ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในปมสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการคณะสงฆ์ไทยเต็มไปด้วยปัญหาและข้อกังขามากถึงมากที่สุด เห็นที่จะหนีไม่พ้น “มหาเถรสมาคม(มส.)” องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเปรียบเสมือน “รัฐบาลสงฆ์” ผู้มีหน้าที่ในการดูแลทุกเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศไทย
และถ้าจะยกเครื่องมหาเถรสมาคม(มส.) รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการคณะสงฆ์ไทยให้มีประสิทธิภาพ ก็มีความจำเป็นต้องแก้ไข “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505” ซึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องเพื่อให้มี “การปฏิรูป” กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับนี้ แต่ก็มีอุปสรรคมาโดยตลอดเช่นกัน เนื่องเพราะมักมีการอ้างเสมอมาว่าเป็นเรื่องของ “พระ” ควรให้พระจัดการกันเอง มิใช่ให้ “ฆราวาส” ที่เป็นคนนอกเข้ามายุ่ง ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พุทธศาสนามิได้มีองค์ประกอบสำคัญแค่ “พระ” เท่านั้น หากแต่ยังมี “พุทธบริษัท 4” คือ “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา” ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้
กระนั้นก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวประการสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2561 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ได้ประกาศการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และทำให้ได้รับทราบว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์
เนื้อหาในประกาศดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า “ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.วันที่ 4 เม.ย.2560 ประกอบกับมติ ครม.วันที่ 19 มิ.ย.2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน ดังนี้ สภาพปัญหา มหาเถรสมาคม ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ 2 ปี
“แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่า สมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง มักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่น ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง นอกจากนี้ กรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล
“จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรฯ เสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ
“หลักการใหม่ ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการ มส. โดยตําแหน่ง ทั้งนี้ ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร
“ให้กรรมการ มส.ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไข เพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการ มส.ขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้ จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 27 มิ.ย.2561”
เมื่อพิจารณาจากเนื้อความที่ลงในประกาศราชกิจจาบุเบกษาก็จะเห็นว่า มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ 4 ประการ คือ
หนึ่ง -เป็นการถวายคืนพระราชอำนาจการแต่งตั้งกรรมการ มส.ให้กับพระมหากษัตริย์
สอง-พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์
สาม-พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
และสี่-หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร
กรณีดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก มีการส่งต่อลิงก์ของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยังกลุ่มไลน์ของพระสงฆ์กลุ่มต่างๆ ทั้งยังมีการแชร์ลงเพจเฟซบุ๊กขององค์กรชาวพุทธ กลุ่มคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการแจ้งข่าวในเรื่องนี้ ทั้งยังแนะนำให้ไปแสดงความเห็นต่อการปรับแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ในประเด็นดังกล่าวด้วย
กระนั้นก็ดี เท่าที่ได้มีการตรวจสอบพบว่า คณะสงฆ์ กลุ่มองค์กรสงฆ์ รวมทั้งนักวิชาการด้านพุทธศาสนาต่างก็เห็นชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องเพราะต่างรับทราบถึงปัญหาและข้อจำกัดของมหาเถรสมาคม(มส.) ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเห็นว่า การแก้ไขจะทำให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ระบบที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขก็มิใช่เรื่องใหม่อะไร หากแต่เคยมีการใช้มาแล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รวมทั้ง “สมณศักดิ์” และตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตยิ์ทรงแต่งตั้งอยู่แล้ว
และมหาเถรสมาคมก็เป็นถ้อยคำที่ใช้ครั้งแรกใน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ. 121) อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นกัน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า....
“หนึ่งในที่มาของปัญหาอยู่ที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปรับมาใช้แบบเดียวกับอำนาจเผด็จการที่ตัวเขาปกครองบ้านเมือง มหาเถรสมาคม พระผู้ใหญ่ อายุ 80-90 ปี เรื่องทางโลกก็ไม่รู้ สิ่งที่ทำก็หาอำนาจให้ตัวเอง วัดปากน้ำเป็นใหญ่ก็ตั้งพรรคพวกตัวเอง วัดสระเกศฯ รักษาการสังฆราช ก็ตั้งพรรคพวกตัวเป็นใหญ่ ตอนนี้มันเลอะถึงขนาด ติดสินบนเรื่องสมณศักดิ์ เป็นแสนเป็นล้าน เหมือนอย่างกับตำรวจเป็นนายพลเลย...สมัยรัชกาลที่ 5 มหาเถรสมาคมเป็นการก(กรรมการ)สงฆ์ ประชุมกันตามวาระ ลงความเห็น ถวายให้ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัย”
กล่าวสำหรับ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 พอประมวลสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง หมายถึง การปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเป็นอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์และมหาเถรสมาคมตามมาตรา 4 ที่บัญญัติไว้ให้เจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย กับพระราชาคณะที่เป็นรองเจ้าคณะทั้ง 4 คณะ ทั้งหมด 8 รูป เป็นมหาเถรสมาคม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์แด่พระมหากษัตริย์ การประชุมวินิจฉัยคดีในที่ประชุมมหาเถาสมาคมตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปให้ถึอเป็นสิทธิขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้
พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้เพราะในเวลาที่ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อ พ.ศ. 2445 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ใน พ.ศ. 2442 นับแต่นั้นมาจนสิ้นรัชกาลที่ 5 ไม่มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอีกเลย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
“ในเวลานี้ตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ว่างสมเด็จพระมหาสมณะหรือสมเด็จพระสังฆราช มีแต่เจ้าคณะใหญ่ 4 รูป เจ้าคณะรอง 4 รูป คณะใหญ่ทั้ง 4 นั้นต่างมิได้ขึ้นแก่กัน เมื่อมีกิจอันจะพึงทำร่วมกัน เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับพระบรมราชโองการสั่งเจ้าคณะ รูปใดมีสมณศักดิ์สูงเสนาบดีก็พูดทางเจ้าคณะรูปนั้นๆ เป็นการก (กรรมการ) ในการประชุมในครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นการก”
ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเอกอัครศาสนูปถัมภก โดยมีมหาเถรสมาคมทำหน้าที่คล้ายกับคณะเสนาบดีที่ทรงปรึกษาฝ่ายการพระศาสนา เสนาบดีกระทรวงธรรมการทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลาง” การติดต่อประสานงานระหว่างพระมหากษัตริย์กับมหาเถรสมาคม
2. ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 คือ การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคควบขนานไปกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค กล่าวคือ มีการแบ่งส่วนการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นสังฆมณฑล มีเจ้าคณะมณฑลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากพระราชาคณะเป็นผู้ปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ในสังฆมณฑลนั้น เจ้าคณะมณฑลนี้เทียบได้กับข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้ทำหน้าที่ปกครองประชาชนและบริหารราชการแผ่นดินในมณฑลของฝ่ายบ้านเมือง รองจากเจ้าคณะมณฑลลงมามีเจ้าคณะเมืองหรือจังหวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง รองจากเจ้าคณะเมืองก็คือ เจ้าคณะแขวงหรืออำเภอ เป็นผู้ปกครองเจ้าอาวาสวัดต่างๆ
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ก็เพราะมีความจำเป็นต้องอาศัยคณะสงฆ์โดยเฉพาะคณะสงฆ์ในต่างจังหวัดให้ช่วยกิจการการศึกษาของชาติ ตามโครงการปฏิรูปการศึกษาให้ทันสมัย การที่พระสงฆ์จะสามารถสนองความต้องการนเรื่องนี้ได้จะต้องปฏิรูปการบริหารกิจการคณะสงฆ์ และจัดการให้พระสงฆ์ในต่างจังหวัดอยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันเสียก่อน เหตุผลข้อนี้ปรากฏอยู่ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“ด้วยเมื่อรัตนโกสินทร์ศก 117 ได้โปรดให้พระราชาคณะหลายรูปออกไปจัดการศึกษาตามอารามในหัวเมือง และได้ทรางอาราธนาพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสที่สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ ให้ทรงรับการธุระดำเนินการนั้นในฝ่ายสมณะ และได้โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงรับหน้าที่อุดหนุนการนั้นในส่วนหน้าที่เจ้าพนักงานฝ่ายฆราวาส ความแจ้งอยู่ในประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง ซึ่งได้ออกเมื่อ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน ร.ศ. 117 นั้นแล้ว
“พระสงฆ์เถรานุเถระและเจ้าพนักงานในฝ่ายฆราวาสได้ช่วยกันจัดและอำนวยตามพระราชดำริ ด้วยความสามารถและอุตสาหะอันเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้เห็นผลความเจริญในการเล่าเรียนตลอดจนความเรียบร้อยในการปกครองสังฆมณฑลขึ้นโดยลำดับ บัดนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรจะตั้งเป็นแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงเรียบร้อยแล้ว
“จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้น เมื่อวันที่ 16 เดือนมิถุนายน ร.ศ. 121 ความแจ้งอยู่ในพระราชบัญญิตินั้นแล้ว”
ขณะที่ “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” ได้เคยรายงานในหัวข้อ “คณะสงฆ์ไทยเคยปกครองแบบแบ่งแยกอำนาจ อย่างประชาธิปไตย ก่อนสฤษดิ์สั่งเลิก” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ทรงจัดให้มีการปฏิรูปการปกครองโดยให้ภูมิภาคขึ้นตรงกับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เมื่อมีพระราชดำริให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ พระองค์ก็ทรงใช้หลักการเดียวกัน ให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศอยู่ภายใต้การปกครองและควบคุมจากส่วนกลาง ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 โดยกำหนดให้มีมหาเถระสมาคมซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑล
“แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา รัฐบาลในยุคนี้จึงมีดำริให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เสียใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองของบ้านเมือง โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ซึ่งกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะเดียวกันกับหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(มาตรา 7 สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา, มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี และมาตรา 9 สมเด็จพระสังฆราชทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร)
อย่างไรก็ดี หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการได้ขึ้นครองอำนาจ เขาได้สั่งยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวและประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แทน ล้มเลิกแนวคิดแบ่งแยกและตรวจสอบ คืนอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม ตามแนวทางเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยอ้างเหตุว่า
“การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลแห่งอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยที่ระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปริณายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา” จากหมายเหตุการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์ไทยจึงมีการปกครองแบบรวบอำนาจตามแนวทางของ จอมพลสฤษดิ์ มาโดยตลอด แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติในปี พ.ศ. 2535 แต่นั่นก็เป็นเพียงการสร้างความชัดเจนและส่งเสริมอำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับเดิม โดยมิได้มีการปฏิรูปหลักการพื้นฐานของกฎหมายฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็ “เพื่อประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ” ดังที่จอมพลผ้าขาวม้าแดงดำริไว้นั่นเอง
ทั้งนี้ กรรมการ มส.ชุดเก่า ส่วนใหญ่มีการแต่งตั้งในสมัยที่มีสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นรักษาการสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก
ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ควบคู่ไปกับการกวาดล้างอลัชชีครั้งนี้ จึงถือเป็น “การปฏิรูป” หรือ “การสังคายนาคณะสงฆ์” ครั้งสำคัญอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และนั่นหมายถึงการสืบทอดบวรพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปตราบนานเท่านาน...