xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละขบวนการขน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทิ้ง “ข้ามชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมปฎิบัติการบุกตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งย่าน จ.ฉะเชิงเทรา กระทั่งพบการลักลอบนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นจำนวนมาก ตลอดจนสืบสวนพบกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “คนจีน” เข้ามาเปิดกิจการเกี่ยวกับกำจัดขยะ โดยลักลอบนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติก” และไม่กำจัดกากของเสียอย่างถูกวิธีเพื่อลดต้นทุน

ที่น่าตกใจคือ เพียงแค่ครึ่งปีแรกพบลักลอบนำเข้ากว่าหมื่นตันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2560ที่รายงานโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี โดยไทยมีปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ขณะที่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ตรวจพบในปัจจุบันดูเหมือนจะสูงกว่าตัวเลขดังกล่าว

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) คือกากขยะที่มาจากผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของโลกในการหาแนวทางในการจัดการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพราะส่วนประกอบในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแร่โลหะที่มีมูลค่าสูง ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาลให้กับประเทศ สำหรับประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำนวน 132 โรงงาน

สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ไม่เพียงสร้างปัญหาแค่เรื่องการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ ขยะเหล่านี้ย่อยสลายยากขั้นตอนการกำจัดก่อปัญหาซ้ำเติม ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ เส้นทางขยะเหล่านี้หลังจากลักลอบนำเข้า จะกระจายวัตถุดิบเพื่อนำไปคัดแยกหรือรีไซเคิล แต่สุดท้ายลอบทิ้งหรือฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี

สำหรับบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์มีการตรวจสอบไปแล้ว ได้แก่ 1.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ 2.บริษัท หย่งถังไทย 3.บริษัท โอ.จี.โอ. 4. บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล 5.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) 6.บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) 7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง

เบื้องต้นตรวจสอบพบว่ามีโรงงาน 4 แห่ง ไม่ทำตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ทำผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เนื่องจากได้มีการส่งต่อให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตเพื่อทำการกำจัดและเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และอีกจำนวนหนึ่งไม่มีใบอนุญาตนำเข้า แต่กลับสำแดงเท็จ โดยรายละเอียด ดังนี้

หนึ่ง - บริษัท/โรงงาน ที่มีใบอนุญาตโควตานำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องกำจัดทิ้งที่ไทยทั้งหมด ห้ามส่งต่อ จำนวน 7 แห่ง แต่มีอย่างน้อย 4 แห่งที่ทำผิดเงื่อนไข ส่งต่อขยะให้โรงงานอื่น เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมพักใบอนุญาตไปแล้ว

สอง - บริษัท/โรงงาน ที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำแดงเท็จ อ้างว่า นำเข้าพลาสติก แต่แอบสอดไส้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามากำจัดในไทย

สาม - บริษัท/โรงงาน ที่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะพลาสติก แต่นำเข้าโดยไม่สะอาด ผิดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการนำเข้าพลาสติก ที่ห้ามนำมาล้างเศษพลาสติกที่ไทยอีก และพลาสติกนำเข้าต้องเป็นวัตถุดิบในโรงงานเท่านั้น ห้ามส่งต่อ
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทเอกชนที่นำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก ส่วนใหญ่เปิดโดย “คนจีน” อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด, บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ซันเหลียน ไทย จำกัด, บริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด และบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด พบว่า คนจีน คนฮ่องกง และคนสิงคโปร์ ถือหุ้น 30 - 49 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ ประเทศจีน คือแหล่งกำจัดขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติก รายสำคัญของโลก ต่อมาปี 2559 รัฐบาลจีนได้ทำสัตยาบันลงนามกับสหประชาชาติ ว่าด้วยการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการตรวจสอบจริงจังเข้มงวด

สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเป็นปลายทางแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ย้อนกลับไปหลายปีก่อน คนจีนกลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกในเมืองไทย ขณะนั้นโควตานำเข้าไม่มากนัก เพราะที่จีนยังรับกำจัดขยะจำพวกนี้ ต่อมารัฐบาลจีนเข้มงวดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มคนจีนเห็นช่องทาง กลุ่มคนจีนกลุ่มใหม่ร่วมมือกับกลุ่มคนจีนกลุ่มแรก เข้ามาเปิดกิจการทำโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา

ช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย คือขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตาม “อนุสัญญาบาเซล” ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศด้อยพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายคือลดปริมาณสารพิษที่เกิดจากของเสียหรือขยะ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาบาเซล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2540 แต่มีช่องโหว่ให้เอกชนลักลอบนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทย กล่าวคือ เกิดข้ออ้างว่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยอ้างว่าเป็น “ขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล” ประเทศไทยจึงกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพุ่งไปถึงหลายหมื่นตัน

โดยกระบวนการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ” จะเปิดบริษัทในไทยและแจ้งวัตถุประสงค์นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะต่างๆ โดยนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว ไปพักไว้ยังประเทศที่ 3 และลักลอบนำเข้ามาทิ้งในไทยตามลำดับ โดยอ้างนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล โดยบริษัทเอกชนเหล่านี้จะต้องแจ้งข้อมูลต่อ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ให้รับทราบและอนุมัติ ก่อนสำแดงข้อมูลสินค้าต่อ “กรมศุลกากร” เพื่อรับรู้

ทว่า ขั้นตอนนี้กลับเป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม อ้างว่ากรมศุลกากรไม่ตรวจสอบสินค้าที่เอกชนเหล่านั้น “สำแดงเท็จ” ขณะที่กรมศุลกากรตอบโต้ว่า ทำการตรวจสอบข้อมูลตามเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม “อนุญาต”

คำถามสำคัญ หนึ่ง - การอนุญาตให้เอกชนที่แจ้งประกอบกิจการฯ ดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเหล่านั้นว่ามีศักยภาพในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะสภาพจริงโรงงานแห่งไม่มีศักยภาพที่จะอาจเรียกว่าโรงงานได้ สอง - กรมศุลกากร ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าที่สำแดงเข้าไทยมากน้อยเพียงใด เพราะหากมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมอย่างไรก็ต้องว่ามีหลายแห่งสำแดงเท็จ

อีกคำถามสำคัญคือ กลุ่มทุนจีนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทยได้อย่างไร เพราะไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาบาเซล ซึ่งห้ามการขนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดน หากประเทศปลายทางไม่ยินยอม

จึงน่าสงสัยว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ - เศษพลาสติก มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่? แน่นอนว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบเอกสารนำเข้าพบว่า ขยะพลาสติกมาจาก ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย เยอรมนี เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเรีย อิหร่าน สเปน เวียดนาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่นๆ รวม 35 แห่ง ส่งมายังประเทศไทย

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตนำเศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งเป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตามเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กำหนดว่า การนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกดังกล่าวนั้น จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน และระบุชัดเจนว่า เศษพลาสติก หมายความว่า เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติก ไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ที่ไม่ใช่ของเสียเคมีวัตถุ และจะต้องแยกประเภทแต่ละชนิดไม่ปะปนกัน และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาด

ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าพลาสติกหลายราย ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ โดยนำเข้าเพียง “เศษขยะพลาสติก” ซึ่งไม่ผ่านการทำความสะอาด อีกทั้งยังมีการสอดไส้ลักลอบนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในประเทศไทย ทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ มีความพยายามผลักดันเสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ มานานกว่า 10 ปี โดยสถานะของร่างกฏหมายฉบับนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงานศึกษาข้อมูล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้การดูแลของวิป สนช. หลังผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 ธันวาคม 2560

นอกจากนี้ ยังมีปัญหา “ขยะพลาสติก” ที่หลายคนสะเทือนใจกับกรณีวาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นตายที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งหลังจากเสียชีวิตได้มีการผ่าพิสูจน์พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารถึง 80 ชิ้น รวมน้ำหนักได้ถึง 8 ก.ก. ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตสัตว์ทะเลกำลังถูกคุกคามจากขยะ รวมทั้ง สถานการณ์ปัญหาไมโครพลาสติก ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องทบทวนนโยบายป้องกันการทิ้งขยะลงทะเล เช่นเดียวกัน สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติทะลักเข้ามาในเมืองไทย เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องแก้ไขเร่งด่วน




กำลังโหลดความคิดเห็น