ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชัดเจนแล้วกับ อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ในประเทศไทย "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" หลังจากครม.เห็นชอบกับ ร่าง พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองแม่รำพึง ป่ากลางอ่าว และเกาะทะลุ เกาะสิงข์ เกาะสังข์ และพื้นที่รอบเกาะ ในท้องที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน และต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
หลังจากที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ส.ค.61) ขั้นตอนต่อไป ก็จะส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ตาม ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว เป็นการกำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองแม่รำพึง ป่ากลางอ่าว และเกาะทะลุ เกาะสิงข์ เกาะสังข์ และพื้นที่รอบเกาะ ในท้องที่ตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน และ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็น "อุทยานแห่งชาติ"
บริเวณที่ดินดังกล่าว ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ และมีค่า มีระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าชายหาด แนวปะการังน้ำตื้นและน้ำลึก รวมทั้งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางนา ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ มากกว่า 6,000 ต้น เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ
ตามร่าง บรรยายว่า สมควรสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม ด้วยการกำหนดให้บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ 19,960 ไร่ ซึ่งได้ปรับแก้แนวเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม โดยกันพื้นที่สำหรับการเดินเรือในการทำประมงพื้นบ้าน และกันพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ในท้องที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศด้วยแล้ว
หลายวันก่อน เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพพร้อมข้อความเกี่ยวกับว่าที่อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ของประเทศไทย ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" โดยบรรยายไว้ว่า แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพ "เสื่อมโทรมคล้ายสุสาน" แต่ได้รับการปรับปรุง และดูแลจากคนในพื้นที่จนกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
"อ่าวสยาม อยู่บริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ ซึ่งนอกจากทรัพยากรบนบกที่ครบถ้วนไปด้วยพันธุ์ไม้ รวมถึงสวนป่ายางนา ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทรัพยากรใต้ทะเลก็มีความหลากหลาย จนใครๆ ยกให้เป็น “สวนดอกไม้ใต้น้ำ”ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทยเลยทีเดียว" เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเขียนข้อความบรรยายไว้
ข้อมูลยังระบุว่า "อ่าวสยาม" เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่วนอุทยานป่ากลางอ่าว วนอุทยานแม่รำพึง พื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกาะทะลุ เกาะสิงห์ และเกาะสังข์ พื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 8 กม. 6 กม.และ 5 กม. ตามลำดับ
การเดินทางมาอ่าวสยามนั้น นั่งเรือจากฝั่งแค่ 15 นาทีก็ถึง ทั้งอุทยานสามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันเดียว นอกจากทะเลสมบูรณ์ที่ป่ากลางอ่าว ซึ่งจะเป็นสถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม มีป่ายางนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นต้นยางธรรมชาติอายุกว่าร้อยปี ที่มีมากถึง 6,000 ต้น ขนาดโดยรอบลำต้นใหญ่ประมาณ 500 ซม.
อ่าวสยาม ยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาทูที่สำคัญของอ่าวไทย และเป็นแหล่งที่เต่ากระ ขึ้นมาวางไข่ทุกปี โดยเต่ากระ เป็นสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 1 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส
ขณะที่เฟซบุ๊ก "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" ที่คาดว่าจะเปิดมานานแล้วเช่นกัน มีการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ รองรับ เชื่อว่าต่อจากนี้ "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" จะได้รับความนิยมมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม หลังมีมติครม.ดังกล่าว "กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว อ.บางสะพานและ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์" ได้ออกมาคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่จะมีการรวมพื้นที่ 20,047 ไร่ ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม
"หากนำพื้นที่ทำกินของกลุ่มประมงพื้นบ้านตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวไทยตอนบน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการัง สำหรับการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยามประชาชนทั้ง 2 อำเภอ คัดค้านมานานหลายปี นอกจากนั้นการประกาศเขตยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทรายทอง รวมทั้งความเห็นจากฝ่ายปกครองแนะนำให้รับฟังความเห็นเพิ่มเติม ทำความเข้าใจข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน แต่ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำเสนอให้หน่วยงานส่วนกลางเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้นขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงให้รอบด้านเพื่อป้องกันผลกระทบจากความขัดแย้ง ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งใหม่
“ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการบริหารทรัพยากรโดยกำหนดมาตรการและกติกา มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนตามแนวทางการบริหารจัดการร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรท้องถิ่นและชุมชนชายฝั่งทะเล ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด หลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ มีการห้ามกิจการประมงบางประเภทที่มีผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเล นอกจากนั้นการประกาศเขตอุทยานฯ ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนที่ครอบครองเอกสารสิทธิ์บนเกาะทะลุ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาของที่ดินทุกแปลง"
ต้องรอดูว่า ขั้นตอนการส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปตรวจพิจารณา จะดำเนินอย่างไรต่อ เพราะครม. ระบุเพียงว่า หากตรวจแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้
ย้อนกลับมาที่ มติ ครม. (7 ส.ค.61) อีกวาระหนึ่งวันเดียวกัน ครม. เห็นชอบในหลักการ "เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ" เพื่อก่อสร้างโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 4 โครงการ ตามที่ กรมชลประทานเสนอ ประกอบไปด้วย
1. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 85-2-06.4 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง ความจุอ่าง 4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ หมู่ 9 ต.เกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี ดำเนินการก่อสร้าง และถูกระงับมาตั้งแต่ปี 2552 จนปี 2555 ยื่นขอพิจารณาเพิกถอน มีพื้นที่หัวงาน และพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 185 ไร่ ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้งบประมาณก่อสร้าง 325 ล้านบาท (มติครม. 2548)
2. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 49 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ บ้านป่าละอู (อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาเดิม) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ จะมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดความจุ 10.46 ล้าน ลบ.ม. เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือราษฎร ในพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จำนวน 1,095 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,250 คน รวมถึงครู และนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู ให้มีแหล่งน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ได้จำนวน 6,490 ไร่
กรมชลประทาน ได้ขอรับการสนับสนุนงบ กปร. ในปีงบประมาณ 2560 เพื่อเริ่มต้นโครงการในการปรับพื้นที่บริเวณหัวงานโครงการ และก่อสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักและระบบสาธารณูปโภค ล่าสุดกรมชลประทานตั้งงบประมาณ เฉพาะก่อสร้างทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบ วงเงิน 60 ล้านบาท
3. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 229 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการต่อเนื่องจากงานก่อสร้างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และ ระบบส่งน้ำชลประทาน ตั้งแต่ปี 2528 และในปี 2536 งานก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และระบบส่งน้ำชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีความจุอ่างเก็บน้ำ 263 ล้าน ลบ.ม. ต่อมาปี 2543 ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำ โดยงานศึกษาแล้วเสร็จในปี 2545
ลักษณะโครงการ เป็นอุโมงค์ส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.00 ม. ความยาวประมาณ 27 กม. และอาคารประกอบ พร้อมประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลบ.ม./วินาที ค่าลงทุนโครงการ ประมาณ 8,075 ล้านบาท ก่อสร้างมาแล้ว 6 ปี (พ.ศ. 2554-2560)
มีการขออนุญาต เขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ต.บ้านเป้า จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง เทศบาลตำบลอินทขิล และ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า
4. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 1,380 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ต.เชี่ยงม่วน อ.เชียงม่วน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา ตั้งแต่ปี 2520 แต่ ครม. เพิ่งจะมาอนุมัติให้เปิดโครงการพร้อมผ่อนผันการใช้พื้นที่คุณภาพ ชั้น 1 เอ จำนวน 21 ไร่ เมื่อปี 2558 ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2564)
มีวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้พื้นที่ ต.เชียงม่วน ต.บ้านมาง และต.สระ รวมถึงการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง และเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำในฤดูฝน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา
งบประมาณโครงการ รวมทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาท เป็นเขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบ 2,600 ล้านบาท และระบบส่งน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ 1,386 ล้านบาท
ซึ่งตอนนี้ ทั้ง 4 โครงการผ่าน อีไอเอ และ เอชไอเอ หมดแล้ว คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้เห็นชอบด้วยแล้ว
รวมถึงเป็นโครงการที่ครม. เคยมีมติอนุมัติหลักการโครงการแล้ว และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558 -2569) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยจะสามารถเพิ่มการกักเก็บน้ำได้ จำนวน 105.17 ล้านลบ.ม. และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ ประมาณปีละ 160 ล้าน ลบ.ม.
ตามมติ ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มติครม. ที่เกี่ยวข้อง และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด และให้เร่ง การดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย.