xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฉลุยแล้ว แก้ กม.แบงก์ชาติให้กองทุนฟื้นฟูฯ อุ้มสถาบันการเงินส่อเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการใช้อำนาจทางทหาร แต่รัฐบาลชุดนี้ ก็ได้คลอดกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อภาคการลงทุนและการเงินออกมาหลายฉบับ

ล่าสุด คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติวาระ 3 เห็นชอบให้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง ในการประชุม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญของกฎหมายซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลังฉบับนี้ คือการเพิ่มอำนาจกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ)ในการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน อันอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามแผน แนวทาง และวิธีการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ที่ใช้บังคับอยู่เดิมกำหนดให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินกรณีที่สถาบันการเงินประสบภาวะวิกฤติทางการเงินอันอาจกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ ไว้ในมาตรา 42 โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะอื่นใดแก่สถาบันการเงินดังกล่าวก็ได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม อำนาจของกองทุนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ยังขาดกลไกในการเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตที่อาจเกิดกับสถาบันการเงินที่ชัดเจนสำหรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จึงเป็นที่มาของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ให้มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูฯ ในการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินตามแผน แนวทาง และวิธีการที่ ครม.อนุมัติ เช่น ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีหลักประกัน ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน โดยได้บัญญัติเพิ่มเป็น มาตรา 43/1 และ 43/2 ดังนี้
“มาตรา ๔๓/๑ ให้ ธปท.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน มีอํานาจเสนอแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่มีเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้

(๑) สถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่องอันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม และการให้ความช่วยเหลือตามมาตรา ๔๒ อาจไม่เพียงพอ
(๒) สถาบันการเงินมีฐานะและการดําเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิด ความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่สามารถแก้ไขฐานะหรือการดําเนินงานตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ และ ธปท. เห็นว่ามีความจําเป็น เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเพื่อป้องกันผลกระทบหรือความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม

(๓) สถาบันการเงินประสบปัญหาดํารงเงินกองทุนต่ํากว่าอัตราที่กําหนดตาม กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และ ธปท. ยังไม่สั่งควบคุมหรือสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น เพราะเห็นว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและระบบ การเงินโดยรวม
(๔) เมื่อมีคําสั่งควบคุมสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว แต่ ธปท. เห็นว่ามีความจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบ เศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม
(๕) เมื่อ ธปท. เห็นว่ามีความจําเป็นเร่งด่วนและสถาบันการเงินไม่สามารถแก้ไข ปัญหาหรือป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้เองอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินโดยรวม

มาตรา ๔๓/๒ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ตามมาตรา ๔๓/๑ แล้ว ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินดําเนินการ ตามแผนที่ได้รับอนุมัติดังกล่าว โดยให้มีอํานาจกระทํากิจการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน
(๒) ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้อง ของสถาบันการเงิน
(๓) ก่อภาระผูกพันที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
(๔) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีหลักประกัน
(๕) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินลักษณะอื่นใดแก่สถาบันการเงิน
(๖) กระทําการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน”

รวมทั้งในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อดำเนินการตามแผนในการแก้ไขปัญหาตามมาตรา 43/1 ธปท.อาจให้กองทุนฟื้นฟูฯ กู้ยืมเงิน หรือรัฐบาลอาจค้ำประกันการกู้ยืมเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้ และกำหนดการชดเชยภาระของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินที่เหลืออยู่ในระบบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนฟื้นฟูฯ กำหนดตามความเห็นของ ครม.

นอกจากนี้ หากการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวไม่พอในการใช้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสถาบันการเงิน หรือ มีกรณีที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐบาลอาจชดเชยภาระกองทุนฟื้นฟูฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินได้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว เมื่อตอนที่ ครม.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ฉบับนี้ เมื่อปลายปี 2559 ว่า การแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถาบันการเงินของไทย เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจัดเป็นวิธีปฏิบัติตามหลักสากล ที่กำหนดให้มีการวางระบบการดูแลเมื่อเกิดวิกฤต และมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ในเรื่องของความมั่นคงของสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินสำหรับการดำเนินการธุรกิจต่างๆ ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากนักวิชาการด้านการเงิน อย่างนายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ว่า การคืนอำนาจให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ เท่ากับว่า ระบบใหม่ในการดูแลสถาบันการเงินจะเป็นการผสมผสานกันระหว่าง 2 เครื่องมือ คือ กองทุนฟื้นฟูฯ และ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามว่าเครื่องมือต่างๆ มีมากเกินไปหรือไม่

การคืนอำนาจให้กองทุนฟื้นฟูฯ อาจสร้างความอุ่นใจว่ามีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาวะที่มีเงื่อนไขการเสี่ยงภัยสูง(Moral Hazard) ทำให้ธนาคารพาณิชย์แข่งกันระดมเงินฝาก โดยละเลยความเสี่ยง และเป็นการสะท้อนว่า ปัญหาใหญ่ของกระทรวงคลังและ ธปท.ที่มีต่อสถาบันการเงิน โดยมองว่า ควรมีตู้เย็นไว้เก็บสินทรัพย์ แทนที่จะส่งสัญญาณว่า ไม่จำเป็นต้องมีตู้เย็น แล้วไปโฟกัสในภาคธนาคารตรงจุดที่เป็นความเสี่ยง และแก้เป็นจุดๆ

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2561 ซึ่งที่ประชุม สนช.ลงมติรับหลักการวาระแรก ว่า เนื่องจากในปัจจุบันระบบการเงินของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการและกลไกเพิ่มเติม เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับ การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินของสถาบันการเงินและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม โดยมีหน่วยงานรองรับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

ยืนยันว่า การเสนอร่างดังกล่าวเพื่อต้องการสร้างกลไกดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีภูมิคุ้มกัน มีความชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

จะเป็นไปตามคำยืนยันของนายวิสุทธิ์หรือไม่ พวกเราชาวไทยคงต้องคอยติดตามการใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด อย่าได้คลาดสายตาเป็นอันขาด




กำลังโหลดความคิดเห็น