xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลัดกระทรวงพลังงาน ทำไมถึงต้องเป็น “กบ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

“กบ” เป็นชื่อเล่นของ กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ “ข้ามห้วย” จากกระทรวงการคลังมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานแทน ธรรมยศ ศรีช่วย ซึ่งเกษียณอายุ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

เป็นคนกระทรวงการคลังคนที่สอง ที่มานั่งกินตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน คนแรกคือ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 แต่อารีพงศ์ ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ในตอนที่เป็นปลัดกระทรวงการคลังแล้ว ขณะที่กุลิศได้เลื่อนขึ้นจากอธิบดีซี 10 เป็นซี 11 ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องถือว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ ไม่แพ้กระทรวงการคลัง

รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่า กระทรวงพลังงานขอมา เพราะคนในกระทรวงไม่มีใครเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นปลัดแล้ว

กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการรื้อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือพีดีพี 2015 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่พ.ศ. 2558-2579

แผนพีดีพีฉบับนี้ และฉบับก่อนๆ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหมายถึงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ จนทำให้กำลังสำรองการผลิตไฟฟ้าตามแผนสูงถึง 30% มากเกินความจำเป็น ที่อัตราการสำรองควรจะอยู่ที่ 15%

กำลังการผลิตส่วนเกินนี้ เป็นต้นทุนที่ถูกผลักภาระมาให้ประชาชน เพราะเมื่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้ว จะใช้หรือไม่ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งรับซื้อไฟฟ้า ต้องจ่าย “ค่าพร้อมจ่าย” ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นหลักประกันการลงทุนของผู้ลงทุน ว่า ถึงแม้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเกินความต้องการจริง ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแน่นอน

การทบทวนแผนพีดีพี ซึ่งมีขึ้นในช่วงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนก่อน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น และแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เมื่อ นายศิริ จิระพงศ์พันธ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเมื่อปลายปีที่แล้ว

ทิศทางเป้าหมายใหม่ของแผนพีดีพี คือ ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ถูกลงกว่าปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว ต้นทุนการผลิตลดลงกว่าปัจจุบัน

แผนพีดีพีปัจจุบันมีอัตราค่าใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 จะอยู่ระดับ 5.55 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่สูงเกินไปจากปัจจุบันที่อยู่ในอัตรา 3.80 บาท ควรจะลดได้มากกว่านี้ เพราะมีเชื้อเพลิงทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลาย และเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้ากว่าเดิม

แผนพีดีพีใหม่จะต้องศึกษาความเหมาะสมของเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่จำกัดสัดส่วนชนิดของเชื้อเพลิง แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพง ขณะเดียวกัน การกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ยังถือเป็นเรื่อง จำเป็นที่จะลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิง ชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป

นโยบายพลังงานของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันคือ ลด เลิก การผูกขาด โดยรัฐ หรือเอกชน โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติยังคงต้องอยู่กับ ปตท.ระบบสายส่งไฟฟ้าอยู่กับ กฟผ. แต่ให้มีกติกาที่เป็นธรรม เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้

นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การงดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ชั่วคราวเป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นโครงการไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนไม่เกิน 2.40 บาทต่อหน่วย เพราะศิริเห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้า 5 ปีจากนี้เพียงพอ และเทคโนโลยี ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีความก้าวหน้าไปมาก ราคารับซื้อไฟฟ้าควรจะถูกกว่าที่เป็นอยู่เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชน

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานครั้งใหญ่ของกระทรวงพลังงาน คือ เลิกการอุดหนุนราคาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยการผลักภาระการอุดหนุนผู้ประกอบการไปให้ประชาชนแบกรับโดยไม่รู้ตัว

ทั้งเรื่องการทบทวนแผนพีดีพี และการงดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนชั่วคราว นับเป็นการ “รื้อ” นโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐมนตรีที่ชื่อ ศิริ ซึ่งทำให้เขาถูกโจมตีว่าเปลี่ยนแปลงนโยบายไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ลดบทบาทของปตท. และกฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน

นอกจากนั้น ยังสร้างความแปลกแยกระหว่างรัฐมนตรีกับข้าราชการประจำในกระทรวงพลังงานที่คงจะสับสนไม่เข้าใจปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายของเจ้ากระทรวง ซึ่งเป็นที่มาของกระแสข่าวรัฐมนตรีผู้โดดเดี่ยว

รัฐมนตรีคือผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นจริง คือ ข้าราชการ การขอตัวกุลิศ ข้ามห้วยจากกระทรวงการคลัง มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ก็คงจะเป็นอย่างที่รองนายกฯ สมคิดว่า คือ กระทรวงพลังงานไม่มีคนที่เหมาะสมที่จะแปรนโยบายด้านพลังงานของรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติ

ตำแหน่งสุดท้ายของกุลิศ ก่อนที่จะเป็นอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อ 3 ปีก่อน คือ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เขาเติบโตในสายงานการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอารีพงษ์

ความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เขามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นปลัดกระทรวงพลังงานที่ต้องกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งในสังกัด คือ ปตท.และกฟผ.ให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานใหม่ในยุคของ ศิริ จิระพงษ์พันธ์




กำลังโหลดความคิดเห็น