ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ. ....ผ่านการลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 199 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง
ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรีต่อประธาน สนช.เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการรวมวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิสยามบรมราชกุมารีเพื่อโรงเรียนจิตรลดา มาจัดตั้งเป็น “สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” มีฐานะเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีในกํากับของรัฐ
ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามบรมราชกุมารีเพื่อโรงเรียนจิตรลดาในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มพูน ความรู้ด้านทักษะวิชาชีพและเทคโนโลยีให้แก่บุคคลทั่วไป
สถานศึกษาทั้งสองแห่งดังกล่าวได้ผลิตบุคลากรในสายวิชาชีพซึ่งมีความรู้ความสามารถอันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกําลังคนซึ่งมีทักษะด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพในระดับสูงมากขึ้น
เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา สร้างความชํานาญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยให้ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานสายวิชาชีพมีโอกาสศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางในระดับปริญญา ให้การจัดการศึกษามีความต่อเนื่อง สามารถขยายสาขาการเรียนสายวิชาชีพให้มีความหลากหลาย มีการผลิตกําลังคนซึ่งมีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพในระดับสูงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จึงสมควรรวมสถานศึกษาทั้งสองแห่งมาจัดตั้งเป็น สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ
-กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มุ่งเน้นให้การศึกษาด้านทักษะวิชาชีพ และเทคโนโลยีบนฐานของวิทยาศาสตร์และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชํานาญในการปฏิบัติ ทําการสอน วิจัย ริเริ่ม ถ่ายทอด ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ผู้เข้ารับการศึกษา มีโอกาสศึกษาด้านวิชาชีพเฉพาะทางจนถึงระดับอุดมศึกษา ให้บริการ ทางวิชาการแก่สังคมทะนุบํารุงศิลปวัฒนธรรม ปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา และมีวินัย
-กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คํานึงถึงความจงรักภักดีต่อชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ความมีวินัย คุณธรรม และจริยธรรม ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา ความเป็นเลิศและความมีเสรีภาพทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการ และการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง
-กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา แบ่งส่วนงานเป็นสํานักงานสถาบัน คณะ วิทยาลัย สํานัก และอาจให้มีส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย หรือสํานัก
-กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาอาจรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น เข้าสมทบหรือยกเลิกการสมทบในสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาได้และมีอํานาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันอื่นที่เข้าสมทบนั้นได้
-กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาอาจจัดการศึกษาหรือดําเนินการวิจัยร่วมกับ สถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นในประเทศหรือต่างประเทศ หรือขององค์การระหว่างประเทศ ได้โดยในการจัดการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามีอํานาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นแก่ผู้สําเร็จการศึกษาได้
- กําหนดให้ปริญญามีสามชั้น คือ ปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี
- กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีอํานาจให้ปริญญา อนุปริญญาหรือ ประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดในสาขาที่มีการสอนในสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
- กําหนดให้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามีอํานาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคล ซึ่งสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเห็นว่าทรงคุณวุฒิและคุณธรรมสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ แต่จะให้ ปริญญาดังกล่าวแก่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ในสถาบัน เทคโนโลยีจิตรลดา นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หรือกรรมการสภาสถาบันเทคโนโลยี จิตรลดาในขณะดํารงตําแหน่งนั้นไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีบทเฉพาะกาล กําหนดให้ในวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ใบอนุญาตจัดตั้งวิทยาลัย เทคโนโลยีจิตรลดาที่ออกตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 ละใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ที่ออกตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 เป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) เป็นอันเลิกกิจการตามพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไม่ต้องดําเนินการเลิกกิจการหรือชําระบัญชี
- กําหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้นายกสภาวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและกรรมการ สภาวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาซึ่งดํารงตําแหน่งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 อยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็นนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และกรรมการสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาตามพ.ร.บ.นี้และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า จะมีสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาตามพ.ร.บ.นี้ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่ วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
- กําหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยี จิตรลดาตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 อยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ รักษาการในตําแหน่งอธิการบดีไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีตามพ.ร.บ.นี้ ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
- กําหนดให้เพื่อประโยชน์ในการบริหารกิจการของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ให้สามารถดําเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องในวาระเริ่มแรก ให้ถือว่าส่วนงานในวิทยาลัยเทคโนโลยี จิตรลดาตามข้อบังคับวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของวิทยาลัย พ.ศ. 2558 ที่ออกตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 และโรงเรียน จิตรลดา (สายวิชาชีพ) ที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 อยู่ในวันก่อน วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็นส่วนงานของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาตามพ.ร.บ.นี้ไป พลางก่อน ทั้งนี้จนกว่าจะมีการจัดตั้งส่วนงานตามพ.ร.บ.นี้
- กําหนดให้นักศึกษาซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาที่จัดตั้ง ขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 รวมทั้งนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 อยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็นนักเรียนและ นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาตามพ.ร.บ.นี้
ภายหลังจาก สนช.มีมติเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว นับเป็นการเพิ่มสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
เป็นการตอบสนองต่อโนบายการผลิตกําลังคนของรัฐที่มีคุณภาพ เน้นการให้การศึกษาด้านทักษะวิชาชีพและเทคโนโลยีบนฐานของวิทยาศาสตร์ตลอดจนวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง
ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพจากสถาบันที่มิได้มุ่งแสวงหาผลกําไร แต่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม มีความรู้ทางด้าน วิชาการและมีความชํานาญการในการปฏิบัติงาน
เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ สามารถปฏิบัติงานได้ ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการแรงงานท่มีีความชํานาญในการลงมือปฏิบัติ
สร้างแรงงานที่มีทักษะ ผลิตกําลังคนในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ขาดแคลน เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างงานวิจัย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกด้วย