ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด คลังสมองของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ผ่าทางตันโครงการโรงไฟฟ้าขยะให้กับ “นาย” จนไปต่อได้ และอาจใช้ “โคราชโมเดล” ปูพรมผุดโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศในเขตทหาร ไม่ต้องหวั่นเกรงว่าหน้าอินทร์หน้าพรมที่ไหนจะมาขวางได้อีกต่อไป การเดินหมากตานี้ยังเท่ากับกีดกัน “ชุมชน” ออกไป ไม่ให้เป็นอุปสรรคยกขบวนต่อต้านโครงการเช่นที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป
ส่วนคนรับกรรมหนีไม่พ้น “นายทหาร” ที่อาศัยในกรมกอง ต้องเผชิญความเสี่ยงมลภาวะ ด้วยว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะไม่ผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องที่บิ๊กสีเขียวกับไพร่พลจะไปว่ากันเอาเอง แต่ดูทรงแล้ว นายทหารชนชั้นผู้น้อยมีหรือจะกล้าส่งเสียงค้าน มีแต่ต้อง “อดทน” กันต่อไปก็เท่านั้น
ที่สำคัญคือ หากสามารถทำคลอดโรงไฟฟ้าขยะตาม “โคราชโมเดล” ได้ประสบผล รับรองว่าจะกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ตอบโจทย์ได้ทุกคำถาม
หนึ่ง-เรื่องนโยบายและงบประมาณ ชัดเจนว่าไม่ต้องห่วงเพราะนโยบายไฟเขียวโร่พร้อมงบประมาณ ที่ตั้งไว้แล้วนับหมื่นนับแสนล้าน ผูกกันยาวๆ แบบไม่มีสะดุด
สอง-การบริหารจัดการขยะ ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า ก็อยู่ในการจัดการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นเจ้าของขยะ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ฯลฯ ก็ล้วนอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่สามารถสั่งการได้แบบไม่น่าจะมีปัญหา หรือหากต้องมีการเจรจากับ “เจ้าของสัมปทานขยะตัวจริง” ที่ไม่ใช่เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ในระยะยาว เชื่อแน่ว่า บิ๊กมท.คงสามารถตบๆ ให้ปัญหานี้เข้าที่เข้าทางได้ไม่ยาก
สาม-กฎระเบียบต่างๆ ทั้งกฎหมายผังเมือง อีไอเอ เปิดทางให้เอกชนเข้าร่วมทุนกับรัฐได้ ฯลฯ นี่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 ทะลุทะลวงจนหมดสิ้นแล้ว
สี่-การคัดค้านของชุมชนที่หวาดหวั่นจะมีปัญหามลพิษ ก็ขจัดปัดเป่าไปได้โดยปริยายเพราะเมื่อโรงไฟฟ้าอยู่ใน “เขตทหารห้ามเข้า” ก็จะไปต่อต้าน ขึ้นป้ายไม่เอาๆ ก็คงยากขึ้น
ห้า-เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะจะเอาแบบไหน ขอเพียงโครงการลงทุนชัด รับรองมหาดไทย หัวกะไดไม่แห้ง มีเอกชนพร้อมวิ่งเต้นเสนองานและผลตอบแทนไม่เว้นว่าง และหากไม่ชอบใจเอกชนนอกสังกัด หรือไม่อยากให้เอกชนรายอื่นมาแบ่งเค้ก มหาดไทยก็มีบริษัทลูกในสังกัดรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ พร้อมรับดำเนินการอยู่แล้ว
หรือจะพิจารณาออปชั่นอย่างที่นายมนตรี วิบูลยรัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ ออกมานำเสนอโมเดลโรงไฟฟ้าขยะแบบใหม่ โดยกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล จังหวัด และเอกชน เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะของจังหวัด กระจายผลประโยชน์ให้กับเทศบาลที่เป็นเจ้าของขยะ และภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนและเทคโนโลยี จังหวัดก็จะมีปริมาณขยะที่ลดลง แก้ปัญหาขยะล้นเมืองในระยะยาว ช่วยลดการต่อต้าน เพราะชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร
แต่ไม่ว่าจะโมเดลไหน ปัญหาที่จะมีแน่ๆ ก็คือกระบวนการติดตามตรวจสอบปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้นโดยจะมีปัญหาทั้งขาดบุคคลากร และขาดความรู้ ดูได้จากโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่หาดใหญ่ นั่นเป็นตัวอย่าง แต่ถึงเวลานั้น คนซดค่าน้ำร้อนน้ำชาค่าหัวคิวโรงไฟฟ้าขยะ เผ่นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
บทเรียนราคาแพงสำหรับโรงไฟฟ้าขยะที่ไม่ต้องทำอีไอเอที่หาดใหญ่นั้น นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สรุปรวบรัดให้เรียนรู้ว่า โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ของราชการเองอ้างทำตามมาตรฐานยุโรป และCOP ของกรรมการกำกับกิจการพลังงานครบถ้วนสมบูรณ์แต่มีปัญหาเกิดขึ้นถึงขั้นถูกสั่งปิดเพราะสารไดออกซินสูงเกินมาตรฐาน 51เท่า
นายสนธิ ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ซึ่ง “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” หยิบมาเพื่อเปิดโลกทัศน์ของนายทหารและไพร่พลที่อยู่ใน “เขตทหาร” ซึ่งอาจจะกลายเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ให้เตรียมพร้อมรับโครงการที่อาจมาแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนี้
1.วันที่ 13 พ.ย. 2557 เทศบาลนครหาดใหญ่ จัดพิธีเปิดโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาโดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กำลังการผลิต 6.7 เมกะวัตต์ ภายใต้ชื่อบริษัท จีเดค จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจที่ร่วมทุนกับบริษัทเอ็กโกกรุ๊ป ในเครือ กฟผ. ลงทุนกว่า 800 ล้านบาท อ้างว่าใช้เทคโนโลยี Ash Melting Gasification ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานชั้นสูงของยุโรป มีความเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมมาสามารถกำจัดขยะชุมชนได้ไม่น้อยกว่าวันละ 250ตัน ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมือนจะเป็นแสงสว่างในการกำจัดขยะที่หมักหมมบนพื้นที่นับร้อยไร่ให้หมดไปภายใน 5 ปี
2.เดือนม.ค. 2558โรงงานไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ พ่นพิษหนัก! ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งรบกวนประชาชนที่อาศัยใน 4 หมู่บ้านหรู รบกวนไปถึงนักเรียนโรงเรียนรัฐประชาสรรค์ หวั่นส่งผลกระทบโครงการก่อสร้างหมู่บ้านหรูอีกหลายแห่ง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
3.วันที่ 5 ก.พ. 2559 พนักงานบริษัท ทีโอทีฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกลิ่นและควันจากโรงกำจัดขยะมีการประชุมกันได้ข้อสรุปคือโรงงานจะใช้ทุกวิธีการทางเทคโนโลยีภายใน 3 เดือนจะแก้ปัญหาให้ได้
4.วันที่ 27พ.ย. 2559 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาแจ้งว่าได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ก็ยังคงเกิดปัญหา กรมควบคุมมลพิษ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์จากปล่องเตาเผาขยะของโรงงาน พบว่าค่าสารประกอบไดออกซินเกินมาตรฐานถึง 51เท่าและ 28เท่า และค่าก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ เกินค่ามาตรฐานถึง10.16 และ16.04เท่า
ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมและเทศบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ ถึงวันที่ 13 ม.ค. 2560
โรงไฟฟ้าขยะที่ควนหลัง หาดใหญ่ ถูกร้องเรียนจากชุมชน สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงบ่อขยะและโรงไฟฟ้าขยะเรื่อยมาเพราะได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 4 ปี และเมื่อต้นปี 2561 ก็ยังมีการยื่นหนังสือร้องต่อนายกเทศมนตรีเมืองควนลังให้แก้ไขปัญหามลพิษ ซึ่ง นายสมบูรณ์ ปัญญาธนกร นายกเทศมนตรีเมืองควนลัง ยอมรับว่า ปัญหาผลกระทบและมลพิษจากบ่อขยะและโรงไฟฟ้าขยะในบริเวณดังกล่าว เป็นเสมือนปัญหาโลกแตก และมีผลกระทบต่อชุมชนเป็นบริเวณกว้างมานานหลายปี ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองควนลัง ได้ขอให้ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ และ โรงไฟฟ้าขยะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานและองค์กรที่รับผิดชอบยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
นั่นเป็นชะตากรรมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ที่อวดอ้างว่ามีมาตรฐานสูง
มาดูกันว่า โรงไฟฟ้าขยะที่โคราชนั้นจะเป็นโมเดลที่สุดปังอลังเวอร์แค่ไหน ท.ทหาร ในพื้นที่จะต้องอดทนต่อปัญหามลพิษหรือไม่ “ศูนย์ข่าวนครราชสีมา ผู้จัดการ” สัมภาษณ์ นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ตามนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนของกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล ว่าขณะนี้เทศบาลนครนครราชสีมา กำลังดำเนินการผลักดันโครงการร่วมลงทุนก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าพลังขยะ มูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รองรับปริมาณขยะ 500 ตันต่อวัน มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 9.3 เมกกะวัตต์
โดยเป็นโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 ของเทศบาลนครราชสีมา ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้บริหารดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยศูนย์ที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับกำจัดขยะจาก อปท.ในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองนครราชสีมา, อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ขามทะเลสอ (อ.โชคชัย บางส่วน) และแก้ปัญหาขยะที่ตกค้างกองเป็นภูเขาขยะอยู่ขณะนี้กว่า 4.4 แสนตัน
ปัจจุบันศูนย์จำกัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครราชสีมา ซึ่งเป็นระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 1 ได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุในราชการทหารจำนวน 73 ไร่ ก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบผสมผสาน ภายใต้ชื่อ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน ขนาด 230 ตันต่อวัน ออกแบบรองรับขยะเทศบาลนครฯ เป็นระยะเวลา 20 ปี ใช้งบประมาณก่อสร้าง 300 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบคัดแยก , ระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ , เครื่องยนต์ก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า และระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล เปิดดำเนินการเมื่อปี 2555 และเริ่มขายไฟฟ้าได้ในปี 2556 ที่ผ่านมา
“ขณะนี้ศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลนครฯ มีขยะตกค้างกองเป็นภูเขาอยู่กว่า 4.4 แสนตัน เพราะเกินความสามารถที่ระบบจะรองรับได้ ทำให้ระบบกำจัดที่มีอยู่ชำรุดเสียหายและพื้นที่ฝังกลบเต็มอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มวิธีการกำจัดขยะที่เหลือจากระบบการกำจัดขยะ ระยะที่ 1 ด้วยโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตามนโยบายของรัฐบาล”
นายบุญเหลือ ให้ข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะดังกล่าว จะเป็นระบบการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีเตาเผาสมัยใหม่ เป็นเตาเผาแบบตะกรับ เผาได้แบบหมดจดถูกหลักวิชาการ โดยจะมีอาคารรับขยะมูลฝอย และเตาเผาแบบบ่อพัก ความจุ 7,000 ตัน (รองรับขยะ 12 วัน ที่ 550 ตันต่อวัน) และมีระบบรวบรวมน้ำเสียจากบ่อพักขยะส่งไปบำบัด ด้วยระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศในโครงการระยะที่ 1 รวมทั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ
โครงการระยะสองนี้ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 2,128.25 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 งานระบบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระยะที่ 1 เป็นงานวางท่อรวบรวมน้ำชะจากบ่อพักขยะเข้าระบบหมัก มูลค่าลงทุน 0.80 ล้านบาท และส่วนที่ 2 งานก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เตาเผาใหม่ ประกอบด้วย งานถมดินปรับพื้นที่ 21.30 ล้านบาท, อาคารรับและบ่อพักขยะมูลฝอย 180.82 ล้านบาท, ระบบเตาเผาและระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า 1,880.15 ล้านบาท, อาคารและสิ่งปลูกสร้างสำหรับเครื่องผลิตไฟฟ้า 31.77 ล้าบาท และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ 13.41 ล้าบาท
สำหรับรูปแบบการลงทุน เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะเวลาสัญญา 25 ปี มีรายได้เป็นกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยตรง รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ ในอัตราประมาณ 400 บาทต่อตัน จากปัจจุบัน 300 บาทต่อตัน ทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ทางการเงินและเอกชนมีความสนใจที่จะลงทุนเป็นจำนวนมาก ติดต่อเข้ามาแล้วนับ 100 ราย
ส่วนสถานที่ตั้งโครงการอยู่บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 1 ที่ราชพัสดุในราชการกองทัพบก สนามยิงปืนหนองปรือ กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยทภ. 2 ได้อนุญาตให้เทศบาลนครฯ ใช้พื้นที่ในการกำจัดขยะ เพิ่มอีกจาก 73 ไร่ รวมเป็น 153 ไร่แล้ว ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องที่ตั้งโครงการอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 นี้ จะประกอบด้วยพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะ, บ่อพักน้ำ, บ่อสำรองน้ำใช้ และทาง ทภ.2 ยังอนุมัติให้ใช้พื้นที่อีก 50 ไร่ เพื่อเป็นบ่อฝังกลบขยะชั่วคราว และรองรับขยะที่เข้ามาจำนวนมากทุกวันด้วย
ข่าวคืบหน้าล่าสุดคือ ทางเทศบาลนครฯ ได้รับการอนุมัติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) เพื่อหาผู้รับเหมาเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ คาดว่าภายในเดือนส.ค.นี้ ทางเทศบาลนครฯ จะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นข้อตกลงเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้พื้นที่ดำเนินการโครงการฯ จากนั้นคาดว่าเดือนต.ค.-พ.ย. 2561จะประกาศหาผู้ลงทุนได้ และใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะได้ประมาณปี 2565
การใช้พื้นที่ทหารรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ยังน่าจับตาไปที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีที่ทหารอยู่ไม่น้อย และเวลานี้ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ประธานที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยฯ เชิงเขาทอง จ.กาญจนบุรี แย้มๆ มาแล้วว่า ปีที่ผ่านมา สามารถกำจัดขยะได้ถึง 4 แสนตัน จาก 1 ล้านตัน ส่วนที่เหลือทั้งเก่าใหม่พร้อมรีไซเคิลผลิตเป็นเม็ดพลาสติกสู่เศรษฐกิจชุมชน ส่วนในอนาคตวางแนวทางสู่โรงไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง สนองนโยบายของรัฐและแก้ปัญหาขยะทั้งจังหวัดได้ด้วย
แรงหนุนสนองนโยบายโรงไฟฟ้าขยะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย มีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ซึ่งประชุมและมีมติเห็นชอบโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มูลค่าลงทุนประมาณ 2 .9พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลงนามอนุมัติโครงการ
แต่ทว่า แรงต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะก็ใช่จะสร่างซา กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมานี้เอง ที่ศาลปกครองจังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มเครือข่ายชาวบ้าน ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ จำนวน 200 คน พร้อมผู้ประสานงานเครือข่าย เดินทางมายื่นหนังสือขออำนาจศาลปกครอง กรณีขอคัดค้านและไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแปรรูป (RDF) บริเวณหมู่ที่ 17 ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อขออำนาจศาลให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงงานพร้อมให้โรงงานทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านใหม่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวชาวบ้านได้คัดค้านกันมาตั้งแต่ปี 2560 แล้วแต่ทางโรงงานก็ยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ส่วนการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะที่เมืองเพชร ก็ยังคุไม่เลิก ที่ผ่านมา นายสงวน นาทวัฒน์หัตถพล ผู้อำนวยการองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาค 7 พร้อมด้วยประชาชน ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอให้ยุติความขัดแย้งของประชาชน กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่ ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้วยว่า พื้นที่ ต.ท่าแลง ต้องรองรับขยะของ จ.เพชรบุรี มีปริมาณขยะจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้า บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด ได้เข้ามาขออนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่มีการปลุกระดมประชาชนจากผู้ที่เสียประโยชน์ขัดขวาง โดยยื่นหนังสือถึงเทศบาลพร้อมระบุถ้าไม่ยุติจะนำมวลชนไปปิดพื้นที่ ผู้เดือดร้อนจากกองขยะประสานให้ตนไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล เกรงว่าความขัดแย้งจะบานปลาย จึงขอให้นายกฯช่วยเหลือ
ความเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะที่ภาคใต้ ก็ไม่ต่าง เมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.ทับปริก และ ม.1 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จ.กระบี่ เพื่อเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้ช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่จากปัญหามลพิษของบ่อขยะ จึงขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1 ให้ย้ายบ่อขยะออกจากพื้นที่ 2.ไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ แต่ขอให้ไปสร้างในพื้นที่อื่นที่ไกลจากรัศมี 5 กม. จากสถานที่ราชการ ชุมชน มัสยิดกลาง จ.กระบี่ และ โรงเรียน 3.ให้ตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสของการบริหารจัดการของเทศบาลเมืองกระบี่ ต่อบ่อขยะดังกล่าว
เมื่อโรงไฟฟ้าขยะตั้งใน “เขตชุมชน” ไม่ได้ ก็ถึงเวลายาตราเข้า “เขตทหาร” นับจากนี้จะมีแต่รายการใส่เกียร์เดินหน้าสถานเดียวหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป