xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นักดำน้ำถ้ำอังกฤษ - หน่วยซีลราชนาวีไทย ฮีโร่เบื้องหน้ากับเบื้องหลังแห่งความสุดยอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมจากอังกฤษที่เป็นผู้ค้นพบ 13 หมูป่า ประกอบด้วย จอห์น โวลันเธน (ภาพกลาง) และ ริชาร์ด สแตนตัน (ซ้าย) ซึ่งเป็นนักดำน้ำ และโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ (ขวา) ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยหลังได้รับการร้องขอ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “นักดำน้ำกู้ภัยอังกฤษ” และ “หน่วยซีล” ถือเป็น “ฮีโร่เบื้องหน้า” ในปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี่” เยาวชนนักเตะและโค้ชรวม 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ภารกิจกู้ภัยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ภารกิจที่มี “13 ชีวิตเป็นเดิมพัน” แม้เสี่ยงภัยอันตรายเพียงใดพวกเขาก็มิได้หวาดหวั่นแถมยังทุ่มสุดตัว กระทั่ง วินาทีแห่งความยินดีที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้ารอก็เกิดขึ้น เมื่อทีมนักดำน้ำกู้ภัยจากประเทศอังกฤษ พบตัว 13 ชีวิต นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าฯ หลังจากสูญหายในถ้ำหลวงเป็นเวลา 9 วัน 5 ชั่วโมง 41 นาที 15 วินาที

และฮีโร่ทีมแรก นักดำน้ำผู้ค้นพบ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าฯ ก็คือ “จอห์น โวแลมเธน” (Mr. john Volamthen) และ “ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน” (Mr. Richard William Stanton) นักดำน้ำถ้ำจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับ “โรเบิร์ต ชาร์ลี ฮาร์เปอร์” (Mr. Robert Charlie Harper) นักสำรวจถ้ำ ซึ่งทั้ง 3 คน มาจากสมาคมกู้ภัยผู้ติดถ้ำของอังกฤษ (British Cave Rescue Council : BCRC) และเป็นสมาชิกจากองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดถ้ำจากประเทศอังกฤษ (Derbyshire Cave Rescue Organisation) และได้รับการยกย่องเป็นเป็น World Best Cave Diver หรือ นักดำถ้ำที่ดีที่สุดในโลก

“จอห์น โวแลมเธน” พบ 13ชีวิต ทีมหมูป่าฯ บริเวณเนินนมสาว ห่างจากหาดพัทยาไป 400 เมตร ขณะปฎิบัติภารกิจวางเส้นนำทางในถ้ำจนสุดสายพอดี เขาโผล่ศีรษะขึ้นเหนือน้ำและพบเด็กๆ ในคืนวันที่ 2 ก.ค. 2561 ซึ่งหากเชือกสั้นกว่านั้นสัก 15 ฟุตก็อาจยังไม่พบ

อ้างอิงข้อมูลจาก นิวยอร์กไทม์ส เปิดเผยว่า เวอร์นอน อันส์เวิธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ เข้ามาอยู่พื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่วันแรกและเป็นผู้สำรวจถ้ำหลวง เป็นเวลากว่า 13 ปี ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ทางการไทยนำนักดำน้ำชุดนี้เข้ามาช่วย บอกว่า จอห์น เป็นนักดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก และเป็นคนถามเด็กๆ ครั้งแรกที่เจอว่า How many of you? (มีทั้งหมดกี่คน)
เวอร์นอน อันส์เวิธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ อีกหนึ่งฮีโร่ที่เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือตั้งแต่แรก
“จอห์น และ ริชาร์ด เข้าไปครั้งแรก ไม่คิดว่าจะได้เจอเด็กๆ เพราะหน้าที่ทั้งสองคน เหมือนเป็นหน่วยล่วงหน้า ลำเลียงเชือกเข้าไปปักในถ้ำ เพื่อให้คนตามมาข้างหลัง เกาะเชือกเข้ามา หน่วยซีลจะได้ตามเข้ามา เพื่อไม่ให้หลงถ้ำ หรือ ถูกน้ำพัด จังหวะที่เชือกหมดพอดี จอห์น ได้เงยหน้าขึ้นมาเหนือน้ำ จังหวะนั้นเอง ที่เค้าได้เห็นดวงตาของทั้ง 13 คน จ้องมองมาที่เค้า และเค้าก็คิดในใจทันทีว่า นั่นคือ ทั้ง 13 ชีวิต ที่ติดในถ้ำหลวง 10 วันนั่นเอง”

จังหวะที่เชือกหมดพอดีทำให้ จอห์น ต้องเงยหน้าขึ้นมาเหนือน้ำ และได้เจอทีมหมูป่าฯ เป็นเหมือนปาฏิหาริย์

“จอห์น โวแลมเธน” และ “ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน” 2 นักดำน้ำอาสาสมัคร เดินทางมาร่วมภารกิจในครั้งนี้โดยเฉพาะ พวกเขาเคยทำสถิติโลกด้วยการดำน้ำในถ้ำเป็นระยะทาง 8.8 กม. เมื่อปี 2553 ในถ้ำ Pozo Azul ที่สเปน โดยใช้เวลาทั้งหมด 50 ชม. (รวม safety stop) ซึ่งเป็นการก้าวข้ามเข้าไปในดินแดนที่ไม่เคยมีมนุษย์ในโลกได้เข้าถึงมาก่อนในที่นั้น และใช้เทคโนโลยีการดำน้ำระบบปิด (rebreather) คือเอาอากาศที่หายใจออกมาฟอกแล้วส่งกลับมาหายใจใหม่ และมีการผสมก๊าซหายใจให้มี O2 มากขึ้น เพื่อลดอันตรายจากการเกิดไนโตรเจนสะสมในเส้นเลือดเมื่อดำน้ำเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ

สำหรับ องค์กร Derbyshire Cave Rescue Organization (DCRO) ที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่นั้น เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในท้องถิ่นในแถบยอร์คเชียร์ของอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1952 โดยบรรดา กลุ่มนักเดินถ้ำในท้องถิ่นและนับเป็นหนึ่งใน 15 หน่วยงานอาสาสมัครกู้ภัยของสหราชอาณาจักร

ภารกิจปฏิบัติงานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการค้นหา ช่วยเหลือ และกู้ภัย ผู้ประสบเหตุใต้ดินจากเหตุต่างๆ และนับเป็นองค์กรที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดถ้ำแห่งแรกของโลก สำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนี้ล้วนเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น การดำน้ำ การปีนเขา นักสำรวจ หรือนักธรณีวิทยา โดยทุกคนก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ DCRO ต้องผ่านการฝึกตามหลักสูตรที่เข้มงวดจนมีความเชี่ยวชาญ

เบื้องหลังปฏิบัติการช่วยเหลือโดยทีมนักดำน้ำและนักสำรวจถ้ำจากประเทศอังกฤษ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คนเคาะข่าว” ภาคพิเศษตอน “เปิดเบื้องหลังภารกิจ นักดำน้ำชาวอังกฤษ ช่วยชีวิตทีมหมูป่า” ซึ่งออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1ว่า เกิดจากคำแนะนำของ “เวอร์นอน อันส์เวิธ” นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่ร่วมภารกิจค้นหาตั้งแต่วันแรกๆ หลังจากนั้น นายวีระศักดิ์ ต่อสายตรง “เฟซไทม์” ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาองค์กรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำของอังกฤษ และได้พูดคุยกับ “โรเบิร์ต ชาร์ลี ฮาร์เปอร์” ซึ่งเป็นที่มาของความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยในถ้ำอังกฤษในครั้งนี้ โดยระบุในตอนหนึ่งความว่า

“...ไม่ว่าใครจะไปเจอก่อนหรือหลังก็ตามผมถือว่าทุกคนแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ทำก็ถือว่าเป็นฮีโร่ของเรา และไม่ว่าเขาจะสัญชาติอะไร ไทยหรือเทศเราก็ดีใจที่สุด เป้าหมายเดียวกันคือช่วยค้นหาให้เจอและเอาน้องออกมาให้ปลอดภัย...”

หน่วยซีลและนักดำน้ำจากหลากหลายองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศขณะปฏิบัติหน้าที่
   
และภารกิจค้นหาหมูป่าฯ ไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้เลย หากขาดความช่วยเหลือจากฮีโร่เบื้องหน้า “หน่วยซีล” (SEAL) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กองทัพเรือไทย ซึ่งปฏิบัติภารกิจประสานทีมเวิร์กกับทุกหน่วยงาน ทั้งนักดำน้ำกู้ภัยต่างชาติ และหน่วยกู้ภัยใต้น้ำของไทย

ภายใต้การกำกับดูแลของ “พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว” ผู้บัญชาการหน่วยซีล นำทัพมนุษย์ผู้แข็งแกร่งเหนือมนุษย์เข้าร่วมเป็นแนวหน้าในการค้นหา 13 ชีวิตที่สูญหายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กระทั่ง เป้าหมายแรกสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

สำหรับ “หน่วยซีล” หรือ “หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (นทต)” กองทัพเรือไทย หน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ เป็นที่ทราบกันดีว่าได้รับการฝึกอย่างหนักในบรรดาหน่วยรบพิเศษของทุกเหล่าทัพ ผ่านการฝึกสุดหฤโหด ท่ามกลางความกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อสร้าง “นักรบเหนือมนุษย์” ไม่เกรงกลัวความตาย

นักรบพันธุ์ดุหน่วยซีล พร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกสถานการณ์ ทุกคนผ่านการฝึกเข้มข้นรองรับภารกิจสุดอันตราย

เป็นต้นว่า หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 7 - 8 เดือน และเป็นการฝึกหลักสูตรทางทหารที่มีระยะเวลานานที่สุดของไทย ฝ่าอุปสรรคต่างๆ ฝึกความแกร่งทางร่างกายและจิตใจ ยกตัวอย่าง “สัปดาห์นรก” (Hell Week) การฝึก 5 วันต่อเนื่อง ใช้เวลา 120 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก ไม่มีการเข้านอน ไม่มีการพักผ่อน ตลอดเวลาต้องอยู่กับ ท่อนซุง, ไม้พาย, เสื้อชูชีพ และคำสั่งโหดจากครูฝึก ที่เปลี่ยนกันมาฝึกทุกวัน วันละ 3 ชุด ชุดละ 8 ชั่วโมง เช่น ปัญหากระทะทองเย็น คือ การแช่น้ำทะเลใส่น้ำแข็ง, ปัญหาผี เฝ้าโลงศพในคืนอันมืดมิดคนเดียว ฯลฯ หรือ การฝึกสอนยุทธวิธีต่างๆ เช่น วิชาวัตถุระเบิด, วิชาการดำน้ำทางยุทธวิถี, การฝึกภาคทะเล, การฝึกภาคป่า, การฝึกดำรงชีวิต (ปล่อยเกาะให้หาของกินเอาเอง) ฯลฯ

ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากร ผู้บัญชาการหน่วยซีล ได้ให้คำมั่นต่อภารกิจในครั้งนี้ว่า “ขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานและเชื่อมั่นว่าทีมงานจะต้อง ค้นหาจนพบและจะไม่มีการล้มเลิกภารกิจจนกว่าจะพบผู้ประสบภัยทั้งหมด ส่วนตัวมีความมั่นใจเกินร้อยว่าทีมที่ส่งไปจะประสบความสำเร็จแน่นอน”




กำลังโหลดความคิดเห็น