xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูป หรือจะเป็นเพียงม่านหมอกและเงาเมฆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ใครที่ติดตามการปฏิรูปประเทศอย่างใกล้ชิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์ คงเหนื่อยไม่แพ้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะสี่ปีที่ผ่านมามีการใช้คณะบุคคลจำนวนนับพันคน ใช้เงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาท และจัดตั้งองค์การมากมายหลายรูปแบบดำเนินการคิดค้นแนวทาง และมาตรการสำหรับการปฏิรูป ผลผลิตที่ออกมาเป็นอักขระนับหมื่นแสนคำ ซึ่งมีจำนวนข้อบัญญัตินับไม่ถ้วนจารึกลงในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และเอกสารตีพิมพ์ ทว่ามีการนำไปปฏิบัติเพียงน้อยนิด และมีผลลัพธ์ดั่งละอองธุลี ราวกับการปฏิรูปเป็นเพียงม่านหมอกและเงาเมฆอันเลื่อนลอย

หากวางเรื่องความมีสมรรถนะ ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของทิศทางและแนวคิดหลักของการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่คณะกรรมการปฏิรูปทั้งหลายผลิตขึ้นมาเอาไว้ก่อน โดยแสร้งเชื่อว่าแนวทางและมาตรการเหล่านั้นบางอย่างพอจะเข้าข่ายการปฏิรูปอยู่บ้าง และมาตรการเหล่านั้นมีความพร้อมไปที่จะนำไปปฏิบัติแล้ว แม้กระนั้นก็ปรากฎว่ามีปัญหาใหญ่อีกอย่างที่ทำให้แนวหน้าของคณะปฏิรูปอย่างนายบวรศักดิ์ ต้องออกมาบ่นต่อสาธารณะว่า “รู้สึกเหนื่อยเพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร”

สิ่งที่ทำให้นายบวรศักดิ์รู้สึกเหนื่อยก็คือ การใช้ข้าราชการเป็นกลไกหลักของการนำการปฏิรูปไปปฏิบัตินั่นเอง

เหตุผลหลักที่นายบวรศักดิ์ระบุคือ การใช้ส่วนราชการเป็นฝ่ายปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปทำการปฏิรูปเสียเอง เหมือนกับการให้ผู้รับเหมางานทำการตรวจงานตัวเอง ยิ่งกว่านั้นระบบคิดการทำงานของคนในระบบราชการก็ยังมีลักษณะที่คิดแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จวบจนบัดนี้ สี่ปีผ่านไป แต่การปฏิรูปยังไม่มีอะไรคืบหน้า

สิ่งที่นายบวรศักดิ์สะท้อนออกมานั้นไม่แตกต่างอะไรกับความคิดของประชาชนจำนวนมากที่เฝ้าดูและติดตามการปฏิรูปประเทศอยู่ในขณะนี้ แต่รัฐบาลและคสช.กลับมองไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม และดูเหมือนว่าไม่เข้าใจในสิ่งที่นายบวรศักดิ์ พยายามสื่อออกมา มีการออกมาตอบโต้ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า การปฏิรูปครั้งนี้ของคสช.และรัฐบาลเป็นเพียงม่านหมอก เงาเมฆ ที่ยากจะไขว่คว้าถึงและจับต้องได้มากยิ่งขึ้น

พลเอกประยุทธ์ จันโอชาหัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีซึ่งถือว่าเป็นบุคคลอันดับหนึ่งในการรับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศ เพราะพรั่งพร้อมทั้งตำแหน่งและอำนาจในการขับเคลื่อนการปฏิรูปได้ออกมาตอบโต้นายบวรศักดิ์และแก้ต่างแทนข้าราชการ โดยยืนยันว่า ข้าราชการยังเป็นผู้มีบทบาทนำ ทุกอย่างต้องเริ่มจากข้าราชการและต้องใช้ข้าราชการขับเคลื่อน

สิ่งที่พลเอกประยุทธ์พูดนั้นคือสิ่งที่รัฐบาลคิดและทำอยู่ในขณะนี้ เป็นวิธีคิดที่ใช้ข้าราชการเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่การคิดและทำแบบนี้ของรัฐบาลนั่นแหละที่ทำให้นายบวรศักดิ์รู้สึกกังวล และยิ่งได้ฟังพลเอกประยุทธ์พูดแบบนี้ เห็นได้ชัดเจนเลยว่าพลเอกประยุทธ์ไม่เข้าใจประเด็นในเชิงหลักการและความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่นายบวรศักดิ์กล่าวออกมา

หลักการที่ว่าคือ “หากการปฏิรูป กระทำโดยคนที่ถูกปฏิรูป โอกาสของการปฏิรูปก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ” และ ข้อเท็จจริงที่ว่าคือ “ระบบราชการไทยมีแบบแผนการปฏิบัติงานแบบค่อยเป็นค่อยไป คิดช้า ทำช้า และแก้ไขสิ่งต่างๆ แบบปรับปรุงเล็กน้อย” ซึ่งแบบแผนการทำงานเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของวิถีการขับเคลื่อนการปฏิรูป ที่จะต้องลงมือปฏิบัติทันที รอช้าไม่ได้ และต้องปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างและแก้ทั้งระบบครบวงจร

ดังนั้นในประเด็นนี้ผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ ควรปฏิรูปความคิดของตนเองเสียก่อน เพราะสิ่งที่พูดออกมาเป็นการยืนยัน “ความเป็นพระเอก” หรือแสดงบทบาทนำของระบบราชการ ซึ่งจะต้องปฏิรูปเป็นลำดับแรกด้วยซ้ำ ผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตนเองเสียใหม่ โดยต้องจำแนกแยกแยะประเภทและเป้าประสงค์ของการปฏิรูปภาพรวมและในแต่ละเรื่องให้ชัดเจนว่า เรื่องใดที่ควรให้ข้าราชการแสดงบทบาทนำ เรื่องใดที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญนอกระบบราชการแสดงบทบาทนำ และเรื่องใดที่ให้กลุ่มอาชีพและประชาชนแสดงบทบาทนำ

ตัวอย่างเรื่องที่ให้ข้าราชการมีบทบาทนำคือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมโดยไม่เลือกการปฏิบัติ การดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้ผู้ใช้ระเบียบกฎหมายมีความรอบรู้ในเรื่องกฎหมายนั้นๆ ให้มีความเข้าใจสภาพปัญหาสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ให้มีค่านิยมและบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ยึดความสุจริตและเป็นธรรมต่อกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกกลุ่ม และควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการกำกับติดตาม ประเมินและลงโทษแก่ข้าราชการที่ละเลย เฉื่อยชา ไม่เป็นธรรมและฉ้อฉล โดยการตรวจสอบประเมินการทำงานของข้าราชการนั้นจะต้องใช้คณะทำงานหรือคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกระบบราชการเป็นหลัก แต่อาจมีคนในระบบราชการเป็นส่วนผสมอยู่บ้าง ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งในสามของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมิน

ส่วนเรื่องที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทนำในการปฏิรูปนั้นก็มีหลายเรื่อง อย่างเช่น การพัฒนาชุมชน การจัดการระบบสวัดิการสังคม การจัดการศึกษา การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น สำหรับข้าราชการนั้นให้เป็นเพียงภาคีหรือองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิรูปเหล่านั้น ทำหน้าที่ในการสนับสนุนทรัพยากร งบประมาณ และเอื้ออำนวยความสะดวกเป็นหลัก ส่วนการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงของการปฏิรูปนั้นควรเป็นการกระทำร่วมกันในลักษณะเครือข่ายของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ การปฏิบัติแบบนี้จะทำให้โอกาสการปฏิรูปประสบความสำเร็จมากกว่าการทำงานที่ยึดข้าราชการเป็นพระเอกแบบเดิมๆ

พึงตระหนักว่า แกนหลักของการปฏิรูปแทบทุกเรื่องเป็นสิ่งที่มักจะมีทิศทางในการลดอำนาจของหน่วยงานราชการ ลดอำนาจของข้าราชการ พัฒนาความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการ วางระบบในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพิ่มความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการที่มีต่อประชาชนและสังคม เพิ่มและขยายความเป็นธรรมและยุติธรรมในการทำงาน เพิ่มระบบการตรวจสอบและการประเมินให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็จะมีการแบ่งและกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนและสังคมมากขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผมคิดว่า หากพลเอกประยุทธ์สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์เดิมและยึดกุมจิตวิญญาณของการปฏิรูปที่แท้จริงได้แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจธรรมชาติของการปฏิรูปได้ถูกต้อง และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ภายในเวลาที่เหลืออยู่ในอำนาจที่อาจไม่นานนักของพลเอกประยุทธ์ สังคมไทยอาจจะมีผลลัพธ์ของการปฏิรูปบางเรื่องที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้บ้าง มิใช่มีแต่เพียงจินตนาการของการปฏิรูปดังที่ผ่านมา

แต่หากยังมีความคิดแบบเดิมดังเช่นที่ออกมาตอบโต้นายบวรศักดิ์ ผมคิดว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ค่อนข้างจะมืดมัวและมองไม่เห็นแสงสว่างใดๆของความสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีแต่ทะเลน้ำหมึกของอักขระที่ว่างเปล่า ผสานกับวจีผสมน้ำลายที่กลายเป็นฝุ่นละออง ล่องลอยสร้างความสะอิดสะเอียดให้ผู้คน หรือไม่ก็เป็นสำเนียงเสียงมลพิษ ที่บั่นทอนจิตใจของผู้คนให้สิ้นหวัง เท่านั้นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น