xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบันทึกเสียง อาจารย์ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด

อ.กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ศิลปินแห่งชาติ ดร.กรุณา กุศลาสัย และภรรยาผู้เป็น “อรรธางคินี” หรืออีกครึ่งภาคชีวิตของท่าน ศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย คือบูรพาจารย์ที่วงวิชาการอินเดียศึกษาของไทยมิอาจทดแทนพระคุณของท่านให้หมดสิ้นได้ คุณูปการของท่านทั้งสองได้ส่องแสงสว่างให้แก่วงวิชาการและวงวรรณกรรมไทยได้มองเห็นหนทางสายเก่าชัดเจนขึ้น และยังแผ้วถางเปิดเส้นทางสายใหม่อันกว้างไกลให้พวกเราได้เดินลึกเข้าไปอีกในโลกวิทยาแห่งดินแดนภารตะอันไม่รู้สิ้นสุด

ประวัติชีวิตของอาจารย์กรุณามีบันทึกไว้แล้วโดยละเอียดพิสดารในหนังสือของท่านเองชื่อว่า “ชีวิตที่เลือกไม่ได้ อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่ง” ผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษาได้ในหนังสือดังกล่าว ดังนั้นในที่นี้ผู้เขียนจึงขอแสดงชีวประวัติของอาจารย์กรุณาเพียงสังเขปดังนี้

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2463 ในครอบครัวเชื้อสายจีนชาวปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ท่านบวชเป็นสามเณรแล้วเดินเท้าไปกับคณะพระโลกนาถพระภิกษุชาวอิตาลี จากประเทศไทยผ่านพม่าแล้วต่อเรือข้ามไปถึงเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษและฮินดี มีความสามารถทางด้านภาษาฮินดีจนสอบแข่งขันกับชาวอินเดียได้ที่หนึ่งของประเทศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองท่านถูกจับตัวเป็นเชลยต้องติดอยู่ในอินเดียหลายปี เมื่อสงครามสงบแล้วจึงเดินทางกลับมาประเทศไทยและได้ใช้ความรู้ความสามารถเปิดสอนภาษาฮินดีและสันสกฤต ณ อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต โดยเริ่มสอนครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2489 แม้มิได้ปรากฏว่าอาจารย์กรุณา ได้แต่งตำราหรือแบบเรียนภาษาฮินดีเอาไว้ แต่ก็ต้องถือว่า ท่านเป็นครูผู้สอนและเผยแพร่ภาษาฮินดีคนแรกในประเทศไทย ต่อมาท่านได้เข้าทำงานในสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยอยู่หลายปี ความผกผันทางการเมืองและโชคชะตาทำให้ท่านต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำระยะหนึ่ง ผลงานวรรณกรรมของท่านมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมแปลจากภาษาอังกฤษและฮินดีจากหนังสือของปราชญ์ผู้นำแห่งภูมิปัญญาอินเดียยุคใหม่ เช่น “คีตาญชลี” ของรพินทรนาถ ฐากูร “พบถิ่นอินเดีย” ของยวาหระลาล เนห์รู “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” ของมหาตมาคานธี หนังสือเหล่านี้ทรงคุณค่ามหาศาล ไขไปสู่ภูมิปัญญาแห่งภารตวิทยา ได้สร้างสรรค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องสังคมวัฒนธรรมอินเดียให้แก่สังคมไทยอย่างมาก

อาจารย์กรุณาเสียชีวิตด้วยอาการอันสงบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 สิริอายุ 89 ปี ท่านอุทิศร่างกายเป็นวิทยาทานให้แก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

จะนับว่าเป็นเรื่องบังเอิญ หรือด้วยเหตุเทพดลใจอย่างไรก็มิทราบ เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนผู้เขียนพอมีเวลาว่างจัดระเบียบไฟล์เอกสารที่ซุกซ่อนอยู่ในคอมพิวเตอร์แล้วพบว่า มีไฟล์หนึ่งเป็นบันทึกเสียงของอาจารย์กรุณา และอีกไฟล์หนึ่งเป็นบันทึกเสียงสัมภาษณ์อาจารย์เรืองอุไร ไฟล์ที่สองนั้นไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนักเพราะผู้เขียนเป็นผู้บันทึกเองเมื่อครั้งไปเยี่ยมอาจารย์เรืองอุไรที่บ้านเมื่อราว 10 ปีก่อน แต่ไฟล์บันทึกเสียงของอาจารย์กรุณา ทำให้ผู้เขียนดีใจอย่างล้นเหลือด้วยเคยเข้าใจไปว่าตนเองทำไฟล์นี้สูญหายไปแล้ว ผู้เขียนได้รับไฟล์บันทึกเสียงนี้มานานแล้วจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ปรมัตถ์ คำเอก (ชื่อเดิม บำรุง คำเอก) อาจารย์ภาษาฮินดีประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ครูภาษาฮินดีของผู้เขียน ท่านบันทึกเสียงอาจารย์กรุณาไว้เมื่อปี 2545 เมื่อผู้เขียนเรียนให้อาจารย์บำรุงทราบเพื่อขออนุญาตนำเนื้อหาในบันทึกเสียงนั้นมาเผยแพร่ อาจารย์บำรุงก็ดีใจและน่าจะดีใจมากกว่าผู้เขียนเป็นทวีคูณ เพราะไฟล์ต้นฉบับที่ท่านเคยมีอยู่นั้นได้สูญหายไป ที่ท่านเคยมีอยู่ก็หาไม่พบ โชคดีเหลือเกินที่ไฟล์นั้นยังมีสำเนาอยู่ในคอมพิวเตอร์ของผู้เขียน จึงได้ทำสำเนามอบคืนให้อาจารย์บำรุงไว้อีกชุดหนึ่ง

เนื้อหาตอนต้นในบันทึกเสียงนี้เป็นคำกล่าวของอาจารย์กรุณาในภาษาไทยและภาษาฮินดี หลังจากนั้นเป็นบทสนทนาระหว่างอาจารย์กรุณา กับศาสตราจารย์ราธาวัลลัภ ตริปาฐี ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่รัฐบาลอินเดียมอบหมายให้มาสอนภาษาสันสกฤตที่ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลานั้น

เนื้อหาที่อาจารย์กรุณากล่าวไว้ในบันทึกเสียง มีดังนี้

“สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ เมื่อวันสงกรานต์ปีนี้ คือวันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2545 นี้ ได้มีคณะอาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีอาจารย์บำรุง คำเอก เป็นผู้นำ ได้พากันไปให้เกียรติผมที่บ้าน คือไปรดน้ำดำหัวตามประเพณีของไทยเรา”
รศ.ดร.ปรมัตถ์ คำเอก
อาจารย์บำรุงที่กล่าวถึงนี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรมัตถ์ คำเอก ในปัจจุบัน อาจารย์กรุณากล่าวต่อไปว่า

“เราได้สนทนาปราศรัยกันสักระยะหนึ่งถึงเรื่องการสอนและการเรียนภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดีในประเทศไทย คณะอาจารย์ที่กล่าวถึงนี้ก็แสดงความประสงค์อยากจะให้ผมคุยถึงเรื่องภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดีในประเทศไทยเมื่อสัก 40-50 ปีที่แล้ว ผมในฐานะที่ดูเหมือนจะเป็นคนแรกที่สอนภาษาฮินดีให้คนไทยเราที่อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต ที่ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง ก็เลยเรียนให้ท่านทราบถึงภาระของการสอนภาษาทั้งสองนี้ในประเทศเรา เมื่อคุยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจารย์บำรุง คำเอก และเพื่อนอาจารย์ของท่านก็ขอร้องให้ผมบันทึกไว้เป็นภาษาฮินดี อยากจะให้เป็นอนุสาวรีย์ว่าการสอนภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤตในเมืองไทยเรานี้เริ่มต้นอย่างไร ผมก็ยินดีสนองตามคำขอร้องของอาจารย์บำรุง คำเอก และอาจารย์คนอื่นที่ไปด้วย ต่อไปนี้ก็จะเป็นการแสดงความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับการสอนภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤตในประเทศไทยของเรานะครับ ผมพูดไว้เป็นภาษาฮินดี ต่อไปนี้จะเป็นภาษาฮินดีที่ผมได้พูดและแสดงความคิดเห็น ผมจะเริ่มต้นเป็นภาษาฮินดีเลยนะครับ”

ต่อจากนั้นอาจารย์กรุณาได้กล่าวเป็นภาษาฮินดี ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าท่านคงอ่านจากข้อความที่เขียนเตรียมไว้ก่อนแล้ว ศัพท์ สำนวน และลีลาภาษาฮินดีที่ท่านใช้นั้นงดงามสละสลวย มีลักษณะเป็นภาษาทางการ ไม่ต่างอะไรกับเจ้าของภาษาผู้มีทักษะการเขียนดีผู้หนึ่ง สำเนียงการออกเสียงภาษาฮินดีของท่านก็ชัดเจนทุกตัวอักษร จึงไม่ยากเกินไปสำหรับผู้เขียนที่จะฟังจับใจความและแปลมาเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้

“ความก้าวหน้าของการเรียนการสอนภาษาฮินดีและสันสกฤตในประเทศไทย เมื่อคณะอาจารย์ผู้สอนภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤตผู้เป็นที่รู้จักกันดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอันมีชื่อเสียงได้มาพบกับผมที่บ้าน พวกท่านได้อาศัยอยู่ในประเทศอินเดียหลายปีและได้ศึกษาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเทศอินเดีย ในปัจจุบันท่านผู้รู้กลุ่มนี้กำลังเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรมและอารยธรรมอินเดียในประเทศไทยอยู่ ผมเองก็ได้ใช้เวลาในวัยเยาว์ร่ำเรียนอยู่ในประเทศอินเดียประมาณ 12-13 ปี จึงดีใจมากที่ได้พบกับคณะอาจารย์กลุ่มนี้ พวกเราได้สนทนากันฉันพี่น้องและต่างแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์มากมาย”

“กาลเวลาดำเนินไปรวดเร็วนัก พร้อม ๆ กันนั้นโลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อนหรือราวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อผมเดินทางจากอินเดียกลับมาประเทศไทย ขณะนั้นทั้งประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนภาษาฮินดีและสันสกฤต แต่ในปัจจุบันทั้งสองภาษากล่าวคือภาษาสันสกฤตและฮินดีก็มีสอนในการศึกษาระดับสูงในมหาวิทยาลัย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก”

“ความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางวัฒนธรรม สังคม และศาสนาระหว่างประเทศไทยกับอินเดียดำเนินสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ความสัมพันธ์เหล่านี้หากเปรียบเทียบดูแล้วก็อาจจะไม่ปรากฏให้เห็นในประเทศอื่น ๆ”

“ฮินดีเป็นภาษาราชการของอินเดีย มีจำนวนผู้พูดผู้เข้าใจภาษานี้อยู่เป็นจำนวนมาก สามารถหาชาวอินเดียพบได้ทุกหนแห่งในโลก โดยทั่วไปแล้วชาวอินเดียทุกคนสามารถพูดและเข้าใจภาษาฮินดีในระดับภาษาพูดหรือระดับสื่อสารทั่วไปได้ เมื่อพิจารณาในแง่นี้ภาษาฮินดีก็เป็นภาษาที่มีประโยชน์และให้คุณมาก ภาษาฮินดีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ มิตรภาพและภราดรภาพทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินเดียจะก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยภาษาฮินดี ผมหวังว่าประชาชนชาวไทยจะศึกษาภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤตด้วยความสนใจยิ่ง ประเทศไทยและอินเดียเป็นพี่น้องบ้านใกล้กัน”

ในตอนท้าย อาจารย์กรุณาได้กล่าวสลับกันเป็นภาษาไทยบ้างภาษาฮินดีบ้าง ซึ่งเรียบเรียงเนื้อหาได้ดังนี้

“ผมผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการของภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤตในประเทศไทยในปัจจุบันนี้คือ นายกรุณา กุศลาสัย อยู่บ้านเลขที่ 599 ถนนพรานนก กทม. 10700 วันนี้วันที่ 8 เมษายน ปี 2002 (ตรงกับ พ.ศ.2545-ผู้เขียน) ผมขอขอบคุณทุกท่านครับ ที่ได้สละเวลามาฟังคำกล่าวของผม ขอบคุณครับ”

สำหรับบทสนทนาระหว่างอาจารย์กรุณากับอาจารย์ราธาวัลลัภ และเนื้อหาในบันทึกเสียงสัมภาษณ์อาจารย์เรืองอุไร ตลอดจนบทวิเคราะห์โดยผู้เขียน จะขอแบ่งเนื้อหานำมาเสนอในคอลัมน์พินิจอินเดียนี้ในโอกาสต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น