xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มาแล้ว! แนวทาง“ถวายความเคารพ”ฉบับคสช. “บิ๊กตู่”เข้มขรก.ไทย เน้นสง่างาม สมบูรณ์แบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผมจะเริ่มตรวจสอบข้าราชการก่อน ถ้าไม่ดีผม จะฝึกข้าราชการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเริ่มจากระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวตอนหนึ่งภายหลังเห็นข้าราชการคนหนึ่งสวมหมวกผิดวิธี ระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดอาคาร และส่งมอบกุญแจห้องพักอาศัยโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง กับบรรดาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นำมาสู่หัวข่าว “บิ๊กตู่”ฉุนเห็น ขรก.สวมหมวกผิดวิธี สอนกลางงานเปิดแฟลตดินแดง ทั้งการสวมหมวก ยืนตรง การตะเบ๊ะ และการถอนสายบัว เตรียมเรียกอธิบดี ปลัดกระทรวงฝึก๘ษราชการในวันพุธ ที่ทำเนียบฯเป็นตัวอย่าง

นายกฯ พูดในวันนั้นว่า วิธีสวมหมวกของข้าราชการที่ถูกต้อง จะต้องให้ข้างหลังสูงกว่าข้างหน้า ไม่ใช่ให้ข้างหน้าชะเง้อออกไป แบบนี้มันน่าเกลียด จะต้องดึงส่วนหลังให้สูงขึ้นมา ให้ส่วนด้านหน้าเสมอสายตา วัตถุประสงค์จริงๆ ก็คือ เพื่อต้องการบังแดด ให้ไปลองสวมกันใหม่ให้ถูกต้องถูกวิธี จะได้สง่างามและสมบูรณ์แบบ
 
รวมทั้งวิธีทำความเคารพด้วยมือ ที่เรียกว่า ตะเบ๊ะ หรือ วันทยหัตถ์ นิ้วมือต้องเหยียดตรงและชิดกัน ไม่งอมือหรือเฉียง และเวลายืนตรงเพื่อต้อนรับหรือถวายความเคารพ ต้องยืนหลังตรง ขาตรง มองตรงไปข้างหน้า ส้นเท้าชิด ปลายเท้าเปิดประมาณ 45 องศา จะทำให้แถวและการยืนเป็นระเบียบ วินัย ส่วนคนที่ขาโก่งอาจมีปัญหาเล็กน้อย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ายืนตรงตามหลักการนี้ ขาจะชิดทั้งหมด

ในส่วนของสุภาพสตรี เวลาทำความเคารพโดยวิธีการถอนสายบัว โดยใช้เท้าซ้ายไปด้านหลัง ทุกคนจะต้องทำให้ได้ทั้งหมด เพราะเรามีประเพณีที่งดงาม ถ้าทำเหมือนกันทั้งหมดจะดูดี แต่ถ้าทำกันแบบสะเปะสะปะ ถือว่าใช้ไม่ได้

เป็นอีเวนต์ใหม่ ที่ทุกส่วนราชการ จะต้องเริ่มฝึกข้าราชการในวันพุธ คู่ขนานไปกับการออกกำลังกายประจำสัปดาห์

ตามข้อมูล ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา "สุปัญญา ชมจินดา" ผู้อำนวยการกองศิลปกรรม ให้ข้อมูลไว้ว่า "ถวายความเคารพ" เป็น กิริยา “ทำความเคารพ”ที่สามัญชนชายและหญิง ปฏิบัติถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ใช้เป็นราชาศัพท์ว่า “ถวายความเคารพ”การทำความเคารพ หรือถวายความเคารพนั้น มี 2 ลักษณะ คือ นั่งทำความเคารพ กับยืนทำความเคารพ

การนั่งทำความเคารพ มีวิธีที่เรียกว่า “กราบราบ”ซึ่งเป็นการกราบโดยไม่แบมือ และวิธีที่เรียกว่า “ถวายบังคม”ซึ่งเป็นการกราบอย่างเต็มแบบ โดยคุกเข่า ประนมมือไว้ที่อก ต่อจากนั้นยกจดหน้าผากแล้วลดลง ทำลักษณะนี้ 3 ครั้ง การถวายบังคมนั้นเป็นการถวายความเคารพพระมหากษัตริย์เฉพาะในการพระราชพิธี หรืองานที่เป็นทางการ และยังรวมถึงการถวายความเคารพพระบรมรูป พระบรมราชานุสาวรีย์ เช่น งานรัฐพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระราชวังดุสิต

หากเป็นการยืนทำความเคารพ ผู้ชายทำความเคารพด้วยวิธี “ถวายคำนับ”ผู้หญิงทำความเคารพด้วยการ “ถอนสายบัว”ซึ่งหากหญิงแต่งเครื่องแบบข้าราชการปรกติขาว ให้ทำความเคารพโดยการถวายคำนับ ถ้าเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ ในเครื่องแบบสวมหมวก ทำความเคารพโดยทำ “วันทยหัตถ์”แต่ถ้าไม่สวมหมวก ทำความเคารพโดยการ “ถวายคำนับ”และหากทำความเคารพในขณะถืออาวุธ เรียกว่า“วันทยาวุธ”

ทั้งนี้ การ “เอางาน”ถือเป็นการทำความเคารพ เมื่อรับสิ่งของจากพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติถวายพระมหากษัตริย์ จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

การ “ถวายเคารพ”ด้วยวิธีต่าง ๆ มีแบบอย่างและรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือ เช่น หนังสือ “ข้อพึงปฏิบัติในการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” ซึ่งจัดทำโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งหนังสือเล่มดังกล่าว มีภาพประกอบด้วย เมื่ออ่านแล้วจะทำให้เข้าใจเรื่องการถวายความเคารพได้มากขึ้นและชัดเจนขึ้น

ว่าด้วย “แนวทางปฏิบัติเที่ยวกับการถวายความเคารพ”สำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน
 
หลายวันก่อน การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สลค.) ได้เสนอวาระครม. ขอความเห็นชอบ กับ “แนวทางปฏิบัติเที่ยวกับการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชวงศ์ สำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน

สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สลค.) เสนอว่า เนื่องจากปัจจุบันยังมิได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ หรือระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการถวายความเคารพ สำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือนไว้ จึงสมควรกำหนดให้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายความเคารพในโอกาสต่างๆ ขึ้น

1. การถวายความเคารพสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือนชาย

1.1 การถวายคำนับ ให้ยืนตรงขาชิด ปลายเท้าแยกพองาม มือทั้งสองแนบลำตัว ค้อมลำตัวพอประมาณ พร้อมก้มศีรษะลง แล้วตั้งศีรษะโดยเงยหน้าขึ้นช้า ๆ พร้อมตั้งลำตัวจนตั้งอยู่ในท่าตรง

1.2 การทำวันทยหัตถ์ ให้ใช้กรณีแต่งเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือนและสวมหมวก โดยให้ยืนตรงขาชิด ปลายเท้าแยกพองาม แล้วทำการวันทยหัตถ์ หากเป็นการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ ฝ่ายพลเรือนแต่ไม่สวมหมวก ให้ใช้วิธีการถวายคำนับ ตามข้อ 1.1

2. การถวายความเคารพสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือนหญิง
2.1 การถอนสายบัว ให้ใช้แบบพระราชนิยมอย่างเดียว โดย
2.1.1 ให้ยืนตรงหันหน้าไปทางที่ประทับ ใช้เท้าขวาเป็นหลักชักเท้าซ้ายไปทางด้านหลังของเท้าขวาที่ยืนอยู่

2.1.2 ย่อตัวให้ต่ำลงช้า ๆ แต่อย่าให้ถึงพื้น ขณะที่ชักเท้าซ้าย ให้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางประสานกันบนหน้าขาเหนือเข่า โดยใช้มือขวาทับมือซ้าย
2.1.3 ค้อมตัวเล็กน้อย ทอดสายตาลง
2.1.4 เสร็จแล้วยืนตรง มือแนบช้างสำตัว

2.2 การทำวันทยหัตถ์ ให้ใช้กรณีแต่งเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือนและสวมหมวก โดยให้ยืนตรงขาชิด ปลายเท้าแยกพองาม แล้วทำวันทยหัตถ์ หากเป็นการแต่งเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน แต่ไม่สวมหมวก ให้ใช้วิธีการถอนสายบัว ตามข้อ 2.1

3. การถวายความเคารพตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ให้ใช้กับการถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ และพระบรมรูป หรือการถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้วย

โดย แนวทางปฏิบัติเที่ยวกับการถวายความเคารพ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ เช่นเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม สำนักพระราชวัง ดูจากความจำเป็นที่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ เขียนไว้ว่า พระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 มิได้กำหนดเรื่อง เกี่ยวกับการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชวงศ์ สำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือนไวั

ทำให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่แต่งเครื่องแบบข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติเป็นแบบอย่างเดียวกัน จึงสมควรกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี พระบรมวงศาบุวงศ์ และพระราชวงศ์ สำหรับข้าราชการ ฝ่ายพลเรือนไว้ ประกอบกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองไว้ ทำให้ไม่สามารถกำหนดเป็นกฎหมายลำดับรอง ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการถวายความเคารพให้ส่วนราชการและข้าราชการฝ่ายพลเรือน ถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเป็นแบบอย่างเดียวกันต่อไป

เรื่องนี้ “สำนักพระราชวัง”ได้เห็นชอบตามแนวทางดังกล่าวใน ข้อ 1 และ 3 สำหรับข้อ 2 เห็นสมควรให้ใช้แบบพระราชนิยมอย่างเดียว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่เกิดความสับสน โดยมีขั้นตอน การถวายความเคารพของข้าราชการฝ่ายพลเรือนหญิง ดังนี้

1. ให้ยืนตรง หันหน้าไปทางที่ประทับ ใช้เท้าขวาเป็นหลัก ชักเท้าข้ายไปทางด้านหลังของเท้าขวาที่ยืนอยู่

2. ย่อตัวให้ต่ำลงช้า ๆ แต่อย่าให้ถึงพื้นขณะที่ชักเท้าซ้าย ให้ยกมือทั้งสองขึ้นวางประสานกันบนหน้าขาเหนือเข่า โดยใช้มือขวาทับมือข้าย

3. ค้อมตัวลงเล็กน้อย ทอดสายตาลง และ 4. เสร็จแล้วยืนตรง มือวางแนบข้างสำตัว

ด้านสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ตามที่สำนักพระราชวังเสนอความเห็นดังกล่าว เป็นการกำหนดให้การถวายความเคารพของข้าราชการฝ่ายพลเรือนหญิง ใช้แบบพระราชนิยมอย่างเดียว คือ การถอนสายบัว โดยปรับปรุงถอยคำเล็กน้อย และไม่มีการถวายความเคารพของข้าราชการฝ่ายพลเรือนหญิง โดยการทำวันทยหัตถ์ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบด้วยกับความเห็นของสำนักพระราชวัง ที่ได้ปรับปรุง แก้ไข แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายความเคารพ ในส่วนของขั้นตอนการถวายความเคารพของข้าราขการฝ่ายพลเรือนหญิง ตามความเห็นของสำนักพระราชวังดัง กล่าว

ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม น้อมรับจะไปปรับปรุง และบรรจุไว้ใน “หนังสือมารยาทไทย”มีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพ ให้มีเนื้อหาและแนวปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าาราชการพลเรือน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทาง ชองสำนักนายกรัฐมนตรี

ย้อนกลับไปดูกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องว่ามีหรือไม่ ตามกฤษฎีกาบันทึกไว้ว่า
 
"กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อบังคับการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน”ที่ผ่านๆ มาหลายฉบับ ไม่มีฉบับใด ระบุถึง “แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายความเคารพสำหรับข้าราชการ”ในโอกาสต่าง ๆ ขึ้นเลยจริง ๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น