xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปิดโหวต #ประหารชีวิต คนไทย90% เห็นด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลโพลจากหลายสำนักชี้ชัดประชาชนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ “เห็นด้วย” กับ “โทษประหารชีวิต” สืบเนื่องจากกรณีกรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษรายแรกในรอบ 9 ปี แต่ยังมีเสียง “คัดค้าน” จากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนซึ่งออกมารณรงค์ต่อต้านโทษประหาร ยกข้ออ้าง “ทุกคนมีสิทธิมีชีวิต”

และเป็นเหตุให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า “นักโทษประหาร” กำลังกลายเป็น “วีรบุรุษ” เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้อง “สิทธิมนุษยชน” จากการปลุกปั่นขององค์กรสิทธิมนุษยชน

เริ่มตั้งแต่ผลโพลในสังคมออนไลน์จากเพจ “Drama-addict” เปิดโหวตโดยตั้งหัวข้อว่า "ในไทยคุณคิดว่าควรมีโทษประหารชีวิตนักโทษที่ทำผิดร้ายแรงหรือไม่" หลังเปิดโหวตเพียง 7 ชั่วโมง มีผู้ร่วมโหวตกว่า 85,000โหวต และเสียงส่วนใหญ่กว่า “96 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย”

เช่นเดียวกับ ผลโพลล์ของสำนักข่าวต่างๆ Spring news, PPTV, Workpoint, Sanook, ไทยรัฐ ฯลฯ ที่เปิดร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นโทษประหารชีวิต ปรากฎว่าผลโพลล์ทุกสำนักเห็นพ้องตรงกันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ “เห็นด้วย” กับการมีโทษประหารชีวิต

อ้างอิงศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โทษประหารชีวิต” เมื่อปี 2560 โดยถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ “โทษประหารชีวิต” ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 87.12 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิตต่อไป

อย่างไรก็ตาม การที่กรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษในครั้งนี้ ถือเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี โดยมีนัยยะเป็นการยืดอายุการลงนามในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้ “ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย หากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปี” นับแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552

ในประเด็นนี้ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้เปิดเผยเอกสารประชาสัมพันธ์ฉบับหนึ่งของกรมราชทัณฑ์ โดยมีเนื้อหาระบุถึงการลงโทษประหารชีวิตนักโทษในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย พร้อมแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ความว่า

“จากการที่รัฐบาลไทย ได้ลงนามในปฎิญญาสากล ว่าด้วย สิทธิมนุษยชน ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย หากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปี นับแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้าย

“นับตั้งแต่แต่เดือน ส.ค.2552 ไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ซึ่ง หากไม่มีการประหารชีวิต จนถึง สิงหาคม 2562 ครบ 10 ปี หากไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ก็ถือว่า ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิตไปโดยปริยาย และ จะตลอดไป

“แต่ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ได้มีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายคนหนึ่ง ไป ทำให้ข้อตกลงในปฎิญญาสากล ที่ให้ยกเลิกโทษประหาร หากไม่มีการประหารภายใน 10 ปี (นับตั้งแต่ สิงหาคม 52 - สิงหาคม 62) ต้องตกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความ ไทยยังคงมีการบังคับใช้โทษประหาร ตลอดไป จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปโดยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของไทยเอง

“ไม่ได้ยินกับความตายของนักโทษประหาร แต่ยินดีที่การบังคับใช้กฎหมายตามคำพิพากษา ว่ายังคงศักดิ์สิทธิ์ และ บังคับใช้โทษประหาร ยังคงมีไว้เช่นเดิม”

หลังจากทิ้งช่วงนาน 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 มีการบังคับโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาของศาลรายล่าสุดด้วยการฉีดสารพิษ โดยประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด นายธีรศักดิ์ หลงจิ คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ ผู้ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ แทงเหยื่อ 24 แผล เพื่อชิงโทรศัพท์มือถือ และเงินสด 2,000 บาท เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2555 โดยก่อนหน้านี้นักโทษเคยถูกจับมาแล้วหลายครั้งในหลายข้อหาต่างกรรมต่างวาระ เช่น ข้อหาเกี่ยวกับเสพยาเสพติด อาวุธปืน ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฯลฯ

การบังคับใช้โทษประหารในรอบ 9 ปี กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียง เพราะเหลือเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ “ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ” โดยทันที เพราะไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน หรือเท่ากับการก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสเรียกร้องบังคับใช้โทษสูงสุด “ประหารชีวิต” กับนักโทษผู้ก่อคดีเสทือนขวัญ อาทิ

คดีฆ่าข่มโยนศพทิ้งจากรถไฟ “นายวันชัย แสงขาว” หรือ “เกม” นักโทษคดีฆ่าข่มขืน ด.ญ. อายุ 13 ปี บนขบวนรถไฟ ก่อนโยนศพทิ้งลงกลางทาง เหตุเกิกลางดึกคืนวันที่ 5 ต่อเนื่องวันที่ 6 ก.ค. 2557

คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิง 6 ขวบ “ไอ้หนุ่ย” หรือ “ติ๊งต่าง” ฆาตกรฆ่าข่มขืน เด็กหญิงวัย 6 ขวบ โดยออกอุบายว่าจะพาไปซื้อขนม จากนั้นใช้กำลังประทุษร้าย ข่มขืนก่อนบีบคอเด็กจนเสียชีวิต จากนั้นไม่นานก่อเหตุซ้ำกับด็กชาย ลวนลามและบีบคอเสียชีวิต เมื่อปี 2557

คดีปล้นฆ่าชิงไฟโฟน นศ. มศว. "นายกิตติกร วิกาหะ" หรือ “ตั้ม” นักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์ ใช้อาวุธมีดจี้ขู่เข็ญให้ผู้เคราะห์ร้ายชิงโทรศัพท์ให้ แต่ผู้เคราะห์ร้ายต่อสู้ขัดขืน จึงทำร้ายใช้อาวุธมีดแทงหลายครั้งตามร่างกายและลำคอจนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2560

คดีฆ่าหั่นศพ “น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย” หรือ "เปรี้ยว” แก๊งสาวหน้าตาดีร่วมกันฆ่าหั่นศพ ก่อนทำลายหลักฐานโดนนำไปฝังดิน เมื่องช่วงกลางปี 2560

คดีฆาตกรรมโหดยกครัว 8 ศพ "นายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์สกุล" หรือ "บังฟัต" นักโทษคดีเสทือนขวัญโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ฆ่ายกครัว 8 ศพ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2560 ฯลฯ

สำหรับท่าทีของผู้นำประเทศ "บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีโทษประหารชีวิตว่า

“ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ตอนที่มีการพิจารณาว่าจะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายคดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ เป็นเรื่องความจำเป็นของเราและความต้องการของประชาชน”

ด้าน "บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้ประหารชีวิตนักโทษด้วยการฉีดยาในรอบ 9 ปี โดยกล่าวผ่านสื่อ ความว่า

“เรื่องนี้ถาม พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าทำเรื่องขออภัยโทษแล้วไม่ได้รับการพิจารณาก็ต้องว่ากันไป”

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้โทษประหารในรอบ 9 ปีของประเทศไทย นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวคัดค้าน “สหภาพยุโรป” ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตในประเทศไทย ระบุใจความว่า “การประหารชีวิตนายธีรศักด์ แสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน” รวมทั้ง “สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นการประหารชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการเพื่อพักการใช้โทษประหารและยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด”

เช่นเดียวกับ “แอมเนสตี้” องค์กรด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ทั่วโลก มีการนัดชุมชมไว้อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิต ที่หน้าเรือนจำบางขวาง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา แสดงออกคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยทำตามข้อตกลงของสหประชาชาติที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิต ทั้งนี้ โทษประหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีอยู่ในกฎหมายไทย และคดีที่ตัดสินโทษประหารล่าสุดนั้น “ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา” ต่างยืนตามกันว่าจะต้องมีโทษประหาร เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สั่นสะเทือนมาก จึงมีเหตุผลพอสมควร

อย่างไรก็ตาม โทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษสูงสุดทางกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วโลก อาจมีบางประเทศยกเลิกไปแล้ว ส่วนประเทศที่บังคับใช้โทษประหารชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก จากสถิติปี 2558 สำรวจโดยแอมเนสตี้ ได้แก่ จีน อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ

กล่าวเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ แบ่งเป็น 2 ประเทศ คือ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิต 3 ประเทศ คือ ลาว พม่า บรูไน ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ และ 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2561 สรุปสถิตินักโทษประหารชีวิต มีทั้งหมด 517 คน จำแนกเป็น ชาย 415 คน หญิง 102 คน เป็นกลุ่มผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 287 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา 30 คน และนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด 200 คน

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้านักโทษประหารชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2545 และเริ่มประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546ต่อมา มีการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีเกี่ยวกับยาเสพติด กระทั่ง ผ่านไป 9 ปี มีการบังคับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ นักโทษคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ

แน่นอนว่า การบังคับใช้โทษประหารชีวิตในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงเสียงสนันสนุนของประชาชนชาวไทย แม้ยังมีคำถามอีกมากมายทั้งโทษประหารจะลดอัตราการเกิดอาชญากรรมป้องกันสังคมได้เพียงใด โทษประหารจะช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้แค่ไหน แม้กระทั่ง บทลงโทษสูงสุดนี้จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุเกรงกลัวกฎหมายหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น