xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาการข้อมูลในรัฐศาสตร์แบบสากล

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA


เมื่อ ดร. ถวิลวดี บุรีกุล จากสถาบันพระปกเกล้า ชวนไป conference ของ International Political Science Association ผมก็ลองดูว่ามีอะไรที่ตัวเองได้ทำงานวิจัยไว้และพอจะไปได้บ้าง ซึ่งก็มีพอสมควร แม้ผมจะไม่ได้จบมาทางรัฐศาสตร์โดยตรง Conference ของทางรัฐศาสตร์ที่ใหญ่สุดของโลกมีสองอันคือ APSA และ IPSA ซึ่งที่ผมไปคือ IPSA เป็นสมาคมที่รวมนักรัฐศาสตร์ทั่วโลกและส่วนใหญ่จะอยู่นอกอเมริกาและเริ่มต้นจากทางยุโรป ในขณะที่ APSA นั้นเป็นของอเมริกันโดยตรง

ผมนำงานวิจัยส่งไปนำเสนอสามชิ้น ชิ้นหนึ่งใช้ข้อมูล World Value Survey เพื่อสร้างตัวแบบทำนายการเข้าร่วมประท้วงทางการเมือง การบอยคอต และการลงชื่อต่อต้าน ในสามประเทศคือฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย อีกบทความหนึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Spatial correlation) และความเป็นภูมิภาคนิยมในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในปี 2554 อันเป็นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เลือกตั้งได้สำเร็จ และอีกบทความเป็นการพัฒนาดัชนีวัดความเป็นเมือง (Urbanization) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเมืองกับผลการเลือกตั้ง

IPSA คราวนี้จัดที่ Brisbane ประเทศออสเตรเลีย มีคนเข้าร่วมงานสองพันห้าร้อยคน คนเข้าร่วมงานจริงจังมาก งานจัดสี่วันคนเต็มในแทบทุก session และอยู่กันจนวันสุดท้ายเกือบทุ่มครึ่ง คนมา conference นี่ถามกันเอาจริง เอาจังมาก

ผมเข้าไปดูรัฐศาสตร์แบบระดับสากลก็ตกใจว่าต่างกับรัฐศาสตร์ไทยพอสมควร

เดินเข้าไปในงานเจอ vendor มาขาย software สำหรับการวิเคราะห์ข้อความ (Text analytics) และการวิเคราะห์รูปภาพ (Image analytics) ซึ่งสร้างความแปลกใจให้ผมมากว่าผมมางานประชุมวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือด้าน Big data กันแน่ Vendor เจ้านี้มาแนะนำการใช้ Social listening tools ในการวิเคราะห์อารมณ์ทางการเมือง (Sentiment analysis) ว่าประชาชนคิดอย่างไร มี software สำหรับการวิเคราะห์ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate social responsibility) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เครือข่ายสังคมและการวิเคราะห์ข้อความผนวกเข้าไว้ด้วยกัน

ผมไปตาม session ต่างๆ พบว่ามีการนำเสนอเรื่องใหม่ ๆ ที่นำวิทยาการข้อมูล (Data Science) มาใช้วิเคราะห์การเมือง (Political analysis) จำนวนมาก เช่น

การวิเคราะห์ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยใน google book ซึ่งเป็น e-book ทั้งหมดในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาด้วยการวิเคราะห์ข้อความและการประมวลผลภาษาธรรมชาติ

มีเปเปอร์จากญี่ปุ่นที่นำเสนอการใช้การจดจำใบหน้า (Facial recognition) ของรูปผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น สร้างดัชนีการยิ้ม (Smile index) จากรูปหน้าผู้สมัครที่ใช้หาเสียงแล้วพบว่าสัมพันธ์ทางบวกกับสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้ในการเลือกตั้งระบบ multiple-member district system ผู้สมัครคนไหนเลือกรูปยิ้มมาก ๆ มีแนวโน้มจะได้คะแนนเสียงดีกว่า โดยเฉพาะที่เลือกกันเขตละหลาย ๆ คนเมื่อพิจารณาคุณสมบัติอื่นไม่ไหว ก็ใช้ตัวช่วยในการตัดสินใจ (Heuristics) คือรอยยิ้มมาช่วยในการตัดสินใจแทน สงสัยถ้าผลการวิเคราะห์แบบนี้ในประเทศไทยจะออกมาแบบไหน อยากรู้เหมือนกัน

มีการวิเคราะห์ข่าวโทรทัศน์ ด้วย multimedia analytics หรือการวิเคราะห์สื่อมัลติมีเดีย เปรียบเทียบกันสี่ประเทศระหว่าง อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ และวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) เปรียบเทียบการนำเสนอข่าวการเมืองและการเลือกตั้งระหว่างสถานทีโทรทัศน์ของรัฐและของเอกชน

มีการวิเคราะห์เนื้อหาใน Twitter ด้วยการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) เพื่อจำแนกว่าคนไหนเป็น left หรือ right wing (เอียงขวาหรือเอียงซ้าย) จากเนื้อหาบน Twitter

การสร้างดัชนีศักยภาพของรัฐและอำนาจรัฐและสร้างแผนที่ดังกล่าวลงบนแผนที่โลก

เนื้อหาเช่นนี้มีเยอะมากใน IPSA และคนมานำเสนอกลายเป็นคนนอกวงการเช่น นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักภูมิศาสตร์ เข้ามามีส่วนสำคัญในการวิจัย

ที่สำคัญคือเป็น conference ที่แปลกมาก คนแน่นทุกห้องทุก session คนมาฟังตั้งใจมาฟังจริงจังมาก และคำถามค่อนข้างเอาจริงเอาจังถึงขั้นดุ อยู่กันถึงสองทุ่มติดกัน 4-5 วัน บาง session มีการประชุมต่อถึง 4 ทุ่มก็มี แม้กระทั่งวันสุดท้ายก็นำเสนอกันจนถึงสองทุ่มและมีคนฟังกันเต็ม ถามตอบกันจริงจังมาก อันนี้ผิดกับ conference แบบไทย ๆ ที่เน้นการไปเที่ยวเป็นหลัก ที่ IPSA นี่มากันจริงจัง มาหาความรู้ มาแลกเปลี่ยนความรู้กันเต็มที่

เนื้อหาการนำเสนอในงานค่อนข้างแตกต่างจากรัฐศาสตร์ในประเทศไทยค่อนข้างมาก ผมเห็นแนวโน้มที่แตกต่างกันมาก เลยลองตีตารางเปรียบเทียบแนวโน้มรัฐศาสตร์แบบไทย ๆ กับ แบบสากล ที่ผมได้เห็นมา แน่นอนว่าสายตาผมในฐานะคนนอกสาขาน่าจะแตกต่างจากคนในรัฐศาสตร์เองค่อนข้างมาก และอาจจะไม่ถูกต้องในสายตาคนในก็ได้

แนวทางรัฐศาสตร์แบบแบบไทยเป็นแนวบรรทัดฐาน (Normative) ตามที่ตัวเอง (นักรัฐศาสตร์) อยากให้เป็น เน้นการโต้เถียง (Argumentative) อาจารย์มักมีลักษณะการยึดติดลัทธิ (Dogmatism) และพยายามพร่ำสอนหรือโน้มน้าวให้ลูกศิษย์หรือสาวกคิดตามที่ตนเองคิด ในขณะที่รัฐศาสตร์แบบสากลเน้นการศึกษารัฐศาสตร์หรือการเมืองตามที่เป็นจริงหรือตามบรรยาย (Descriptive) พยายามเข้าใจและพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริงมากกว่าจะบอกว่าการเมืองควรเป็นอย่างไร แนวทางเป็นแนวทางเชิงประจักษ์ (Empirical) ต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือเชิงปริมาณ ไม่ใช่การยกปรัชญาการเมืองหรือการถกเถียงด้วยเหตุผลที่ตนเองเชื่อ

วิธีการของรัฐศาสตร์แบบไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ในขณะที่ในต่างประเทศใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณค่อนข้างมากกว่า มีการวิจัยเชิงสำรวจสังคม (Social survey research) จำนวนมาก เช่น World value survey หรือ Barometer ต่าง ๆ จากทั่วโลก เช่น Asian Barometer, Arab Barometer เป็นต้น เดินดูงานใน IPSA งานวิจัยเชิงปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีมากกว่ารัฐศาสตร์แบบไทยอย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูลและการวิเคราะห์นั้นรัฐศาสตร์แบบไทยเน้นไปที่ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnography) การวิจัยเอกสาร (Documentary research) ในขณะที่รัฐศาสตร์แบบสากลมีความทันสมัยและใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่า ข้อมูลใหญ่ (Big data), การวิเคราะห์เครือข่ายและสื่อสังคม (Social media and network analysis), การวิเคราะห์ข้อความ (text analytics), การวิเคราะห์รูปถ่าย (image analytics), การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่-เวลา (spatio-temporal data analysis), การวิเคราะห์สถิติตัวแปรพหุ (multivariate statistical analysis) ซึ่งรัฐศาสตร์แบบในประเทศไทยน่าจะยังไม่มาบนเส้นทางนี้มากนัก

ที่น่าสังเกตุอีกประการหนึ่งคือ IPSA แทบจะไม่จัด Session ให้เป็นอาณาบริเวณศึกษาเลย ได้ยินมาว่านักรัฐศาสตร์ไทยไม่ไป IPSA หรือ APSA ส่วนใหญ่ไปที่ International conference on Thai studies กันมากกว่า ใน IPSA นั้นเน้นไปที่เนื้อหา เช่น ภูมิรัฐศาสตร์กับการเลือกตั้ง เพศกับการเมือง มีโฟกัสไปที่ทฤษฎีในแต่ละเรื่องมากกว่าจะเอาอาณาบริเวณมาเป็นพระเอกแบบไทย เช่น ว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์กับการเลือกตั้งก็มานำเสนอกันได้จากทั่วโลก พยายามหาคำอธิบายเชิงทฤษฎีและเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันอย่างไรในประเทศต่างๆ มากกว่าจะไป focus ที่ area studies

ความครอบคลุมและบูรณาการของรัฐศาสตร์แบบสากล พบว่าขอบข่ายเนื้อหากว้างมาก มีการไปบูรณาการกับนิเทศศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ สาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแตกต่างจากของไทยมากที่เน้นไปที่การเมืองล้วน ๆ มากกว่าจะไปบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาแบบรัฐศาสตร์แบบสากล

เมื่อได้ไปเห็นรัฐศาสตร์แบบสากลแล้วก็คิดว่ารัฐศาสตร์แบบไทยคงจำเป็นต้องปรับตัวมากทีเดียวจึงจะตอบคำถามในการพัฒนาประเทศได้อย่างทันโลกทันสมัย


กำลังโหลดความคิดเห็น