xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Thailand only ประเทศอาบยาพิษ เบื้องหลังไม่แบน “พาราควอต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก Facebook เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คนไทยกำลังถูกวางยาพิษโดยไม่รู้ตัว หลังการตัดสินของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ที่มีมติ “ไม่ยกเลิก” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง อย่าง “พาราควอต (Paraquat)” หรือชื่อทางการค้า “กรัมม็อกโซน (Grammoxone)” ยาฆ่าหญ้ายอดนิยมครองอันหนึ่งของโลก

โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย เผยข้อสรุปมีมติ “ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด “พาราควอต" "คลอร์ไฟริฟอส” และ “ไกลโฟเซต” โดยคณะกรรมการฯ “เสียงข้างมาก” อ้างว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ที่น่าสังเกตคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษ

มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก เครือข่ายแบนสารพิษฯ 369 องค์กร เตรียมระดมพลนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 5 มิ.ย. 2561 ยื่นหนังสือต่อ บิ๊กตู่ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง

กว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พิษปนเปื้อนของสารเคมีตัวร้ายพาราควอต ส่งผลให้ 53 ประเทศทั่วโลก ประกาศ “ยกเลิก” จำกัดควบคุมการใช้พาราควอต โดยในสหภาพยุโรปเริ่มมีการแบนพาราควอตเริ่มตั้งแต่ปี 1983 อาทิ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ฯลฯ รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ คุณสมบัติอันโดดเด่นของยาฆ่าหญ้าพาราควอตก็คือ กำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว ฉีดพ่นปุ๊บก็ทำให้ใบสีเขียวแห้งตายแบบเห็นผลทันตา ทว่า ก็มีผลเสียอยู่ไม่น้อยเพราะสามารถทำลายคลอโรฟิลล์ในพืช ปนเปื้อนง่ายในแหล่งน้ำ ตกค้างอยู่ในดินนานหลายปี และมีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีผลร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ระบบทางเดิน หายใจ หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า พาราควอตเป็นสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน หรือเพียงรับประทานในปริมาณเล็กน้อย 1 ช้อนชา ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมายังนิยมใช้เป็นเครื่องมือในการฆ่าตัวตายอีกด้วย

ความเดิมตอนที่แล้วของยาฆ่าหญ้าพาราควอตในประเทศไทย ปี 2560 หน่วยงานรัฐ 5 กระทรวง มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิด “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ทว่า ช่วงปลายปีเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับลำอนุญาตให้ต่อใบอนุญาตใช้พาราควอต 6 ปี แก่บริษัท 3 แห่ง 1. ซินเจนทา 2. เอเลฟองเต้ และ 3. ดาว อโกรไซแอนส์ โดยอ้างว่า ปัจจุบันยังไม่มีมติแบนพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้เอกชนหน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

ข้อขัดแย้งสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงประจักษ์ว่าควรพิจารณาให้ยกเลิกพาราควอตหรือไม่ ขณะที่เครือข่ายภาคสังคมเคลื่อนไหวคัดค้านพาราควอต พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ต่อประชาชนทั่วไป

กระทั่ง วันที่ 23 พ.ค. 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย เผยข้อสรุปมีมติ “ไม่ยกเลิก” การใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต แต่จะจำกัดการใช้ โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะออกมาตรการควบคุมภายใน 2 เดือน ทั้งการนำเข้า การซื้อ การใช้ของเกษตรกร รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร

มติในครั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายอ้างว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอซึ่งมีข้อสังเกตว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างน้อย 3 คน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าสารพิษข้างต้น

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 30 -1/2561 ถึงข้อสรุปการพิจารณาการจำกัดหรือยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามมติของ 5 กระทรวงหลัก โดยเปิดเผยว่า คณะกรรมการเข้าร่วม 24 จาก 29 คน โดย 18 เสียงเห็นว่าควร “จำกัดการใช้” ซึ่งจากเอกสารสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ข้อสรุปว่า

ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” ปี 2560 นำเข้า 44.5 ล้านกิโลกรัม มีโอกาสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมน้อย เข้าสู่ร่างกายได้ทางการกิน สัมผัส การหายใจ ไม่มีสารก่อมะเร็ง ส่วนกรณีที่มีงานวิจัยบอกว่าส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

ยาฆ่าแมลง “คลอร์ไพริฟอส” ปี 2560 นำเข้า 3.7 ล้านกิโลกรัม การตกค้างเกิดจากเกษตรกรใช้ไม่ถูกวิธี ส่วนผลกระทบสุขภาพ พบว่าในหลายประเทศจัดให้อยู่ในกลุ่มที่อันตรายปานกลาง มีผลต่อพัฒนาการเด็ก ไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์

ยาฆ่าหญ้า “ไกลโฟเสต” ปี 2560 นำเข้า 59.8 ล้านกิโลกรัม พบว่าปนเปื้อนในทุกระดับห่วงโซ่อาหาร ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ระบุว่า ก่อให้เกิดมะเร็ง ตกค้างในสะดือ และรกเด็ก คณะกรรมการเห็นว่างานวิจัยเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในการศึกษา เพราะกลุ่มตัวอย่างมีไม่มาก

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ ย้อนกลับไป ปี 2552 เกษตรกรไทยเริ่มสนใจการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ หรือไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งพบว่าพืชสมุนไพรบางชนิดมีคุณสมบัติกำจัดศัตรูพืช เช่น ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ฯลฯ จึงหันมาใช้พืชสมุนไพรแทนสารเคมีกำจัดวัชพืช

น่าแปลกที่บุคคลส่วนหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดียวกันนี้ สร้างความพิศวงโดยเห็นชอบตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1

นั่นหมายความว่า จะมีการควบคุมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรดังกล่าว ในการนำไปใช้ในลักษณะ ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช โดยผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมา มติดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากชาวไร่ชาวสวน เครือข่ายภาคสังคม ฯลฯ เพราะส่อพิรุจเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นการกีดกันไม่ให้ชาวบ้านใช้พืชสมุนไพรเพื่อกำจัดวัชพืชจนท้ายที่สุด รัฐต้องยกธงขาวยกเลิกมติดังกล่าวไป

ขณะที่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เสียงข้างน้อยที่ลงมติให้ยกระดับการควบคุมให้เป็น วอ.4 คือ ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ประเภท กล่าวแถลงในภายหลังมีการเปิดมติไม่ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ตัดทอนตอนหนึ่งความว่า

“...ดิฉันเห็นด้วยว่าสารทั้ง 3 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร ซึ่งทำให้เกิดโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อมโดยเฉพาะผลต่อเด็กและทารก โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารทั้งสามนี้มากมาย และสามารถตรวจพบทั้งในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม ดิฉันจึงเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณายกเลิกการใช้สารทั้ง 3 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า และขณะที่ยังไม่ยกเลิก ให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และประเมินผลการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด แต่ดิฉันก็เป็นเพียงกรรมการเสียงข้างน้อย ซึ่งได้ทำความเห็นประกอบความเห็นในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ถึงข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนโดยละเอียดแล้ว...”

รศ.ดร.จิราพร เปิดเผยว่า แม้มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้กรมวิชาการเกษตร ไปจัดทำแผนจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอย่างเข้มงวด แต่ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐจะจัดการความเสี่ยงในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ เพราะหากกรมวิชาการเกษตรมีความจริงใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้จริง น่าจะทำไปนานแล้ว เพราะปัจจุบันทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก็อยู่ในบัญชี อ.3 แต่ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่ผ่านมามีแต่เครือข่ายผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ส่งผลให้ภาคสังคมเตรียมระดมพลคัดค้านครั้งใหญ่ เตรียมนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 5 มิ.ย. 2561 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก และมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Thai-Pan) หนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ จะขอใช้สิทธิตามกฎหมายเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยได้นัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และสมาชิกเครือข่ายฯ อีก 60 จังหวัด จะมีการชุมนุมและจัดกิจกรรมต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายอยู่ในพื้นที่เช่นกัน

รวมทั้ง ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและชี้ขาดต่อนายกรัฐมนตรีที่ เพราะในการประชุมคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมการค้า ซึ่งมีคนจากบริษัทสารเคมีดังกล่าวร่วมในกระบวนการพิจารณา อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ระบุว่า “กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวเรื่องใดผู้นั้นไม่มีสิทธ์ออกเสียงเรื่องนั้น”

“ต้องการแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า สารเคมีเหล่านี้มีปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ และพวกเราไม่ต้องการให้ใช้ต่อไป ที่สำคัญก่อนหน้านี้ กลุ่มประชาคมนักวิชาการทุกภาคส่วนก็ออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าหลายประเทศทั่วโลกเขายกเลิกการใช้แล้ว แม้แต่ในประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตอย่างจีน ก็ยุติการใช้ในประเทศเด็ดขาด มีแต่ผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น ก็แสดงแล้วว่าแม้แต่จีนยังเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนในประเทศ ดังนั้นในเมื่อเราออกมาเรียกร้องทุกช่องทางแล้ว ท่านยังไม่สนใจ เราก็จะขอใช้สิทธิชุมนุมในที่สาธารณะต่อไป

“...ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ ท่านนายกรัฐมนตรีฐานะผู้นำ ควรพิจารณาความไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน เรายังแสดงจุดยืนให้แบน เพราะที่ผ่านมาควบคุมยาก ไทยไม่เคยประสบผลสำเร็จเรื่องนี้เลย” นายวิฑูรย์ กล่าว

ยังคงต้องติดตามชะตากรรมของประเทศไทยต่อไป หากสารเคมีวายร้ายยังคงคลุ้งอยู่ในเทือกสวนไร่นา หากรัฐบาลไทยไม่ประกาศแบนพาราควอต ทั่วทั้งแผ่นดินที่อาบยาพิษ คุณภาพความเป็นอยู่ของคนไทยนับจากนี้ คงหลีกไม่พ้น “ตายผ่อนส่ง”




กำลังโหลดความคิดเห็น