ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิบัติการช่วยเหลือจากทั่วสารทิศที่มุ่งตรงสู่ “ถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน” ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อช่วยเหลือ “13 ชีวิต” ของทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” รวมถึงโค้ช ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยที่ต้องจดจารจารึกไว้
หน่วยงานกู้ภัยแทบจะทุกหน่วยงาน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เอกชน ตลอดรวมถึงผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติต่างพากันเดินทางไปให้ความช่วยเหลือกันอย่างพร้อมเพรียง อดตาหลับขับตานอน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่หวาดหวั่นต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
ไม่นับรวมถึง “พลังใจ” ที่ถูกส่งผ่านออกมาจากหัวใจของคนไทยทุกคนเพื่อให้พวกเขา “อย่ายอมแพ้”
ยิ่งในโลกสังคมออนไลน์ยิ่งเห็นถึงการหลอมรวมพลังใจของคนไทยในยามนี้อย่างเห็นได้ชัดและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
แน่นอน ปฏิบัติการค้นหาไม่ใช่เรื่องง่ายจากหลายๆ ปัจจัย แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ “ระดับน้ำ” ภายในถ้ำอันเกิดจาก “ฝน” ที่ตกลงมาแทบจะทุกวัน จนกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของ “นักประดาน้ำ-ทีมกู้ภัย” รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของถ้ำที่มีความสลับซับซ้อน
ทำไม 13หมูป่าฯ ถึงสูญหาย?
ย้อนลำดับเหตุการณ์กลับเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2561ในช่วงเย็น เจ้าหน้าที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำนักงานพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังจะปิดสำนักงานแต่สังเกตเห็น รถจักรยาน 11 คันจอดอยู่บริเวณทางเข้าปากทางถ้ำหลวงฯ จึงได้เข้าไปตรวจสอบ
ต่อมา นายดำรงค์ หาญภักดีนิยม หัวหน้าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้รับแจ้งว่ามีผู้ที่พากันเดินทางเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลายคนแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย โดยพบรถจักรยานรองเท้าบริเวณทางเข้าถ้ำ
กระทั่งทราบว่า ผู้สูญหายคือทีมฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอน(โค้ช) “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” จำนวน 13 คน อายุระหว่าง 11 - 16 ปี จากหลายโรงเรียนในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประกอบด้วย
รายชื่อของทีมหมูป่าอะคาเดมีฯ ทั้ง 13 คน
1. นายเอกพล จันทะวงศ์ อายุ 25 ปี (โค้ช)
2. ด.ช.อดุลย์ สามออน อายุ 14 ปี โรงเรียนบ้านเวียงพาน
3. ด.ช.ประจักษ์ สุธรรม อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
4. ด.ช.ณัฐวุฒิ ทาคำทราย อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์
5. นายพิพัฒน์ โพธิ อายุ 15 ปี โรงเรียนบ้านสันทราย
6. ด.ช. ภานุมาศ แสงดี อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์
7. ด.ช.ดวงเพชร พรหมเทพ อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์
8. ด.ช.ชนินทร์ วิบูลย์รุ่งเรือง อายุ 11 ปี โรงเรียนอนุบาลแม่สาย
9. ด.ช.เอกรัตน์ วงค์สุขจันทร์ อายุ 14 ปี โรงเรียนดรุณราษฎร์วิทยา
10. นายพรชัย คำหลวง อายุ 16 ปี โรงเรียนบ้านป่ายาง
11. นายพีรพัฒน์ สมเพียงใจ อายุ 16 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
12. ด.ช.สมพงษ์ ใจวงค์ อายุ 13 ปี โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
13. ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม อายุ 13 ปี โรงเรียนบ้านป่าเหมือด
ข้อมูลเปิดเผยว่า ทั้งหมดนัดแนะกันว่าหลังจากฝึกซ้อมฟุตบอลเสร็จในช่วงเที่ยงวันที่ 23 มิ.ย. จะเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง มีการเตรียมตัวตระเตรียมไฟฉาย ขนม อาหาร เครื่องดื่ม และลูกฟุตบอลติดเข้าไปในถ้ำหลวง เพื่อทำการฝึกทักษะภายในถ้ำ รวมทั้ง พักผ่อนภายหลังการฝึกและเป็นการเลี้ยงฉลอง
เพื่อนนักเรียนทีมหมูป่าฯ ที่ไม่ได้ร่วมเดินทางเข้าไปในถ้ำหลวงครั้งนี้ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทีมหมูป่าฯ เดินทางเข้าไปในถ้ำหลวงมาแล้ว 3 - 4 ครั้ง โดย นายเอกพล จันทะวงศ์ หรือ โค้ชเอก เป็นผู้นำเข้าไปสำรวจในถ้ำ แต่ช่วงที่เข้าไปสำรวจเป็นช่วงหน้าแล้ง ทั้งหมดเดินเข้าไปจนสุดปลายทางได้และพบว่าเป็นทางตัน
ขณะเดียวกันเคยหลงทางกันมาแล้วแต่กลับออกมาได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าทั้ง 13 คน ค่อนข้างมีความชำนาญเส้นทาง ทุกคนเป็นนักกีฬาร่างกายแข็งแรง กระทั่งครั้งล่าสุด ไม่สามารถกลับออกมาจากถ้ำหลวงได้ เนื่องจากน้ำป่าทะลักท่วมปิดทางเข้าออกปากถ้ำ
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ทีมหมูป่า เคยเข้าไปในถ้ำหลวงแล้วหลายครั้ง
สำหรับประวัติ “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” ก่อตั้งขึ้นโดย นายเอกพล หรือ โค้ชเอก เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน โดยรวบรวมเด็กที่มีใจรักกีฬาฟุตบอล ในพื้นที่ อ.แม่สาย ตั้งทีมฟุตบอล เพื่อไปแข่งระดับเยาวชนในจังหวัดและนอกพื้นที่ โดยเด็กๆ จะมารวมทีมกันฝึกซ้อมหลังเลิกเรียนเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เป็นประจำทุกวัน
ทีมหมูป่าฯ เปรียบดังบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ ที่มีความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลแต่ใจรัก ซึ่งบ้านหลังนี้มอบโอกาสให้เด็กทุกคนเข้ามาเรียนมาเล่นฟุตบอลฟรี ช่วยปั้นฝันสร้างนักเตะอาชีพ โดยก่อนหน้านี้มีรุ่นพี่ได้เข้าสังกัดสโมสรเชียงรายยูไนเต็ดกันมาแล้ว
เปิดปฏิบัติการ พาน้องกลับบ้าน
ระดมผู้เชี่ยวชาญ-เครื่องมือเต็มกำลัง
ปฏิบัติการค้นหา “ทีมหมูป่าฯ” นักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิตที่สูญหายภายใน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ดำเนินไปอย่างยากลำบาก ทีมค้นหาเผชิญอุปสรรคทั้งสภาพอากาศและสภาพทางภูมิศาสตร์
กล่าวคือ ภายในถ้ำหลวงนางนอนมีลักษณะเป็นถ้ำธารลอด ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้ามาท่วมพื้นถ้ำ แต่เนื่องจากความสูงต่ำของพื้นที่จะมีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ บางช่วงมีเพดานถ้ำที่ต่ำมากไม่สามารถผ่านไปได้ในช่วงที่มีน้ำท่วม ต้องรอให้ระดับน้ำลดหรือดำน้ำผ่านไปเท่านั้น ซึ่งพื้นถ้ำในแต่ละช่วงจะมีบางจุดเกิดหินถล่มและมีตะกอนหินสะสมกลายเป็นพื้นที่หลบน้ำท่วมได้
เบื้องต้นคาดว่า ทีมหมูป่าฯ เดินลึกเข้าไปด้านในถ้ำขึ้นที่สูงเพื่อหลบหนีน้ำท่วม เริ่มต้นการค้นหาผู้สูญหายตั้งแต่ช่วงค่ำราวๆ 21.30 น. ของวันที่ 23 มิ.ย. 2561 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมกู้ภัยต่างๆ ร่วมภารกิจค้นหาพร้อมทั้งนำถังออกซิเจนและเชือกเข้าไปในถ้ำหลวงเพื่อติดตามผู้สูญหาย
กระทั่ง 03.00 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัยส่วนหนึ่งถอนกำลังออกจากถ้ำหลวงและแจ้งว่า พบรองเท้าแตะ จำนวน 12 คู่ และกระเป๋า จำนวนหนึ่งตกอยู่กับพื้นภายในบริเวณภายในถ้ำ กระทั่ง มีการประกาศ “ยุติการค้นหาชั่วคราว” เนื่องจากปัญหาอุปสรรคภายในถ้ำหลวง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
รองเท้าของเด็กๆ ซึ่งถอดเอาไว้
รถจักรยานน้องๆ ที่จอดเอาไว้บริเวณปากทางเข้าถ้ำ
เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ทีมกู้ภัยกรมอุทยานฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ต.ช.ด. ทีมกู้ภัยแม่สาย กว่า 7 ทีม ระดมค้นหาผู้สูญหายอีกครั้ง เตรียมสูบน้ำออกจากโพรงถ้ำ ประสบปัญหาระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และแสงไฟไม่เพียงพอ
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทีมนักประดาน้ำ ลงสำรวจโพรงถ้ำจุดน้ำท่วมระยะทาง 15 เมตร ความลึก 5 เมตร แต่ติดปัญหาน้ำขุ่นและทรายไหล จึงตัดสินใจถอนกำลัง ปรับแผนการทำงานใหม่ พร้อมทั้งประสาน “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.)” หรือ “หน่วยซีล” กองทัพเรือ มาร่วมค้นหา
แผนการค้นหาของหน่วยซีลคือ กาารดำน้ำเจาะทะลุผนังดินกั้นเข้าไปอีกฝั่ง ซึ่งเป็นจุดโถงใหญ่ที่คาดว่าจะพบ 13 คน แต่ยังไม่พบผู้ใด ต่อมาดำน้ำในถ้ำอีกจุดลงไปลึก 5 เมตร พบทางลอดเข้าถึงห้องโถงใหญ่หลังม่านน้ำ มีความลึก 7 กิโลเมตร พบร่องรอยรอยเท้า ผู้สูญหายแต่ยังไม่พบตัว
ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า บริเวณเหนือถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน มีปล่องที่ทะลุออกมานอกถ้ำได้ เจ้าหน้าที่จึงใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจบริเวณเหนือถ้ำ เจอปล่องตามคำบอกเล่า ซึ่งมีระยะห่างจากโถงจุดแรกภายในถ้ำหลวง ประมาณ 800 เมตร พบปล่องลึกประมาณ 90 เมตร จึงทดลองหย่อนอาหารลงไปพบว่าไหลไปตามน้ำ แต่ความยาวเชือกจำกัดยังสรุปไม่ได้ว่าเชื่อมต่อไปถึงโถงในถ้ำได้หรือไม่ พร้อมกันนี้ได้หย่อนกระดาษที่เขียนข้อความ ระบุว่า “ถ้าเจอขนมให้หยุดรอหน่วยซีล” โดยหวังให้อาหารไหลไปตามน้ำช่วยประทังความหิวเด็กๆ และให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่กำลังเร่งให้ความช่วยเหลืออยู่
สถานการณ์การค้นหาดำเนินไปใน 3 งานหลัก คือ การค้นหาภายในถ้ำ โดยหน่วยซีล กองทัพเรือ, การจัดชุดปฏิบัติการเดินเท้ารอบพื้นที่ถ้ำเพื่อสำรวจปล่องอากาศ และการสูบหรือผันน้ำออกจากถ้ำ
หน่วยซีลต้องใช้วิธีดำน้ำเพื่อเข้าไปค้นหาภายในถ้ำที่เต็มไปด้วยน้ำ
สภาพทางภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่ทางจิสด้าได้จัดทำไว้เพื่อใช้ในการช่วยเหลือ
ทว่า สถานการณ์ระดับน้ำในถ้ำที่สูงขึ้น ทำให้หน่วยซีลปฏิบัติการอย่างลำบาก หน่วยงานกู้ภัยเร่งสูบน้ำออกจากถ้ำ แต่เจอฝนตกหนักต่อเนื่องเติมน้ำเข้ามาตลอดเวลา ทำให้ภารกิจค้นหาผู้สูญหาย 13 คน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ทุกทีมปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก เผชิญปัญหาน้ำหลากเข้าถ้ำ เนื่องจากฝนไม่หยุดตก ส่งผลระดับน้ำสูงขึ้นจนถึงผนังถ้ำด้านใน อีกทั้งประสบปัญหาดินโคลน
อุปสรรคสำคัญของ “หน่วยซีล” ภายในถ้ำหลวงมีน้ำไหลเข้ามาเติมในถ้ำตลอดเวลา สภาพน้ำขุ่นมัวมีดินโคลนไหลปะปนมากับกระแสน้ำด้วย ซึ่งต้องดำน้ำลึกถึง 5 เมตร เป็นระยะทางยาวหลายร้อยเมตร เพื่อหาทางเข้าไปยังจุดห้องโถงใหญ่ หรือ หาดพัทยา ซึ่งเป็นลักษณะเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ จุดที่คาดว่ากลุ่มผู้สูญหายหนีน้ำขึ้นไปหลบพัก
ทั้งนี้ ปฏิบัติการค้นหานักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิต “ทีมหมูป่าฯ” ที่สูญหายภายในถ้ำหลวง “ภารกิจพาน้องกลับบ้าน” ดำเนินการแข่งกับเวลา มีการระดมหน่วยงานต่างๆ เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง
ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพิกัดทางภูมิศาสตร์และวิศวกรรมโยธา คำนวณกำลังการสูบน้ำเพื่อให้ได้ระดับน้ำที่เหมาะสม พร้อมทั้ง ประสานชลประทาน จ.เชียงราย ปล่อยและสูบน้ำอ่างเก็บน้ำหนองน้ำพุ 2 อ่าง ที่อยู่ข้างล่างถ้ำ พื้นที่ 100 ไร่ ด้านชาวบ้านในพื้นที่พร้อมใจเปิดทางน้ำให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้สูญหาย หนึ่งในชาวบ้านเปิดใจว่า “น้ำท่วมไม่กลัว ห่วงเด็กๆ มากกว่า”
(1) World Best Cave Diver (นักดำถ้ำที่ดีที่สุดในโลก) จากประเทศอังกฤษ เดินทางมาช่วยเหลือเด็กๆ (2) เวิร์น อันสเวิร์ธ (Vern Unsworth) นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางใน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
หรือย้อนกลับไป ตั้งแต่วันแรกหลังมีการแจ้งผู้สูญหายในถ้ำหลวง เวิร์น อันสเวิร์ธ (Vern Unsworth) นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางใน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อาสาร่วมทีมออกค้นหาช่วยนำทางเจ้าหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ
รวมกระทั่งถึง 3 ผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำ จากสหราชอาณาจักร สมาชิกจากองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดถ้ำจากประเทศอังกฤษ หรือ Derbyshire Cave Rescue Organisation ประกอบด้วย Mr.Robert Charlie Harper , Mr.Richard William Stanton และ Mr.john Volamthen ได้เดินทางร่วมภารกิจค้นหา 13 ผู้สูญหาย
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย เช่น กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา (USPACOM) ได้ประสานส่งเจ้าหน้าที่ ทหารและพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบรรเทาสาธารณภัยมาช่วยเหลือ ทีมกู้ภัย สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมเดินทางมาสนับสนุนปฏิบัติการค้นหา ฯลฯ
รวมทั้ง แผนที่ความละเอียดสูงจาก จีสดา (GISTDA) ที่จะสามารถระบุพิกัดต่างๆ ก็จะแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ ทีมกู้ภัยทางสูงหลากหลายจังหวัดกว่า 40 นาย ร่วมภารกิจค้นหาเดินทางไปยังปล่องถ้ำ 3 จุด สำคัญ เตรียมสำรวจโรยตัวเข้าปล่องถ้ำในแต่ละจุด หนึ่งในทีมกู้ภัย นายพงศกร สวามิภักดิ์ หัวหน้า อส.ปภ.กู้ภัยแม่ขะจาน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม คือ ทีมเอ ทีมบี และ ทีมซี โดยมีทีมทหารพรานวางจุด เพื่อให้ลงไปยังปล่อง ใช้วิธีโรยตัวลงไปโดยทีมกู้ภัยทางสูง โดยใช้เฮลิคอปเตอร์รับเจ้าหน้าที่กู้ภัยไปวางมาร์คตามจุด และค้นหาจากด้านบนลงไปข้างล่างเรื่อยๆ
“หากทุกคนหลบอยู่ในโถงถ้ำที่มีความสูง และน้ำไหลตลอดเวลา จะมีออกซิเจนช่วยในการหายใจ เพราะน้ำไหลผ่านจะนำออกซิเจนเข้ามาด้วย และถ้ำแห่งนี้ถือเป็นถ้ำผจญภัย ผู้เข้าไปจะต้องมีไกด์นำเส้นทางที่มีความเชี่ยวชาญ และปกติหากอยู่ในพื้นที่มีออกซิเจน จะใช้ชีวิตอยู่ได้นาน 1 - 2 สัปดาห์” นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประสานงานระหว่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ กล่าว
สำหรับเทคโนโลยีไฮเทคถูกนำมาใช้ในภารกิจค้นหา “ทีมหมูป่าฯ” ผู้สูญหาย 13 ชีวิตในถ้ำหลวง โดยหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมใจส่งอุปกรณ์เทคโนโลยี “นวัตกรรมล้ำสมัย” ร่วมค้นหา 13 ชีวิตที่สูญหาย อาทิ
1. เครื่องสูบน้ำแรงดันสูง โดย กทม. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาดใหญ่แรงดันสูง จำนวน 5 เครื่องและสายสูบ คาดว่ามีกำลังส่งน้ำระยะทาง 3 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำออกจากถ้ำได้ในปริมาณที่มากพอ โดยไม่สร้างมลภาวะในถ้ำ
2. หุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) นวัตกรรมกู้ภัยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ส่งทีมงาน 2 ชุด หุ่นยนต์ดำน้ำจำนวน 1 เครื่อง ถือเป็นหุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล (ROV) มีกล้องติดอยู่กับตัวหุ่นยนต์ทำให้สามารถมองเห็นวัตถุภายในถ้ำได้ ซึ่งเป็นผลงานของทีมงานศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอากาศและทะเล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์
3. โดรนติดกล้องจับความร้อน โดรนตรวจจับความร้อนดังกล่าวถูกส่งมาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเช่นเดียวกัน สำหรับบินสำรวจพื้นที่ถ้ำหลวงจำนวน 2 ลำ
4. รถโมบายขยายสัญญาณโทรศัพท์ นวัตกรรมติดต่อสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลสัญญาณโทรศัพท์ โดยความร่วมมือจากเครือข่ายโทรศัพท์ต่างส่งรถเคลื่อนที่ติดตั้งระบบสื่อสารในบริเวณดังกล่าว เพื่อขยายสัญญาณให้ชัดเจน รวมทั้ง ลากสายไฟเบอร์เข้าไปในพื้นที่และติดตั้งเสาสัญญาณแบบเฉพาะกิจ
รวมทั้ง เทคโนโลยีไฮเทคจากต่างประเทศที่รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในภารกิจค้นหา ทีมหมูป่าฯ ดังนี้
1.วิทยุสื่อสารในถ้ำชนิดพิเศษ อุปกรณ์วิทยุสื่อสารในถ้ำของตำรวจ ประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย วิทยุสื่อสารชนิดพิเศษ Heyphone ใช้ติดต่อสื่อสารในถ้ำ 4 ชุด วิทยุแรงส่งสูงสามารถส่งสัญญาณทะลุทะลวงแม้อยู่ในถ้ำลึก จากหน่วยงานกู้ภัย DCRO ทีมดำน้ำจากประเทศอังกฤษ ซึ่งนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้สูญหาย
2.เครื่องตรวจคลื่นอินฟาเรดทะลุกำแพง อุปกรณ์พิเศษจาก บริษัท R.S.K.Rescue Equipmentบริษัทเอกชนที่จัดจำหน่ายอุปกรณ์กู้ชีพ สนับสนุนเครื่องตรวจแบบคลื่นอินฟาเรดที่ทะลุกำแพง รุ่น Leica Scanner P20 มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ที่นำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเครื่องตรวจคลื่นอินฟาเรด มีคุณสมบัติทำหน้าที่สแกนเนอร์ สำหรับค้นหาทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน ใต้ทะเล รวมทั้งภายในถ้ำ สามารถตรวจจับคลื่นความร้อนได้ทั้งหมด ภายในระยะ 200 เมตร
3. อุปกรณ์ช่วยชีวิตจากสวีเดนและอิตาลี โดย เอ๋ - นรินทร ณ บางช้าง อดีตนักร้องดัง มอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตในน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดำน้ำที่ไม่ต้องฝึกดำน้ำ ไม่ต้องฝึกการหายใจ ลักษณะคล้ายกับหมวกกันน็อก สำหรับลำเลียงผู้สูญหาย 13 ชีวิตออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย รวมทั้ง ไฟฉายใต้น้ำซึ่งใช้ได้ทั้งใต้น้ำและบนบกแบบสว่างมาก และอุปกรณ์ช่วยให้นักดำน้ำสามารถนำถังออกซิเจนติดตัวไปได้ถึง 4 ถัง โดยไม่ต้องถือหรือลาก
นอกจากนี้ ชุดสำรวจและขุดเจาะผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. นำ โดรน เอ็มพริโบ 2ตัวใหญ่ 1ตัวเล็กที่เดิมใช้ในการสำรวจตรวจจับปิโตรเลียม คุณสมบัติสามารถซูมได้ 30เท่า และมีกล้องตรวจจับความร้อน หากพบจุดที่สงสัยว่าเป็นรูหรือเป็นโปร่ง ก็สามารถจะซูมเข้าไปได้ บันทึกภาพได้ทางอากาศและประมวลผลเป็นแผนที่ 3มิติ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่าปฏิบัติการค้นหากลุ่มนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช “ทีมหมูป่าฯ” 13 ชีวิตสูญหายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย คือปฏิบัติการช่วยชีวิตที่จะต้องบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยตราบนานเท่านาน