.
“เมื่อเรารวมกำลังกันทั้งชาติ
ย่อมสามารถช่วยไทยไขปัญหา
ผนึกแรงหลอมรวมร่วมปัญญา
จักนำพาชาติตนรอดพ้นภัย”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี ๒๕๖๑ เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
คำขวัญพระราชทานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มีต่อปวงชนชาวไทยมิเสื่อมคลาย โดยเฉพาะเรื่อง “ความสามัคคี” อันจะนำพาให้ชาติรอดพ้นจากปัญหาทั้งปวง
ทรงแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติว่า เป็นปราการด่านแรกของการพัฒนาประเทศชาติ เพราะเมื่อทุกฝ่ายสอดประสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกันทุกปัญหาย่อมคลี่คลาย โดยปัญญาเปรียบดังเข็มทิศขับเคลื่อนประเทศไปก้าวสู่ความเจริญ ดังเช่น คำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๑
ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็น “พระแม่ของแผ่นดิน” ทรงเปี่ยมล้นด้วยน้ำพระราชหฤทัยแห่งความเมตตา พระราชทานความช่วยเหลือและกำลังใจแก่ลูกๆ ราษฎรของพระองค์ทั่วทุกหนแห่งในผืนแผ่นดินไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน ทรงใส่พระทัยมอบความห่วงใยแก่ประชาชน สร้างกลไกเป็นพื้นฐานให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น วางรากฐานผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ สร้างความมั่นคงให้ประชาชนเรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างมีคุณค่าสูงสุด
กล่าวสำหรับ โครงการพระราชดำริใต้ร่มพระบารมี “พระแม่ของแผ่นดิน” ซึ่งช่วยให้ลูกๆ ได้อยู่ดีกินดี เกิดจากการเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วผืนแผ่นดินไทย พระองค์ได้เห็นทุกข์สุขของประชาชน ได้รู้ถึงปัญหาต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยสร้างพื้นฐานสร้างความรู้สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎร อาทิ
โครงการศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แหล่งเรียนรู้และสร้างอาชีพที่ยั่งยืนที่มุ่งฝึกอาชีพงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ
โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ จ.ลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและปศุสัตว์ให้แก่ราษฎร
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จ.แม่ฮ่องสอน จากเดิมที่เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา ปัจจุบันได้กลายมาเป็นอ่างเก็บน้ำท่ามกลางขุนเขา และเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น อะโวคาโด, พลับ, สาลี่ ฯลฯ
โครงการป่ารักน้ำบ้านถ้ำติ้ว จ.สกลนคร จุดเริ่มต้นของโครงการป่ารักน้ำแห่งแรกของประเทศ ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเห็นว่าป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ถูกแผ้วถางทำลายอย่างรวดเร็ว จึงทรงพระราชดำริให้มีการชักชวนคนไทยร่วมกันปลูกป่า
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์ จ.อุบลราชธานี แต่เดิมผ้าไหมบ้านสมพรรัตน์ เป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมาช้านาน ที่เกิดจากการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้พระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มสมาชิกดังกล่าวและทรงรับไว้เป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เป็นต้น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระแม่ของแผ่นดินทรงงานมาอย่างยาวนานตลอดหลายทศวรรษ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ เยี่ยมชมโครงการต่างๆ และพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร
หนึ่งในภาพที่ประชาชนเห็นกันเจนตาคือ ภาพที่พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกรที่นั่งอยู่รายรอบ ทรงงานโดยไม่ถือพระองค์ ทรงแย้มพระสรวล ทรงสนทนาไต่ถามทุกข์สุขของราษฎร เปรียบดังแม่ที่กำลังแสดงความห่วงใยต่อลูก
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือให้ประชาชนทุกคนมีความสุขสบาย โดยไม่ได้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกไม่แบ่งแยกศาสนา เพียงแค่เป็นคนไทยเป็นประชาชนของพระองค์ จึงทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
อีกทั้งพระเกียรติคุณแห่งพระราชกรณียกิจอเนกประการ เป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก จึงมีหน่วยงานตลอดนจนองค์กรต่างๆ ขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังทรงห่วงใยปัญหายาเสพติดที่คุกคามประเทศ ซึ่งด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ จึงเป็นจุดเริ่มของทุนตั้งต้นแห่งความดีงาม “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อมุ่งมั่นแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส.นำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชน
สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำพระราชทรัพย์พระราชทานดังกล่าวสมทบกับงบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. จัดตั้งเป็น “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ทุนตั้งต้นที่จะรวมพลังและศรัทธาของประชาชน และหน่วยงานองค์กรภาคีทุกภาคส่วนที่มีต่อพระองค์ แปลงให้เป็นพลังความร่วมมือในการจัดการกับปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ปี 2557 อย่างต่อเนื่อง
กล่าวสำหรับ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” เป็นยุทธศาสตร์พระราชทานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน โดยเป็นเงื่อนไขกระตุ้นความตื่นตัวในการทำความดี ปกป้องรักษาชุมชนให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองมากยิ่งขึ้น และเป็นแบบอย่างของการ บูรณาการเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนเข้ากับกระบวนการพัฒนาทำให้ชุมชนได้เรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชีวิตและชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
ขณะเดียวกัน “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ยังได้ขยายแนวคิดมุ่งเน้นการพัฒนาคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีชุมชุนและหมู่บ้านต่างๆ ประสบความสำเร็จตามพระราชประสงค์แห่งแม่ของแผ่นดินมากมาย เช่น โครงการอาสาเฝ้าระวัง แกนนำสู่การพัฒนาคนในชุมชน บ้านนาถ่อนเหนือ หมู่ที่ 12 ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โครง การพัฒนาเยาวชน ผู้นำรุ่นต่อไป ชุมชนวัดอัมพวา แขวงบ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย กทม. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและผู้ด้อยโอกาส บ้านหนองขนาก หมู่ที่ 7 ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี โครงการพัฒนาผู้เคยเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด บ้านเด่นวัว หมู่ 4 ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก
ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ยังได้ถ่ายทอดความรักความเมตตาที่มีต่อราษฎรของพระองค์มายังพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ ดังที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการสืบทอดพระราชปณิธานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชอาณาจักรไทย
และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา พสกนิกรชาวไทยขอพระราชทานพระราชวโรกาสน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลให้มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ทรงสถิตเป็นมิ่งขวัญแก่ปวงพสกนิกรชาวไทยสืบไปชั่วกาลนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ