xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลัง ตั้ง “กุลิศ” ปลัดพลังงานใหม่ รับจ็อบใหญ่ ใบสั่งมา?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สร้างเซอร์ไพรส์กันไปทั้งกระทรวงคลัง พลังงาน และแม้กระทั่งเจ้าตัว “นายกุลิศ สมบัติศิริ”- “เดอะกบ” อธิบดีกรมศุลกากร ว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ หากเชื่ออย่างที่เขาบอกว่า รมว.คลัง เพิ่งเรียกเข้าพบเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 6 ส.ค. ขอให้ไปช่วยงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน แล้ววันรุ่งขึ้นอังคารที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้ามห้วยและข้ามหัวลูกหม้อตัวเต็งจนต้องซดน้ำแห้วกันเป็นแถว

ไม่ต่างไปจากเมื่อคราวที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 แต่งตั้งนายกุลิศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ข้ามมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับคนคลังเป็นอย่างยิ่ง เพราะลูกหม้อกรมบัญชีกลาง อย่างนายกุลิศไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องภาษี ไม่มีชื่อติดอยู่ในโผโยกย้ายมาก่อน แต่กลับกลายมาเป็นม้ามืดแซงเข้าวินชนิดที่เจ้าตัวก็ไม่คิดฝันว่าจะได้มานั่งในกรมเกรดเอ ที่หมายปองของคนคลัง

“....พร้อมที่ทำงานตามคำสั่งอยู่แล้ว....” นายกุลิศ ให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อรู้ว่าต้องข้ามห้วยมากระทรวงพลังงาน ทั้งที่นี่มีลูกหม้อเบียดชิงขึ้นแท่นอยู่ถึง 3 คน คือ นายยงยุทธ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และอีกคนคือ นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสุดท้ายต้องกอดคอไปหาที่เงียบๆ ซดน้ำแห้วด้วยกัน

อันที่จริง ลูกหม้อกระทรวงพลังงานทั้งสาม ก็ใช่จะขี้ริ้วขี้เหร่ เพียงแต่ผลงานอาจไม่เข้าตา “เฮีย กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ว่าได้ เพราะ “เฮียกวง” ให้เหตุผลสั้นๆ หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกุลิศ ว่าเนื่องจากกระทรวงพลังงาน เสนอขอมา เพราะที่นั่น “ไม่มีบุคลากรที่เหมาะสม”

แต่เบื้องหลังที่มากกว่านั้น การโยกข้ามห้วยคราวนี้ อาจจะเป็นการเคลียร์ที่ทางในกระทรวงคลังให้กับคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เป็นมือทำงานคนสำคัญของหัวหน้าดรีมทีมเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก ครม.นัดนี้ นอกจากจะแต่งตั้งปลัดกระทรวง 2 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้ง นายสุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายกุลิศไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงานแล้ว กระทรวงการคลังยังสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้กันอีกถึง 5 ตำแหน่งอีกด้วย

สปอร์ตไลท์ฉายมาที่บุคคลซึ่งถูกจับตามองมากที่สุดเป็นอันดับแรกก่อน ก็คือ นายกุลิศ ข้าราชการน้ำดีกระทรวงการคลัง เพราะสไตล์การทำงาน 2 ปี ที่กรมศุลกากร ภายใต้อุ้งเล็บของเสือสิงห์กระทิงแรด นายกุลิศออกลีลาพะบู๊ทั้งกับขาใหญ่ในแวดวงธุรกิจพลังงานอย่างเชฟรอน ด้วยการเดินหน้าเรียกภาษีน้ำมันคืน โดยเปิดหน้าชนกับอดีตปลัดกระทรวงการคลัง อย่างนายสมชัย สัจจพงษ์ แบบบ่ยั่น

ด้วยว่า นายสมชัย กับนายกุลิศ มีข้อเห็นต่างกรณีที่เชฟรอนขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากชายฝั่งไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมันถือว่าเป็นการส่งออกซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี หรือขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราคาอาณาจักร ซึ่งต้องถูกจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกันประกอบกิจการภายในประเทศ โดยนายสมชัย ให้ถือเป็นการส่งออก แต่นายกุลิศ เห็นว่าเป็นกรณีหลังต้องจัดเก็บภาษี กระทั่งมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา จนมีคำวินิจฉัยยืนข้างนายกุลิศ ยุติข้อพิพาทระหว่างกรมฯ กับเชฟรอน ทำให้เชฟรอนต้องหอบเงินกว่า 2,100 ล้านบาท ที่ได้รับการยกเว้นในช่วง 5 ปี มาคืนหลวง

นอกจากนี้ นายกุลิศยังดับเครื่องชนกับขาใหญ่ในแวดวงเกรย์มาร์เก็ต บรรดานักเลงรถหรูที่แจ้งราคานำเข้ารถต่ำเกินจริงซึ่งเจอไล่เช็กบิลกันเป็นทิวแถว และยังดับฝันยึดอายัดรถเมล์ NGV ของบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ที่ลักไก่เข้ามาขายให้ ขสมก. โดยสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ตรงตามข้อเท็จจริงอีกด้วย เรียกได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา นายกุลิศ สร้างผลงานได้โดดเด่นเข้าตากรรมการได้ไม่น้อย

ภูมิปัญญาและประสบการณ์ทำงานของนายกุลิศ เขาจบการศึกษาปริญญาโท 2 ใบ ที่ Master of Business Administration, University Southern California สหรัฐอเมริกา และ Master of Public Administration, San Diego State University สหรัฐอเมริกา ส่วนระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มต้นรับราชการที่กรมบัญชีกลาง แล้วก้าวขึ้นผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ถูกดึงตัวมาช่วยงานนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีคลัง

ช่วงหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ปี 2548 นายกุลิศ ลาออกจากราชการไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในตำแหน่งรองเลขาธิการด้านนโยบายและแผน ก่อนกลับมารับราชการที่กระทรวงคลังอีกครั้ง ในปี 2550 ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ และปี 2551 นายกุลิศ ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นรองผู้อำนวยการ สคร. ก่อนจะขยับขึ้นเป็นซี 10 ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 2554 จนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาล คสช. ปี 2557 นายกุลิศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สคร. และ ปี 2558 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร

ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานนั้น นายกุลิศเคยอบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 6 สถาบันวิทยาการพลังงาน และยังเป็นกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 ปี และขณะนี้นั่งเป็นบอร์ด ปตท.สผ. เมื่อบวกกับประสบการณ์ในงานที่ สคร. ยาวนานจนถึงขึ้นถึงตำแหน่งผู้อำนวยการ สคร. ทำให้เขารู้เรื่องกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเบอร์ต้นๆ ของประเทศอยู่ไม่น้อย

“.... ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 เดือนครึ่งก่อนไปรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ คงต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องพลังงานทดแทน ในเรื่องการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ยังเหลือเวลาในอายุราชการอีก 5 ปี ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ระหว่างนี้พยายามหาความรู้ในเรื่องพลังงาน เพื่อให้พร้อมในการไปทำหน้าที่ปลัดกระทรวงพลังงาน คนใหม่ ในเดือน ต.ค. 2561....”นายกุลิศ ให้สัมภาษณ์

ในมุมมองที่แตกต่างจากหนึ่งในบรรดานักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว tthaboon Onwongsa ว่า ข้อมูลจากรายงานแบบ 56-1 ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ปี 2560 ระบุว่า นายกุลิศได้เข้าไปเป็นกรรมการ และกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ของ ปตท.สผ. โดยเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 29 มี.ค. 2560

การเป็นกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ของ ปตท.สผ. ที่นายกุลิศนั่งอยู่นั้น กำหนดเอาไว้ว่า ค่าตอบแทนคณะกรรมการ (1) ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 40,000 บาท/คน และจ่ายเต็มเดือน (2) ค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 40,000 บาท/คน กรณีที่มาประชุม (3) โบนัสกรรมการ ให้คณะกรรมการทั้งคณะได้รับโบนัส ถ้ามีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปีนั้นๆ โดยได้รับร้อยละ 0.1 ของกำไรสุทธิปีนั้นๆ จากงบการเงินรวมของบริษัท แต่ไม่เกินวงเงินปีละ 60 ล้านบาท โดยจ่ายตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่งกรรมการ (4) ประธานกรรมการได้รับค่าตอบแทนทุกรายการสูงขึ้นร้อยละ 25 นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง อีกส่วนหนึ่ง

จากเกณฑ์ดังกล่าวประกอบกับการเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 29 มี.ค. 2560 ทำให้มีค่าตอบแทนที่นายกุลิศ ได้รับ จาก ปตท.สผ. ในปี 2560 ดังนี้ ค่าตอบแทนการเป็นกรรมการบริษัท ปตท.สผ. แบ่งเป็นค่าเบี้ยประชุม 440,000 บาท ค่าตอบแทนรายเดือน(เงินเดือน) 400,000 บาท ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน 40,000 บาท และโบนัสกรรมการ ปี 2560 ที่ ปตท.สผ. จ่ายให้ในปี 2561 เป็นเงิน 1,027,817.86 บาท รวมเป็นค่าตอบแทนที่นายกุลิศ ได้รับจาก ปตท.สผ.ทั้งสิ้น 1,907,817.86 บาท

งานใหญ่ ใบสั่งมา?
อันที่จริง หากนับเสือข้ามห้วยจากกระทรวงการคลัง มานั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ชื่อของนายกุลิศ นับเป็นคนที่สอง โดยคนแรกคือ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม โดยก่อนที่นายอารีพงศ์ จะเกษียณอายุในช่วงกลางปี 2560 นายกุลิศ ได้รับการทาบทามให้มานั่งปลัดกระทรวงพลังงาน ต่อจากนายอารีพงศ์ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คราวนั้น “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ขอโควตาให้กับ “คนใน” และดันนายธรรมยศ ศรีช่วย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน เหลืออายุราชการแค่ 1 ปี ขึ้นปลัดกระทรวงพลังงาน คนปัจจุบันแทน

ส่วนรอบนี้ ก่อนมีการชงชื่อเข้า ครม. มี “ผู้ใหญ่” จากตึกไทยคู่ฟ้า ได้นายกุลิศไป “สอบปากเปล่า” รอบสุดท้าย พร้อมมอบภารกิจที่เป็นงานหินไม่น้อย ทั้งการประมูลแหล่งพลังงานเอราวัณ-บงกช ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศผลผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ บริษัท Chevron Thailand Holding Ltd. , บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited , บริษัท MP G2 (Thailand) Limited , บริษัท Total E&P Thailand , บริษัท OMV Aktiengesellschaft ขณะที่ แปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ Chevron Thailand Holding Ltd. , บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited , บริษัท MP L21 (Thailand) Limited , บริษัท OMV Aktiengesellschaft

เป้าหมายการช่วงชิงรอบนี้ อยู่ที่แหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ เชฟรอน ถือครองสัมปทานอยู่แต่เดิมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และยังมีปริมาณสำรองจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา แหล่งเอราวัณ (บี10-13) มีจำนวนหลุมเปิดผลิต 833 หลุม กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,316 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในปี 2560 จ่ายค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ 275 ล้านบาท ขณะที่ แหล่งบงกช (บี15-17) มีขนาดเล็กกว่ามาก ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตก๊าซ 908 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จำนวนหลุมที่เปิดผลิต 187 หลุม จ่ายเงินค่าภาคหลวง 147 ล้านบาท

การมารับภารกิจการประมูลแหล่งก๊าซฯ ของนายกุลิศ ก็เหมือนกับการเจอกันของ “คู่ปรับเก่า” ในศึกยืดเยื้อเชฟรอนเลี่ยงภาษีส่งออกน้ำมัน เมื่อคราวที่นายกุลิศ นั่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร สู้กันจนกระทั่งขาใหญ่เชฟรอน ต้องรีบจบปัญหาเพื่อรักษาชื่อเสียงและผลประโยชน์ระยะยาวที่เชฟรอนเก็บเกี่ยวจากขุมทรัพย์พลังงานในไทยหลายแสนล้านบาทมายาวนาน แถมเวลานี้ยังกำลังเข้าชิงงานประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช อีกด้วย

จะด้วยการวางแผนต้องมีหลายชั้น และมีเชิงมากขึ้นในฐานะประเทศเจ้าของแหล่งพลังงานหรือไม่ ที่ส่งนายกุลิศ ซึ่งนั่งเป็นกรรมการ ปตท.สผ. เข้ามาในช่วงจังหวะนี้พอดิบพอดี การประมูลคราวนี้ไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อยผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะตกอยู่กับ ปตท.สผ. แม้ว่าจะแพ้การประมูลทั้ง 2 แหล่ง ก็ตาม เนื่องจากในทีโออาร์ มีการเงื่อนไขกำหนดให้กระทรวงพลังงาน สงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแต่ละแหล่งได้ ในสัดส่วน 25% ซึ่งเท่ากับว่า กระทรวงพลังงาน อาจจะมอบสิทธิให้ ปตท.สผ. เข้าถือหุ้นทั้ง 2 แหล่งนี้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการประมูลในแหล่งก๊าซภูฮ่อม จ.อุดรธานี มาแล้ว
ต้องไม่ลืมว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเมินว่า การประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช ครั้งนี้ จะมีเม็ดเงินลงทุนสะพัดราว 1.2 ล้านล้านบาท เกิดรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี เลยทีเดียว งานใหญ่ ผลประโยชน์ของชาติมหาศาล จึงต้องอาศัยข้าราชการน้ำดี ใจถึง พึ่งได้ อย่าง “เดอะกบ” ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าปวารณาตัวเป็นข้ารับใช้แผ่นดินและสาธารณะมาโดยตลอด

อีกภารกิจที่หินยิ่งกว่า ก็คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเมกะโปรเจกต์แสนล้านโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนทั่วประเทศ ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเจ้ากระทรวง ถือเป็นงานหินที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ยังแทบเอาตัวไม่รอด ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งโดดเดี่ยวขึ้นทุกที หากไม่ลู่ลมอาจทำให้การข้ามห้วยของ “เดอะกบ” หนนี้เป็นทุกขลาภอาจต้องปิดฉากชีวิตราชการไม่สวยก็เป็นได้

อีกงานที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะตอนนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาตามที่ สำนักข่าวอิศราฯ รายงานก็คือ ความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการเปิดรับข้อเสนอ “โครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2562” ของ สำนักบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ที่รวบรัดประกาศให้ขอรับทุนในวันเดียวแล้วให้เวลาส่งโครงการไม่ถึงสองสัปดาห์ จนอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนวงในและหน่วยงานที่ขอรับทุนนี้มาต่อเนื่องทุกปี ทำให้รายใหม่เสียเปรียบทุกประตู โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกองทุนฯนี้ มีเงินไม่ใช่น้อยๆ พุ่งขึ้นแตะหลักหมื่นล้านจากนโยบายการสนับสนุนพลังงานทางเลือกและทดแทน

ไม่เพียงแต่ภารกิจใหญ่ข้างต้น ยังมีงานหนักที่ผลักดันไม่เห็นหน้าเห็นหลังสักทีคือ การขับเคลื่อน “โซลาร์รูฟท็อป” ภาคประชาชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดชัดว่า รัฐบาลเลือกนายกุลิศ มานั่งปลัดกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นบุคคลที่เหมาะสม มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน สามารถบริหารจัดการในทุกๆ หน่วยงานได้ดี โดยเฉพาะการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับกระทรวงคลัง โดยภารกิจหลักจะผลักดันร่วมกันคือ กระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ภาคประชาชนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อป ที่สามารถผลิตไฟใช้เองและเหลือจำหน่ายได้ ที่กระทรวงพลังงาน จะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้

“โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนนั้นจะส่งเสริมให้มีการแปลงเป็นไฟใช้เองและขายส่วนเกินเข้าสู่ระบบได้ ที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกับกระทรวงพลังงานได้เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนปริมาณรับซื้อเท่าใดและราคารับซื้อจะเป็น 2.44 บาทต่อหน่วยหรือไม่ยังตอบไม่ได้ โดยอาจเป็นไดนามิกขึ้นอยู่กับประเภทเชื้อเพลิงและเหตุผลอื่นๆ ที่ต้องรอผลศึกษาสิ้นปีนี้ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสายส่งแบบสมาร์ทกริดควบคู่ไปด้วย” นายศิริ กล่าว

อีกทั้งยังย้ำว่า ปลัดพลังงานคนใหม่ จะมาช่วยบริหารจัดการในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพราะนโยบายการเงินและการคลังจะมีส่วนอยู่มากในส่วนของพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานและคลัง จะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่จะมีการทำงานแบบข้ามสายงานที่รัฐตั้งใจจะทำเป็นรูปแบบตัวอย่างให้เห็นว่าจะไม่มีไซโลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง การทำงานของรัฐบาลจากนี้ไปทุกๆ กระทรวงก็จะสามารถทำงานที่จะข้ามสายกันได้ และบูรณาการร่วมกันได้หมด

การมาของนายกุลิศ ซึ่งเคยดูแลงานด้านรัฐวิสาหกิจในภาพรวม และคุมรัฐวิสาหกิจเบอร์ใหญ่อย่าง กฟผ. และ ปตท. ทั้งยังเคยนั่งเป็นบอร์ด กฟผ. และ ปตท.สผ. อีกด้วย จึงเป็นคนที่เหมาะสำหรับ “งานใหญ่” ที่กระทรวงพลังงาน ที่นายศิริ กำลังผลักดันเปลี่ยนแปลงนโยบายและทิศทางพลังงานของประเทศใหม่ ทั้งการประมูลแหล่งก๊าซฯภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน ทั้งเป้าหมายใหม่ของแผนกำลังผลิตไฟฟ้าฯ หรือพีดีพี ให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ถูกลง ทั้งการลด เลิก การผูกขาดโดยรัฐหรือเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งก๊าซฯ และลดการอุดหนุนพลังงานทดแทนที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น

เคลียร์เส้นทาง วางหมาก ปลัดคลังคนใหม่?
หากนายกุลิศ ไม่ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เมื่อนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่จะเกษียณในปี 2562 นายกุลิศ ก็คือแคนดิเดตที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนต่อไป แต่หากรัฐบาลชุดนี้ยังบริหารอยู่ โอกาสที่จะได้ขึ้นก็ดูจะยากและการโยกนายกุลิศ ออกจากกระทรวงการคลัง ครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ขยับกันครั้งใหญ่ และเป็นที่ถกกันว่า การโยกย้ายครั้งนี้เป็นการวางหมากสำหรับคนที่จะมานั่งเก้าอี้ปลัดคนต่อไป หรือไม่?

สำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า วิเคราะห์ว่า รอบนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลูกหม้อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ถูกย้ายจากอธิบดีกรมสรรพสามิต นั่งขัดตาทัพในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร โดยมีนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ไล่กวดตามมาติดๆ และขึ้นไปยื่นอยู่บนระนาบเดียวกับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ได้รับการแต่งตั้งในรอบที่นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดคลัง ลาออก และเป็นแคนดิเดตปลัดกระทรวงการคลัง คนต่อไป

สำหรับนายพชร ที่ผ่านมาเคยเป็นทีมงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่ นายสมคิด เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. นายพชร มีตำแหน่งเป็นรองอธิบดี กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ไม่สามารถยืมตัวไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ก็ได้รับมอบหมายงานให้ทำเป็นเรื่องๆ จนได้รับความไว้วางใจจากนายสมคิด ผ่านความเห็นชอบให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำเรื่องเสนอ ครม. แต่งตั้งนายพชร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพัฒนาระบบการเงินการคลัง (ซี 10) กรมบัญชีกลาง ในเดือนมี.ค. 2559 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2558

ชีวิตรับราชการของนายพชร ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว วันที่ 1 ต.ค. 2559 นายพชร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง อีก 7 เดือนต่อมา นายพชร ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ แทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ซึ่งถูกย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง และล่าสุด นายพชร ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต หากมีการโยกย้ายครั้งต่อไป คาดว่า นายพชร น่าจะได้เป็นอธิบดีกรมศุลกากร โดยมีนายยุทธนา หยิมการุณ ว่าที่รองปลัดกระทรวงการคลัง นั่งต่อคิว

ส่วนนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตลูกหม้อกรมธนารักษ์ ขึ้นเป็นซี 10 ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง มาตั้งแต่ปี 2552 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557 ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา พยายามขอกลับกรมธนารักษ์มา 9 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปัจจุบันนายอำนวยอายุย่างเข้า 59 ปี ก่อนเกษียณ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นรางวัลปลอบใจ และคนสุดท้าย นางแพตริเซีย มงคลวนิช ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร ที่ถูกดึงตัวให้มาช่วยงานปลัดกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และแคนดิเดตที่จะเป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนต่อไป

การโยกนายกุลิศ ดูเหมือนจะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง ทั้งได้มือดีไปช่วยงานด้านพลังงานให้สอดรับกับทิศทางและเป้าหมายใหม่ และยังจัดทัพเตรียมรับปลัดคลังคนใหม่แบบยาวไป




กำลังโหลดความคิดเห็น