ่มทนายความของเขาประกอบด้วย บุตรชายคนโตของ Robert F.Kennedy ซึ่งเป็นนักกฎหมายจบ Harvard และเป็นนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้รีบพิจารณาคดีเพราะโจทก์มีชีวิตเหลืออยู่อีกไม่นาน
ผู้พิพากษาของศาล California Superior Court ที่ซานฟรานซิสโกชื่อ Curtis Karnow ได้เร่งคดี และชี้แนะแก่คณะลูกขุนว่า ไม่เพียงพิจารณาว่า ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโตเป็นสาเหตุให้นายดเวย์น จอห์นสัน เป็นโรคมะเร็งร้ายแรงมาก หลังจากที่ได้ใช้ยาฆ่าหญ้านี้ ช่วงปี 2012-2014 จนเป็นโรคมะเร็งในปี 2014-2015 นั้น
แต่ศาลยังให้คณะลูกขุนพิจารณาด้วยว่า บริษัทได้ละเลยหรือปิดบังการเตือนผู้บริโภคถึงภัยร้ายแรงนี้ด้วยหรือไม่
นายดเวย์น เคยทำงานที่โรงเรียนประจำเขตของรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่เมือง Benicia-ห่างจากซานฟรานซิสโกไปทางตะวันออก 40 ไมล์) ในตำแหน่งผู้ควบคุมดูแลสนามหญ้าของโรงเรียน ซึ่งเขาต้องใช้ยาฆ่าหญ้าทั้ง 2 ชนิดถึง 150 ครั้งต่อปี ด้วยการฉีดพ่นจากรถฉีดโดยเฉพาะ และผสมตามสูตรที่เขียนไว้หน้ากระป๋องยา
ลูกขุนพิจารณาอย่างเคร่งเครียดถึง 3 วัน และลงมติให้บริษัทมอนซานโต (ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์เกษตร ซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทยายักษ์ใหญ่ของเยอรมนี Bayer เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้เอง) เป็นฝ่ายผิดต้องจ่ายชดเชยให้แก่ดเวย์นถึงเกือบ 300 ล้านเหรียญ (โจทก์ยื่นฟ้องขอค่าเสียหาย 413 ล้านเหรียญ) คิดเป็นเงินไทยเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
ในเดือนตุลาคมนี้ จะมีคดีคล้ายของดเวย์นขึ้นศาลโดยมอนซาโตเป็นจำเลย กับยาฆ่าหญ้าตัวเดียวกัน
รองประธาน (Vice President) ของบริษัทมอนซานโตออกมากล่าวปฏิเสธว่า คำตัดสินของลูกขุนอยู่บนข้อมูลที่ตรงข้ามกับผลวิจัยจำนวนมหาศาลที่พิสูจน์ว่า ยาฆ่าหญ้าทั้ง 2 ชนิดปลอดภัย-ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง โดยมีคำยืนยันจากนักวิชาการ และรวมทั้งผลวิจัยของ FDA (Food and Drug Administration) หรือ อ.ย.ของสหรัฐฯ ด้วย และย้ำว่าทั้ง Round Up และ Ranger Pro เป็นยี่ห้อที่ขายดีที่สุดในโลก มีผู้ใช้ในทุกๆ ประเทศ และใช้กันเป็นล้านๆ คนทั่วโลก
บริษัทมอนซานโต จะยื่นอุทธรณ์แน่นอน แต่ผลการตัดสินนี้ได้ส่งผลต่อหุ้นของบริษัท Bayer บริษัทแม่ของมอนซานโตไปแล้ว แม้นักวิเคราะห์หุ้นจะมาอธิบายแก้ตัว-อุ้มหุ้น Bayer ว่านักเล่นหุ้นจะให้น้ำหนักกับยาของมนุษย์มากกว่าสารเคมียาฆ่าหญ้า จึงไม่น่าส่งผลต่อราคาหุ้นมาก
จริงๆ แล้ว ทางยุโรปได้ตื่นตัวกับสาร Glyphosate มาตั้งแต่ปี 2015 โดยองค์กร International Agency for Research on Cancer (IARC-ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส) ได้ออกประกาศว่า สารเคมีไกลโฟเสตเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งได้ (a probable human carcinogen)
แต่ในสำนวนยื่นฟ้องของดเวย์น ได้กล่าวโทษมอนซานโตว่า ได้มีการบิดเบือนข้อมูล (Falsify Data) และโจมตีเป็นขบวนการ-บรรดาการวิจัยที่เปิดเผยถึงอันตรายของสารเคมีในยาฆ่าหญ้า ถึงขนาดทุ่มเทรณรงค์เป็นเวลายาวนานเพื่อให้ข่าวสารเท็จ (Misinformation) เพื่อหว่านล้อมหน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ, ชาวนา, ชาวสวนชาวไร่ และผู้บริโภคว่า ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโตนั้นปลอดภัย
คงไม่แปลกที่เราได้เห็นข้าราชการจากหน่วยงานสำคัญๆ ของรัฐบาลต่างๆ ทั้งจาก อ.ย. (แม้แต่ที่สหรัฐฯ เอง) ที่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทขายยาฆ่าหญ้ายักษ์เหล่านี้ จนทำให้เบี่ยงเบนการออกมาชี้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของเกษตรกรที่ทำงาน และเป็นเหยื่อกับยาอันตรายเหล่านี้ รวมทั้งสารตกค้างในพืชผัก ที่เริ่มมีพบมากขึ้นจากยาฆ่าหญ้า ที่ทำหน้าที่ฆ่าคนด้วย