xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มาแล้ว! ร่างบริหารกทม."ยุบ สข."ชัวร์ ตั้ง"ประชาคมเขต-บอร์ดยุทธศาสตร์"ไขปมเมืองหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่ง ร่างกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่น โดยเฉพาะ“ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ...”ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจ้าภาพในการจัดเลือกตั้ง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กสถ.) กระทรวงมหาดไทย ฝ่ายสนับสนุนเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ฉบับที่เหลือยังอยู่ในมือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งภายในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ทุกฝ่ายจะต้องส่งความเห็นกลับมา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งตามความเห็นที่กกต.กำหนดไว้ คือ กรอบ 30 วัน คาดว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาได้เดือนก.ค.นี้ และประกาศใช้ในเดือนธ.ค. ซึ่งกกต.ได้เสนอว่าการเลือกตั้งระดับชาติ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ควรมีการเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.62 โดยมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล จะต้องมีกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เสร็จก่อน

ขณะที่กฎหมายท้องถิ่นอีก 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดตั้งเทศบาล อบต. อบจ. เมืองพัทยา และกทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เมื่อพิจารณาครบแล้วก็จะดำเนินการรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการจะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ กฎหมายอีก 5 ฉบับ ต้องเสร็จพร้อมกัน

เป็นความเห็นของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี กสถ. ที่เชื่อว่า“ไม่น่าช้า เพราะฉบับที่ใช้เวลาเยอะและนานที่สุดนั้นเสร็จแล้ว”

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า "ขึ้นอยู่กับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นได้เข้าสู่การพิจารณาของสนช. ตอนไหน และใช้เวลาพิจารณานานเท่าไร รวมถึงขั้นตอนทูลเกล้าฯ ซึ่งเมื่อกฎหมายประกาศใช้ ก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 40-60 วัน" 

สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายท้องถิ่น ฉบับอื่น ๆ สัปดาห์เดียวกันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่ง“ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ... กลับมาให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อจัดกระบวนการแสดงความคิดเห็น ตามกรอบระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-13 ก.ค.61

ร่างที่กฤษฎีกาส่งมายัง กทม. มีอะไรบ้าง ?? ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามคาดที่เคยมีสื่อนำเสนอมาก่อนหน้า เช่น ยกเลิกระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
 
ที่สำคัญ คือ เพิ่มหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

รายละเอียดที่มีการปรับแก้ใน ร่าง พ.ร.บ. ในเรื่องหลักประกอบ 1. แก้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกหน่วยทำงานอย่างคล่องตัว 2. เพื่อให้มีการบริการประชาชนให้มากขึ้น 3. เพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล 4. การปรับโครงสร้างการบริหารบางส่วน อาทิ การยกเลิกสมาชิกสภาเขต (สข.) แต่จะเพิ่มให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เขต และเพิ่มมีอำนาจหน้าที่ให้ กทม. ทำงานคล่องตัว รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกับกทม. ได้มากขึ้น และ 5. เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของกทม. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเชื่อมการทำงานร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
 
ที่ถูกจับตามาตลอด นั้นคือ“ยุบสมาชิกสภาเขต (สข.)”ให้มาเป็น คณะกรรมการประชาคมเขต ตามมาตรา 193/4 (ฉบับปี 2528) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยกรรมการประชาคมเขต จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ตาม หมวดที่ 9“การมีส่วนร่วมของประชาชน”ในมาตรา 123/2 กรุงเทพมหานคร ต้องจัดให้มีกลไกภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปของคณะกรรมการประชาคมเขต มีผู้อ่านวยการเขตเป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากตัวแทนของประชาชน ในด้านต่าง ๆ จำนวนยี่สิบคน ประกอบด้วย (1) กลุ่มอาชีพ โดยคัดเลือกกันเอง (2) กลุ่มอาสาสมัคร โดยคัดเลือกกันเอง และ (3) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน โดยอย่างน้อยต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยผู้อำนวยการเขตคัดเลือกจำนวนสัดส่วนของแต่ละกลุ่ม ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แต่จำนวนของกลุ่ม (1) และกลุ่ม (2) เมื่อรวมกันแล้ว ให้มีสัดส่วนมากกว่ากลุ่ม (3)

มาตรา 123/3 มีอ่านาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษา ในการจัดทำแผนงาน งบประมาณ การอนุรักษ์ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงาม (2) ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน และการอื่นใดเพื่อการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขต

มาตรา 193/4 คณะกรรมการประชาคมเขต มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยกรรมการประชาคมเขตจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการประชาคมเขตว่างลงก่อนคราวออกตามวาระ ไม่ต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกใหม่ แต่ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการประชาคมเขตในบัญชีกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มอาสาสมัคร สาขา หรือด้านนั้น ในลำดับถัดไปเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการประชาคมเขตแทน ให้ปลัดกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง การวินิจฉัย การถอดถอน ตามหลักเกณฑ์ ตามที่ตราในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คำวินิจฉัยของปลัดกรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่สุด

การตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดเรื่องคณะกรรมการประชาคมเขต ตามวรรคสี่ และการจัดให้มีคณะกรรมการประชาคมเขต ตามมาตรา 123/2 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ
 
กำหนดสเปก สภากรุงเทพมหานคร หรือ สก. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง

“มาตรา 30 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้รับเลือกตั้ง ถึงร้อยละเก้าสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้วในวันใด ภายในสิบห้าวันนับแต่วันดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือว่า สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ครบตามจำนวน ตามมาตรา 10 โดยเร็ว ทั้งนี้ ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครดังกล่าว อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภากรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่”

ที่สำคัญ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร”สามารถร่วมถอดถอน สก. ตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียง เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และถ้าสมาชิกภาพของสมาชิก สภากรุงเทพมหานครสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมด เพราะเหตุดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการ“ยุบสภากรุงเทพมหานคร”

สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อาจมีผู้ช่วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้คนละไม่เกินสองคน 

ในร่างฉบับนี้ ยังมีการกำหนดสเปก“ผู้ว่าฯกทม.”ซึ่งมาจากเลือกตั้งขึ้นโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรง และลับ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ในวันเลือกตั้ง รวมถึงด้านอื่นๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

“มาตรา 123/1 ให้รัฐจัดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รมว.มหาดไทย รัฐมนตรี และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ”

โดยให้มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาเมืองหลวง และปริมณฑล และแผนปฏิบัติการตามที่กรุงเทพมหานครจัดทำ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างน้อยในแผนดังกล่าว ต้องแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ และกำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน การวางระบบ วิธีการ ทรัพยากรการบริหารงาน การบูรณาการในการท่างานร่วมกัน การติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามห้วงเวลาที่กำหนด และให้มีอำนาจหน้าที่จัดแบ่งหน้าที่ และกิจกรรมการจัดบริการสาธารณะระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับกรุงเทพมหานคร

โดยจัดกลไกการถ่ายโอนภารกิจเพื่อให้กรุงเทพมหานคร สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะ ในเขตกรุงเทพมหานคร และสามารถประสานการปฏิบัติกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ นี้
 
การดำเนินการ ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล ตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
 
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่..) พ.ศ.. เผยแพร่ ฉบับเต็มในเว็บไซต์ กทม.แล้ว ไปร่วมกันแสดงความเห็นได้




กำลังโหลดความคิดเห็น