xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไม“เปรมชัย” มั่นใจสุดๆ ถอดรหัสจาก “ผมไม่ได้ฆ่า” ถึง “ผมยืนยันในความบริสุทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว สำหรับ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ยืนยัน นั่งยันและนอนยันว่า ตนเองไม่ได้ฆ่า “เสือดำ” ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก

ครั้งแรก นายเปรมชัยยืนยันว่า “ผมไม่ได้ฆ่า” ในระหว่างการประชุมระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ของอิตาเลียนไทยฯ เมื่อวันที่ 25เมษายน 2561 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาด้วยว่า “ผมก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ได้โทรสอบถามทุกกรมทุกกระทรวงก็มีแต่คนเห็นใจผม”

ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2561 ขณะเดินทางมารายงานตัวตามกำหนดนัดที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ พร้อมด้วยทนายความ เป็นผัดที่ 7 ซึ่งเป็นผัดสุดท้าย โดยนายเปรมชัยให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า “ผมยืนยันในความบริสุทธิ์....ผมยังไม่เข้าใจเหตุการณ์เลย” พร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ นับเป็นเวลากว่า 3 เดือน ที่ทีมพนักงานสอบสวนภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของ “พี่ศรี” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานในการกระทำผิดของนายเปรมชัย และพวก ภายใต้แรงกดดันของสังคมที่ไม่ยอมให้ “เสือดำ” ต้องตายฟรี แม้จะมีรายการยื้อยุดและพยายามเบี่ยงเบนประเด็นจนเป็นที่คาใจของสังคมหลายครั้งหลายครา แต่สายตาสังคมที่จับจ้องทำให้สุดท้ายนายเปรมชัย ก็หนีกรรมไปไม่พ้น

บันทึกคดีสำคัญของป่าทุ่งใหญ่ พ.ศ. นี้ ที่ต้องจารึกไว้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 แถลงสั่งฟ้องคดีนายเปรมชัย พร้อมพวก 4 คน ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ตามคำสั่งเดิมที่สำนักงานอัยการภาค 7 สั่งฟ้องไว้ 6 ข้อหา และไม่จำเป็นต้องสั่งสอบเพิ่มเติมตามคำร้องของนายเปรมชัย

สำหรับ 6 ข้อหาที่กลายเป็นบ่วงมัดคอเจ้าสัวเปรมชัยและพวก ได้แก่ 1.ร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ร่วมกันมีไว้ครอบครอง ซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 4.ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย 5.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต และ 6.ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร

ก่อนหน้าที่จะมีการสรุปคดีฟ้องร้องดังกล่าวข้างต้น คณะทำงานอัยการภาค 7 มีความเห็นสั่งฟ้องนายเปรมชัยและพวกรวม 4 คน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 6 ข้อหา แต่คณะพนักงานสอบสวน ส่งความเห็นแย้งขอให้สั่งฟ้องนายเปรมชัย อีก 3 ข้อหา ทางคณะทำงานอัยการ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาด ซึ่งต่อมานายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ชี้ขาดความเห็นแย้งโดยเห็นพ้องกับคำสั่งของอธิบดีอัยการภาค 7 ที่สั่งฟ้องใน 6 ข้อหาดังกล่าวข้างต้น

สำหรับ 3 ข้อหา ที่คณะพนักงานสอบสวน ขอให้อัยการสั่งฟ้องด้วย แต่อัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่ฟ้องนายเปรมชัยและพวก คือ 1. ข้อหาร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต 2. ชี้ขาดไม่ฟ้องนายเปรมชัย พร้อมพวก ฐานร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่า (กระรอก) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต 3. ชี้ขาดไม่ฟ้องนางนที หรือ เดือน เรียมแสน ผู้ต้องหาที่ 3 ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนั้น อัยการภาค 7 ยังมีความเห็นเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายทางคดีอาญาเกี่ยวกับเสือดำ เดิมตีราคา 460,000 บาท โดยอ้างอิงจากราคาเสือดำของสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี เชียงใหม่ เมื่อปี 2549 แต่อัยการสูงสุด แนะนำว่าการคิดค่าเสียหายควรจะอยู่ที่ 3,012,000 บาท ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสนอมาให้อัยการภาค 7 เนื่องจากคำนึงถึงโครงการเลี้ยงเสือดำของกรมอุทยานฯ ด้วย โดยอัยการภาค 7 ได้แก้ฟ้องและเรียกค่าเสียหายตามที่กรมอุทยานฯ เสนอมา

การดิ้นรนของนายเปรมชัย ก่อนจะถูกอัยการภาค 7 ฟ้องร้องต่อศาลนั้น นายเปรมชัย ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีอัยการภาค 7 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 ขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานที่อยู่ของนายเปรมชัยฯ ในช่วงวันเวลาเกิดเหตุ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วย และขอให้สอบสวนเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 3 คน รวมทั้งให้สอบสวนบุคคลภายนอกและนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม แต่ทางคณะทำงานและอธิบดีอัยการภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่จำต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่นายเปรมชัยร้องขอ

นอกเหนือจากคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายเปรมชัย ยังต้องคดีครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายในบ้านพักเลขที่ 12/3 ซ.ศูนย์วิจัย 3 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งหลังศาลสอบคำให้การแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ

สำหรับคดีครอบครองอาวุธปืนนับเป็นสำนวนที่ 2 ที่นายเปรมชัย ถูกยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยยังมีคดีครอบครองงาช้างแอฟริกา 2 คู่ ที่อัยการยื่นฟ้องนายเปรมชัยกับภรรยาและพวกอีก 1 รายเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การคดีงาช้าง ในวันที่ 7 พ.ค.นี้

เป็นอันว่าอิทธิฤทธิ์ของเสือดำที่ไม่ตายฟรีทำให้ถึงตอนนี้ นายเปรมชัยและพวก มีคดีติดตัวอยู่ 3 คดี สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ คดีล่าสัตว์ป่าในเขตคุ้มครองฯ , คดีครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และคดีครอบครองงาช้างแอฟริกา

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่าน เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 ระบุว่า “เมื่อโดนจับคุณโชคร้ายที่ฝ่ายกฎหมายของคุณตัดสินใจให้คุณปฏิเสธ เพราะเห็นช่องทางใช้วิธีพิจารณาคดีอาญาต่อสู้ว่าไม่มีหลักฐานมัดตัวว่าคุณเป็นคนยิงเอง แต่จริงๆ แล้วพฤติการณ์แห่งคดี พบข้อเท็จจริงว่าพวกคุณลักลอบนำอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ในรถก่อนตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนที่จะลักลอบเข้าไปตั้งแคมป์ในเส้นทางและบริเวณพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปซึ่งเป็นบริเวณที่สงวนไว้สำหรับการอยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่าตามธรรมชาติอีก แสดงให้เห็นว่าพวกคุณมีเจตนาเข้าไปภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อล่าสัตว์ป่าตั้งแต่แรกแล้ว มิได้มีเจตนาเข้าไปเพียงเพื่อการพักผ่อน การที่คุณมีซากสัตว์ป่า และร่องรอยกระสุน บนซากสัตว์ป่า เศษซากกระดูกสัตว์ป่าที่พบในลำห้วย รวมถึงการประกอบอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ป่า ที่ตรวจพบในบริเวณที่ตั้งแคมป์ล้วนเป็นพยานวัตถุสำคัญที่ชัดเจนยิ่งว่าพวกคุณได้ร่วมกันกระทำความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครองภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”

“คุณโชคร้ายที่วันนี้ฝ่ายราชการในกรมอุทยานฯ เองก็ไม่ใช่จะเคลียร์ง่าย คนดีๆ ตั้งใจทำงานเขามีศักดิ์ศรีของเขา ผลตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จากชิ้นส่วนซากสัตว์ ทั้งเนื้อ กระดูก และหนัง ยืนยันว่าเป็นเสือตัวเดียวกัน พบอาวุธปืนมีร่องรอยกระสุนและ DNA บนมีด เขียง เพียงพอที่จะทำให้พนักงานอัยการเชื่อได้ว่า เสือดำถูกยิง ถูกล่าและชำแหละ และแม้ว่าคุณจะอ้างว่าไม่ได้เป็นคนลงมือ แต่อาวุธปืน มีด เขียง รถยนต์ที่ใช้เข้าป่า เป็นของคุณทั้งสิ้น เข้าข่ายลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ สามารถพิสูจน์ความผิด”

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว คดีนี้จะลงเอยอย่างไร เจ้าสัวเปรมชัยจะจบชีวิตนายพรานใหญ่ที่โปรดปรานไว้ที่ซากเสือดำแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ หรือจะมี “จุดพลิกผัน” อันใด เพราะดูเหมือนว่าเขาจะมั่นใจในแนวทางต่อสู้คดี และกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ไม่ได้ฆ่า” จนน่าแปลกใจ






กำลังโหลดความคิดเห็น