xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Hooyah 13 หมูป่า Mission Complete ถึงเวลา “ถอดบทเรียน” ถึงเวลาตั้ง “ศูนย์กู้ภัยแห่งชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแรกที่นักดำน้ำชาวอังกฤษไปเจอ “13 หมูป่า” ณ จุดที่มีชื่อว่า “เนินนมสาว”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าเป็น “วาระแห่งมวลมนุษยชาติ” จริงๆ สำหรับการค้นหา “13 หมูป่าอะคาเดมี แม่สาย” ที่สูญหายไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

ก่อนที่ “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(ในขณะนั้น) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) จะประกาศข่าวดีเรื่องการเจอตัวพวกเขาในค่ำคืนของวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เต็มไปด้วยความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ผ่านไปทุกวินาที ความหวังในการค้นหา ก็ยิ่งเลือนราง ด้วยอุปสรรคสำคัญคือ “น้ำ” จำนวนมาก ซึ่งอยู่ในถ้ำ และวิธีการเดียวที่จะเข้าไปถึงได้ก็คือ “การดำน้ำ” เข้าไปถึง “พัทยาบีช” จุดที่คาดว่า 13 หมูป่าฯ จะไปอยู่ที่นั่น

ในที่สุด หลังอดตาหลับขับตานอนลุ้นระทึกมาเป็นเวลา “9 วัน 9 คืน” นับจากวันที่หายตัวไปคือในวันที่ 23 มิถุนายน 2561ในที่สุด “ทีมนักดำน้ำชาวอังกฤษ” ซึ่งทำงานร่วมกับ “หน่วยซีล กองทัพเรือไทย” ก็สามารถเข้าไปพบตัวเด็กๆ และโค้ชจนได้ ณ บริเวณ “เนินนมสาว” ซึ่งอยู่เลยจากพัทยาบีชไปอีกราว 300-400 เมตร พร้อมกับบันทึกวิดีโอออกมาให้ได้รับชมกันด้วยความยินดี

เสียงไชโยโห่ร้องจากคนไทยและชาวโลกดังกระหึ่มไปด้วยความดีใจและโล่งใจที่พวกเขาปลอดภัยทุกคน แถมยังอยู่ในสภาพที่ยังมีขวัญ และกำลังใจดี รวมทั้งไม่มีใครเจ็บป่วยอย่างที่มีการประเมินกันไว้ ที่เด็ดที่สุดคือสามารถสามารถสื่อสารทักทายกับทีมนักดำน้ำถ้ำชาวอังกฤษได้เป็นอย่างดี

I am very happy
Thank you so much

บางส่วนของบทสนทนาของเด็กๆ กับ “จอห์น โวลันเทิน” เจ้าของเสียง How many of you หนึ่งในนักดำน้ำถ้ำที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เรียกรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความดีใจให้กับบรรดาผู้ที่ได้ยินได้ฟังไปทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันก็เรียกเสียงชื่นชมในตัวเด็กๆ ว่า สามารถสื่อสาร “ภาษาอังกฤษ” ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ตรงประเด็น และตรงสถานการณ์ รวมทั้งไม่ลืม “ขอบคุณ” ตบท้ายอีกต่างหาก

และการพบตัวเด็กๆ นั้น สามารถใช้คำว่า “ปาฏิหาริย์” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ(แม้จะมีบางคนไม่เห็นด้วยก็ตาม) เพราะ เวอร์นอน อันส์เวิธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ (คนเดียวกับที่แนะนำให้ทางการไทยนำนักดำน้ำชุดนี้มาช่วย) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการค้นหา จนสามารถยกย่องได้ว่าคือ1 ใน “ฮีโร่” ของปฏิบัติการครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์เอาไว้ว่า...

“เขาไม่ได้ดำน้ำเข้าไปเพราะ กล้าบ้าบิ่น หรือ เชี่ยวชาญเหนือกว่าคนอื่น ไม่มีขั้นกว่าในภารกิจกู้ภัยที่อาศัยทีมเวิร์กอันซับซ้อนแต่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพชั้นยอด ห่อหุ้มด้วยมาตราฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด จอห์น โวลันเทิน เจ้าของสำเนียงอังกฤษทุ้มหู เขาและริค สแตนตัน คือนักดำน้ำถ้ำ 'กองหน้า' ณ ขณะนั้น กำลังลำเลียงเชือกเพื่อนำไปปักตามแนวดินของถ้ำ เพื่อเป็นแนวเชือกเกาะให้นักดำน้ำและหน่วย SEAL อื่นๆดำตามกันมา เพื่อไม่ให้หลงน้ำ หลงถ้ำ หรือถูกกระแสเชี่ยวพัดไป และในจังหวะนั้นเอง จังหวะที่ปลายเชือกหมดลง ทำให้จอห์นต้องเงยหน้าสู่ผิวน้ำ และในวินาทีนั้น ดวงตา 13 คู่ได้จ้องมาที่เขา และเขาก็ได้เห็นภาพนั้นชัดๆ ด้วยไฟที่ส่องมาจากหัว ภาพของผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในถ้ำกว่า 10 วัน เวอร์นอนเล่าว่า จอห์นบอกกับเค้าว่า ถ้าเชือกของผมสั้นกว่านั้นซัก 15 ฟุต เขาจะเงยหน้าขึ้นมาเพื่อเจอกับความมืดและกลับออกไปยังโถง 3 เพื่อไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และเด็กๆ คงต้องรอกันต่อไป”
  แม้จะอ่อนล้า แต่เด็กก็ยังคงมีรอยยิ้มและจิตใจที่เข้มแข็ง
จากนั้นภาพของเด็กๆ ในถ้ำก็ปรากฏสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกเป็นระยะๆ ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จากการเผยแพร่ของหน่วยซีล โดยมี “พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน” ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา แพทย์ทหารไทยที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีเนื่องจากผ่าน “หลักสูตรรบพิเศษ” มาอย่างโชกโชน เข้าร่วมในปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูร่างกายของ “13 หมูป่า” ด้วย

ทั้งนี้ สื่อทุกสำนัก ทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างพารายงานถึงความอัศจรรย์เกินที่จะจินตนาการได้ในการดำรงชีวิตอยู่ของเด็กๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาท่ามกลางความมืดมิดและหิวโหยว่าดำเนินไปอย่างไร ซึ่งก็ได้รับข้อมูลต่อมาในภายหลังจากหน่วยซีลที่เข้าไปว่า “ระหว่างอยู่ในถ้ำ โค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ ดูแลน้องๆ อย่างดี บอกไม่ให้ดื่มน้ำสกปรก ให้ดื่มจากน้ำที่หยดมาจากกผนังถ้ำเท่านั้น และให้เด็กทุกคนมีสติ ทำสมาธิเพื่อประหยัดการใช้พลังงานของร่างกาย และอยู่ในถ้ำได้นาน”

ขณะที่ตัวโค้ชเอกเองนั้น จากภาพที่ปรากฏแสดงให้เห็นชัดเจนร่างกายซูบผอมลงไปถนัดตา ซึ่งจากการประเมินทางการแพทย์จัดอยู่ในระดับ “สีเหลือง” หรือผิดปกติระดับปานกลาง โดยมาตรฐานทางการแพทย์แบ่งออกเป็นสีเขียว-ปกติ สีเหลือง-ผิดปกติระดับปานกลางและสีแดง-ผิดปกติระดับรุนแรง

“กรณีนี้ต้องชื่นชมโค้ชมาก เป็นมืออาชีพที่สามารถช่วยน้องๆ และยังมีประสบการณ์ที่ดีในเรื่องการฝึกสมาธิ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีสมาธิก็จะเกิดสติและร่างกายมีความอดทนมากขึ้น”พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวแสดงความเห็น

และความรักเด็กของโค้ชเอกก็เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้เป็นอย่างดี ดังคำให้สัมภาษณ์ของ “โค้ชนพ” นพรัตน์ กันฑะวงศ์ หัวหน้าโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีว่า “เขาเป็นคนรักเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาเขาดูแลน้องๆอย่างดี และสนิทกับน้องๆมาก ทำให้ผมมั่นใจตั้งแต่แรกแล้วว่าโค้ชเอกจะต้องสามารถดูแลเด็กๆได้ ถ้าเป็นผมคงไม่สามารถดูแลน้องๆได้ดีเท่าโค้ชเอก เพราะผมไม่รู้ความรู้เกี่ยวกับการเดินถ้ำเลย ถ้าเป็นผม ไม่เป็นใจว่าจะอยู่ได้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหรือเปล่า แต่ดูจากสภาพน้องๆที่ปรากฏออกมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเอาชีวิตรอดของพวกเขาสุดยอดจริงๆ ”

ความรู้ของโค้ชเอกนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องการทำสมาธิ ซึ่งเมื่อสืบค้นข้อมูลและปูมหลังก็ไม่น่าจะแปลกใจอะไร กล่าวคือ โค้ชเอกนั้นกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ต่อมาได้ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่ลำพูน 8 ปี และเรียนทางธรรมไปด้วยจนจบนักธรรมเอก อันเป็นที่มาของความรู้ในเรื่องการทำสมาธิ

อย่างไรก็ดี การพบตัว 13 หมูป่าเป็นเพียง “ความสำเร็จขั้นต้น” เท่านั้น เพราะ “เรื่องใหญ่” ไม่แพ้กันก็คือการนำตัวเด็กๆ ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กลับคืนสู่อ้อมอกของ “พ่อแม่และครอบครัว” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องเพราะระดับน้ำในถ้ำยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ และวิธีที่จะนำเด็กออกจากเนินนมสาวได้มีทางเลือกเพียงแค่ 2ทางเท่านั้นคือ หนึ่ง-เจาะโพรงลงมา ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วสุด แต่ต้องเจาะช่องทางให้ตรงกับที่เด็กอยู่ และสอง-ดำน้ำออกมา ซึ่งไม่ง่าย เพราะเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยว ไม่ได้เป็นเส้นตรง แถมบางช่วงก็ลอดออกได้แค่คนเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ แผนการช่วยเหลือ 13 หมูป่าในขั้นต้นแบ่งออกมาเป็น 3 เฟสด้วยกัน โดยเฟสแรกคือการส่งนักดำน้ำพร้อมอุปกรณ์การดำรงชีพ อาหารทางการแพทย์ เข้าช่วยเหลือและพักอาศัยเป็นเพื่อนเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจไปพร้อมๆ กับการสำรวจโครงสร้างภายในเพื่อค้นหาทางออกและอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย จากนั้นในเฟสที่สองจะทำการส่งนักดำน้ำพร้อมทีมแพทย์เพื่อเข้าทำการช่วยเหลือ และปรับสภาพอากาศภายในให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และเฟสที่ 3 ส่งอาหารเพิ่มเติมควบคู่กับการสอนดำน้ำให้กับทั้ง 13 คน ร่วมกับการระบายน้ำตลอดเวลาและแสวงหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำพวกเขาออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
แผนที่เนินนมสาวจุดที่พบทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต
ส่วนเมื่อสามารถนำออกมาจากถ้ำได้แล้ว ก็ได้มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติการส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลเชียงรายประชารักษ์เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทางโรงพยาบาลก็ได้จัดเตรียมสถานที่ ตลอดรวมถึงแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์เอาไว้พร้อมสรรพเช่นกัน

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็นำมาซึ่ง “บทเรียน” ตลอดรวมถึงเป็นบทสะท้อนสารพัดสารพันเรื่องราวมากมายของ “ประเทศไทย” ทั้งด้านบวกและด้านลบได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยได้ “อะไร” กลับคืนมาจาก “ปฏิบัติการ” ครั้งนี้มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นคำถามหลักกรณี “หน่วยงานกู้ภัยแห่งชาติที่แท้จริง” ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า มีปัญหา และปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่าก็คือตัวอย่างที่จะถูกนำมา “ถอดบทเรียน” และนำไปสู่ “ปฏิรูป” อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบคั้น ทำให้ประเทศไทยได้สัมผัสกับ “ภาวะผู้นำ” ของ “นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่เฉียบขาด จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวมเร็ว มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถประสานการช่วยเหลือที่หลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศได้อย่างน่ายกย่อง

“ใครที่ไม่เสียสละพอที่จะทำงาน ใครจะกลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย เชิญเซ็นชื่อแล้วออกไปเลย ผมไม่รายงานใครทั้งนั้น วันนี้ขอให้พร้อมทุกนาที ให้คิดว่าเขาเป็นลูกเรา”

คำกล่าวของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ในการประชุมทีมช่วยเหลือเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำอย่างมิรู้คลาย และจากการทำงานหนักโดยไม่เน้นสร้างภาพ วันนี้ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ได้กลายเป็น “ฮีโร่” ของคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสามารถสะท้อนให้เห็นได้อีกด้วยว่า “ทุกสาขาวิชาชีพ” ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งนักภูมิศาสตร์ นักธรณีวิทยา หน่วยซีลที่มีความแข็งแกร่ง นักขุดเจาะบ่อบาดาล พ่อครัว แพทย์ นักปีนเขา ช่างไฟฟ้า คณะเครื่องสูบน้ำซิ่ง และนักไต่เขาเก็บรังนกจากภาคใต้ ที่เสนอตัวมาร่วมงานด้วยทุนรอนของตัวเอง รวมทั้งอาสมัครทุกกลุ่มก็ไปช่วยด้วยใจบริสุทธิ์และจิตอาสา

และทำให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องวิธีการเอาชีวิตร้อยจาก “กฏ 333” คือ ขาดอากาศหายใจได้ 3 นาที ขาดน้ำดื่มได้ 3 วันและขาดอาหารได้ 3 สัปดาห์ รวมทั้งได้ความรู้ว่า แม้จะไม่มีอาหาร แต่ร่างกายมนุษย์สามารถดึงพลังงานสำรองสะสมในรูปไขมันออกมาใช้ได้

และไม่นับรวมเรื่อง “ไทยแลนด์แดนดรามา” และ “คนอยากเอาหน้า” นับไม่ถ้วนที่สะท้อนว่า “ระบบคิด” ของคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงมีปัญหาและจำเป็นต้องถอดบทเรียนเช่นกัน

ขณะที่ข้อถกเถียงเรื่อง “เด็กควรถูกลงโทษหรือถูกยกย่อง” ก็กลายเป็นวิวาทะร้อนในโลกสังคมออนไลน์ ด้วยต้นสายปลายเหตุจากนักฉกฉวยโอกาสทางการตลาดทั้งภาครัฐและเอกชนที่จ้องตะครุบอย่างเมามัน โดยที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเพียงประการเดียวคือ “พวกเขาคือผู้ประบภัยพิบัติ” และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน่า “อัศจรรย์” ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งเกินกว่าที่เด็กทั่วๆ ไปจะทำได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนในการให้การศึกษากับผู้คนบนโลกนี้ได้

ความสำเร็จของการปฎิบัติการค้นหาทีมหมูป่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นผลจากความร่วมแรงและร่วมใจของชาวไทยทั้งประเทศที่รวมใจกันส่งผ่านความห่วงใยไปถึงทีมหมูป่า เป็นพลังอันงดงามและยิ่งใหญ่ ซึ่งเสมือนเป็นแรงผลักดันให้ทุกฝ่ายพุ่งไปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จนกลายเป็น “วาระแห่งมวลมนุษยชาติ” อันสะท้อนภาพ “ความงดงามแห่งความเป็นมนุษย์” อันเป็น “พลังบวก” จนยากจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดใดๆ

สุดท้ายและท้ายที่สุดก็คือ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องตั้งสติ ยอมรับความจริง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อันเป็นทัศนคติเชิงบวกเพื่อนำไป “ถอดบทเรียน” ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาบอกกล่าวว่า “ทรงรับสั่งให้นำเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ ที่ถ้ำหลวง เชียงราย มาเป็นบทเรียนสำหรับการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งในถ้ำ” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามถึง ภาพจำเก่าของเจ้าภาพเดิมอย่าง “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)” ที่ถูกตั้งข้อครหาว่าเอาแต่ใช้งบซื้อของแจกไปวันๆ ขึ้นมาในฉับพลันทันทีเช่นกัน

การจัดตั้งศูนย์กู้ภัยแห่งชาติ เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาเป็นระยะๆ เมื่อเผชิญหน้าวิกฤตแต่ละครั้ง นับจากเหตุการณ์สึนามิ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็นหน่วยงานปกติที่ถนัดในงานฟื้นฟูแจกของหลังเหตุการณ์อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงตามรูทีน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมไทยมักจะเห็นกู้ภัยเอกชนไปถึงหน้างานก่อนเสมอ และเกิดความสับสนอลม่านในช่วงแรกวิกฤตเพราะเหลียวมองหาเจ้าภาพไม่เจอ

อย่างคราวนี้ ที่ความชัดเจนมีขึ้นหลังจากผู้ว่าฯ เชียงราย ประกาศเขตภัยพิบัติ และเข้ามาทำหน้าที่บัญชาการ ตามกฎหมาย ใช้ความรู้ความสามารถประสานสิบทิศและบริหารจัดการวิกฤต โดยความสำเร็จเป็นผลมาจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนอย่างพร้อมเพรียงกว่า 50 หน่วยงานในประเทศ ไม่นับรวมทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเป็น “วาระของมนุษยชาติ” รวมๆ แล้วกว่าพันชีวิต ไม่ว่า ทหาร ตำรวจ พลเรือน เจ้าหน้าที่กู้ภัย นักดำน้ำ อาสาสมัคร จิตอาสา ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าหรือปิดทองอยู่ข้างหลัง

ขณะที่ ปภ. เองก็หนุนเสริมอยู่เบื้องหลัง โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงพื้นที่ศูนย์บัญชาการส่วนหน้า บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ร่วมประชุมปรับแผนการ กู้ภัย (Rescue) โดย ปภ.ระดมขนท่อระบายน้ำเสริมภายในถ้ำด้านใน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ภายนอก และเป็นหน่วยส่งกําลังบํารุง เตรียมอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยซีล ตลอดจนจัดส่งเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลําปาง ปฏิบัติการสูบน้ำโดยติดตั้งรถสูบน้ำแรงดันสูง และรถสูบน้ำระยะไกล บริเวณหนองน้ำพุ และหนองน้ำนางนอน เพื่อให้การนำทีม "หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย" และโค้ช รวมทั้ง 13 คน ออกจากถ้ำอย่างสะดวกและปลอดภัย

แต่อย่างไรก็ตาม จะดียิ่งกว่านี้หากมี “ศูนย์กู้ภัยแห่งชาติ” มาทำหน้าที่บัญชาการหลักโดยทันทีที่เกิดวิกฤต โดยมี ปภ. ช่วยหนุนเสริมอยู่เบื้องหลังหรือเยียวยาหลังเหตุการณ์เป็นงานรูทีน ตามถนัดสอดรับกับภาพจำของกรม ปภ. ที่เป็น “หน่วยงานนักชอปปิง” ถนัดในเรื่องการใช้งบประมาณซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร ซื้อสิ่งของแจกผู้ประสบภัย ยามน้ำท่วม-ภัยหนาว จนกลายเป็น “ขุมทรัพย์”ของ “บิ๊กคลองหลอด” มาทุกยุค และมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ งบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณปี พ.ศ.2560 กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปภ.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2559 จำนวน 5,989 ล้านบาท ปี 2560 ล้านบาท จำนวน 5,814 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 6,874 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 7,773 ล้านบาท และเป้าตามแผนขอจัดสรรงบปี 2563 จำนวน 7,393 ล้านบาท เป็นงบเส้นกราฟที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นี่ไม่ใช่หาเรื่องบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน เพียงแต่หยิบยกขึ้นมาให้เห็นถึงความจำเป็นในการก่อตั้ง “ศูนย์กู้ภัยแห่งชาติ” ให้เป็นกิจลักษณะ เป็นหน่วยงานกู้ภัยของรัฐ ที่มีอุปกรณ์พร้อม และกำลังพลพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการปฏิบัติภารกิจในทุกรูปแบบเป็นสำคัญ




กำลังโหลดความคิดเห็น