xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สินบนข้ามชาติโผล่ โรงไฟฟ้าขนอม “เอ็กโก้” รอดตัว “กรมเจ้าท่า” บักโกรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับ “สินบนข้ามชาติ” ที่เคยโด่งดังมาจากกรณี “สินบนโรลรอยส์”หรือ “GT 200” โดยคราวนี้ไปปรากฏในโครงการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้า” เมื่อสื่อญี่ปุ่นพร้อมใจกันรายงานถึงการจ่าย “ใต้โต๊ะ” ให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยช่วงปี 56-57 คิดเป็นเงินกว่า 60 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 20 ล้านบาท

สำนักข่าวหลายแห่งของญี่ปุ่นรายงานว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวน บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยทางบริษัทได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย โดยทางบริษัทจะให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน เพื่อแลกกับการที่ทางบริษัทจะไม่ถูกดำเนินคดีหรือลดโทษ
ทั้งนี้ บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเทมส์ ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 โดยเป็นการควบรวมของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรี และบริษัท ฮิตาชิ จำกัด เพื่อบริหารจัดการงานด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โดยบริษัทบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรี ชนะการประมูลโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในไทยเมื่อปี 2556 และถูกควบรวมเป็นบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ในเวลาต่อมา

แหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย โดยผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท ซึ่งการสืบสวนภายในของบริษัทยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทประพฤติผิดจริง และได้ให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน แต่ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน

ตามกฎหมายของญี่ปุ่น กรณีนี้มีโทษปรับสูงสุดถึง 300 ล้านเยน (หรือราว 90 ล้านบาท) สำหรับบริษัท และพนักงานที่กระทำผิดมีโทษจำคุก 5 ปีหรือปรับ 5 ล้านเยน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสืบสวนเส้นทางทางการเงินในคดีสินบนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการของต่างชาตินั้นยากมาก เพราะมักกระทำผ่านนายหน้าหลายราย แต่ระบบการต่อรองการรับสารภาพทำให้การสืบสวนทางฝ่ายญี่ปุ่นง่ายขึ้น โดยบริษัทที่ถูกลงโทษเรื่องการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ต่างชาติจะถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินนานาชาติ ทำให้บริษัทหลายแห่งต่อรองที่ยอมให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวน เพื่อแลกกับการไม่ถูกลงโทษที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2541 ที่ญี่ปุ่นห้ามการให้และรับสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ มี 4 กรณีเท่านั้นที่บริษัทหรือพนักงานของญี่ปุ่นถูกกล่าวหาว่าให้สินบนกับข้าราชการต่างชาติ แต่กรณีนี้เป็นกรณีแรกที่มีการต่อรองการรับสารภาพ หรือ plea bargain

ปัจจุบันที่ตั้งของ บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MHPS นั้นอยู่ที่อาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์เพลส ห้องเลขที่ 1&7 ชั้นที่ 45 เลขที่ 87/2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ นายเคนจิ อันโดะ ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ผู้ผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนประกอบสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยมีนโยบายยกระดับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นับเป็นหนึ่งในการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคด้านพลังงานจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากอนาคตอาจจะมีการตั้งฐานการผลิต การตั้งโรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าในรูปแบบใหม่

หลังปรากฏข่าวออกมา ก็ได้มีการตรวจสอบกันยกใหญ่ว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้นเป็นของใคร และตั้งอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้ายึดโยงตามที่มีรายงานออกมาจากทางฝั่งญี่ปุ่นก็คงหนีไม่พ้น “โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4” โครงการของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เอ็กโก้” อันเป็นบริษัทที่มี “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตั้งอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช โครงการนี้ ทาง Mitsubishi Corporation (MC) มีหน้าที่ ดูแลรวบรวมและสรุปการดำเนินงานของกลุ่มผู้รับเหมา มี Mitsubishi Hitachi Power Systems (MHPS) เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์หลัก ต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัก ชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) ดูแลงาน โครงสร้างต่างๆ

โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. เป็นเวลา 25 ปี กำลังการผลิตรวม 930 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นหน่วยผลิตจำนวน 2 หน่วย ๆ ละ 465 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่19 เม.ย.2559 โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และถือเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ข่าวสารที่เผยแพร่จากญี่ปุ่นในเวลาต่อมาได้ทำให้ข้อมูลมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้หลายคนถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 เนื่องเพราะกระบวนการจ่ายสินบนนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมูลโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดโรงไฟฟ้า

งานนี้ นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานคณะกรรมการ บมจ.ผลิตไฟฟ้า ( EGCO ) ถึงกับกล่าวว่า ถ้าการติดสินบนเป็นเรื่องของการนำเข้า การขนส่ง เครื่องจักรเข้ามายังไทยก็น่าจะสบายใจได้ระดับหนึ่งว่าไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงพลังงาน

แต่ข่าวที่ออกมาก็เล่นเอา หุ้นของ EGCO โดนเทหนักในการซื้อขายเมื่อวันที่18 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยราคาลดลงไปต่ำสุดที่ 221 บาท ก่อนปิดการซื้อขายที่ 225 บาท ลดลง 4 บาท และมีปริมาณหุ้นที่ซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 271% เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 วันทำการก่อนหน้า

ทว่า หน่วยงานที่ต้องกลุ้มถัดมาก็คือ “กระทรวงคมนาคม” โดยเฉพาะ “กรมเจ้าท่า” และจำต้องไขข้อข้องใจให้กระจ่างแจ้งแก่สังคม ซึ่งขณะนี้นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่าได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยคดีดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการต่างประเทศ ของ ป.ป.ช. ที่ได้รับการประสานงานให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง และที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะอนุไต่สวนขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการหลายเดือนแล้ว

ขณะที่นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราสั้นๆ ว่า “เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของป.ป.ช.แล้ว ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เป็นเรื่องธุรกิจที่มันค่อนข้างซับซ้อน และผมก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย”

งานนี้ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า บทสรุปจะออกมาเหมือนกับกรณีสินบนข้ามชาติอื่นๆ ที่ต่างประเทศลงโทษคนผิดไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่จนป่านนี้กระบวนการในไทยยังเงียบกริบ หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการทุจริตรับสินบาทคาดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐไทยนั้นเกิดขึ้นในทุกระดับชั้น ขนาดแค่การขนส่งยังมีการเรียกรับเงิน แล้วอย่างอื่นจะไปเหลืออะไร




กำลังโหลดความคิดเห็น