xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จึง “รุ่งเรือง” กิจ ผ่าโมเดล “สุริยะ-ธนาธร” แยกกันเดิน “อา-หลาน” ถ่วงดุลกงสี “แซ่จึง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงแสดงจุดยืนอย่างมั่นคง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศ ตั้งตัวอยู่ฝ่ายตรงข้าม “ขุนทหาร” อย่างชัดเจน ขอลบล้างทุกอย่างที่เป็นมรดกของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สิ้นซาก

ล่าสุดถูกถามเรื่องการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็แสดงความเห็นอย่างถึงพริกถึงขิง “...นักการเมืองคนไหนอยากมีส่วนในการสืบทอดอำนาจให้คสช.ก็ควรแสดงตัวออกมาเลยประชาชนจะได้เห็น เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ว่าประชาชนจะตัดสินให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อหรือไม่ ดังนั้นคิดว่าทุกพรรคการเมืองควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว การที่มีนักการเมืองไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่แสดงตัวชัดเจนทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าจะสนับสนุนคสช. หรือนักการเมืองที่รับใช้เผด็จการ ทอดทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย และถือว่าเป็นนักการเมืองที่ทรยศต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของตัวเอง...”

ฟาดงวงฟาดงาใส่ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” ที่มีข่าวว่าเตรียมเข้า “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง อย่างแรงๆ ว่าเป็น “คนทรยศ-รับใช้เผด็จการ”

และแน่นอนว่า หนึ่งในนักการเมืองที่เข้าข่ายถูกตราหน้าด้วยนั้น ก็มีชื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เพิ่งประกาศตั้ง “กลุ่มสามมิตร” ร่วมกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน ทำหน้าที่เดินสายทาบทาม “นักเลือกตั้ง” ให้ไปร่วมหอลงโรง “พรรคพลังประชารัฐ”
 
“พรรคทหาร” เต็มตัว

เป็น “สุริยะ” ที่ใช้นามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ” เช่นเดียวกับ “ธนาธร” โดยมีศักดิ์เป็น “อา-หลาน” ตามสายเลือด

หลังลั่นวาทกรรม “คนทรยศ-รับใช้เผด็จการ” ก็หนีไม่พ้นคำถามถึง “อาเจ็กสุริยะ” ว่ารวมอยู่ในกลุ่มที่ว่านี้ด้วยหรือไม่ ก็ได้คำตอบจาก “หลานเอก” ว่า “ผมก็มองอย่างที่ผมกล่าวไป”

ย่างก้าวของ “ธนาธร” ที่มุ่งสู่การเมืองว่าน่าสนใจแล้ว แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเพียง “เด็กห้าวเป้ง” ที่ฝันใหญ่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ในขณะที่ย่างก้าวของ “สุริยะ” ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน กับสถานะอดีตคนข้างกาย ทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นถึงเลขาธิการพรรคไทยรักไทย คุมกระทรวงเกรดเออย่างกระทรวงคมนาคม อันเป็นที่มาของคดีฉาว “ซีทีเอกซ์ 9000” ที่แม้พ้นผิดไปแล้ว แต่ก็ยังตามหลอนเจ้าตัวมาถึงวันนี้

เป็น “สุริยะ” ที่เฟดตัวหลบไปอยู่หลังเวที ตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลไทยรักไทยถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ท่ามกลางกระแสป่วยหนัก และเลิกเล่นการเมืองไปแล้ว แต่เกือบ 12 ปีเต็มต่อมา จู่ๆ ก็กระโดดลงสนามการเมืองอีกครั้งในช่วงที่กระแสการเมืองเชี่ยวกรากเหลือเกิน

ที่สำคัญยังเลือกข้างใหม่ ที่อยู่ตรงข้ามกับ “นายเก่า” แล้วก็ยังเป็นขั้วตรงข้าม “หลานเอก” ที่ชูธงไม่เอาทุกอย่างที่เป็น คสช.เสียด้วย

แต่หากมองข้ามเกมการเมืองที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงอำนาจ-ผลประโยชน์แล้ว ก็ต้องบอกว่า บทบาทเดิมในขั้วใหม่ของ “สุริยะ” มีนัยที่ฉาบด้วยความเป็นไปของ “ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ” ไม่มากก็น้อย

ด้วยความที่บทบาทของ “หลานธนาธร” ค่อนข้าง “แหลม” ออกไปในแนว “ไต่เส้น” โดยเฉพาะเรื่องระบบการเมืองการปกครองของประเทศมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีการขุดคุ้ยบทบาท-ความเห็นในอดีต เชื่อมโยงกับ “นิตยสารต้องห้าม” ที่ครั้งหนึ่ง ก็เคยทำให้ “อาเจ็ก” ลำบากใจพอสมควร ในฐานะคีย์แมนของรัฐบาลขณะนั้น

เพราะแม้จะบอกว่า อา-หลาน อยู่กันคนละบ้าน บริหารกันคนละบริษัท แต่อย่างไรก็ย่อมถูกเหมาว่าเป็น “จึงรุ่งเรืองกิจ” เหมือนกันอยู่วันยังค่ำ

มิชชัน “ถ่วงดุลธุรกิจกงสี” จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ “สุริยะ” ต้องหวนคืนการเมือง

เหมือนโมเดลยอดนิยมที่ “ตระกูลใหญ่-มหาเศรษฐี” ของเมืองไทยมักทำกัน ในการเลือกยืนกันละขั้วการเมือง เหมือนอย่างที่ครอบครัว “ปุณณกันต์” ผ่านบทบาทของสองศรีพี่น้อง ที่ “พี่บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นแกนนำเคลื่อนไหวในนาม กปปส.เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อน ส่วน “น้องบรู๊ค” ดนุพร ปุณณกันต์ เป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย

หรือกระทั่ง “เวชชาชีวะ” ที่มีทั้ง “อภิสิทธิ์” และ “สุรนันทน์” ที่อยู่ต่างพรรคต่างขั้ว

ยิ่งถอดรหัสการกลับเข้าสู่การเมืองของ “สุริยะ” ก็จะเห็นว่าเจือไปด้วยความพยายามส่งนัยแสดงจุดยืนของตระกูล ด้วยการนำคำว่า “สามมิตร” มาเป็นชื่อกลุ่ม

แม้ “สามมิตร” จะหมายถึง “เพื่อนสามคน” ในทีนี้ คือ ส.สุริยะ - ส.สมศักดิ์ และ ส.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.

แต่ลึกลงไปแล้วคำว่า “สามมิตร” เป็นต้นกำเนิดธุรกิจกงสีของคนในตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” อีกด้วย

โดย “สามมิตร” หรือ “ซานอิ้ว” ในภาษาจีน เป็นชื่อของร้านซ่อมเบาะรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ สรรเสริญ จุฬางกูร ชื่อเดิม ฮังตง แซ่จึง พี่ชายคนโตของบ้าน ตั้งร่วมกับเพื่อนสนิทที่เป็นหุ้นส่วน และกลายเป็นจุดกำเนิดของกิจการทั้งหมดของตระกูล

ก่อนที่ “สรรเสริญ” จะแยกตัวออกมาตั้งหน้าร้านเองในนาม “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามมิตรชัยกิจ” และเปลี่ยนชื่อเป็น Summit Auto Seats Industry เมื่อปี 2515

คำว่า Summit หรือ “ซัมมิท” ก็เป็นการทับศัพท์จาก “สามมิตร” นั่นเอง

โดยกิจการของ Summit Auto Seats Industry นั้น 5 พี่น้องในรุ่นที่ 2 ของตระกูล ที่ประกอบด้วย สรรเสริญ, พัฒนา,โกมล, สุริยะ และอิสริยา ช่วยกันดูแล จนกิจการรุ่งเรืองขึ้นมาตามลำดับ

ก่อนที่ในปี 2520 พี่รองอย่าง “พัฒนา” ได้ออกไปตั้งบริษัทใหม่ ใส่คำว่า “ไทย” เข้าไปเป็น Thai Summit และบริษัทอื่นๆ ด้วย

กล่าวคือ “ตระกูลจุฬางกูร” ที่พี่ใหญ่ “สรรเสริญ” เปลี่ยนนามสกุลเพื่อความแตกต่าง เป็นผู้บริหาร “เครือซัมมิท” ขณะที่ “เครือไทยซัมมิท” นั้นเป็นของ “พัฒนา” ที่เป็นพ่อของ “ธนาธร” แต่ก็มีการแตกแขนงภายใต้ชื่อ “ซัมมิท - ไทยซัมมิท” ออกไปเป็นอีกมากมาย มีสินทรัพย์หลายหมื่นล้านบาท ทั้ง “จุฬางกูร - จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่มาจากหน่อเนื้อเดียวกัน กลายเป็นตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของประเทศ

เมื่อ “พัฒนา” เสียชีวิต สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของ “ธนาธร” ก็ได้เข้ารับช่วงดูแลต่อ

ในขณะที่ “โซ้ยตี๋” ของรุ่นอย่าง “สุริยะ” ก็ได้ร่วมบริหารในบริษัททั้ง 2 เครือด้วย ขณะเดียวกันตัวเองก็ยังแตกไลน์ธุรกิจไปตั้ง บริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์จำกัด หรือ SEC เมื่อปี 2530 ก่อนกลายเป็นยักษ์ใหญ่วงการอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

จนเป็นประตูเบิกทางให้เข้ามาในเส้นทางการเมือง ถูกชักชวนให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยหลายกระทรวง ก่อนได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2541 พลันที่ พรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ถึงกำเนิด บทบาทของ “สุริยะ” ก็สูงขึ้นตามลำดับ จากรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขยับมาเป็นเลขาธิการพรรค พ่วงด้วยเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เมื่อพ้นจากอำนาจ “สุริยะ” ห่างหายจากสังเวียนไปนับ 10 ปี จนหลายคนในพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยเดิม มองว่า “สุริยะ” ถึงจุด “อิ่มตัว” ทางการเมืองไปแล้วด้วยซ้ำ

แล้วหากมองในแง่ธุรกิจ มุมมองของ “สุริยะ” ก็ไม่น่าต่างจาก “ซ้อสะใภ้” และแม่ของ “ธนาธร” อย่าง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าแม่วงการรถยนต์คนปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงล่ำซำที่สุดของเมืองไทย ขาประจำของทำเนียบมหาเศรษฐีของประเทศไทย ที่บางปีถึงขนาดรวยเกินหน้า “ตั่วเฮีย” อย่าง สรรเสริญ จุฬางกรู ด้วยซ้ำไป

อย่าลืมว่า “มาดามสมพร” เป็นปราการด่านสำคัญที่ไม่ยอมให้ “ตี๋เอก” ลงมาลุยการเมือง แต่ก็ทนลูกตื๊อของลูกชายไม่ได้ ซึ่งนอกเหนือจากความเป็นห่วงของคนเป็นแม่แล้ว ยังรู้ดีว่าอาจมีผลกระทบมาถึงธุรกิจของตระกูลอีกด้วย มุมมองของ “สุริยะ” ที่มีรากฐานมาจากนักธุรกิจ และผ่านสังเวียนการเมืองมาแล้วน่าจะรู้ดี

แม้ว่า “ธนาธร” จะย้ำในหลายเวทีว่า ธุรกิจทางบ้านไม่เกี่ยวกับงานทางการเมืองของตัวเอง และได้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดแล้ว อีกทั้งเมื่อครั้งเป็น รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทอยู่ ก็เคยโพสต์ข้อความซ่อนนัยแฝงถึงโรงงานผลิตตัวถังรถยนต์แห่งใหม่ของกลุ่มไทยซัมมิท ที่สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อถนนเป็นของตัวเอง ไว้ประมาณว่า

“พระเจ้าองค์เดียวที่จะช่วยเราได้ในอุตสาหกรรมระดับโลกคือพระเจ้าแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ... ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี้เห็นถึงความสำคัญของการจ้างงานคุณภาพและเทคโนโลยีสีเขียว จึงได้มอบถนนไทยซัมมิท หรือ “Thai Summit Drive” พร้อมกับบ้านเลขที่ ๑ ของถนนเพื่อเป็นเกียรติให้กับเรา ในอนาคตใครมาตั้งสถานประกอบการในถนนนี้ก็ต้องใช้ชื่อของเรา ... ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน หรือบริจาคเงินให้ผู้วิเศษองค์ใด อนาคตของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ความก้าวหน้าด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี”

ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ “น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” ในสายตาของ “ผู้ใหญ่” แม้ว่าหลังประกาศเข้าสู่การเมือง คำพูดคำจาของ “ธนาธร” จะดูเบาลงไปพอสมควร หากแต่ลึกๆ แล้ว หลายคนยังเชื่อว่าความคิดของเขาไม่ได้เปลี่ยน ยิ่งได้มาแท็คทีมมีคู่หูเป็น “นักวิชาการหัวก้าวหน้า” อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งก๊วนนิติราษฎร์ ด้วยแล้วยิ่งน่าห่วงไปกันใหญ่

และแม้ว่า “เสี่ยเอก” จะมั่นใจว่า ธุรกิจใน “เครือซัมมิท-ไทยซัมมิท” ที่อาจจะตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ก็สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ตามหลัก “เศรษฐกิจโลกเสรี” โดยไม่ต้องพึ่งพิงขุมข่ายอำนาจ หรือการเมืองของไทย แต่ “กงสีซัมมิท-ไทยซัมมิท” คงไม่เห็นเช่นนั้นแน่

เพราะทุกวันนี้ “เครือซัมมิท-ไทยซัมมิท” ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ “กิจการหลัก” ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งไปขาย หรือไปตั้งโรงงานในต่างแดนเท่านั้น แต่ได้แตกแขนง “พอร์ตลงทุน-พอร์ตหุ้น” อย่างมากมาย

อย่าง “กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท” ของ “มาดามสมพร” ที่ ธนาธร” เคยบริหารอยู่ ก็มีบริษัทน้อยใหญ่ในเครือกว่า 100 บริษัท ทำรายได้เฉพาะปี 60 รวมกันกว่า 8 หมื่นล้านบาท อาทิ บริษัท ไทยซัมมิท คอมโพเน้นท์ จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค เอนจิเนียริง จำกัด,บริษัท คีย์ พ้อยท์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท กรีน ไลน์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทีที โซล่าร์ จำกัด, บริษัท ที เอส พาวเวอร์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท ที เอส ออโต้ เซลส์ จำกัด, บริษัท ไอคอน เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ระยอง โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เมจิ ฟอร์จจิ้ง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท วาย-เทค โอโตพาร์ท จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เอนจิเนียริง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท โอโต เพรส จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท ซัมมิท โชว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท พรีเมี่ยมสตีล โพรเซสซิ่ง จำกัด, บริษัท โอกิฮาร่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอคทีฟ แมเนจเม้นท์ เอเชีย จำกัด, บริษัท วัน โอ ซี คอร์โปเรชั่น จำกัด, บริษัท สาธรฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท มิทชูบะอีเล็คทริค แมนูแฟคเจอริ่ง และบริษัท เอสเอ ออโตโมบิล จำกัด เป็นต้น

ขณะที่ “เครือซัมมิท” ของทางบ้าน “จุฬางกูร” นั้น ที่นอกจากขับเคลื่อนธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่าหลายหมื่นล้านแล้ว ยังขยับไปที่ “พอร์ทหุ้น-พอร์ทอสังหาริมทรัพย์” อีกนับไม่ถ้วน นอกจากสนามกอล์ฟ อาคารสำนักงาน และที่ดิน ล้นมือแล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้นตัวเด่นๆอีกเพียบ ก็มีทั้ง NOK ของนกแอร์ หุ้น BEC ของช่องสาม และที่ลืมไม่ได้ก็หุ้น PTT ของ ปตท. ที่บ้าน “จุฬางกูร” ถือเยอะเกินหน้าคนอื่น มาตั้งแต่สมัยเข้าตลาดที่ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยขณะนั้น “สุริยะ” เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในรัฐบาล แล้วก็ยังมี

รวมๆ แล้วมูลค่าสินทรัพย์-เงินลงทุนของ “เครือซัมมิท-ไทยซัมมิท” ทั้งของบ้าน “จุฬางกูรจึงรุ่งเรืองกิจ” เฉพาะที่อยู่ในเมืองไทย ก็คงอยู่ที่หลักหลายแสนล้านบาท การปล่อยให้ “ทายาท” ไปอวดดีท้าทายเรื่องระบบการเมืองการปกครองบ่อยครั้ง คงไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนัก

จึงกลายเป็นภารกิจของ “โซ้ยตี๋สุริยะ” ที่จำเป็นต้องคืนสังเวียน ถ่วงดุลกงสีของตระกูลนั่นเอง.




กำลังโหลดความคิดเห็น