xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทลายรัง! เมจิก สกิน - ลีน อย. 4.0 มาช้า...ยังดีกว่าไม่มา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากกรณีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางในเครือ “เมจิก สกิน” (Magic skin) ที่มีดารานักแสดงกว่า 59 คน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ร่วม “รีวิวสินค้า” สร้างเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ และกรณีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ลีน” (Lyn) ที่มีส่วนผสมของสารอันตรายเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี “เลขทะเบียน อย.” ถูกต้อง จึงตามมาซึ่งคำถามสำคัญ เครื่องหมาย อย. นั้นยัง “การันตีความปลอดภัย” ผู้บริโภคอยู่หรือไม่?

ต้องยอมรับว่าการจับกุมและดำเนินคดีผลิตภัณฑ์ “เมจิก สกิน” และ “ลีน” ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่วางจำหน่ายในท้องตลาด รวมทั้ง “สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” เกิดคำถามขึ้นทำนองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย. มัวทำอะไรอยู่?

นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าตลาดกว่า “100,000 ล้านบาทต่อปี” ทว่า พบผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมในท้องตลาด “40 เปอร์เซ็นต์” เป็น “ผลิตภัณฑ์ปลอม” ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่มีโรงงานผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานประมาณ 1,000 กว่าโรงงาน แต่มีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานลักลอบผลิตอีกกว่า 10,000 โรงงาน เนื่องจากการขอทะเบียนจาก อย. เป็นเรื่องยากแต่การผลิตทำได้ง่าย จึงมีโรงงานไร้มาตรฐานผุดเป็นดอกเห็ด

สำหรับขั้นตอนการขออนุญาตผลิตอาหารเสริมว่าต้องมีการตรวจโรงงานตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ซึ่งมีการตรวจโรงงานเพื่อขอใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี เมื่อตรวจโรงงานแล้วจะแจ้งสูตรส่วนประกอบสำคัญมาให้ทาง อย. พิจารณาก่อนจะอนุญาตให้ผลิตหรือไม่

เบื้องหลังการขอเลขทะเบียน อย. นั้นทำกันเป็นกระบวนการ “โรงงานเถื่อน” จะมีวิธีการขอเลขทะเบียน อย. อย่างรวดเร็ว โดยยื่นสูตรผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ถูกต้องตามมาตรฐานเพื่อให้ได้เลขทะเบียน อย. จากนั้นจะมาปรับสูตรใส่สารอื่นๆ เพิ่มเติมลงไป เพื่อให้เห็นผลทันใจดังคำโฆษณาชวนเชื่อ ยกตัวอย่าง อาหารเสริมลดน้ำหนักแนะนำให้ใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเห็นผลรวดเร็วชัดเจนแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ทว่า เมื่อได้เลขทะเบียน อย. ไปแล้ว หากโรงงานมีปรับสูตรเพิ่มสารอันตรายส่วนนี้เป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก ข้อมูลเผยว่า อาหารเสริมอาหารมีในระบบกว่า 30,000 รายการ แต่การสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลทำได้ประมาณ 300 แบรนด์ต่อปี ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด

ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อย. ยากที่จะควบคุมได้อย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะสุ่มตรวจแบรนด์ที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากตามที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม การจับกุมผลิตภัณฑ์เครืองสำอางและอาหารเสริมใน “เครือเมจิกสกิน” ที่มีการนำดาราคนดังมากมายและแพทย์มาร่วม “รีวิวสินค้า” นำสู่ขยายผลสู่การการดำเนินคดีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อ “ลีน” ของ บริษัท Food Science Supply Service จำกัด ที่ตรวจพบสารอันตรายอันเป็นสาเหตุให้ผู้รับประทานผลิตภัณฑ์ลีน เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

สารอันตรายที่ว่าก็คือ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) และ “บิซาโคดิล” (Bisacodyl)

ทั้งนี้ ไซบูทรามีน ถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักแบบรับประทาน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองของมนุษย์ ปี 2551 คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศในแถบอเมริกา ได้ผลักดันให้ยาไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ใช้ลดน้ำหนัก แต่ต่อมาตรวจพบว่ายานี้มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงเช่น ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ มีความดันโลหิตสูง แรงดันโลหิตในปอดเพิ่มมากขึ้น เจ็บหน้าอก ตาพร่า หายใจไม่ออก หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ไตวาย รายงานว่าผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิต กระทั่ง ปี 2553 ยาไซบูทรามีนจึงถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาของสหรัฐอเมริกา ส่วน บิซาโคดิล คือยาระบาย กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ลีนอาหารเสริมลดน้ำหนักปนเปื้อนสารอันตราย ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เภสัชฯ แห่รีวิวโฆษณาชวนเชื่อการันตีความปลอดภัย ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้ไม่เป็นดังคำโฆษณา

หลังจากเฝ้าจับตาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมไม่ได้มาตรฐานมาสักพัก อย. รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบุกทลาย 2 แบรนด์ใหญ่ เมจิก สกิน และ ลีน

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าวอธิบายถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาว่ามีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เข้ามาขออนุญาตอย่างถูกต้องกับ อย. แต่มีการนำเอาเลข อย. ที่ได้ไปผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ไม่ผลิตตามสถานที่แจ้ง, ปรับแต่งสูตรไม่เป็นตามที่แจ้งไว้กับ อย. ฯลฯ 2. กลุ่มที่ลักลอบผลิตอยู่แล้ว แอบเปิดโรงงาน ใช้วัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ

ขณะเดียวกัน อย. ได้ถอดบทเรียนกรณีที่เกิดขึ้น โดยจะเพิ่มมาตรการกำกับดูแลในส่วนผู้ประกอบการดังต่อไปนี้

1. เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองการยื่นขออนุญาตทางระบบออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาหากยื่นตรงตามหลักเกณฑ์ก็จะออกใบอนุญาตหรือเลข อย. แบบอัตโนมัติ แต่ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 ได้ยกเลิกการให้ทะเบียนอัตโนมัติไปแล้ว ต่อจากนี้จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองอีก ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน เช่น ตั้งชื่อไม่เหมาะสม อ้างสรรพคุณไม่เหมาะสม ก็จะกรองออก และเมื่อมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็จะจับตามองผลิตภัณฑ์นั้นๆ

2. ออกกฎกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ในการกำหนดมาตรฐานสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ซึ่งจะออกมาบังคับใช้ในช่วง มิ.ย. 2561 กำหนดมาตรฐานสถานผลิตเครื่องสำอางเพื่อประกันคุณภาพของการผลิตขจัดสินค้าด้อยคุณภาพ

3. สร้างเครือข่ายผู้บริโภคในการร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่แอบผลิต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ อย. มีน้อย กล่าวคือ ขณะที่เครื่องสำอางมีในระบบถึง 700,000 รายการ เสริมอาหารมีในระบบกว่า 30,000 รายการ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจเครื่องสำอางของส่วนกลางมีแค่ 60 คน ส่วนของอาหารมีเพียง 8 คน ดังนั้น ต้องสร้างเครือข่ายร่วมแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1556, ไลน์ : FDAThai และเว็บไซต์ อย.

ส่วนการเสนอกฎหมายเพิ่มโทษการแก้กฎหมายนั้นต้องใช้เวลา ซึ่งกฎหมายปัจจุบันมีปรับตั้งแต่ 5,000ถึง 100,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 - 3 ปี สิ่งที่ทำได้เลยคือจะหาข้อมูลและสินค้าที่มีผลกระทบสูง จะทำสำนวนร่วมกับตำรวจตั้งข้อหาสูงสุดที่กฎหมายมีในปัจจุบันให้เข็ดหลาบ โดยขอความร่วมมือจากประชาชนร่วมกันแจ้ง หากมีการจับกุมและศาลพิจารณาตัดสินคดี เงินค่าปรับจะแบ่งให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า ภาพรวมของปัญหาไม่ได้เกิดจาก อย. เพียงฝ่ายเดียว หากพิจารณาครอบคลุมมีปัจจัยจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และสื่อ

อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งตัวยาลดความอ้วนรวมทั้งเครื่องสำอาง ปัญหาลักษณะนี้มีมา 20 กว่าปี อย. ถูกกดดันแง่ธุรกิจผ่านรัฐบาลในแง่ขึ้นทะเบียนให้เร็วขึ้นอนุญาตให้เร็วขึ้นลดขั้นตอนเพิ่มความสะดวก จน อย.พัฒนาระบบ E-Submission (ยื่นคำขออนุญาตด้านอาหารออนไลน์) ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนกำลังคนงบประมาณในการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสินค้าก่อนออกสู่ตลาดกลับไม่สมดุลกลายเป็นปัญหา กระบวนการขั้นตอนขอเลขทะเบียน อย. มีความรัดกุม เพียงแต่การสุ่มตรวจสินค้าอาจไม่ครอบคลุมเท่าทันผู้ประกอบการที่มีเจตนาไม่ดี

“เป็นปรากฎการณ์ซ้ำซากที่อาศัยจุดอ่อนของคนไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความประสงค์ไม่ดีของผู้ผลิตที่จับจุดอ่อนผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เป็นปัญหา คนไทยส่วนนึงอยากมีหุ่นดี แต่ไม่คุมอาหารไม่ออกกำลังกาย ชอบทางลัด หรือเครื่องสำอางตัวปัญหา คนไทยชอบความขาวความสวย ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็ขายดีขายได้เรื่อยๆ ผู้ผลิตก็จับจุดตรงนี้แล้วใส่สารอันตายที่มีการห้ามมาตลอดและมีการตรวจเป็นระยะ มันเป็นปัญหาเก่าแต่รูปแบบใหม่ มีการองค์ประกอบใหม่ขึ้นมา แชร์ลูกโซ่ การรีวิวของดารา พิธีกร และหมอ สร้างวิธีการให้ อย. ตรวจสอบยาก ขึ้นทะเบียนถูกต้องแต่ไปดัดแปลงสูตร ในครั้งนี้ อย. ก็ดำเนินการรวมกับตำรวจจับกุมและทำลาย”

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่กฎหมายในปัจุบันหลายฉบับยังล้าสมัย พ.ร.บ. อาหาร - พ.ร.บ. ยา ล่วงเวลากว่า50 ปียังแก้ไม่ได้เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ต่างคนต่างไม่ยอมลดราวาศอก ตกลงกันไม่ได้ หาจุดร่วมไม่ได้ ทำให้การแก้ไขกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมมันไม่เกิดขึ้น การแก้กฎหมายเป็นแนวทางแก้ปัญหาทางหนึ่ง เช่น การเพิ่มโทษให้หนักขึ้น การโฆษณาอันเป็นเท็จและหลอกลวง การควบคุมการรีวิวสินค้า ฯลฯ

ต้องยอมรับว่า อย. มีข้อจำกัดในการทำงานหลายประการ ยกตัวอย่าง อย. ไม่มีอำนาจทางกฎหมายไปปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือครั้งหนึ่งเคยอาศัย กสทช. ช่วยปรามโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างเกินจริง ชวนเชื่อโดยนำดารารุ่นใหญ่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือ นำชาวบ้านมาเป็นเคสกรณีศึกษา ซึ่ง กสทช. บอกจะไม่ให้โฆษณาแต่สุดท้ายก็ได้โฆษณาต่อ เพียงแต่ต้องเพิ่มคำเตือนขึ้นมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในส่วนของการโฆษณาทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ อย. ได้ประสาน กสทช. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ อย. เข้าไปตรวจสอบโฆษณาทุกชิ้น ซึ่งหากพบว่าไม่เหมาะสม กสทช. จะระงับทันที และในอนาคตเตรียมขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการที่ทำผิดซ้ำๆ ไม่ให้ยื่นขอเลข อย. ได้อีก

ก็ได้แต่หวังว่า “อย. 4.0” จะพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็น “เหยื่อ” ของผลิตภัณฑ์ไร้คุณภาพ สร้างกลไกคุ้มกันประชาชนให้ “รู้เท่าทัน” และไม่เกิดเหตุซ้ำซากเหมือนเช่นที่ผ่านมา




กำลังโหลดความคิดเห็น