xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกสายเลือด “ณรงค์เดช”? ลับ ลวง พราง เฉดหัว “ณพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าจะเป็น “ความขัดแย้ง” สำหรับครอบครัว “พรประภา” ครั้งสำคัญอีกครั้งเลยก็ว่าได้ สำหรับการตัดหาง “ณพ ณรงค์เดช” ที่สร้างความตะลึงพรึงเพริดไปทั่วทั้งวงการ โดยในเที่ยวนี้เกิดขึ้นกับพรประภาที่แตกตัวออกมาสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ในนาม “บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น” หรือ “เคพีเอ็นกรุ๊ป” ซึ่งมี “ดร.เกษม ณรงค์เดช” ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ทัพใหญ่

และเมื่อกล่าวถึง ดร.เกษม ณรงค์เดช ก็ย่อมต้องเอ่ยถึง “ภรรยา” ผู้ล่วงลับไปแล้วและเป็น “แม่” ของ 3 ทหารเสือณรงค์เดช “กฤษณ์-ณพและกรณ์” นั่นก็คือ คุณหญิงพรทิพย์(พรประภา) ณรงค์เดช บุตรสาวของ “ดร.ถาวร พรประภา” ผู้ก่อตั้ง “บริษัท สยามกลการ จำกัด” ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2495 ในฐานะผู้แทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ดัทสัน แต่ผู้เดียวในประเทศไทย และยังเป็นผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศรายแรกของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงธุรกิจการค้าอื่นๆ อีกมากมาย

ใครๆ ก็รู้ว่า “ศึกสายเลือดพรประภา” นั้น ดำเนินต่อเนื่องมายากยาวนาน และในที่สุดก็ถึงขั้นต้องแยกตัวกันออกมาทำธุรกิจ กลายเป็น “อาณาจักรสยามกลการ” กับ “อาณาจักรเคพีเอ็น” (อ่านรายละเอียดด้านล่าง) ทว่า กับครอบครัวณรงค์เดชไม่มีใครคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี

แต่แล้ววันดีคืนดี “พ่อ พี่และน้อง” กลับออกแถลงการณ์ตัดความเกี่ยวข้องทางธุรกิจแบบไม่เหลือเยื่อใยไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้ง “ศึกสายเลือดพรประภา” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสยิ่งนัก



อย่างไรก็ดี ยังเป็นที่น่าสงสัยยิ่งว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกำลังจริงๆ หรือมีอะไร “ลับ ลวง พราง” นอกเหนือจากสิ่งที่สังคมรับรู้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางธุรกิจบางประการ เนื่องเพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปไม่ได้ที่ “ณพ” จะทำอะไรโดยพลการโดยที่ครอบครัวที่บริหารงานในลักษณะของ “กงสี” ไม่รับรู้

“วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ” ชื่อนี้ไม่ธรรมดา

“เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นใน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดชก็ให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดช จัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม

“แต่หลังจากที่นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพ กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดช ไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดช ไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆ ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพ จะให้นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการฯ ของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ของ WEH จนนายกรณ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของนายณพ ณรงค์เดชนั้น ครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง

“จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดช ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดชไปใช้ โดยไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช ได้แก่ ดร. เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้ หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้น โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด”

แถลงการณ์ของ “ครอบครัวณรงค์เดช” ที่มีตราประทับสัญลักษณ์ของ “กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น” อยู่ด้านบน แสดงให้เห็นชัดเจงว่า เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจของ “ณพ” ใน “บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานกังหันลมรายใหญ่ที่สุดของประเทศและภูมิภาคอาเซียน

เป็น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ที่เชื่อว่า สังคมยังคงไม่ลืม โดยเฉพาะอดีตประธานกรรมการบริหารที่ชื่อ “เสี่ยนิค-นพพร ศุภพิพัฒน์” หนึ่งในมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุด ติดอันดับ 31 ใน 50 ของมหาเศรษฐีประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นโดยนิตยสาร ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ (FORBES THAILAND) โดยร่ำรวยจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม และมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 25,600 ล้านบาท

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ เสี่ยนิค-นพพร เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ เลขที่ 138 /2557 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ด้วยความผิดตาม ม.112 โดยเกี่ยวพันกับ “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์” อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและพวก

เป็นวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ที่ครั้งหนึ่ง “เนื้อหอมสุดๆ” ในแวดวงธุรกิจพลังงานทางเลือกหลังได้รับอานิสงส์(แบบตั้งใจ) จากการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือกจากรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย กระทั่งมีการวางแผนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทั้งกลุ่มทุนพลังงาน เทคโนแครต อดีตข้าราชการ ตลอดรวมถึงนักการเมืองที่คุมหน่วยงานด้านพลังงาน ต่างพากัน “ฝันหวาน” ถึงความร่ำรวยหากประสบความเร็จในการเดินหน้าสู่ตลาดหุ้น ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายไปพร้อมๆ กับเสี่ยนิค-นพพรที่ต้องคดีและหนีไปอยู่ต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ อันเป็นมูลเหตุของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงนั้น แรกเริ่มเดิมทีมี บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 63% ขณะที่บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยีฯ เป็นบริษัทที่เสี่ยนิค-นพพรถือหุ้นอยู่มากถึง 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ในฮ่องกงที่ถืออยู่ 24.5%

หลังการหนีคดีของเสี่ยนิค-นพพร วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ก็ประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

และในช่วงนั้นนั่นเอง กลุ่ม เคพีเอ็น โดย “ณพ” ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัทรีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ หรือ อาร์อีซี( REC) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน WEH จากนายนพพร ด้วยมูลค่าประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้ออกตั๋วแลกเงินเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าซื้อหุ้นให้กับนายนพพร จากนั้นได้แบ่งชำระเป็นงวด ๆ ซึ่งงวดแรกมีการชำระแล้ว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงของการซื้อเมื่อปีปลายปี 2557 สำหรับเงินที่เหลือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐไม่สามารถชำระเงินได้ตามเงื่อนไข ประกอบกับนายนพพรโดนคดีหนีไปต่างประเทศ ยากต่อการตามเงินค่าซื้อ และคิดว่าการที่นายนพพรหลบคดีลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถตามเงินได้ หนี้ที่เหลือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่มีการชำระกัน

“ณพ” ได้กลายเป็น “ผู้ป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” และเป็นกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารธุรกิจของ วินด์ ฯ ตั้งแต่ตุลาคม ปี 2558 พร้อมทั้งได้แต่งตั้งกรณ์หวานใจของ “ศรีริต้า เจนเซ่น” ผู้เป็นน้องชายเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทด้วย ก่อนที่จะลาออกในเวลาต่อมาตามที่แถลงการณ์ของครอบครัวระบุไว้

กระนั้นก็ดี การบริหารงานก็มิได้ราบรื่น แถมยังกลายเป็น “ข้อพิพาท” ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้เสี่ยนิค-นพพรจะหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็เรียกว่ามีเส้นสายในระดับที่ไม่ธรรมดา และเสี่ยนิค-นพพรก็ไม่ยอมยุติง่ายๆ กับธุรกิจที่เขาพยายามปลุกปั้นจนสามารถทำให้ WEHมีกำไรสุทธิถึงเกือบ 1.2 พันล้านบาทในปี 2556 และจากการประเมินมูลค่าบริษัทเพื่อการเสนอขายแบบเจาะจงเมื่อเดือนมีนาคม 2557 มีการให้มูลค่าบริษัทนี้ถึง 4.24 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ในที่สุดข้อพิพาทซึ่งตกลงกันไม่ได้ก็ขยายวงออกมาเมื่อมีการนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อคณะอนุญาโตตุลาการหอการค้านานาชาติ และนำมาซึ่งคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหุ้น WEH พร้อมบริษัทที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้

จากนั้น ข้อพิพาทก็มาปะทุหนักขึ้นเมื่อนายณพกำลังทำไฟลิ่ง หรือเตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ร่วมกันยื่นฟ้องเพื่อดำเนินคดีอาญากับ ณพ ณรงค์เดช และ บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (KPNEH) พร้อมพวกรวม 13 ราย

นอกจากณพแล้ว จำเลยที่ถูกหางเลขคดีไปด้วยยังประกอบด้วยบุคคลในตระกูลณรงค์เดช ทั้ง ดร. เกษม ณรงค์เดช กฤษณ์ ณรงค์เดช และ พอฤทัย (บุณยะจินดา) ณรงค์เดช (ลูกสาว พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พี่สาวของ ดัง-พันกร บุณยะจินดา) ภรรยาของณพอีกด้วย ซึ่งนั่นน่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญอันนำมาสู่ “แถลงการณ์ของครอบครัวณรงค์เดช” ที่เกิดขึ้น



การฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 โดย บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ และ บริษัทซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัทรีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ หรือ อาร์อีซี ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายณพ ณรงค์เดช รองประธานคณะกรรมการ บริษัท วินด์ เอเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด รวมถึงนายเกษม ณรงค์เดช ในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ศาลแขวงพระนครใต้

มูลฟ้องระบุว่า “เป็นผลมาจากกรณีที่นายณพและพวกได้ร่วมกันโอนหุ้นและปกปิดซ่อนเร้นข้อเท็จจริงในการโอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังลมรายใหญ่ ในส่วนที่บริษัทอาร์อีซีถือหุ้นอยู่ประมาณ 59.4% ไปให้แก่นายเกษม ณรงค์เดช โดยมีเจตนาเพื่อมิให้บริษัททั้ง 3 แห่งที่เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่หุ้นในส่วนที่อาร์อีซีถืออยู่นั้น ได้ถูกคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว

“ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจากเจ้าหนี้ทั้ง 3 บริษัท ได้ทำรายการขายหุ้น บริษัท อาร์อีซี ให้กับบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (ฟูลเลอร์ตัน) และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (เคพีเอ็นอีเอช) ของนายณพ ณรงค์เดช นักธุรกิจ กลุ่มเคพีเอ็นกรุ๊ปโดยมีสัญญาซื้อขายที่กำหนดรายละเอียดจำนวนหุ้น ราคา และระยะเวลาชำระหนี้ที่ชัดเจน แต่กลับมีการผิดนัดชำระ และขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้หลายครั้ง

“ส่งผลให้เมื่อปี 2559 บริษัทเน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด , ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด ได้ยื่นฟ้อง เคพีเอ็นอีเอช เพื่อเรียกให้ชดใช้เงินที่ค้างชำระบางส่วนตามสัญญาซื้อขายหุ้นอาร์อีซี ส่วนบริษัทซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ ลิมิเต็ด ได้ยื่นฟ้องบริษัทฟูลเลอร์ตัน ต่ออนุญาโตตุลาการ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียกคืนหุ้นอาร์อีซี ในส่วนที่บริษัทฟูลเลอร์ตันถืออยู่ ซึ่งนายณพ ณรงค์เดช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน เคพีเอ็นอีเอช และ ฟูลเลอร์ตัน ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

“ทั้งนี้ อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ให้บริษัทฟูลเลอร์ตันชำระเงินงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัทซิมโฟนี่ ไม่ใช่การคืนหุ้นที่ฟูลเลอร์ตันถืออยู่ในอาร์อีซี และให้บริษัทเคพีเอ็นเอนเนอร์ยี่โฮลดิ้งชำระดอกเบี้ยบางส่วนให้กับบริษัทเน็กซ์โกลบอล และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ผู้แทนของฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็นอีเอช ได้แจ้งต่ออนุญาโตตุลาการว่า อาร์อีซี ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทวินด์ฯไปแล้ว เมื่อไตรมาส 2 ของปี 2559

“และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ภายหลังที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและทางบริษัทฯได้รับทราบว่า นายณพ ได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดออกไปแล้ว จึงได้แจ้งข้อมูลให้สาธารณชนทราบผ่านสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศว่า หุ้นบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่จำนวน 59.4 % ที่ถือโดยอาร์อีซี ได้ถูกห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว ซึ่งคำสั่งได้รวมถึงหุ้นทั้งหมดของเคพีเอ็นเอนเนอร์ยี่ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการว่า การโอนหุ้นหนี เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ เนื่องจากหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีมูลค่าของบริษัทโฮลดิ้ง ดังนั้นทั้ง 3 บริษัทจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญานายณพและพวกในครั้งนี้”

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 นายณพได้แถลงการณ์ถึงคดีความดังกล่าว ความว่า ข่าวดังกล่าวมุ่งทำให้ตนเองและบริษัทได้รับความเสียหายและเป็นการยั่วยุให้มีผู้เสียหายบางคนเตรียมการดำเนินคดีต่อผู้เป็นโจทย์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มูลเหตุที่เกิดการฟ้องเท็จและสร้างเรื่องให้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์นั้น สืบเนื่องมาจากผู้ขายหุ้นประสบปัญหาจนต้องลี้ภัยในต่างประเทศ จึงได้ไปเร่ขายหุ้นให้แก่ผู้อื่นหลายราย แต่ไม่อาจขายได้ เพราะในขณะนั้นสภาพกิจการไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ กลุ่มบริษัทของตนจึงรับความเสี่ยงเข้าซื้อหุ้นไป ซึ่งต่อมากิจการได้ถูกฟื้นฟูให้ดีขึ้น
  ธนาคารไทยพาณิชย์ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานลม จำนวน 5 โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ กำลังการผลิต 450 เมกะวัตต์
ขณะร่วมลงนามในพิธีลงนามแสดงเจตจำนงในการซื้อขายกังหันลมและการให้บริการ ระหว่าง บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด กับ บริษัท เจเนอรัล อิเลคทริค (จีอี)
“ผู้ขายหุ้นเกิดความโลภที่อยากได้หุ้นคืน แม้จะได้รับเงินค่าหุ้นงวดแรกไปแล้วนับพันล้านบาทก็ตาม จึงหาเหตุสร้างเรื่องเป็นคดีความเพื่อทำลายการซื้อขายหุ้น และบังคับให้คืนหุ้นให้ ทั้งๆ ที่การซื้อขายหุ้นได้เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ถึงขนาดไปทำการฟ้องร้องในต่างประเทศเพื่อยกเลิกการซื้อขายหุ้น แต่อนุญาโตตุลาการก็ตัดสินให้ผู้ขายหุ้นแพ้คดี เอาหุ้นคืนไม่ได้ คงได้รับไปแต่เพียงเงินที่ได้รับไปแล้ว และอีกส่วนที่พึงจะจ่ายให้ตามสัญญา ดังที่อนุญาโตฯ ได้แจ้งไว้ ผู้ขายหุ้นยังใช้วิธีการก่อกวนขัดขวางกลุ่มบริษั่ของตนในหลายเรื่อง หลายเหตุการณ์ และใช้วิธีการซื้อหน้าสื่อโฆษณาหลากหลายประเภททั้งในและนอกประเทศ บิดเบือนข้อมูลโจมตีมาโดยตลอด ซึ่งตนก็พยายามเงียบ ไม่ตอบโต้ผ่านสื่อ แต่ใช้วิธีการทางกฎหมายในการปกป้องชื่อเสียงด้วยการฟ้องกลุ่มผู้ขายหุ้นเป็นเงินหลายพันล้านบาท แต่เมื่อมีการฟ้องเท็จกล่าวหาทำลายชื่อเสียงของครอบครัวและยังทำให้บริษัทวินด์ฯ รวมตลอดถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทวินด์ฯ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากด้วยแล้ว ทั้งๆ ที่ผู้ขายหุ้นไม่ได้เป็นเจ้าหนี้หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทวินด์ฯ แต่อย่างได้ จึงทำให้ไม่อาจอดทนต่อไปได้ จำเป็นต้องออกมาชี้แจงให้ความจริงปรากฏ”

นายณพยังระบุด้วยว่า นอกจากพฤติกรรมของผู้ขายหุ้นที่ใช้วิธีการฟ้องร้องและใช้สื่อโจมตีดังกล่าวมานั้น ผู้ขายหุ้นรายนี้ก็ยังใช้วิธีการจ้างวานผู้อื่นให้ฟ้องร้องอีกหลายเรื่อง แต่ทุกเรื่องก็เป็นฝ่ายที่แพ้คดีและถอนฟ้องไปเอง ล่าสุด มีหลักฐานยืนยันไว้ชัดเจนว่า มีคดีหนึ่ง ในขณที่ผู้ขายหุ้นดังกล่าวเคยบริหารกิจการอยู่ ผู้ขายหุ้นรายนี้ได้ใช้จ้างวานอดีตพนักงานของบริษัทที่กลุ่มของตนซื้อมา เอาเงินของบริษัทดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนอยู่หลายครั้ง หลายจำนวน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างชัดแจ้งและยืนยันโดยอดีตพนักงานผู้ถูกใช้จ้างวานดังกล่าว ซึ่งได้แถลงยอมรับต่อหน้าศาลไว้แล้วว่า ผู้ขายหุ้นรายนี้ได้เอาเงินของบริษัทไปจริง โดยขณะนี้ศาลอาญาก็ได้ออกหมายจับผู้ขายหุ้นรายนี้ไว้แล้ว”

และในที่สุดคดีความดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ก็นำไปสู่แถลงการณ์ของพ่อ พี่และน้องของณพ ณรงค์เดชดังที่เป็นข่าวคึกโครมอยู่ในขณะนี้ กลายเป็นวิบากกรรมที่ตระกูลณรงค์เดชกำลังเผชิญอย่างหนักหนาสาหัส

อย่างไรก็ดี ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันว่า ครอบครัวณรงค์เดชตัดขาดความสัมพันธ์กับนายณพจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการหาทางออกในการแก้ปัญหานิติกรรมที่ครอบครัวณรงค์เดชต้องร่วมรับผิดชอบกับนายณพ

กระนั้นก็ดี เมื่อดูทรงจากองค์ประกอบรอบด้านแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นทางว่า จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะมิใช่ดำเนินการในนามส่วนตัว หากแต่มีชื่อของ “กลุ่มเคพีเอ็น” ปรากฏหราอยู่ด้วย แม้แต่ในเว็บไซต์ของกลุ่มเคพีเอ็นก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์กับวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ อย่างชัดแจ้ง



 ย้อนตำนานศึกสายเลือดพรประภา ผ่าอาณาจักรสยามกลการ-เคพีเอ็น
ถ้าหากกล่าวถึง “ศึกสายเลือดพรประภา” เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งที่หลายคนยังคงจดจำได้ดี โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย เพราะนั่นนำไปสู่การแตกหักครั้งสำคัญของพี่น้องพรประภา กระทั่งกลายเป็น “อาณาจักรสยามกลการ” และ “อาณาจักรเคพีเอ็น” ดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หลังจากการเสียชีวิตของ ดร.ถาวร พรประภา ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกลุ่มบริษัทสยามกลการ ผู้เป็นลูกสาวคือ “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช” แม่ของ “กฤษณ์-ณพและกรณ์” ได้เข้ามารับช่วงบริหารอาณาจักรธุรกิจสืบต่อเป็นรุ่นที่ 2

การเข้ามาบริหารงานของคุณหญิงพรทิพย์ในช่วงนั้น ถือเป็นอีกยุครุ่งโรจน์หนึ่งของสยามกลการ หลังจากได้มีการดึง “นุกูล ประจวบเหมาะ” มาแก้ไขสถานการณ์วิกฤตทางการเงิน จนทำให้สยามกลการกลับยืนได้มั่นคงอีกครั้ง และทำให้ธุรกิจในกลุ่มขณะนั้นพุ่งสูงสุดกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเฉพาะรถยนต์นิสสันที่สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับที่ 3 ของตลาดรถยนต์เมืองไทย เป็นรองแค่โตโยต้าและอีซูซุ เนื่องจากกำลังการผลิตของนิสสันนั้นน้อยกว่า

กลุ่มธุรกิจสยามกลการในช่วงการดูแลของคุณหญิงพรทิพย์ มิได้โดดเด่นในเรื่องของธุรกิจรถยนต์นิสสันเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในเสียงดนตรี จึงได้จัดให้มีการประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ “นิสสัน อวอร์ด” และระดับยุวชน ยามาฮ่า อวอร์ด หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าการประกวดร้องเพลงสยามกลการ ที่ถึงวันนี้สร้างนักร้องระดับประเทศแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย ,นันทิดา แก้วบัวสาย , รวิวรรณ จินดา หรือจะเป็น ทาทา ยัง ล้วนผ่านการเป็นแชมป์จากการประกวดรายการนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่ติดหูติดตากับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานสยามกลการของ คุณหญิงพรทิพย์นั้น ได้ใช้เงินไปกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีการขยายงานบริษัทต่างๆ และจำนวนบริษัทในเครือเพิ่มมากขึ้น จนทำให้การบริหารงานควบคุมไม่ทั่วถึง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคโลกานภิวัตน์ หรือ GOLOBALIZATION จนก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่มสยามกลการอีกครั้ง

ในที่สุดต้องการมีการผลัดไม้อีกครั้ง เมื่อประมาณปี 2536... “พรเทพ พรประภา” ผู้เป็นน้องชายคลานตามกันมาของคุณหญิงพรทิพย์ ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลงานสยามกลการแทนพี่สาว ซึ่งสร้างความปั่นปวนให้กับสยามกลการในยุคนั้นอย่างมาก เพราะนอกจากปัญหาเรื่องของธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไข จนสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต่างพากันพาดหัวข่าว “ศึกสายเลือด” กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่นาน

ที่สุดคุณหญิงพรทิพย์ แยกตัวออกจากสยามกลการ ออกมาปลุกปั้นธุรกิจของตนเองร่วมกับสามี “เกษม ณรงด์เดช” ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ในชื่อกลุ่มบริษัท “เคพีเอ็น” (KPN) โดยจะเน้นไปทางธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็นหลัก แต่การก้าวออกมาครั้งนี้ได้สร้างความฮือฮาเช่นกัน เมื่อคุณหญิงพรทิพย์ได้ดึงรถจักรยานยนต์ “ยามาฮ่า” ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มสยามกลกลการมานานกว่า 30 ปี โดยบริษัทในเครือ “สยามยามาฮ่า” ไปด้วย

จากนั้นมาเคพีเอ็นได้เป็นผู้บริหารรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในไทย แต่ที่สุดต้องขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นไป เพราะไม่สามารถฝ่าฟันการแข่งขันรุนแรง และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังฟองสบู่แตกได้ เป็นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์รายอื่นๆ ในไทย และที่สุดบริษัทแม่เข้ามาดำเนินธุรกิจเอง

เส้นทางเคพีเอ็นภายใต้การกุมบังเหียนของ “คุณหญิงพรทิพย์-เกษม” เติบโตแข็งแกร่งจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเป็นหลัก โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ แต่ด้วยความรักเสียงดนตรีของคุณหญิงพรทิพย์ จึงได้สานต่อด้วยการเปิดสถาบันดนตรี “เคพีเอ็น” และจัดการประกวด “เคพีเอ็น อวอร์ด” เป็นที่รู้จักของชาวไทยทั่วประเทศ

กลุ่มธุรกิจเคพีเอ็นปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า และพลาสติก การลงทุนต่างๆ กลุ่มดนตรีและการศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของลูกๆ ทั้ง 3 คนคือ “กฤษณ์ ณพและกรณ์ ณรงค์เดช”

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน “กฤษณ์-ณพ-กรณ์” เป็นกรรมการ ประมาณ 50 บริษัท มีสินทรัพย์รวมนับหมื่นล้านบาท โดยกฤษณ์เป็นกรรมการ 21 บริษัท ณพเป็นกรรมการ35 บริษัท และกรณ์เป็นกรรมการ 13 บริษัท ส่วน “พอฤทัย” ภรรยาของณพเป็นกรรมการ 12 บริษัท

“สำนักข่าวอิศรา” ระบุว่า เฉพาะ 35 บริษัทที่ณพเป็นกรรมการ (เลิกดำเนินการ 7 บริษัท) ได้แก่ 1.บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด 2.บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท เค พี เอ็น เทรดดิ้ง จำกัด 4.บริษัท เคพีเอ็น มารีน จำกัด 5.บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด6.บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด 7.บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด 8.บริษัท เคพีเอ็น อินโนเวชั่น จำกัด 9.บริษัท เคพีเอ็น เอสเตท จำกัด 10. บริษัท เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน)11. บริษัท เคพีเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด 12.บริษัท ดับบลิวเอชเอ เคพีเอ็น อะไลแอนซ์ จำกัด 13. บริษัท ดี คาเฟ่ จำกัด 14. บริษัท ดู ดู น้อง จำกัด 15. บริษัท ดู เทเลวิชั่น จำกัด16.บริษัท ภูเก็ต เฮดแลนด์ จำกัด 17.บริษัท รีโวล์ มิวสิค ครีเอชั่น จำกัด 18. บริษัท สยาม วิลสัน เลิร์นนิ่ง จำกัด 19. บริษัท เคพีเอ็น กอล์ฟ อคาเดมี จำกัด 20. บริษัท เคพีเอ็น ไชนีส อะคาเดมี จำกัด 21.บริษัท เคพีเอ็น ติวเตอร์ริง จำกัด 22.บริษัท เคพีเอ็น ติวเตอร์ริง อะคาเดมี จำกัด 23.บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด 24. บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค อะคาเดมี จำกัด 25. บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด 26. บริษัท เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ จำกัด 27. บริษัท ท็อปวิว บิสซิเนส จำกัด 28. บริษัท เพนต้า ซิสเต็มส์ จำกัด 29.บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด 30. บริษัท สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด 31. บริษัท สยามคันทรีคลับ จำกัด 32.บริษัท สยามเชียงใหม่ จำกัด 33.บริษัท สยามวีดีโออินสตรูเม้นท์ส จำกัด 34.บริษัท อินโนเวทีฟ เลิร์นนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด 35. บริษัท อีสเทิร์นควีซีน (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทที่ ‘ณพ’ เป็นกรรมการนั้น มีบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 64,717,411 หุ้น (59.46%) บริษัท ดีดี มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด 17,383,498 หุ้น (15.97%) โดยมีนายณพ ณรงค์เดช นายกรณ์ ณรงค์เดช นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ นายอภิชาติ นารถศิลป์ นายวิชัย ทองแตง นายอมาน ลาคานี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินรอบปี 2559 รายได้ 794,785,124 บาท กำไรสุทธิ 246,327,346 บาท สินทรัพย์ 5,947,235,824 บาท หนี้สิน 1,801,007,954 บาท กำไรสะสม 193,712,870 บาท




กำลังโหลดความคิดเห็น