xs
xsm
sm
md
lg

Not My GDP

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


เป็นประโยคที่ล้อกับคำประท้วงทรัมป์ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบริหารสหรัฐฯ ที่ว่า “Not My President” ซึ่งเป็นการประกาศไม่ยอมรับทรัมป์-ปธน.คนที่ 45 ของสหรัฐฯ ที่ชนะจาก Electoral College หรือคะแนนจากตัวแทนรัฐทั้ง 50 ที่คัดมาจากคะแนนในแต่ละรัฐที่ทรัมป์ชนะ...แต่ทรัมป์กลับแพ้ถึง 3 ล้านเสียง (Popular Votes) ต่อฮิลลารี ถ้านับจำนวนหัวทั้งหมดของผู้ไปออกเสียง เพื่อเลือกตัวแทนรัฐ (Electoral Votes) เพื่อไปเลือกปธน.อีกทอดหนึ่ง

ทรัมป์เข้ามารับไม้ต่อจากโอบามา ที่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเกือบเต็มที่ ด้วยการเติบโตถึง 5% และ 4.9% ใน Q2 และ Q3 ของปี 2014

แต่ด้วยความเป็นนักแสดงที่ตีบทแตก และฉกฉวยสถานการณ์เพื่อตอกย้ำว่า เขาคือผู้ฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากเศรษฐกิจที่พังพินาศ, เสียเปรียบด้านดุลการค้า และประชาชนตกงานมากมาย

ทรัมป์ออกมาประกาศชัยชนะต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ Q2 โตถึง 4.1% โดยจาระไนว่าเป็นผลจากการลดภาษีรายได้โครมครามยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ (จาก 35% เหลือ 20%), ทำให้ภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ได้ขยายงาน รวมทั้งภาคประชาชนก็มีเงินจับจ่ายสินค้ามากขึ้น และภาครัฐบาลก็พลิกจากสถานการณ์เสียเปรียบดุลการค้าต่อทั้งจีน, ยุโรป, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เม็กซิโก ฯลฯ มาเป็นลดการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล

สรุปว่า เขาเป็นปธน.ผู้ยิ่งใหญ่ และทำให้ฐานเสียงของเขาพอใจยิ่ง ที่เคยตกงานในอุตสาหกรรมล้าหลังเช่น ถ่านหิน ก็กลับมามีรายได้อีกครั้ง (ก็สหรัฐฯ บังคับข่มขู่ให้ประเทศบางแห่ง ที่ผู้นำอยากเข้าทำเนียบขาว-ต้องหอบซื้อถ่านหินกลับบ้านมาปั่นไฟฟ้า ให้อากาศที่บ้านมีควันพิษมากขึ้น!)

ทรัมป์พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะสมัยโอบามาปี 2014 ในสมัยที่สองของเขา, เศรษฐกิจโตถึง 5% กว่าด้วยซ้ำ การจ้างงานก็ขยายมาก จนทรัมป์มารับไม้ขณะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวสุดๆ

ตัวเลข GDP โต 4.1% มาจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เข้าประเทศต่างๆ เช่น จีน, ยุโรป, แคนาดา, เม็กซิโก ก่อนหน้ากำหนดวันที่ประเทศเหล่านี้จะตอบโต้สหรัฐฯ, ด้วยการขึ้นภาษีต่อสินค้าอเมริกันเช่นกัน เช่น ภาษีเหล็กที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้น 25% และอะลูมิเนียม 10% จึงถูกประเทศที่ส่งเหล็กเข้าสหรัฐฯ ต่างตอบโต้ด้วยอัตรา 25% และ 10% ต่อสินค้าต่างๆ จากสหรัฐฯ ดังนั้น นักธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ ต้องตาลีตาลานรีบสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่สหรัฐฯ จะฟันธงขึ้นภาษีนำเข้า และประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ก็จะตอบโต้ทันที

มันเป็นระยะเวลานานพอสมควร (ประมาณ 3-6 เดือน) ที่เกิดการรีบสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มาตุนเอาไว้ ก่อนวันประกาศสงครามการค้าจริงๆ!

นี่รวมถึงการประกาศของนักธุรกิจเจ้าเล่ห์เขี้ยวจัดแบบทรัมป์ ที่ประกาศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แล้วให้มีผลบังคับต้นเดือนพฤศจิกายน (ก่อนลงคะแนนเลือกตั้ง Mid Term ช่วงต้นพฤศจิกายน) ห้ามประเทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชีย (ทั้งสหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย) ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน และแม้เข้าไปซื้อขายสินค้าใดๆ กับอิหร่าน รวมทั้งห้ามการลงทุนในอิหร่าน มิฉะนั้นจะถูกลงโทษกับสหรัฐฯ ที่จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีต่อสินค้า และการลงทุนของประเทศนั้นๆ หรือคว่ำบาตรไม่ซื้อขายกับประเทศเหล่านั้นเลย

ทรัมป์เปิดโอกาสให้ประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ได้มีโอกาสตุนน้ำมันไว้ได้บางส่วน (ตุนมากก็ไม่มีที่เก็บอยู่ดี)

การประกาศล่วงหน้า ถึงกำหนดการขึ้นภาษีเป็นมาตรการที่ทรัมป์คำนวณเสร็จแล้วว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะขาย-ขาย-ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนโตขนาดนี้

แม้แต่ผู้บริโภคอเมริกัน ก็ต้องรีบซื้อสินค้าก่อนที่จะถึงวันเวลาที่สินค้านำเข้าจากจีนจะถูกขึ้นภาษีถึง 10-25%

รวมทั้งผู้บริโภคที่จีน, ยุโรปต่างก็ต้องรีบซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ก่อนที่สินค้าจะโดนรัฐบาลของตนขึ้นภาษี 10-25% เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ

GDP Q2 ของสหรัฐฯ โต 4.1% นี้ มาจากการส่งออก และการบริโภคภายในที่โตพรวดขึ้นมาอย่างฉับพลัน ซึ่งทรัมป์อธิบายว่า มาจากการลดภาษีครั้งใหญ่ของเขา แต่ความจริงคือ การรีบซื้อสินค้าจากภาคธุรกิจและประชาชน แม้จะมีส่วนบ้างจากการลดภาษีรายได้ แต่ผู้ได้ประโยชน์จากการลดภาษีรายได้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ยักษ์ และผู้มีรายได้สูงๆ ซึ่งไม่ได้ถึงกับขยายลงทุนใหญ่ หรือคนรวยๆ จะไม่ซื้อข้าวของเครื่องใช้มากกว่าคนชั้นกลางและคนจนที่ต้องจับจ่ายมากกว่า

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเช่น Paul Krugman และ Lawrence Summer ออกมาเตือนว่า การเติบโตครั้งนี้ มันจะไม่ยืนยงเพราะการรีบตุนสินค้าก่อนขึ้นภาษีมีผลบังคับ จะทำให้เกิดการชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ตามมา

ยังมีหนี้สาธารณะของรัฐบาลอีกมากมายที่สูงพรวดขึ้น จากการประกาศลดภาษีรายได้มโหฬาร รายได้เข้ารัฐจะลดลงมาก

แล้วรัฐอเมริกันยังต้องควักกระเป๋า 12,000 ล้านเหรียญไปเยียวยาเกษตรกรอเมริกัน ที่ถูกตอบโต้จากจีน...ที่ขึ้นภาษีสินค้าเกษตร (บริเวณฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน ทั้งถั่วเหลือง, หมู, เหล้าเบอร์เบิ้น, น้ำส้มจากฟลอริดา, ข้าวโพด) เพิ่มค่าใช้จ่ายที่ทำให้รัฐบาลเป็นหนี้มากขึ้น

จนรมต.เกษตรของทรัมป์ต้องพูดเสียงอ่อยหน้าจอ CNBC ว่า มาตรการเยียวยา 12,000 ล้านเหรียญ เช็ดน้ำตาเกษตรกรอเมริกันเป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งทรัมป์ก็รู้ว่าการขู่ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนถึง 5 แสนล้านเหรียญ จะเป็นเรื่องชั่วคราวที่ทำให้ตกอกตกใจไว้ก่อน แล้วอเมริกาก็ขาย-ขาย-ขายในช่วงสั้นนี้ได้อย่างงาม ในระยะยาวการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ต้องผ่อนคลายลงมาอย่างแน่นอน

พวกประชาชนที่รู้ทันทรัมป์ เกรงมากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่วงจร Boom & Bust (โต & แตก) แบบมรดกที่ปธน.เรแกนทิ้งเอาไว้ให้ปธน.คนต่อไปต้องแก้จนหน้ามืด ; จึงไม่ยอมรับ GDP ที่โตแบบไม่ยั่งยืนนี้ และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำลงเลย

แต่สำหรับประชาชนแบบบ้านเรา กับตัวเลข GDP ที่โต ก็ต้องถามว่า การเติบโตนี้กระจายความมั่งคั่ง และลดเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ หรือรวยกระจุก จนกระจายกับภาพลวงตา GDP ที่โตสุดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น