xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

TCAS ปีแรกเละเป็นโจ๊ก ระบบเข้ามหา'ลัยปั่นป่วน “ใคร” ต้องรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อกลางปีที่แล้ว ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือทปอ.ได้ประกาศแจ้งเปลี่ยน “ระบบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา” แบบใหม่ เป็นระบบที่มีชื่อว่า TCAS (Thai University Central Admission System) โดยให้เหตุผลเอาไว้อย่าง “สวยหรู” ว่า เพื่อแก้ปัญหาสารพัดสารพันอันพึงมีจากระบบเก่าๆ ที่ใช้มาในอดีต

แต่แล้วหลังผ่านการใช้งานไปได้ยังไม่ทันข้ามปี “ความโกลาหล” ก็ได้บังเกิดขึ้นเมื่อระบบได้เดินทางมาถึง “TCAS61 รอบที่ 3” ซึ่งเป็น “รอบใหญ่” และเป็น “รอบสำคัญ” ของนักเรียนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ให้ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) หรือการรับตรงของกลุ่มแพทย์เป็นหนึ่งในอันดับการคัดเลือกร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 3 อันดับ รวมเป็นยื่นได้ 4 อันดับและนักเรียนสามารถสอบติดได้ทุกอันดับจากการใช้คะแนนเป็นเกณฑ์ ซึ่งนั่นทำให้เกิดปัญหาการ “กั๊กที่นั่ง” โดยระบบและไม่เป็นธรรม เนื่องจากหลังยืนยันสิทธิ์แล้ว เกิดปัญหาที่นั่งว่างจากการที่ติดหลายอันดับ แต่เลือกยืนยันสิทธิ์สัมภาษณ์ได้อันดับเดียว ทำให้คนที่มีคะแนนสูงกั๊กที่นั่งคนคะแนนปานกลาง เสียโอกาสแก่เด็กที่ควรจะติด แต่โดนระบบกีดกันที่นั่ง

หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นระบบที่เอื้อให้กับ “คนเรียนเก่ง” เป็นหลัก ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของพวกเขา หากแต่เป็นความผิดของระบบที่ออกแบบเอาไว้เช่นนั้น

แล้วความยุ่งยากดังกล่าวก็กระทบเป็นวงกว้าง เพราะเมื่อคิดคำนวณดูแล้วนักเรียนเก่งที่สอบติด กสพท. ซึ่งสามารถเลือกคณะวิชาร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 3 อันดับนั้น จะสามารถไปกันสิทธิของเด็กอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะคณะวิชายอดนิยม เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้วจะมีที่นั่งที่หายไปจากระบบถึงร่วม 20,000 ที่นั่งเลยทีเดียว

และถ้าปล่อยให้นักเรียนเหล่านี้ถูกตัดสิทธิ และต้องไปเลือกคณะที่ตนเองต้องการใหม่ในรอบที่ 4 เสมือนกับว่าโอกาสในการสอบติดต้องถูกกำหนดให้เป็นศูนย์ใหม่อีกครั้ง

ขณะที่หากนักเรียนที่สอบติดในรอบที่ 3 ซึ่งเป็นคณะและมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยถูกใจนัก แต่ไม่กล้าที่จะสละสิทธิ์เพื่อไปเลือกใหม่ในรอบที่ 4 จึงมอบตัวเพื่อเข้าเรียน แต่มีนักเรียนที่คะแนนไม่ดีเท่า ต้องหลุดไปเลือกรอบที่ 4 และสุดท้ายได้คณะที่ดีกว่าทั้ง ๆ ที่เดิมในรอบที่ 3 คะแนนน้อยกว่าเพื่อนที่ติดคณะที่ถูก rank ว่าต่ำกว่าไปแล้ว

นั่นนำไปสู่ “ความโกลาหล” ในหมู่ของนักเรียนและผู้ปกครองที่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเห็นช่องว่างและช่องโหว่ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้ง “ลุ้น” ด้วย “ความเครียด” อย่างต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งในโลกสังคมออนไลน์ ยิ่งเห็นถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้น

จากนั้นความไม่พอใจดังกล่าวได้นำไปสู่การรวมตัวกัน โดยใช้ชื่อว่า กลุ่ม Fight For TCAS Friends พร้อมทั้งสร้างแคมเปญรณรงค์ “ร่วมกันลงชื่อรักษาสิทธิ์ชาว TCAS3” ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากTCAS รอบที่ 3 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ ทปอ.ในฐานะผู้ดำเนินการจัดระบบ TCAS ประสานมหาวิทยาลัยทุกแห่งให้รีบประกาศรับเด็กที่ได้คะแนนถัดไปเพื่อเติมเต็มในส่วนของจำนวนที่หายไปของแต่ละสาขาวิชา โดยยังใช้หลักเกณฑ์เดิม และจัดให้มีการเคลียริงเฮาส์อีกรอบหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องยกไปรอการสมัคร TCAS ในรอบ 4 เพราะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาคนละเกณฑ์กัน ซึ่งหากไม่ดำเนินการดันคนที่ได้คะแนนถัดไปขึ้นมาเติมจำนวนที่ว่าง เท่ากับเป็นการตัดสิทธินักเรียน

ที่สำคัญคือยังได้นัดรวมพลคนเดือดร้อนจาก TCAS รอบ 3 ในวันที่ 31 พ.ค. 2561 เวลา 10.00 น. ที่หน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ชั้น 3 ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี อีกด้วย

อย่างไรก็ดี หลังเกิดปัญหา ทปอ.หรือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ก็ดูเหมือนว่าจะยอมรับใน “ความผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นกับระบบ TCAS โดยในวันถัดมาคือ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. โดยออกประกาศที่ประชุม ทปอ.ครั้งที่3/2561 เรื่อง การจัดการรอบยืนยันสิทธิในระบบ TCAS รอบ 3 โดยกำหนดแนวปฎิบัติการยืนยันสิทธิในรอบที่3ดังนี้

1.ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจะจัดการรอบการ Clearing house (CH) รอบ 3 เป็น 2 รอบ คือ รอบ CH 3/1 และ CH 3/2 โดยให้มีการสอบสัมภาษณ์พร้อมกัน ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน2561 (ตาม ปฎิทินการดำเนินการ)

2.การดำเนินการสำหรับนักเรียนที่ได้รับการประกาศชื่อดำเนินการต่อได้ดังนี้ 1.ยืนยันสิทธิ และ 2.ไม่ยืนยันสิทธิ์ใน 3 กรณีจะถือว่านักเรียนขอสละสิทธิ ได้แก่ “สละสิทธิ/Decline” “ไม่เลือกสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิตาม CH3/1” และ “ไม่เข้าทำการใดๆ ในระบบ”

อย่างไรก็ตาม การสละสิทธิสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิในรอบ CH3/1 นักเรียนจะไม่มีสิทธิในการเลือกสาขาวิชานั้นๆ อีก ในรอบ CH3/2 แต่จะมีสิทธิเลือกสาขาวิชาที่มีการคัดเลือกเพิ่มเติมใน CH3/2 ตามจำนวนที่ตนเองไม่ได้รับการคัดเลือกมาก่อนแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่าง นักเรียนได้รับการประกาศชื่อคัดเลือกจำนวน 2 สาขาวิชาในรอบ CH3/1 แต่ไม่ยืนยันสิทธินั้น นักเรียนจะมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเพิ่มเติมในรอบ CH3/2 ไม่เกิน 2 สาขาวิชาที่เหลือเท่านั้น

อธิบายความตามประกาศของ ทปอ.กันสักนิดว่า TCAS61 รอบ 3/2 นั้นเป็นอย่างไร

กล่าวคือ เมื่อแต่ละมหาวิทยาลัยประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก TCAS รอบที่ 3 แล้ว
ผู้ที่มีชื่อหรือติด หรือผ่านการคัดเลือก ก็จะต้องยืนยันสิทธิ์ Clearing house รอบที่ 3/1 ผ่านทางเว็บไซต์ http://tcas.cupt.net/ ในช่วงระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2561 ถ้ายืนยันสิทธิก็เข้าสอบสัมภาษณ์ TCAS รอบที่ 3 ในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2561 แต่ถ้าสละสิทธิก็ต้องเข้าไปสู่กระบวนการ TCAS ในรอบที่ 4 ต่อไป

จากนั้น ทปอ.จะส่งจำนวนที่นั่งที่ยังว่างให้กับมหาวิทยาลัย ถ้าที่นั่งเต็มแล้วมหาวิทยาลัยก็จะไม่ประกาศเพิ่มเติม แต่ถ้าหากที่นั่งยังว่าง แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะประกาศรายชื่อนักเรียนที่เข้ารอบ TCAS 3/2 ทางเว็บมหาวิทยาลัยในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องยืนยันสิทธิ Clearing house รอบที่ 3/2 ผ่านทางเว็บไซต์ http://tcas.cupt.net/ ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2561 และเข้าสัมภาษณ์ TCAS รอบที่ 3 พร้อมๆ กับผู้ที่ประกาศชื่อไปแล้วในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2561 เช่นกัน ส่วนผู้ที่สละสิทธิ หรือไม่ผ่านการสัมภาษณ์ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการ TCAS ในรอบที่ 4 ต่อไป



รศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อธิบายว่า ปัญหาการกั๊กสิทธิที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการที่เด็กคะแนนสูงสอบติดทุกที่ แล้วก็ไปสอบ กสพท. ซึ่งในอดีตส่วนของ กสพท. ไม่มีการเคลียริงเฮาส์ ทำให้มหาวิทยาลัยไม่ทราบว่า เด็กที่ติดแพทย์ กสพท. ไปแล้วสละสิทธิ์ จะมาทราบก็ตอนเปิดภาคเรียนไปแล้วและเด็กไม่มาเรียน ถามว่ามหาวิทยาลัยจะนำที่นั่งไปให้เด็กคนอื่นทันหรือไม่ จึงมีการนำ กสพท. มารวมในการเคลียริงเฮาส์ด้วย ซึ่ง TCAS ต้องการแก้ปัญหา โดยให้เกิดการกั๊กสิทธิน้อยที่สุด ก็คือกั๊กได้หรือเลือกได้เพียง 4 ตัวเลือกหากคะแนนถึง ก็อยู่ที่นักเรียนว่า จะเลือกยืนยันสิทธิในตัวเลือกใด

“ปัญหาการกั๊กที่นั่งจะเกิดกรณีรุนแรงไม่น่าเกิน 5 มหาวิทยาลัยดังที่เด็กอยากเข้าเท่านั้น ซึ่งการกั๊กที่นั่งไม่สามารถแก้ไขได้ 100% ทุกครั้งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมีปัญหานี้อยู่แล้ว แต่ระบบ TCAS รอบ 3 ที่ดำเนินการนี้จะสามารถป้องกันการกั๊กที่นั่งได้ 70-90% ขณะนี้สิ่งที่ผมเป็นห่วงไม่ใช่ปัญหาเรื่องการกั๊กที่ แต่เป็นประเด็นที่เด็กกลุ่มได้คะแนนสูงเลือกทั้งคณะแพทย์ในส่วนของ กสพท.และยังไปเลือกคณะนิเทศศาสตร์ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กไม่มีความชัดเจนในเป้าหมายการเรียนและในชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเท่ากับเด็กไม่รู้จักตนเอง อาจจะส่งผลต่อการเรียนในอนาคต อีกทั้งสะท้อนให้ห็นว่า เด็กไม่สนใจเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ แต่มองว่าตัวเองคะแนนสูงจะเรียนในสาขาใดก็ได้”รศ.ดร.ประเสริฐแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาถึง 5 ครั้งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ “ระบบเอนทรานซ์เดิม” ที่ใช้ในช่วงระหว่างปี 2504-52542ซึ่งกำหนดให้มีการสอบเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็น “เอนทรานซ์เวอร์ชันใหม่” ในช่วงปี 2542-2549โดยมีการใช้เกรดเฉลี่ยสะสมระหว่างเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย(GPA) ด้วยผลเปอร์เซ็นต์ไทล์ 10% พร้อมเปิดให้มีการสอบได้ 2 ครั้งต่อปี จากนั้นจะเอาคะแนนที่ที่ดีสุดในการเลือกคณะ

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยใช้ชื่อว่า “แอดมิชชัน” ในช่วงปี 2553-2560ซึ่งมีรูปแบบการคัดเลือกที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการใช้ทั้งคะแนนสะสมมัธยมศึกษาตอนปลายบวกเกรดเฉลี่ย 30% การสอบ O-NET 8 วิชาพื้นฐาน และการสอบ A-NET 5 วิชาชั้นสูงในลักษณะของการคิดวิเคราะห์ ทว่า ก็ยังคงเกิดปัญหา จึงได้มีการแก้ไขเป็น “ครั้งที่ 4” ด้วยการเพิ่มเติม GAT หรือความถนัดทั่วไป PAT หรือความถนัดวิชาชีพ/วิชาการ 7 สาขา พร้อมทั้งมีระบบ “เคลียริงเฮาส์” เพื่อลดปัญหาการกั๊กที่ จากนั้นก็พัฒนามาสู่ระบบ TCAS ซึ่งได้มีการนำใช้ในปี 2561 เป็นปีแรก

กล่าวสำหรับระบบเดิมคือระบบแอดมิชชันก่อนที่จะพัฒนามาเป็น TCAS นั้น นักเรียนต้องผ่านการสอบหลายครั้ง ทั้งการสอบข้อสอบกลางอย่าง GAT-PAT, 9 วิชาสามัญ และ O-Net ที่จัดตลอดทั้งปี อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดสอบตรงของตนเอง และมีการรับที่หลายรอบเกินไป ทำให้เกิดการวิ่งรอกสอบและกันที่เกิดขึ้น รวมทั้งเงินค่าสมัครและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เสียซ้ำซ้อนและมากเกินไป คนที่มีเงินก็มีโอกาสมากกว่ามาโดยตลอด

นอกจากนั้น การสอบและการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ที่มีตลอดปี จึงทำให้การเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนแต่ละคนทำได้อย่างไม่เต็มที่ คุณครูก็ต้องเร่งสอนเพื่อให้ทันการสอบ เหมือนเป็นปีแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียนหนังสือเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเกิดระบบ TCAS ขึ้นมา

ด้วยเหตุดังกล่าว TCAS จึงเป็นระบบกลางที่ได้รับการออกแบบมาโดยมีเป้าหมายสวยหรู เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ลดการเดินทางสอบ ลดการได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบและอื่น ๆ ลดช่องทางการเสียโอกาสในการสอบติดหลายที่แล้วไม่เรียน และให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาในชีวิตมัธยมศึกษาให้มากที่สุด การสอบทั้งหมดจึงจะเริ่มหลังจากที่เรียนจบ ม. 6 แล้ว

โดยระบบใหม่กำหนดให้ทุกคนมีเพียง 1 สิทธิอย่างเท่าเทียม เมื่อมีสิทธิเข้าศึกษาต่อ ต้องยืนยันสิทธิ์ และจะถูกตัดรายชื่อออกจากระบบทันที พร้อมกับข้อกำหนดในการให้นักเรียนอยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 รอบ ดังนี้

รอบที่ 1 โควตาใช้ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา

รอบที่ 2 การรับตรง/โควตา มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ โดยคะแนนที่ต้องใช้ยื่น คือ GAT/PAT และ9 วิชาสามัญ

รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนทั้งในโครงการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป เป็นการรับสมัครรอบที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นการรับตรงทั่วประเทศ โดย ทปอ. จะเป็นเจ้าภาพในการรับสมัคร ส่วนเกณฑ์การพิจารณาและการคัดเลือกจะเป็นทางมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา (โดยไม่มีลำดับ) หมายความว่า นักเรียนที่มีคะแนนผ่านไม่ว่าจะผ่านหมดทั้ง 4 สาขาวิชาหรือผ่านบางสาขาวิชาก็ตาม ก็สามารถเลือกเรียนได้ว่าเราจะเข้าศึกษาต่อที่สถาบันไหน ซึ่งจะต้องทำการยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ คะแนนที่ใช้มาจากการจัดสอบของ สทศ. ได้แก่ GAT/PAT และ/หรือ วิชาสามัญ 9 วิชา, ผลคะแนนสอบ O-NET หรือ วิชาเฉพาะ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสอบ (แต่ต้องเป็นวิชาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับข้อสอบกลาง หรือวิธีการเดียวกับข้อสอบกลาง) และการจัดสอบของ กสพท. จะอยู่ในรอบนี้ด้วย โดยจะนับเป็น 1 รหัส ใน 4 รหัส ที่ใช้ในการเลือก 4 สาขาวิชานั่นเอง

รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ แต่ใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักที่ประกาศล่วงหน้า 3 ปี

และรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ รอบเก็บตก สถาบันอุดมศึกษาเปิดรับตรงเพิ่มเติมได้เองอิสระ

ทว่า เมื่อนำมาใช้งานจริง ก็ได้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในระบบ TCAS รอบที่ 3 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยเป็นความผิดพลาดของระบบที่ได้ออกแบบเอาไว้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เคยมีคำเตือนและข้อท้วงติงถึงช่องว่างช่องโหว่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้รับความสนใจหรือแก้ไข กระทั่งทำให้เด็กไทยต้องกลายเป็น “หนูทดลอง” ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ได้เดินทางไปให้กำลังใจ พ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจารย์ ที่มาประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นเหมือนกันว่า ระบบ TCAS ที่แก้ส่วนใหญ่ดี แต่ก็มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เด็กกลุ่ม กสพท. มีโอกาสเลือกได้ 7 ตัวเลือก แต่เด็กที่ไม่ได้สอบในกลุ่ม กสพท. เลือกได้ 4 ตัวเลือก ทำให้เกิดประเด็นเด็กเก่งมีสิทธิเลือกได้มากกว่า ดังนั้น จึงควรให้กลุ่ม กสพท. แยกออกมาประกาศผล และให้มีการเคลียริงเฮาส์ก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหา

“ผมคุยกับ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเด็กของเรา ให้ช่วยดูว่าจะแก้ไขปัญหาตรงไหนได้บ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ดี นอกจากปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ก็มีข้อท้วงติงที่น่าสนใจด้วยว่า แม้การเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาด้วยระบบ TCAS จะเปิดโอกาสให้ยื่นสมัครได้ถึง 5 รอบเพื่อกระจายการแข่งขัน แต่ในมุมมองของนักเรียนบางส่วนเห็นว่า ระบบใหม่นี้อาจเพิ่มความกดดันไม่ต่างจากเดิม เพราะต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกผ่านรูปแบบที่สลับซับซ้อนกว่าเดิม

ดังที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ระบบ TCAS หลักการดี ตั้งใจให้แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ เด็กเก่งกั๊กที่นั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กระบวนการมีจุดอ่อน ไม่มีการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาในภาพรวม รวมทั้งกลายเป็นว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ทำให้เด็กทุกข์ทรมานยาวนานที่สุด เพราะสอบถึง 5 รอบ ขณะที่ผู้ปกครองเกิดความเครียด เกิดความกังวลเรื่องที่เรียนของลูก

“คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ รับ TCAS รอบ 3 จำนวน 15 คน มีเด็ก กสพท.มาติดถึง 13 คน ซึ่งการที่เด็ก กสพท.เลือกใช้สิทธิของตนเองเต็มที่ไม่ใช่ความผิดของเด็ก เพราะผู้ใหญ่เป็นผู้จัดทำระบบ ส่วนตัวผมเห็นว่าควรแยก กสพท.ออกมาและประกาศผลสอบและเคลียริงเฮาส์ก่อน ไม่นำมารวมกับเด็กกลุ่มอื่นเพื่อให้เกิดปัญหา”อาจารย์สมพงษ์สรุปทิ้งท้าย

คำถามดังๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ก็คือ ใครต้องรับผิดชอบ?




กำลังโหลดความคิดเห็น