xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไฟเขียว “ตัดไม้หวงห้าม” บนที่ดินกรรมสิทธิ์ ความคร่ำครึที่กำลังจะหายไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังมีการหารือการแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 โดยเฉพาะเรื่องการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์มาหลายปี ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ใน “มาตรา 7” ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเป็นผู้เสนอ

กล่าวคือจากเดิมกำหนดให้ “ไม้สักและไม้ยาง รวมถึงไม้ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 อีก 16 รายชื่อ” เช่น พะยูง ชิงชัน มะค่าโมง ประดู่ เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ ที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้าม การทำไม้หรือนำไปใช้ประโยชน์จึงต้องมีการอนุญาตตามกฎหมาย เมื่อประชาชนปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ของตนเอง เช่น ไม่สามารถตัดได้ ทั้งที่ตั้งใจปลูกไว้เป็นธนาคารต้นไม้เพื่อตัดขาย

กรมป่าไม้ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์โดยพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีระบบกำกับ ควบคุม ตรวจสอบย้อนกลับ การรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ

นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ในประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และด้วยกฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2484 จึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายฉบับนี้ ในสมัยก่อนพยายามใช้ในการควบคุมการตัดไม้ผิดกฎหมาย แต่กลายเป็นว่ากฎหมายที่ควบคุมนี่เองเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่อยากจะทำถูกกฎหมายสำหรับผู้ต้องการปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนและธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกสร้างผืนป่าอันสอดรับนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า

“อนาคตเราจะส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจจากการปลูกไม้มีค่า ไม้หวงห้ามที่ดินกรรมสิทธิ์ การแปรรูปไม้ การอำนวยความสะดวก การรับบรองไม้ อนาคตเราคาดหวังว่าการปลูกป่าเศรษฐกิจมันจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากเดิมเรานำเข้าไม้เป็นจำนวนมาก เราจะปลูกไม้มีค่าและส่งเสริมให้มีการส่งออก

“คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติกำหนดไว้ว่าประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และป่าเพื่อเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนของป่าเศรษฐกิจ เราจะส่งเสริมโดยเฉพาะพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เสื่อมโทรม เราจะเข้าไปส่งเสริมให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพราะว่าต่อไปไม้มีค่าเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง ถ้าเราส่งเสริมได้จะเกิดรายได้ และที่สำคัญเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนั้นด้วย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนมีความประสงค์จะปลูกต้นไม้ในทางเศรษฐกิจเป็นป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการอำนวจความสะดวกปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ กรมป่าไม้ยกร่างแก้ไขโดยเฉพาะมาตรา 7 ในส่วนของกระบวนการได้เสนอผ่านกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่าใช้ช่องทางใด เช่น ยกเป็นรายมาตรายังไม่ได้แก้ทั้ง พ.ร.บ. กล่าวคือ ต่อไปไม้หวงห้ามในป่าถ้าอยู่นที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม หรือเพิ่มระเบียบเกี่ยวข้องการอำนวยความสะดวก เช่น สามารถแปรรูปไม้ในพื้นที่สวนป่านั้นได้ การรับรองว่าไม้เป็นไม้ที่ออกจากที่ดินกรรมสิทธิ์ป้องกันการสวมสิทธิ์ไม้ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ส่งผลให้ธุรกิจจากไม้ในประเทศไทยถูกแช่แข็งโดยไม้ไม่กี่ชนิด เป็นต้นว่า ไม้สัก ดำเนินการแปรรูปโดย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นหลัก ขณะที่ป่าเศรษฐกิจจากภาคประชาชนเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องด้วยกฎหมายตีกรอบป้องกันการลักลอบตัดไม้ โดยเฉพาะไม้มีค่าทั้งจากป่าสงวนหรือป่าใดๆ ก็ตาม ระบุไว้ใน มาตรา7 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ซึ่งกำหนดเรื่องไม้หวงห้ามไว้อย่างเข้มงวด

สาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย เดิมการตัดไม้หวงห้ามเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทำให้เกิดผลกระทบเกิดความยุ่งยากต่อผู้ที่มีไม้เหล่านี้ในที่ดินกรรมสิทธิ ส่งผลให้ไม่มีใครต้องการปลูกไม้เหล่านี้เพิ่มเติม ประชาชนเกิดคำถามว่า “ตัดไม้พะยูง” ในที่ดินของตนผิดกฎหมายหรือไม่ จากกรณีข่าวดังไม้พะยูงล้มทับบ้าน หรือกรณีหรือชาวบ้านโวยกล่าวหาว่าราชการหลอกให้ “ปลูกไม้สัก” ในพื้นที่ตัวเอง ดูแลมา 24ปี สุดท้ายตัดไม่ได้เพราะติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย

และถ้าหากฝ่าฝืนก็มีความผิดถึงขั้นต้องโทษจำคุก1-20ปีและถูกปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท

ทั้งนี้ การปรับเเก้กฎหมายเพื่อลดขั้นตอนการอนุญาตให้ทั้งผู้ประกอบการเเละประชาชนที่มีไม้ในบัญชีหวงห้าม เช่น พะยูง ชิงชัน สัก ยางนา ฯลฯ ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินเอกสารสิทธิของตัวเอง สามารถปลูกหรือตัดไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิได้ ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเเต่ปี 2560 - 2579 ที่ตั้งเป้าต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศ รวมทั้ง การส่งเสริมป่าเศรษฐกิจ โดยปรับเเก้กฎหมายพิจารณาภายใต้ความรอบคอบ เพื่อป้องกันกลุ่มค้าไม้เถื่อนเเอบอ้างเป็นไม้จากที่ดินเอกสารสิทธิ

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ได้กล่าวถึงนโยบาย “ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ” โดยลดขั้นตอนการอนุญาตให้ประชาชน สามารถทำไม้หวงห้ามในที่ดินของตัวเองได้สะดวกมากขึ้น เมื่อครั้งเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “มิติใหม่การส่งเสริมป่าเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” การส่งเสริมป่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายป่าไม้ฉบับปัจจุบัน ยังคงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันปราบปราม จึงทำให้อุตสาหกรรมป่าไม้ ขาดกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งที่มีข้อกำหนดเรื่องไม้หวงห้ามไว้อย่างเข้มงวด

ขณะที่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยชอบด้วยกฎหมายปี 2561 ประมาณ 22,000 ไร่ ในพื้นที่สวนป่า 81 สวนป่า ในพื้นที่ 36 จังหวัด ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชนและเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 500,000 ไร่ ในเวลา 20 ปี

นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวถึง เป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรมีอาชีพมั่นคงจากการปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรชนิดอื่นไม่ได้ผลหรือจำนวนผลผลิตต่ำ และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ ด้วยการปรับเปลี่ยนที่ดินทำกินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ที่ป่าชุมชนถูกทิ้งร้าง ให้กลายเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่สามารถให้ผลผลิตที่ยั่งยืน คาดว่าเกษตรกรและประชาชนท้องถิ่นจะมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นจากการสร้างงานและจำหน่ายไม้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 75,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากไม้ป่าปลูก

อย่างไรก็ตาม ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อการแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยเฉพาะในมาตรา 7 ตัดทอนใจความสำคัญความว่า

“...ประชาชนหลายท่านคงดีใจ เพราะเรียกร้องมานาน

“โดยส่วนตัวผม เมื่อได้บริโภคสื่อเรื่องนี้ มีความรู้สึกบอกไม่ถูก มีคำถามและความเป็นห่วงหลายอย่าง แต่ก็พยายามคิดในแง่ดีไว้ว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดีแม้ว่าเป็นเพียงการเสนอหลักการแค่นั้นเอง ต้องขอขอบคุณ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรฯ และรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“วันนี้ผมขออนุญาตทุกท่านเป็นคนมีปัญหาหรือคำถามบ้างสักวันนะครับ และขออภัยหากเป็นการทำให้บางท่านขุ่นเคืองใจ เป็นเพียงคำถามที่มีเจตนาอยากให้งานนี้สำเร็จโดยเร็ว ครับ

“1) คำถามแรกคือ ในเมื่อทราบกันดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้อง รัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบเสนอร่างกฎหมายให้ ค.ร.ม. เห็นชอบเลย เสนอเพียงหลักการทำไม? เพราะกระบวนการพิจารณากฎหมาย ยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งกฤษฎีกา และ สนช. อีก 3 วาระ คงอีกนาน ยกเว้นใช้กฎหมายพิเศษซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย

“2) คำถามที่ 2 คือ การแก้กฎหมายจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเราไม่ทราบว่า ร่างกฎหมายฉบับปรับปรุง พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จะถูกส่งไป ค.ร.ม. เมื่อไหร่? เมื่อส่งแล้ว กฤษฎีกาจะใช้เวลาพิจารณานานกี่เดือน? เพราะกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ค้างอยู่ในชั้นกฤฎีกา 2 ฉบับในขณะนี้ คือ ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ….และ ร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. “ผ่านมา 1 ปี 2 เดือนแล้ว” ท่านยังพิจารณาไม่เสร็จเลย นอกจากนี้ทราบข่าวว่า รัฐบาลจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. ….ให้กฤษฎีกาพิจารณาอีก หลักจากนั้น ยังมีขั้นตอนของ สนช. อีก 3 วาระ ผมเดาเวลาไม่ถูก

“แม้ว่าร่างกฎหมายที่ผมกล่าวมาทั้งหมดจะเป็นร่างกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศก็ตาม
“3) คำถามที่ 3 คือ นอกจากเรื่องไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 แล้ว มีประเด็นอื่นอีกไหมที่ต้องปรับปรุง เช่น มาตราอื่นๆ และที่สำคัญที่สุดคือ “อนุบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตทั้งหลาย” เช่น กฎกระทรวง ระเบียบกรม เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า “อนุบัญญัติ” เหล่านี้ คือปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยกว่าบทบัญญัติใน พ.ร.บ. เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติจริงๆ ของประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้งไม้และผลิตภัณฑ์เมื่อมีการขนส่งหรือใช้ประโยชน์นอกเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ในเขตที่ดินรัฐของผู้ไม่หวังดี

“สรุปคือ ผมเชื่อว่า ลำพังแค่แก้ไขมาตรา 7 หรือมาตราอื่นๆ คงไม่พอที่จะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มไม้เศรษฐกิจในประเทศได้ ต้องให้ความสำคัญกับอนุบัญญัติทั้งหลายด้วย

“4) คำถามที่ 4 (สมมุติว่า) มีการปรับปรุง พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จนเสร็จสิ้น ประชาชนสามารถปลูก ตัด ใช้ประโยชน์ไม้เศรษฐกิจ ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ได้โดยสะดวกตามความเหมาะสมแล้ว “จำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนนำที่ดินสวนป่าไปขึ้นทะเบียนสวนป่าตาม พ.ร.บ. สวนป่า พ.ศ. 2558 หรือไม่” เพราะ พ.ร.บ. สวนป่า ก็ยังมีประชาชนร้องเรียนว่า มีหลายอย่างที่ควรปรับปรุง (กฎหมายบ้านเราเยอะจริงๆ ครับ)

“สุดท้ายนี้ ไม่ใช่คำถาม แต่ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า…
“แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บัญญัติให้ “ปรับปรุงพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และ อนุบัญญัติให้ทันต่อสถานการณ์และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน (พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2562)”

“หน้าที่ของผมและกรรมการปฏิรูปประเทศท่านอื่นๆ คือ ร่วมกับประชาชน ในการช่วยกันผลักดัน ติดตาม ตรวจสอบ ให้เป็นไปตามบทบัญญัตินี้ รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

“ผมหวังและลุ้นว่า รอบนี้คงไม่พลาด นะครับ...”

สำหรับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561คณะรัฐมนตรี (ครม) มีมติอนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งป่าชุมชนในปัจจุบัน โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายในลักษณะการควบคุม โดยจะดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมอำนาจหน้าที่ของชุมชน รวมไปถึงกิจกรรมด้านป่าชุมชนและประโยชน์ที่ชุมชนพึงได้รับ

โดยมีแนวทางพัฒนาป่าของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ 1. การปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน 2. การบริหารจัดการป่าไม้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ 3. การบริหารจัดการป่าไม้เพื่อความสุขของคนไทย และ4.การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากกระทำได้ดังที่กล่าวข้างต้น ประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของประเทศ ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้ จะสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการป่าของชุมชน เป็นการกระจายอำนาจสู่ระดับพื้นที่ อีกทั้งมีนโยบายในเรื่องการให้พื้นที่ซึ่งจะให้พื้นที่ส่วนราชการน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ต้องตัดต้นไม้ หรือตัดต้นไม้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันการออกแบบก่อสร้างต่างๆ บนพื้นที่จะต้องออกแบบให้มีต้นไม้มากที่สุด รวมทั้ง การแก้ปัญหาประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามกฎหมายเดิมอนุญาตไม่ได้ จะอาศัยคำสั่ง คสช. ผ่อนผัน ให้อยู่ได้ก่อน สรุปคือที่ดินเป็นของรัฐแต่ประชาชนทำกินได้ โดยจะมีการอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป

ท้ายที่สุด คงต้องรอลุ้นกันอีกเฮือกใหญ่ว่า ว่า พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ฉบับแก้ไข้ โดยเฉพาะมาตรา 7 ที่หลายฝ่ายกำลังจับตา จะมีการประกาศใช้เมื่อใด เอาเป็นว่า.. ไหนๆ ก็รอมาได้ตั้งนาน รออีกสักหน่อยจะเป็นไร

ขอขอบคุณภาพจาก Facebook ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร



กำลังโหลดความคิดเห็น