xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มหาเธร์” คืนบัลลังก์นายกฯ มาเลย์ “นาจิบ” ชะตาขาด “อันวาร์” ฟื้นคืนชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

พันธมิตรฝ่ายค้านซึ่งนำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮาหมัด คว้าชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 พ.ค. กลายเป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองที่ทำให้นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ผู้อื้อฉาวหลุดเก้าอี้ในชั่วข้ามคืน และปิดฉากยุคสมัยของกลุ่มแนวร่วม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ที่ผูกขาดการเป็นรัฐบาลมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี 1957

ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นการคัมแบ็กอย่างสง่างามสำหรับมหาเธร์ ซึ่งเคยรั้งเก้าอี้นายกฯ ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษตั้งแต่ปี 1981-2003 และวันนี้ก็กำลังจะกลายเป็น “นายกรัฐมนตรีที่อายุมากสุดในโลก” หลังหวนกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งภายใต้ร่มธงของกลุ่มฝ่ายค้าน “พันธมิตรแห่งความหวัง” (Pakatan Harapan) เพื่อโค่น นาจิบ ราซัก ซึ่งพัวพันคดีทุจริตฉาวโฉ่

ผลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า กลุ่ม Pakatan Harapan ของ มหาเธร์ ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมือง 4 พรรคได้ ส.ส. ไปทั้งหมด 113 ที่นั่ง แต่เมื่อรวมกับ ส.ส. ของพรรคพันธมิตรในรัฐซาบาห์ก็จะกลายเป็น 121 ที่นั่ง เกินกว่า 112 ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่กลุ่มบีเอ็นได้ ส.ส. ไปเพียง 79 ที่นั่ง ลดลงอย่างน่าตกใจจากที่เคยครองเสียงข้างมากถึง 133 ที่นั่งในสภา

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยสีหน้าเศร้าหมอง โดยกล่าวว่า “ผมยอมรับคำตัดสินของประชาชน” แต่เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จึงอาจต้องพึ่งพระบรมราชวินิจฉัยของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียว่าจะทรงแต่งตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่ม Pakatan Harapan ไม่ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มพรรคการเมือง และพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดในกลุ่มก็คือ พรรค พีเพิลส์ จัสติส ปาร์ตี (PKR) ซึ่งนำโดย นางวัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอีล ภรรยาของแกนนำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบรอฮีม ที่ถูกจำคุกอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า วัน อาซีซะห์ มีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน ขณะที่ฝ่าย นาจิบก็อาจจะโต้แย้งได้ว่า พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ของเขาได้ ส.ส. มากที่สุด 54 ที่นั่ง จึงควรให้พรรคอัมโนมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม มหาเธร์ได้ออกมายุติข้อถกเถียงในช่วงสายของวันพฤหัสบดี (10) โดยประกาศจะสาบานตนรับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน และให้เหตุผลว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วน” ที่จะต้องบริหารประเทศทันที พร้อมกับชูเอกสารที่หัวหน้าพรรคพันธมิตรทั้ง 4 ลงนามเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรี

มหาเธร์ หวนคืนสู่สนามเลือกตั้งโดยยอมจับมือกับบรรดาพรรคการเมืองที่เคยถูกเขาเล่นงานสมัยที่ยังเป็นนายกฯ โดยเฉพาะแกนนำฝ่ายค้านอย่าง อันวาร์ อิบรอฮีม ซึ่งเคยสังกัดกลุ่มบีเอ็นมาก่อน และถึงขั้นได้รับการวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองของมหาเธร์ ก่อนที่ทั้งคู่จะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ จน อันวาร์ถูกมหาเธร์ สั่งปลดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 1998

อันวาร์ ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีเสพสังวาสทางทวารหนักกับอดีตผู้ช่วยชายคาดว่า อาจจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งมหาเธร์ให้สัญญาว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษแก่เขา รวมถึงส่งมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ในภายหลังด้วย

ความพ่ายแพ้ของบีเอ็นอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมรสุมใหญ่ที่นาจิบ ต้องเผชิญหลังจากนี้ เนื่องจาก มหาเธร์เคยประกาศจะไล่บี้เอาผิดเขากรณีเงินหลายพันล้านดอลลาร์ถูกยักยอกไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ซึ่ง นาจิบ เป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร

อย่างไรก็ดี มหาเธร์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลังได้รับชัยชนะว่า “ผมไม่ได้ต้องการหาทางแก้แค้น ผมแค่ต้องการกอบกู้หลักนิติธรรม”

มหาเธร์ ติเตียนรัฐบาล นาจิบ เรื่องพฤติกรรมคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ และยุทธศาสตร์บริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งที่ตัวเขาเองเคยเป็นคนสนับสนุนให้นาจิบก้าวขึ้นมาแทนที่อดีตนายกฯ อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี เมื่อปี 2009

นอกจากจะคว้าอำนาจปกครองรัฐบาลแห่งชาติได้แล้ว สภาท้องถิ่นหลายรัฐทั่วมาเลเซียก็ตกมาอยู่ในมือฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะรัฐยะโฮร์ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญและเป็นต้นกำเนิดของพรรคอัมโน หัวเรือใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมบีเอ็น

นาจิบ พยายามทำทุกวิถีทางที่จะยื้ออำนาจ ทั้งการออกกฎหมายห้ามเผยแพร่ข่าวเท็จเพื่อปิดปากฝ่ายค้าน และผลักดันให้รัฐสภาแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้งในย่านชาวมุสลิมมาเลย์ซึ่งเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งของบีเอ็น นอกจากนี้ยังประกาศจัดการเลือกตั้งในวันพุธซึ่งเป็นวันทำงาน โดยหวังว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยและตัดกำลังฝ่ายค้าน แต่ปรากฏว่าเขาคาดการณ์ผิด เพราะมีชาวมาเลเซียออกไปต่อคิวหย่อนบัตรลงคะแนนกันอย่างเนืองแน่น

บีเอ็นมีชาวมุสลิมมาเลย์เป็นฐานเสียงที่เข้มแข็ง ด้วยนโยบาย “ภูมิปุตรา” ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเชื้อชาติมาเลย์ได้รับโอกาสเข้าถึงสัมปทานของรัฐ ซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาถูก และได้โควตาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ

มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการทุ่มงบประมาณอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานยังทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตถึง 5% ภายใต้การบริหารของ นาจิบ

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากนโยบายเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) รวมถึงข่าวการยักยอกเงินกองทุน 1MDB กลายเป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในมาเลเซีย 15 ล้านคน ซึ่งเบื่อหน่ายระบบการเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตและเอื้อประโยชน์แบบอิงกลุ่มเชื้อชาติของบีเอ็น

มหาเธร์ ซึ่งเป็นนักชาตินิยมมาเลย์ตัวยงถือเป็นบุคคลสมบูรณ์แบบที่ฝ่ายค้านจะนำมาสู้กับนาจิบ เพราะสามารถดึงคะแนนเสียงจากชาวมุสลิมมาเลย์ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ได้ อีกทั้งยังเคยสร้างผลงานพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดดจนเป็นที่จดจำในฐานะ “บิดาแห่งมาเลเซียยุคใหม่”

ฐานเสียงฝ่ายค้านเริ่มออกมารวมตัวเฉลิมฉลองชัยชนะกันตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกของวันพฤหัสบดี (10) และแม้ผลเลือกตั้งจะทำให้หลายฝ่ายตกตะลึง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อเหตุวุ่นวายตามท้องถนน

ซูวา เซลวาน นายแพทย์วัย 48 ปี ยอมรับว่า รู้สึกเหมือนมาเลเซีย “ได้รับเอกราช” อีกครั้ง

“ผมหวังว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความยุติธรรม เสรี และเป็นหนึ่งเดียว” เขากล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น