xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบิ่ดคำสิเว้า... “ปฏิญญามหาสารคาม” “ครู” พักชำระหนี้เงินกู้ “ช.พ.ค.” “อวยชัย วะทา” แค่หาเสียงเล่นการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพในคลิปเหตุการณ์ ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เมื่อ 14กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นข่าวที่เรียกเสียงก่นด่าจากผู้คนในสังคมอย่างแท้ทรูเลยเสียจริงๆ สำหรับคำประกาศ “พักชำระหนี้” และ “ยุติการจ่ายเงิน” ใน “โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เงินกู้ ช.พ.ค.” ของ “ครู(กลุ่มหนึ่ง)” พร้อมเรียกคำชักดาบเอาไว้สวยหรูว่า “ปฏิญญามหาสารคาม”

เหตุที่ต้องใช้คำว่า “ครูกลุ่มหนึ่ง” เนื่องเพราะผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นครูกลุ่มนี้ นำโดย “อวยชัย วะทา” ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นชื่อก็ต้องร้องอ๋อกันทั้งบาง เพราะมีประวัติต่อท้ายยาวเป็นหางว่าว ชนิดที่พันรอบโลกแล้วยังทะลุเลยไปพันรอบดาวอังคารกันเลยทีเดียว หรือหมายความว่า มิได้เป็นเสียงของครูทั่วประเทศ และยังอาจมี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเสียด้วยซ้ำไป

สาระสำคัญของปฏิญญามหาสารคามมี 2 ข้อคือ

หนึ่ง-ขอให้ “รัฐบาล” และ “ธนาคารออมสิน” พักหนี้ “โครงการ ช.พ.ค.ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

และสอง- “ลูกหนี้ ช.พ.ค.” จำนวน 4.5 แสนรายจะยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

อวยชัยอธิบายว่า เมื่อปี 2552 สกสค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารออมสินเพื่อให้สมาชิก ช.พ.ค. และช.พ.ส. กู้เงินจากธนาคารออมสินรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีกำหนดผ่อนชำระ 30 ปี หรือ 360 งวด มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ 2.เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย 3.เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ 4.เพื่อซื้อหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจ 5.เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่นๆ โดยมีข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในการดำเนินการช่วยเพื่อนครูตามโครงการดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องเดือดร้อน แบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการคิดดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับเพื่อนครู คิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์ และปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการหักเงินจากผู้กู้ในแต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมด จนกว่าจะได้ดอกเบี้ยครบก่อน แล้วจึงหักเงินต้น ทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้น ในระยะเวลานานถึง 30 ปี ยกตัวอย่างเคสของตน กู้เงินมาจำนวน 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละกว่า 7,000 บาท ซึ่งส่งเงินมาแล้วระยะเวลา 7 ปี เงินต้นลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทำประกันชีวิตอ้างว่า เพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000 - 200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโครงการระดมทุน หรือโครงการร่วมทุนจากผู้กู้ ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนรายได้หรือหาทางปลดเปลื้องหนี้สิน และเพิ่มพูนรายได้อย่างเป็นระบบ นอกจากโครงการขายบ้าน ขายรถ ขายประกัน และโครงการส่งเสริมการเป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งยิ่งแต่จะสร้างภาระหนี้สินทับซ้อนขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมอีก

จำเลยของ “ครูกลุ่มนี้” ก็คือ ธนาคารออมสินและทิพยประกันภัย

ขำในความคิดและตรรกะของ “ครูกลุ่มดังกล่าว” เสียยิ่งนัก

เพราะว่ากันโดยไม่เกรงใจก็ต้องบอกว่า ไม่มีใครไปบังคับให้ครูกลุ่มนี้ไปกู้เงินจากออมสิน และก่อนที่จะ “ลงลายมือชื่อ” ในสัญญาเงินกู้ ก็ย่อมต้องอ่านเงื่อนไขให้ละเอียดถี่ถ้วนอยู่แล้ว ดังนั้น จะบอกว่าไม่รู้เรื่องเงื่อนไขการกู้เงินก็คงไม่ได้

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ตัวเลขที่นายอวยชัยกล่าวอ้างเรื่องการชำระหนี้และดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกู้เงิน ซึ่งใครที่เคยกู้เงินซื้อบ้านย่อมต้องรู้ดีถึงเงื่อนไขดังกล่าว เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงปีแรกๆ ก็ดำเนินไปในลักษณะนี้อยู่แล้ว

“ผมยังไม่เห็นปฏิญญาเลย อย่าให้ผมวิจารณ์ในสิ่งที่ยังไม่เห็น และเชื่อว่าที่ครูกลุ่มนี้ออกมาประกาศแบบนี้ ก็ไม่มีใครทำตามแน่นอน เพราะอยู่ๆ จะประกาศว่าไม่ใช้หนี้แล้วคนจะทำตาม เพราะเป็นเรื่องของกฏหมาย แต่ก็ต้องไปถามเจ้าหนี้คือธนาคารออมสินว่าจะให้เขาพักชำระหนี้ตามที่เขาเรียกร้องหรือไม่ ส่วนครูมีสิทธิเรียกร้องหรือไม่ ก็ต้องดูที่อยู่ในคลิปนั้นว่ามีครูอยู่กี่คน เพราะที่ผ่านมาธนาคารออมสินก็พึ่งลงนามความร่วมมือในโครงการลดดอกเบี้ยให้ครูไปแล้ว อย่าเอาครู 4 แสนคนมาอ้าง และผู้ที่กู้โครงการ ช.พ.ค.มีทั้งเป็นข้าราชการประจำ และข้าราชการบำนาญ จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบกับการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูตามในโครงการ ช.พ.ค.กับธนาคารออมสิน โครงการ 2-7 รวมกว่า 475,000 บัญชี มูลค่าหนี้กว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะการเจรจาจบแล้ว ครูก็พึงพอใจเพราะมีเงินเดือนเหลือ” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็น

ขณะเดียวกันถ้าติดตามข่าวเรื่องเงินกู้ ช.พ.ค.มาอย่างต่อเนื่องก็จะรู้ว่า เป็นปัญหาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้มีการแก้ไขมาเป็นลำดับ กล่าวคือเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ธนาคารออมสิน และสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันในการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของสินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดย สกสค. ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันกับธนาคารออมสิน แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงเดิม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ยกเลิกเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเดิม ที่กำหนดให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินสนับสนุนให้กับ สกสค.ตามอัตราและระยะเวลาที่ กำหนดตามแต่ละโครงการ เพื่อให้นำไปใช้ในการพัฒนาสมาชิกและกิจการ ช.พ.ค. รวมทั้งชำระหนี้ค้างแทนสมาชิก ช.พ.ค. ที่ไม่สามารถชำระเงินงวดให้กับธนาคารเกิน 3 เดือนติดต่อกันได้

“สำหรับผู้กู้ ซึ่งหมายถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการที่จะได้รับสิทธิลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราข้างต้น ต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะหนี้ปกติ หรือเข้าร่วมมาตรการแก้ไขหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 100% และชำระดอกเบี้ยที่ตั้งพักทั้งหมด หรือผู้กู้เข้าร่วมมาตรการแก้ไขหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากมีเงื่อนไขชำระดอกเบี้ยน้อยกว่า 100% เมื่อครบระยะเวลาผ่อนปรนแล้ว สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ และชำระดอกเบี้ยที่ตั้งพักทั้งหมด นอกจากประโยชน์ที่ผู้กู้จะได้รับจากการลดดอกเบี้ย ยังเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือน ผู้กู้ยังสามารถขอลดเงินงวดผ่อนชำระได้อีกด้วย ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์ลดเงินงวดในแต่ละเดือน ก็จะไปลดเงินต้นได้มากขึ้น ทำให้หมดภาระหนี้เร็ว

“วงเงินที่ธนาคารเคยจัดสรรเพื่อสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการ ช.พ.ค. เดือนละประมาณ 200 ล้านบาท จะเปลี่ยนไปเข้าบัญชีครูและบุคลากรทางการศึกษาแทน รวมปีละ 2,000 ล้านบาท โดยครูที่ไม่แน่ใจว่าจะผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ขอให้มาเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โครงการเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ธนาคารเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่จะสร้างวินัยทางการเงินและตอบแทนครูดี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มี กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ” ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเมื่อครั้งที่มีปัญหารอบที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ได้มีการช่วยเรื่องหนี้ครูด้วย “เงื่อนไขสุดพิเศษ” มาอย่างต่อเนื่องแล้วเสียด้วยซ้ำไป

ส่วนกรณี “ปฏิญญามหาสารคาม” เที่ยวนี้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย อธิบายว่า หนี้ครูดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2542 และ เพิ่มขึ้นมากในปี 2548 โดยในช่วงนั้น ครูมีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบมาก รัฐบาลก็ให้ออมสินเข้าไปช่วย เพราะห่วงเรื่องสมาธิในการสอนของครูต่อเด็กนักเรียนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้ และมียอดหนี้พุ่งสูงขึ้นมาแตะระดับกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเพื่อให้ครูมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยและยืดหนี้ให้ยาวขึ้นถึง 30 ปี

“ถามว่า ทำไมผ่อนมาตั้งนาน เงินต้นไม่ลดลง ก็เพราะครูเลือกแนวทางผ่อนต้นต่ำๆ ในระยะยาวถึง 30 ปี รวมถึงเปิดโอกาสให้เลือกใช้บุคคลค้ำประกันหรือการทำประกันชีวิตกับธนาคารไว้เป็นหลักประกันได้ แต่ถึงอย่างไร ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หนี้เงินต้นของครูโดยรวมก็ลดลงถึง 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือหนี้เงินต้นประมาณ 4.2 แสนล้านบาท เฉลี่ยหนี้ต่อรายประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น คนผ่อนปกติ เงินต้นก็ลดไป อย่างไรก็ดี สำหรับในรายที่อาจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว เราก็ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นให้เป็นเวลา 3 ปี และ ผ่อนปรนการชำระดอกเบี้ยได้อีกด้วย ดังนั้น ถือว่า เราได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างเต็มที่แล้ว”

กล่าวสำหรับมาตรการผ่อนปรนการชำระดอกเบี้ยนั้น ได้มีการพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เข้ามาประกอบด้วย คือหากผ่อนชำระแล้วเหลือเงิน 30% ของเงินเดือนจะช่วยเหลือให้ผ่อนแค่ดอกเบี้ยไม่ต้องส่งเงินต้น แต่ถ้าหากผ่อนแล้วเหลือเงิน 15-30% ไม่ต้องผ่อนเงินต้น และผ่อนดอกเบี้ยเพียงแค่ครึ่งเดียว และถ้าผ่อนแล้วเหลือเงินน้อยกว่า 15% ไม่ต้องผ่อนเงินต้นแต่ผ่อนดอกเบี้ยเพียง 25% และยังมีการลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี 0.5-1% อีกด้วย

“ลูกหนี้ออมสินในโครงการ ช.พ.ค.ส่วนใหญ่ 99% เป็นลูกหนี้ที่ดี มีเพียงไม่ถึง 1% ที่มีปัญหาและไม่อยากผ่อนชำระคืน “นายชาติชายสรุป

ขณะที่นายอวยชัยได้ออกมาชี้แจงหลังถูกรุมถล่มเละเทะว่า เป็นระบบทางธุรกรรมที่ธนาคารจัดการแบบเบ็ดเสร็จจนสร้างภาระหนี้สินให้ครูที่เข้าร่วมโครงการ คือการคิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปพร้อมทั้งปรับสูงขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการมุ่งแสวงหากำไรแต่ไม่ใช่การบรรเทาปัญหา นอกจากนี้การหักเงินจากผู้กู้ในแต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมดจนกว่าจะได้ดอกเบี้ยครบก่อนแล้วจึงหักเงินต้นทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้นในระยะเวลาถึง 30 ปี นอกจากนี้ยังบังคับให้ทำประกันชีวิต โดยธนาคารอ้างว่าเพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารโดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 60,000-150,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับดอกผลากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือบริษัทประกัน ธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ฟังความแล้ว สมเหตุสมผลหรือ เชื่อเหลือเกินว่า สังคมพิจารณาแล้วจะมีคำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี ถ้าฟังความคิดจาก ดร.ครรชิต วรรณชา ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “กลุ่มครูที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่พบว่าเป็นข้าราชการเกษียณ รายได้จากเงินบำนาญอาจจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย” ก็ฟังดูจะมีเหตุที่พอจะรับฟังได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ตัวผู้กู้เองก็ต้องรับรู้ข้อมูลและเงื่อนไขของการกู้อยู่แล้ว และคงมิได้มีการเตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้า รวมถึงไม่มีวินัยทางการเงิน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาหลังจากเกษียณอายุราชการ

ทว่า ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องประกาศยุติพักชำระหนี้จนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย

ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “เด็ก” ที่ต้องกู้เงินจาก“กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ “กยศ.” แล้วเจอมาตรการบังคับชำระหนี้แบบเด็ดขาดโดยประกาศ “หักหนี้ กยศ. จากบัญชีเงินเดือน” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองไม่เห็นข้ออ้างอันสมเหตุสมผลจากผู้เป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” ว่าสมควรจะได้รับ “สิทธิพิเศษ” ได้รับเหนือ “ลูกศิษย์ลูกหา” แต่ประการใด

ทั้งนี้ วิกฤติหนี้ครูจัดเป็น “ปัญหาโลกแตก” และเป็นปัญหาคาราคาซังทุกยุคทุกสมัย ซึ่งสุดท้ายแล้ว สังคมก็ต้องกลับมาตั้งคำถามสำคัญย้อนกลับไปบ้างว่า ทำไมครูถึงมีหนี้สินพะรุงพะรังเยี่ยงนี้ และดูว่าจะมากกว่าวิชาชีพอื่นเสียด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว ในปัจจุบันเงินเดือนครูก็มิใช่น้อยเพราะได้มีการปรับเพิ่มมาเป็นลำดับ

แหล่งเงินกู้ที่สำคัญที่ทำให้ครูทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน เป็นหนี้จำนวนมหาศาลนั้น มาจากหลายๆ แหล่ง ได้แก่ 1.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 2.สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครู 3.สินเชื่อโครงการกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทาง การศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ของ สกสค. 4.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และ 5.แหล่งเงินกู้อื่นที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ธนวัฏ เงินกู้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินกู้จากสินค้าเงินผ่อน เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น

เรียกว่า มีช่องทางต่างๆ มากมายให้ครูกู้ เพื่อนำไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย

สำหรับยอดหนี้ของข้าราชการครูในประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. เปิดเผยข้อมูลว่า ข้าราชการครูถือเป็นวิชาชีพที่มีหนี้สินมากที่สุดร้อยละ 80 ของข้าราชการไทย

นี่คือปัญหาที่สามารถใช้คำว่าวิกฤติเหลือประมาณ

ขณะที่นายพินิจศักดิ์ เลขาธิการ สกสค.ให้รายละเอียดว่า ตั้งแต่เปิดโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.1-7 มีครูเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 9.3 แสนกว่าคน เป็นเงินกว่า 7.6 แสนล้านบาท และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่า เหลือครูที่ยังเป็นหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.อยู่ 483,578 ราย เป็นเงิน 410,923 ล้านบาท โดยเป็นสมาชิกที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 110,000 ราย โดยนับแต่เปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูหลายโครงการก็มีครูเข้าร่วมเป็นระยะ โดยเฉพาะโครงการลดดอกเบี้ยที่ สกสค.ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารออมสินในโครงการ ช.พ.ค.2-7 ลดดอกเบี้ย 0.5-1% ให้ครูมีวินัยทางการเงินที่ดี มีครูได้รับประโยชน์มากกว่า 370,000 ราย ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีเพียง 65,000 ราย ที่ไม่ได้รับการลดดอกเบี้ยเพราะมียอดหนี้ค้างชำระ ไม่มาปรับโครงสร้าง หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง เหลืออีกประมาณ 20,000 กว่ารายที่ยังตามตัวไม่ได้

กระนั้นก็ดี ถามว่า ใครคือคนผิดและใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ

แน่นอน ครูที่กู้เงินก็คือ ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง เพราะมิได้มีใครบังคับให้ไปกู้ แถมการกู้เงินจาก ช.พ.ค.ก็ถือเป็นการกู้เงินล่วงหน้าจากสิ่งที่ตนเองควรจะได้

ขณะที่จำเลยที่สองก็คือ “สกสค.และกระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งเป็นต้นเรื่องของโครงการเงินกู้สารพัดสารพัน โดยเปิดโอกาสและเปิดช่องให้ครูกู้เงินกันอย่างสำราญใจ กระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันทำให้ครูเป็นหนี้บานตะไทอย่างที่เห็น โดยเฉพาะเงินกู้ ช.พ.ค.ที่ต้องถือเป็น “นวัตกรรมใหม่” ที่รังสรรค์ขึ้นมาโดยหยิบยืมเงินอนาคตที่ครูจะได้รับเมื่อถึงแก่อนิจกรรมมาใช้

ยิ่ง สกสค.ยิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีการใช้เงิน ช.พ.ค.ของครูไปถลุงในโครงการที่มีเงื่อนงำหลายโครงการ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กรณีของ “นายเกษม กลั่นยิ่ง” อดีตประธานที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ “นายสมศักดิ์ ตาไชย” อดีตเลขาธิการ สกสค. ร่วมกับบรรดาอดีต ‘บิ๊ก สกสค.’ อนุมัติเงินกองทุนรวม 2.5 พันล้านบาท ซื้อตั๋วสัญญาของ “บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด” ที่อ้างว่าจะนำไปลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน ช.พ.ค. และสำนักงาน สกสค. ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลมีมูลความผิดทั้งทางวินัย และอาญา

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า กลุ่มที่ประกาศปฏิญญามหาสารคามเป็นเพียงครูกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และยังมีข้อสงสัยถึงการเคลื่อนไหวที่นำโดย “นายอวยชัย วะทา” เสียด้วยซ้ำไปว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เพราะชื่ออวยชัยนั้นเป็นที่ “รู้จัก” กันดีในหมู่ “นักเคลื่อนไหว” มาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดทั้งชีวิต ใน ฐานะแกนนำครูและแกนนำเกษตรกร

นายอวยชัยมีพื้นเพมาจากสายคอนเนกชั่น “ครูประชาบาลภาคอีสาน” ร่วมกับครูที่ผันตัวไปเล่นการเมืองหลายต่อหลายคน เช่น ตวง อันทะไชย,สุชน ชาลีเครือ,ชิงชัย มงคลธรรม,ปรีดา บุญเพลิง,นิพนธ์ ชื่นตา,เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ฯลฯ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่มารับ “ปฏิญญามหาสารคาม” ในวันนั้น ก็มิใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “ตวง อันทะไชย” ที่สวมหมวกเป็นสมาชิก สนช.และประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ

ทั้งอวยชัยและตวงคือสหายร่วมรบกันมายาวนานตั้งแต่เมื่อครั้งที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกครูประชาบาลจากกระทรวงมหาดไทย กระทั่งประสบชัยชนะและนำไปสู่การตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.)

กล่าวสำหรับ “อวยชัย” นั้น เป็นที่รับรู้กันว่ามีจุดยืนค่อนข้างชัด ในการปักหลักตรงข้าม “ระบอบทักษิณ” มาโดยตลอด และ ถือเป็น “กองหนุน คสช.” ระดับ “ติ่ง” กันเลยทีเดียว เพียงแต่หลังๆ ออกอาการ “ไม่ปลื้ม” มาตั้งแต่เมื่อครั้งตั้ง “กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา” ที่ไม่มีชื่อตัวเองปรากฏอยู่

และไม่เพียงแต่เคลื่อนไหวในหมวก “ครู” เท่านั้น หากแต่ยังได้เข้าร่วมกับ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) โดยอวยชัยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ สกย.อ.อีกด้วย

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ เมื่อตรวจสอบเส้นทางชีวิตของ “อวยชัย” ก็พบว่าเขาพยายามเบียดแทรกเข้าสู่ถนนสายการเมืองมาโดยตลอด พยายามสมัคร ส.ส.-ส.ว. อยู่หลายหน เช่น เมื่อปลายปี 2550 ถูกชักชวนจาก “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ให้เข้าร่วม “พรรคชาติไทย” ในยุคที่มี “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นหัวหน้าพรรค แต่เกิดปัญหาบางประการจนต้องยกทีมออกจากพรรคปลาไหลในที่สุด เป็นต้น

ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว ถนนสายการเมืองของอวยชัยก็ไม่ถึงฝั่งฝันสักที ดังนั้น การออกมาจุดพลุ “ปฏิญญาชักดาบ” หนนี้ จึงถูกตีความออกไปในหลายแง่มุม มุมหนึ่งคือการหาเสียงล่วงหน้า “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน” ของ “ปรีดา บุญเพลิง” อดีตเลขาธิการคุรุสภา สหายร่วมรบเมื่อครั้งการต่อสู้เพื่อปลดแอกครูประชาบาล ซึ่งอวยชัยน่าจะไม่พลาด สวมเสื้อลงเลือกตั้งหนหน้า ขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มีการวิเคราะห์กันว่าอาจมีการไปแตะมือกับ “เครือข่ายครูอีสาน” ที่มีอยู่หลายพะหน่อใน “พรรคเพื่อไทย” เพื่อตอกลิ่มขยายแผล เรื่องเศรษฐกิจไม่ดี จนครูไม่มีปัญญาใช้หนี้ โจมตีภาพของ “รัฐบาล คสช.” เพื่อสร้างราคาหรือปั้น “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็เป็นได้

ด้วยเหตุดังกล่าว ปฏิญญามหาสารคามจึง “แตกต่างกว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด” เพราะมีความหมายเกินเลยไปกว่าการแก้หนี้ครู หากแต่คือการจุดกระแสขับเคลื่อนพรรคการเมืองในช่วงที่ปี่กลองการเลือกตั้งกำลังดุเดือดจาก “พลังดูด” อยู่ในขณะนี้

เอ...!หรือว่าอยากจะถูก “ดูด” บ้างก็มิรู้ได้.





กำลังโหลดความคิดเห็น