ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ
อัมเบดการ์เดินทางไปลอนดอนเดือนกรกฎาคม ปี 1920 ในช่วงเวลา 3 ปีที่อัมเบดการ์ศึกษาในลอนดอน เขาใช้เงินประหยัดมาก ยกเว้นเรื่องซื้อหนังสือ อัมเบดการ์มุ่งมั่นที่จะสำเร็จการศึกษาซึ่งต่างจากช่วงแรกที่เขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ต่างจากเพื่อนนักศึกษาชาวอินเดียในลอนดอนที่มักจะมีเงิน และเวลาสำหรับกิจกรรมในยามว่าง กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของอัมเบดการ์ในลอนดอนคือ การอ่านหนังสือทั้งในพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดตั้งแต่เปิดจนปิด ในลอนดอนอัมเบดการ์หล่อหลอมชีวิตของตนด้วยประสบการณ์สำคัญสามเรื่องดังต่อไปนี้
ประสบการณ์แรกของอัมเบดการ์สัมพันธ์กับการเรียนของเขาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ในปี 2016 ซึ่งเป็นปี ‘125 ปีชาตกาล อัมเบดการ์’ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ได้เผยข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์ของอัมเบดการ์ในวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ หนึ่งในนั้นคือ จดหมายรับรองจากเอ็ดวิน เซลิกแมน อาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ของอัมเบดการ์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเขียนถึงเฮอร์เบิร์ต ฟ็อกซ์เวล นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังผู้วิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่สังกัดวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ จดหมายดังกล่าวมีเพียงสองย่อหน้า ย่อหน้าแรกกล่าวถึงหลักสูตรที่อัมเบดการ์เรียน ณ โคลัมเบีย และความโดดเด่นของเขาพร้อมกับความปรารถนาของเขาที่จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีในอังกฤษเพื่อทำวิจัยที่เขาสนใจให้เสร็จสมบูรณ์ ในย่อหน้าที่สองเซลิกแมนระบุความรู้ความสามารถและบุคลิกลักษณะของอัมเบดการ์ว่า “... เขาไม่เพียงแต่เป็นคนเก่งมากเท่านั้น แต่ยังน่าคบหาอย่างยิ่งด้วย และข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านจะทำให้เขาเท่าที่ทำได้”
หลังจากได้รับจดหมายดังกล่าว ฟ็อกซ์เวลกลับมีข้อความถึงมิสซิสมายร์ เลขานุการวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ว่า “ผมทราบว่าเขาเรียนจบปริญญาเอกแล้ว และมาที่นี่ [วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ] เพื่อทำวิจัยให้เสร็จ ... ผมขออภัยด้วย ... ที่นี่ไม่มีโลกให้เขาพิชิตอีกแล้ว” ฟ็อกซ์เวลไม่น่าจะทราบว่า เพราะเหตุใดอัมเบดการ์จึงต้องมาเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ซ้ำอีก ทว่าสำหรับอัมเบดการ์แล้ว เขายังมีอีกหลายโลกที่ต้องพิชิตอยู่ โลกแรกคือโลกแห่งกฎหมายที่เขาต้องการจะเป็นเนติบัณฑิตเพื่อเลี้ยงชีพของตนและครอบครัวในอินเดียได้ แต่เนื่องจากอัมเบดการ์ไม่เคยมีวุฒิการศึกษาด้านนิติศาสตร์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติเขาจึงต้องหาสถาบันสังกัดเพื่อสอบเนติบัณฑิตที่เกรย์สอินน์เสียก่อน การสมัครเรียนซ้ำด้านเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ จึงน่าจะทำให้เขามีสถาบันต้นสังกัดเพื่อสอบกฎหมายที่เกรย์สอินน์ได้ ในเมื่อสมัครเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะเหตุผลดังกล่าวแล้ว เขาก็คิดที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์ให้จบ เพราะเขายังมีอีกหลายประเด็นในโลกวิชาการและโลกเศรษฐศาสตร์ที่ต้องพิชิตอยู่
ควรตระหนักด้วยว่า ในเวลานั้นวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่เน้นความเสมอภาคมากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะทำให้อัมเบดการ์มีกรอบความคิดทางวิชาการโดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างจากเดิม หรือที่อาจจะเสริมความรู้เศรษฐศาสตร์ของเขาให้แกร่งขึ้นกว่าเดิม ประสบการณ์ของอัมเบดการ์ก่อนจะเดินทางมายังลอนดอนน่าจะทำให้อัมเบดการ์เห็นบ้างแล้วว่า การต่อสู้กับผู้คนที่เหยียดวรรณะในองค์กรไม่กี่คนหาใช่สิ่งพึงประสงค์ไม่ การต่อสู้ในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นการให้การต่อคณะกรรมการเซาธ์เบอโรเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามแผนปฏิรูปมงตากิว-เชล์มสเฟิร์ดของรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย หรือการประชุม ณ เมืองมาณกาวน์ และนาคปูร์เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกดขี่ที่มีมหาราชาแห่งโกลหาปูร์เป็นผู้สนับสนุน หรือการตีพิมพ์บทความทั้งในหนังสือพิมพ์และวารสารก่อนจะเดินทางมาลอนดอนนั้น น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า ดังนั้นแล้ว การจะมีปริญญาบัตรเพิ่มอีกสองใบพร้อมกับการเป็นเนติบัณฑิตคงจะช่วยให้เขาเอาชนะชนชั้นนำในอินเดียในโลกสุดท้ายคือโลกแห่งความอยุติธรรมที่วรรณะเป็นตัวแปรได้
แม้ข้อความที่ฟอกซ์เวลเขียนถึงเลขาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ จะเป็นไปเพื่อมิให้รับอัมเบดการ์เข้าเรียน แต่อัมเบดการ์ก็เข้าเรียนจนได้ ไม่ทราบว่าอัมเบดการ์ใช้วิธีใด ทั้งนี้วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ได้เผยว่า ในเดือนเมษายน ปี 1921 เมื่ออัมเบดการ์ได้ส่งฟอร์มการสอบล่าช้า มิสซิสมายร์ เลขานุการวิทยาลัยฯ ได้เขียนจดหมายถึงนายทะเบียนมหาวิทยาลอนดอน ซึ่งขณะนั้นวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ สังกัดอยู่ภายใต้ เพื่อขอผ่อนผันให้อัมเบดการ์ส่งฟอร์มช้าได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า มิสซิสมายร์น่าจะเป็นคนช่วยอัมเบดการ์ในเรื่องการเข้าเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ
เอกสารของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ยังบอกเรื่องสำคัญอีก 2 เรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์อัมเบดการ์ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ เรื่องแรกเกี่ยวกับการลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ ของอัมเบดการ์ในปี 1916 ซึ่งอัมเบดการ์อยู่ในลอนดอนได้เพียงหนึ่งปีก่อนจะกลับอินเดียเพื่อไปใช้ทุนในรัฐบโรดา เรื่องที่สองว่าด้วยการศึกษาของอัมเบดการ์ในครั้งที่สอง สำหรับครั้งแรกนั้น อัมเบดการ์เคยลงเรียนวิชาภูมิศาสตร์กับฮาลเฟิร์ด แมกคินเดอร์ วิชาความคิดทางการเมืองกับโกลด์สเวอร์ธี โลเวส ดิกคินสัน และวิชาวิวัฒนาการสังคมและทฤษฎีสังคมกับเล็นเนิร์ด ทรีลอว์นี ฮอบเฮาส์ จะเห็นได้อีกครั้งว่า แม้อัมเบดการ์จะเรียนเอกด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เขาก็ใฝ่รู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย ดังที่เขาเคยทำ ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในขณะเดียวกันอาจสันนิษฐานได้ด้วยว่า อัมเบดการ์น่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะฐานคิดเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง และความคิดเรื่องลัทธิเสรีนิยมจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเหล่านี้
สำหรับการศึกษาครั้งที่สองที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ อัมเบดการ์เรียนเศรษฐศาสตร์กับฟ็อกซ์เวลและเอ็ดวิน แคนเนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ความคิดเศรษฐศาสตร์ ที่มีผลงานโด่งดังในการชำแหละเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก นักวิชาการทั้งสองคนสอนอยู่ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ตั้งแต่วิทยาลัยแห่งนี้สถาปนาขึ้นในปี 1895 เอกสารของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ เผยด้วยว่า อัมเบดการ์น่าจะได้เจอธีโอดอร์ เกรกอรี ผู้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้านการค้าระหว่างประเทศในปี 1920 ซึ่งในภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษในอินเดียระหว่างปี 1938-1946
ในช่วงแรกประมาณเมษายน ปี 1921 อัมเบดการ์ได้ส่งวิทยานิพนธ์ การกระจายการเงินของจักรวรรดิอังกฤษในอินเดียสู่ระดับแคว้น เพื่อขอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งอัมเบดการ์สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตในเดือนมิถุนายน ปี 1921 ในเดือนมีนาคม ปี 1923 อัมเบดการ์ส่งดุษฎีนิพนธ์ ประเด็นปัญหาเงินรูปี เพื่อขอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยขั้นตอนแล้ว อัมเบดการ์จะต้องรอสักพักเพื่อทราบผลของคณะกรรมการดุษฎีนิพนธ์ ฉะนั้นแล้ว เขาจึงใช้เวลาว่างศึกษาภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ที่ตอบรับให้เขาเข้าเรียน และเขาก็เดินทางไปเยอรมนี อยู่เยอรมนีได้พักเดียว แคนเนินก็เรียกอัมเบดการ์กลับลอนดอน เพราะคณะกรรมการดุษฎีนิพนธ์ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ มีมติไม่ผ่านดุษฎีนิพนธ์ของเขา อัมเบดการ์ยอมปรับเปลี่ยนบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ เขาเดินทางกลับบอมเบย์เดือนเมษายน ปี 1923 และส่งดุษฎีนิพนธ์ฉบับแก้ไขในเดือนพฤศจิกายน ปี 1923 อีกไม่นานนักเขาจะได้รับแจ้งทางโทรเลขว่าเขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ แล้ว
ในเวลาต่อมา ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ได้รับตีพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์ พี. เอส. คิง แอนด์ ซัน จำกัด อัมเบดการ์อุทิศหนังสือเล่มนี้ให้บิดามารดาของตน ขอบพระคุณสำหรับ “การเสียสละที่ทั้งสองได้กระทำ และการให้ความสว่างทางปัญญาที่ทั้งสองได้แสดงในเรื่องการศึกษา” ของตน หากรามยีและภิมาไบบิดามารดาของอัมเบดการ์ยังมีชีวิตอยู่คงจะภูมิใจไม่น้อยเลยที่ลูกคนสุดท้องที่ทั้งสองลงทุนลงแรงในด้านการศึกษา บัดนี้ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกใบที่สองจากสถาบันอันมีชื่อเสียงโด่งดังของโลกแล้ว ทั้งสองคงจะนึกถึงคำทำนายของลุงของรามยีคนหนึ่งที่ว่า ครอบครัวของรามยีจะผลิตบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้จะฝากรอยประทับในประวัติศาสตร์โดยปลดแอกประชาชนผู้ถูกกดขี่ด้วย
วกกลับมาเรื่องดุษฎีนิพนธ์ของอัมเบดการ์อีกครั้ง เพราะเหตุใดคณะกรรมการดุษฎีนิพนธ์จึงไม่ให้อัมเบดการ์สอบผ่านในครั้งแรก ทั้งกีร์และออมเว็ดท์ให้เหตุผลว่า สารัตถะของดุษฎีนิพนธ์มีความเป็นการเมืองมาก มุ่งวิพากษ์นโยบายจักรวรรดิอังกฤษ และออกนอกกรอบหลักเศรษฐศาสตร์ ดังที่อัมเบดการ์ได้แสดงให้เห็นในดุษฎีนิพนธ์นี้ว่า ข้อตกลงในประเด็นปัญหาสกุลเงินนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเงินรูปีและเงินปอนด์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของอังกฤษบนความทุกข์ยากของประชาชนชาวอินเดียทั้งหมด ทว่าในปี 2016 วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และยกความผิดพลาดทางวิชาการของอัมเบดการ์เป็นเหตุผลหลัก ดังที่อัมเบดการ์เขียนใน ‘คำนำ’ หนังสือของตนในส่วนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามิอาจจบคำนำนี้ได้โดยไม่สำแดงความสำนึกบุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อครูของข้าพเจ้า ศ. เอ็ดวิน แคนเนิน ... ความกรุณาที่ท่านมีต่อข้าพเจ้าและความใฝ่ใจต่องานที่ข้าพเจ้าเพียรเขียนขึ้นนั้น เป็นหนี้ที่มิอาจชดใช้ได้หมด ข้าพเจ้าสุขใจที่พูดได้ว่างานชิ้นนี้ท่านเป็นผู้ตรวจอย่างละเอียดด้วยมือของท่านเอง และแม้ว่าท่านจะมิได้มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ต่อทรรศนะที่ข้าพเจ้าได้แสดงไว้เลย กล่าวได้ว่าการตรวจสอบข้ออภิปรายทางทฤษฎีของข้าพเจ้าอย่างกวดขันนั้นทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากข้อผิดพลาดไปหลายประการ”
น่าสังเกตด้วยว่า ‘คำนำ’ ในหนังสือทั้งฉบับที่หนึ่ง (ปี 1923) และฉบับที่สอง (ปี 1947) อัมเบดการ์มิได้แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับมติกรรมการอ่านดุษฎีนิพนธ์ครั้งแรก ดังนั้นแล้ว ในปี 2016 วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ จึงเขียนด้วยว่า “แคนเนินตอบแทนคำสรรเสริญนี้โดยเขียนคำนิยมให้แก่หนังสือ ...” ส่วนหนึ่งของ ‘คำนิยม’ โดยแคนเนินระบุว่า
“ดีใจที่คุณอัมเบดการ์ให้โอกาสข้าพเจ้าพูดเรื่องหนังสือที่เขาเขียนสักหน่อย อย่างที่เขาทราบ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับข้อวิพากษ์ของเขาหลายเรื่อง ข้าพเจ้ามิได้ร่วมโจมตีระบบนั้นกับคุณอัมเบดการ์ และมิได้ยอมรับข้ออภิปรายส่วนใหญ่ของเขาต่อระบบและผู้สนับสนุนระบบ แต่เขาย้ำหัวตะปูได้อย่างหนักแน่นมาก และแม้แต่เมื่อข้าพเจ้ามองว่าเขาผิด ข้าพเจ้าก็ยังมองเห็นความสดใหม่ที่ช่วยกระตุ้นความคิดอยู่ในทรรศนะและเหตุผลของเขา ครูแก่ ๆ อย่างข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะมีขันติธรรมต่อความแหวกแนวที่ผันแปรมากมาย แม้แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นแข็งขืนต่อ “การตรวจสอบอย่างกวดขัน” อย่างที่คุณอัมเบดการ์พูดไว้ ในข้อสรุปทางปฏิบัติของเขา ข้าพเจ้าอยู่ข้างจะเชื่อว่าเขาถูก”
ในทางตรงกันข้าม ‘คำนิยม’ ของแคนเนินกลับกล่าวถึงความเห็นที่ไม่ลงรอยระหว่างเขากับอัมเบดการ์ ยกเว้นส่วนสรุป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง 2 ข้อต่อไปนี้ด้วย อาจจะกล่าวได้ว่า เหตุผลของกีร์และออมเว็ดท์ก็ดูสมเหตุสมผลไม่น้อยเลยทีเดียว
1.ในกิจกรรมของสโมสรนักศึกษาที่อัมเบดการ์เคยอ่านเรียงความของตน และนำไปสู่การโต้วาทีที่ดุเดือดจนทำให้ลาสกีเข้ามาแทรกแซงเพื่อยุติการโต้วาทีนั้น บ่งบอกได้ไม่น้อยเลยว่า อัมเบดการ์มีความคิดเชิงวิพากษ์ต่อระบบที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการปกครองของอังกฤษและขบวนการชาตินิยมอินเดียที่ไม่สนใจการปลดแอกทลิต ดุษฎีนิพนธ์ที่อัมเบดการ์เขียนเพื่อขอสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็เช่นกัน แม้จะมีเนื้อหาต่างกับดุษฎีนิพนธ์ที่เขาเขียนส่งเพื่อขอสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ แต่ทั้งสองฉบับก็วิพากษ์การบริหารจัดการอินเดียโดยจักรวรรดิอังกฤษอย่างชัดเจน เพียงแต่อัมเบดการ์ไม่ประสบปัญหาใด ๆ ณ โคลัมเบีย เพราะในสหรัฐฯ แทบจะไม่มีใครสนใจการโจมตีจักรวรรดิอังกฤษมากนัก ทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมบ่งบอกความต่อเนื่องทางความคิดเชิงวิพากษ์ต่อจักรวรรดิอังกฤษของอัมเบดการ์ และ
2.ชีวประวัติอัมเบดการ์ที่เขียนโดยกีร์นั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1954 หนึ่งปีก่อนอัมเบดการ์จะถึงแก่อสัญกรรม หน้าปกหนังสือเล่มนี้ระบุด้วยว่า หนังสือเล่มนี้เป็น “ชีวประวัติแท้จริงฉบับเดียวที่ ดร. อัมเบดการ์อ่านและรับรองเอง” อัมเบดการ์ผู้ซึ่งชอบอ่านหนังสือและน่าจะให้ความสำคัญแก่ชีวประวัติของตนคงได้อ่านประโยคที่กีร์เขียนไว้ว่า “… ดุษฎีนิพนธ์ของเขา [อัมเบดการ์] ได้สร้างความขัดเคืองแก่กรรมการสอบที่เป็นฝ่ายจักรวรรดินิยมอังกฤษ …” แต่ปรากฏว่ามิได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรในส่วนนี้ นี่ย่อมหมายความว่า การโจมตีจักรวรรดิอังกฤษน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งเบื้องหลังมติกรรมการอ่านดุษฎีนิพนธ์ของอัมเบดการ์
โดยสรุปแล้ว คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า เหตุผลเบื้องหลังมติแรกคณะกรรมการดุษฎีนิพนธ์มีทั้งเรื่องของความผิดพลาดทางทฤษฎี และความรู้สึกไม่พอใจที่เนื้อหาของดุษฎีนิพนธ์ต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ กล่าวอีกนัยคือ ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้น่าจะเป็นความประนีประนอมระหว่างอัมเบดการ์กับแคนเนิน ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์แล้ว ยังน่าจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนสื่อสารไกล่เกลี่ยกับกรรมการดุษฎีนิพนธ์คนอื่น ๆ ด้วย
เหตุที่ต้องพรรนณาเรื่องดุษฎีนิพนธ์ฉบับที่สองของอัมเบดการ์ค่อนข้างละเอียด เพราะงานเขียนของอัมเบดการ์ทั้งหมดสำคัญมาก ช่วยบ่งบอกความเป็นตัวตนของอัมเบดการ์ไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ 2 ฉบับ และดุษฎีนิพนธ์อีก 2 ฉบับ ล้วนสำแดงให้เห็นว่า อัมเบดการ์มิได้ชื่นชมอังกฤษ และชี้ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งด้วยว่า อังกฤษเอารัดเอาเปรียบอินเดียเพื่อประโยชน์ของตน อัมเบดการ์วิพากษ์นโยบายของอังกฤษอย่างตรงไปตรงมา เขาย่อมรู้ดีด้วยว่า ที่นโยบายเป็นเช่นนี้เพราะอินเดียมิอาจกำหนดชะตากรรมของตนได้ แต่เขามิอาจสนับสนุนขบวนการสวราช (การปกครองตนเอง) นำโดยมหาตมาคานธีได้ ไม่ใช่เพราะเขาเห็นด้วยกับการครองอินเดียโดยอังกฤษ แต่เพราะว่าในมุมมองของอัมเบดการ์ ขบวนการดังกล่าวไม่ใส่ใจเรื่องผู้คนที่ถูกกดขี่ทางวรรณะ ในประเด็นสวราช อัมเบดการ์เคยเขียนไว้ดังที่เคยอ้างในตอนที่สองแล้วว่า “... หน้าที่แรกของชนชั้นอภิสิทธิ์คือต้องให้การศึกษา สร้างความรู้แจ้ง และยกระดับพวกเขา [ชนชั้นที่ถูกกดขี่] ขึ้น มิฉะนั้นสวราชย่อมจะเกิดขึ้นมิได้ [เน้นโดยผู้เขียนเอง]”
ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่า อัมเบดการ์เห็นด้วยกับสวราชในหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยกับสวราชแบบมหาตมาคานธี ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกที่จะทำสิ่งที่เขาจัดลำดับความสำคัญไว้ก่อน แม้จะต้องกระทำภายใต้การปกครองของอังกฤษก็ตาม ดังที่อัมเบดการ์กล่าวในภายหลังว่า “... ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนในภาคส่วนหนึ่งของประเทศหนึ่งเข้าข้างกับผู้รุกราน ด้วยความหวังว่าผู้มาใหม่จะปลดปล่อยพวกเขาจากการกดขี่จากพวกเดียวกันเอง ...” ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่า อัมเบดการ์คงตระหนักด้วยว่า ที่เขามีการศึกษาสูงได้ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ของเขาได้รับสวัสดิการทางการศึกษาจากอังกฤษ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ดีต่อทลิตบางกลุ่มแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของปีศาจร้ายแห่งอาณานิคมที่ปล้นอินเดียก็ตาม ในขณะเดียวกัน มิได้หมายความว่ามหาตมาคานธีเป็นคนเลวร้าย เพิกเฉยต่อการกดขี่ทลิต หรือที่มหาตมาคานธีเรียกว่าหริชน (ลูกหลานของพระผู้เป็นเจ้า) ดังที่บางคนพยายามจะตีความประวัติศาสตร์อินเดียในยุคนี้ใหม่ มหาตมาคานธีเองก็มีวาระการปลดแอกอินเดียเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ประเด็นปัญหาของผู้คนที่ถูกกดขี่ซึ่งอัมเบดการ์ยืนกรานที่จะต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายที่มหาตมาคานธีเผชิญ
วรรณกรรมเกี่ยวกับประสบการณ์ในลอนดอนของอัมเบดการ์กล่าวถึงการเรียนกฎหมายเพื่อเป็นเนติบัณฑิตของเขาน้อยมาก รู้แต่เพียงว่าน่าจะประมาณตุลาคม ปี 1922 ที่อัมเบดการ์น่าจะสอบเนติบัณฑิต เหตุที่ต้องสอบล่าช้ากว่ากำหนดเดิม เพราะอัมเบดการ์พยายามดิ้นรนต่อสู้กับดุษฏีนิพนธ์ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ และเขาไม่มีหนังสือบางเล่มเพื่ออ่านก่อนสอบเนติบัณฑิต เพราะเพื่อนบางคนของเขาไม่ได้นำหนังสือมาให้เขาตามสัญญา อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่คือ การพบปะระหว่างอัมเบดการ์กับแบร์ทรานด์ รัสเซล นักคิดคนสำคัญชาวบริติช ผู้ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีในปี 1950 แม้จะมีงานเขียนที่กล่าวถึงการพบปะระหว่างอัมเบดการ์กับรัสเซลในปี 1920 ซึ่งเป็นปีที่อัมเบดการ์เดินทางไปศึกษา ณ ลอนดอน แต่งานเขียนทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานพอให้เชื่อได้ว่าทั้งสองได้พบกันในลอนดอน นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ชีวประวัติของอัมเบดการ์ที่มีอยู่ยังไม่แม่นยำพอ และดูจะไม่เป็นธรรมต่ออัมเบดการ์มากนัก
ประสบการณ์ที่สองของอัมเบดการ์ในลอนดอนคือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสโมสรนักศึกษา ที่ซึ่งนักศึกษามักจะอ่านเรียงความของตนในประเด็นต่าง ๆ ก่อนจะโต้วาทีในประเด็นนั้น ๆ อัมเบดการ์เคยอ่านเรียงความของตนเรื่อง ‘ความรับผิดชอบของรัฐบาลตัวแทนในอินเดีย’ ก่อนจะนำไปสู่การโต้วาทีที่ดุเดือด ทำให้แฮโรลด์ โจเซฟ ลาสกี นักรัฐศาสตร์ชื่อดังสังกัดวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการโต้วาที ลาสกีให้ความเห็นว่า อุดมการณ์ที่สำแดงในเรียงความนี้ มีการเมืองเชิงปฏิวัติที่ไม่เหมาะสมกับนักศึกษา สารัตถะในเรียงความและการโต้เถียงของอัมเบดการ์ทำให้นักศึกษาหลายคนหลบเลี่ยงเขา พวกเขามองว่าอัมเบดการ์มีความคิดเรื่องปฏิวัติ หรือแม้แต่เป็นผู้ส่งเสริมการปฏิวัติรัสเซีย ไม่มีใครทราบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลเพียงใด แต่ที่อาจจะเป็นไปได้คือ อัมเบดการ์ผู้มีความคิดเชิงวิพากษ์ และรู้สึกผิดหวังที่ความอยุติธรรมหลายระดับในด้านต่าง ๆ ทั่วทุกแห่งหน โดยเฉพาะในอินเดียยังคงอยู่ และแลดูจะไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นเลยนั้น อาจจะเริ่มสนใจกรอบความคิดที่สัมพันธ์กับลัทธิมาร์กซิสต์ ทั้งนี้ จำต้องตระหนักว่า อัมเบดการ์มิได้เข้านับถือศาสนาพุทธตั้งแต่แรก เขาได้สำรวจหลักศาสนาและความคิดต่าง ๆ ก่อนด้วย
ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้อัมเบดการ์หันไปพึ่งวิธีเดิม นั่นคือ อ่านหนังสือเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป ดังที่เขาเคยทำในบอมเบย์สมัยมัธยมปลายและปริญญาตรี และทุกครั้งที่รู้สึกโดดเดี่ยว กล่าวกันด้วยว่า เช่นเดียวกับที่อัมเบดการ์เคยทำที่นิวยอร์ก เขาต้องการจะมีห้องสมุดส่วนตัว ดังนั้นแล้ว เขาจึงเริ่มซื้อหนังสือหลายเล่ม รวมถึงรายงานเศรษฐกิจอินเดียรายปีตั้งแต่ปี 1700 ถึง 1858 ที่จัดทำโดยบริษัทอีสท์อินเดีย ผลที่ตามมาคือ ในกลางปี 1921 อัมเบดการ์ประสบความลำบากทางการเงินอีกครั้ง และทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากบางคน รวมถึงนาวาล ภาเตนา ผู้ซึ่งอัมเบดการ์เรียกว่า “เพื่อนที่รักและเพื่อนคนเดียวของข้าพเจ้า” และอาจจะรวมถึงสตรีเชื้อสายไอริชผู้มีนามว่าฟรานซิส ‘แฟนนี’ ฟิตซ์เจอรัลด์ หรือที่อัมเบดการ์เรียกเธอว่า ‘เอฟ’ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในประสบการณ์ที่สามของอัมเบดการ์ในลอนดอน
เรื่องของฟิตซ์เจอรัลด์นั้น แท้จริงแล้วเป็นที่รู้กันไม่มากนัก สิ่งที่พอรู้คือ เธอเป็นลูกสาวเจ้าของบ้านหลังที่สองที่อัมเบดการ์เช่าอาศัยอยู่ บ้างว่าเธอประกอบอาชีพเป็นพนักงานพิมพ์ดีดในสภาสมาชิกผู้แทนราษฎรของอังกฤษ บ้างว่าเธอทำงาน ณ สำนักงานอินเดียในลอนดอน เป็นผู้จดบันทึกในหลายหัวข้อสำหรับอัมเบดการ์ เป็นผู้รับผิดชอบเก็บหนังสือทั้งหมดของอัมเบดการ์เมื่อเขาเดินทางกลับอินเดีย และอาจจะเป็นผู้ช่วยเหลืออัมเบดการ์ทางการเงินด้วย ที่แน่ชัดคือ อัมเบดการ์ได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากภาเตนา ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอัมเบดการ์กับฟิตซ์เจอรัลด์จะเป็นไปในลักษณะใดมิอาจทราบได้ รู้แต่เพียงว่าฟิตซ์เจอรัลด์นั้นหลงรักอัมเบดการ์ และหลังจากภรรยาของอัมเบดการ์ถึงแก่กรรมแล้ว ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ฟิตซ์เจอรัลด์คาดหวังว่าอัมเบดการ์จะแต่งงานกับเธอ อัมเบดการ์เคยยืนกรานแต่เพียงว่า เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของเขาในลอนดอนไปกับการเล่าเรียนเพื่อเตรียมตัวเผชิญกับผู้นำขบวนการชาตินิยมอินเดียที่ดีแต่เรียกร้องเอกราชของอินเดีย แต่ไม่แยแสกับเอกราชของผู้ถูกกดขี่เลย
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอัมเบดการ์กับฟิตซ์เจอรัลด์ยังเป็นที่ถกเถียงกันในศตวรรษที่ 21 ในปี 2005 ประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อย เมื่ออรุณ กัมบเล หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มทลิตแพนเธอร์ และนักวิชาการเชี่ยวชาญภาษามราฐีแห่งมหาวิทยาลัยมุมไบ ได้พยายามที่จะตีพิมพ์จดหมาย 92 ฉบับที่กัมบเลเชื่อว่า ฟิตซ์เจอรัลด์เป็นผู้เขียนถึงอัมเบดการ์ระหว่างปี 1923 ถึงปี 1943 กัมบเลได้ขอความร่วมมือกับออมเว็ดท์ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติอัมเบดการ์คนสำคัญที่บทความนี้ใช้อ้างข้อมูลบ่อยครั้ง แต่ออมเว็ดท์ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ เพราะสำนักพิมพ์ที่สนใจจะพิมพ์จดหมายเหล่านี้ไม่ให้ความสำคัญว่าจดหมายทั้งหมดนี้เป็นของจริงหรือไม่ ในฐานะนักสตรีนิยม ออมเว็ดท์โต้แย้งด้วยว่า การตีพิมพ์จดหมายเหล่านี้โดยปราศจากบริบทและความเป็นวิชาการ นอกจากจะเป็นการหากินจากเรื่องอื้อฉาวแล้ว ยังไม่เป็นธรรมต่อฟิตซ์เจอรัลด์ด้วย
ชาวทลิตจำนวนมากจะรู้สึกขุ่นเคืองทุกครั้งที่มีใครเขียนหรือกล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากตระหนักว่ารูปภาพของอัมเบดการ์ที่ติดอยู่ตามผนังบ้านของทลิตจำนวนมากนั้นอยู่เคียงข้างรูปพระพุทธเจ้า และในบางกรณีอยู่ในรูปเดียวกันด้วยซ้ำ ทลิตที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธใหม่แทบทุกคนในอินเดียเชื่อมโยงกันได้โดยมีศาสนาพุทธร่วมกัน และมีอัมเบดการ์เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาต่อสู้กับการกีดกันทางวรรณะอย่างไม่หยุดหย่อน ดังที่ทลิตคนหนึ่งในนิวเดลีกล่าวในประเด็นนี้กับผู้เขียนว่า
“เราเหมือนกัน เราถูกกดขี่เหมือนกัน เราได้รับความอยุติธรรมเหมือนกัน เรานับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน เราทักทายกันด้วยคำว่า ‘ชัยภิม’ [‘ภิม’ มาจาก ‘ภิมราว’] ไม่ใช่ ‘ชัยฮินด์’ เพราะอัมเบดการ์คือผู้นำของเรา อัมเบดการ์เป็นแรงบันดาลใจของเรา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ... เมื่อใดก็ตามที่ใครไม่ว่าจะเป็นคนในหรือนอกวรรณะ หรือจะนับถือศาสนาใดก็ตามคิดที่จะทำให้ชื่อเสียงของอัมเบดการ์เสื่อมเสีย ก็หมายความว่า ผู้นั้นประสงค์ที่จะทำลายพลังของพวกเรา เรายอมไม่ได้ ใครก็ตามที่นำเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัมเบดการ์กับฟรานซิส ฟิตซ์เจอรัลด์ที่ไร้หลักฐานมาเป็นประเด็น เราก็จะต่อสู้ปกป้องอัมเบดการ์ต่อไป”
เมื่อกลับถึงบอมเบย์ อัมเบดการ์ต้องเริ่มจัดการเรื่องการหาเลี้ยงชีพ เขาทราบดีว่า ต่อจากนี้ไปเขาจะต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อมิให้ครอบครัวของเขาและของพี่ชายลำบากอีก อัมเบดการ์ประสงค์จะเริ่มอาชีพนักกฎหมาย และดังนั้นแล้ว จึงลงทะเบียนในฐานะนักกฎหมายกับศาลสูงสุดแห่งบอมเบย์ในเดือนมิถุนายน ปี 1924 อัมเบดการ์มิอาจเปิดสำนักงานกฎหมายของตนในละแวกศาลได้เพราะเขาไม่มีเงินพอ ภาเตนาเข้ามาช่วยเหลืออัมเบดการ์อีกครั้ง แต่ก็พอที่จะเปิดสำนักงานในปาเรลได้เท่านั้น แม้จะมีสำนักงานแล้ว ก็ใช่ว่าจะมีปาฏิหาริย์ทันที ปีศาจร้ายแห่งการกีดกันทางวรรณะกลับมาเยือนอัมเบดการ์อีกครั้ง อัมเบดการ์ใช้เวลานานมากกว่าจะได้คดีสักคดีหนึ่งจากชาวมหาร ซึ่งเป็นกลุ่มทลิตเดียวกับอัมเบดการ์ และที่น่าประหลาดใจคือตามด้วยงานจากหลานชายของโลกมันยะ ติลัก หรือบาล กังกาธาร์ ติลัก ผู้เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นพราหมณ์ชาตินิยมอย่างเข้าไส้ ชาวฮินดูส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะใช้บริการทางกฎหมายจากทลิตอัมเบดการ์ นักกฎหมายที่สังกัดศาลสูงสุดในบอมเบย์ไม่ต้องการคบค้าสมาคมกับเขาเพียงเพราะเขาเป็นทลิต ในขณะเดียวกันอัมเบดการ์ก็มิอาจทำตามแผนการใหญ่ของตนในการเขียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอินเดียหลายเล่ม เพราะไม่มีผู้สนับสนุนทางการเงิน อัมเบดการ์จึงหันไปพึ่งอาชีพอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายพาณิชย์ ณ สถาบันการบัญชีบอตลีบอย และเป็นอาจารย์ผู้สอบ ณ มหาวิทยาลัยบอมเบย์เพื่อหารายได้เสริม แม้อัมเบดการ์จะรู้ดีว่าตนมีปัญหาทางการเงิน และรู้ดีด้วยว่าภรรยารามาไบประสบความยากลำบากไม่น้อย แต่เขาก็ไม่เลิกนิสัยซื้อหนังสือที่ปฏิบัติมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อผ่านไปได้สักพักหนึ่ง อัมเบดการ์ค่อนข้างประสบความสำเร็จในระดับสำคัญที่จะให้ชาวมหารและเพื่อน ๆ มาพบปะกันที่สำนักงานของตน แน่นอนในการพบปะนี้ย่อมมีเรื่องความอยุติธรรมทางสังคมเป็นประเด็นการสนทนาหารืออยู่บ่อยครั้ง
ในระหว่างที่อัมเบดการ์กำลังพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว และขวนขวายหาแนวร่วมในการปลดแอกทลิตจากวัฏจักรอันเลวร้ายแห่งวรรณะ โลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายการศึกษา พัฒนาการด้านการสื่อสาร และวิถีคมนาคม ทั้งหมดที่กล่าวมาเริ่มส่งผลต่อการเรียกร้องสิทธิของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวไม่น้อยเลย อุตสาหกรรมทอผ้าที่รุ่งเรืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้ช่วยให้ผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะมีงานทำ และเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้พวกเขาแสวงหาโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต ความคิดเรื่องประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นพลังให้เกิดความคิดเรื่องปฏิรูปสังคมเพื่อความเป็นธรรมด้วย และการปฎิรูปนี้ย่อมมิใช่การแบมือขอโอกาสจากชนชั้นสูงที่ใจบุญ หากแต่เป็นการรวมตัวกันเองเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงได้ ในช่วงเวลานี้ ตัวแทนของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวในสภานิติบัญญัติแห่งบอมเบย์ เช่น ดี.ดี. โฆลัป ก็มุ่งมั่นที่จะเรียกร้องสิทธิให้ผู้ถูกกดขี่ทางชนชั้น โฆลัปตั้งคำถามในสภาดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่หมู่บ้านชาวมหารต้องเผชิญการขาดแคลนน้ำ และเรียกร้องการศึกษาภาคบังคับสำหรับลูกหลานของผู้ถูกกดขี่ทางชนชั้น รวมถึงการจัดตั้งหอพักสำหรับเด็กผู้หญิงที่อยู่ในชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ข้อเสนอแนะสำคัญในสภาแห่งนี้ฉบับหนึ่งมาจากนักปฏิรูปสังคมคนสำคัญ เอส.เค. โบล เป็นข้อเสนอแนะให้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของสาธารณะ หรือที่สร้างขึ้นโดยงบสาธารณะ หรือที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานที่รัฐบาลแต่งตั้งได้ ซึ่งในคำสั่งเสนอแนะไม่มีวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมรวมอยู่ในรายการที่ระบุไว้เลย
ระหว่างปี 1923-1924 ขบวนการชาตินิยมเริ่มแสดงตนโจ่งแจ้งมาก ส่วนหนึ่งเพราะการสังหารหมู่ ณ ยาเลียนวาลาบาค เมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบในปี 1919 โดยคำสั่งของ อาร์.อี.เอช. ดาเยอร์ ทำให้อังกฤษไม่เหลือ ‘ความชอบธรรม’ ใด ๆ ในการปกครองอินเดียอีกต่อไป ขบวนการชาตินิยมอินเดียเพื่อเรียกร้องเอกราชมีพลังมวลชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มหาตมาคานธีที่กลับอินเดียจากประเทศแอฟริกาใต้ในปี 1915 ซึ่งในช่วงแรกต้องการศึกษาอินเดียอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะต่อสู้เรียกร้องเอกราชอินเดียจากอังกฤษ จำต้องเดินนอกแผนเพราะการกดขี่ที่มาจากการปลูกครามของอังกฤษ ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การใช้สัตยาเคราะห์จัมปารันในปี 1917 หรือสัตยาเคราะห์ครั้งแรกในอินเดียของมหาตมาคานธี พร้อมกับชาตินิยมแบบมหาตมาคานธีก็มีชาตินิยมฮินดูสุดโต่งกำลังพัฒนาคู่ขนานไปด้วย ผู้นำชาตินิยมฮินดูสุดโต่งคือ วินายัก ดาโมดาร์ สาวรการ ผู้ประดิษฐ์ศัพท์ ‘ฮินดูตวา’ หรือความเป็นฮินดู และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารมหาตมาคานธีในปี 1948 สาวรการได้รับการปล่อยตัวจากคุกในวันที่ 6 มกราคม 1924 และมหาตมาคานธีได้รับการปล่อยตัวจากคุกด้วยเหตุผลทางสุขภาพในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ในขณะที่สาวรการประสงค์จะรวมพลังของชาวฮินดูโดยยกสถานภาพของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ มหาตมาคานธีก็พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปรับปรุงความเป็นอยู่ของชนชั้นที่ถูกกดขี่หรือหริชน
อัมเบดการ์ตระหนักมาโดยตลอดว่า ขบวนการชาตินิยมไม่ว่าจะเป็นแบบฮินดูสุดโต่งของสาวรการ หรือจะเป็นแบบชาตินิยมของมหาตมาคานธีนั้น ต่างก็หาได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องราวของผู้คนที่ถูกกดขี่มากเป็นพิเศษแต่อย่างใดไม่ เพราะขบวนการทั้งสองต่างก็มุ่งเรียกร้องเอกราชอินเดียจากบริติชราชเป็นเป้าหมายสูงสุด ในวันที่ 9 มีนาคม ปี 1924 อัมเบดการ์จัดประชุม ณ หอดาโมดาร์ บอมเบย์ เพื่อให้ผู้คนที่ถูกกดขี่พิจารณาความประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันอันเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาล ผลของการประชุมครั้งนี้ทำให้อัมเบดการ์ประสบความสำเร็จในการก่อตั้งพหิษกฤตหิตการิณีสภา หรือสภาเพื่อความอยู่ดีกินดีของผู้คนที่ถูกกีดกันในวันที่ 20 กรกฎาคม 1924 โดยอัมเบดการ์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารจัดการ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกคนอื่น รวมถึงเซอร์จิมานลาล เซตัลวาท ศิษย์เก่าวิทยาลัยวิทยาลัยเอลฟินสโตนเช่นเดียวกับอัมเบดการ์ และอดีตสมาชิกคณะกรรมการฮันเตอร์ ที่ได้รับมอบหมายให้ไต่สวนการสังหารหมู่ ณ ยาเลียนวาลาบาค
พหิษกฤตหิตการิณีสภามีนัยสำคัญต่อความเป็นทลิต และสะท้อนความเป็นตัวตนของอัมเบดการ์เกือบทั้งหมด คำว่า ‘พหิษกฤต’ “เป็นคำที่องค์กรเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอำเภออะโกลาใช้ในปี 1920 และอาจจะเป็นความพยายามครั้งแรกของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวที่จะหาสมัญญานามที่เหมาะสม” วัตถุประสงค์ของพหิษกฤตคือ “เพื่อกระจายการศึกษา พัฒนาภาวะเศรษฐกิจ และเป็นตัวแทนในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ถูกกดขี่” ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อัมเบดการ์เชื่อมาโดยตลอดและจะเชื่อเช่นนี้ต่อไป ดังที่เขาเคยกล่าวในภายหลังประมาณทศวรรษ 1940 ในสามคำว่า “สั่งสอน เร่งเร้า และจัดแจง” (educate, agitate and organize) ในทางปฏิบัติพหิษกฤตหิตการิณีสภาได้จัดตั้งหอพักสำหรับนักเรียนมัธยมปลายที่อยู่ในชนชั้นผู้ถูกกดขี่ในโชลาปูร์โดยมีเทศบาลสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ที่อัมเบดการ์เคยสัมผัสโดยตรงถึงสองครั้งในรัฐบโรดา ครั้งแรกเมื่อเขาเดินทางไปทำงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยเอลฟินสโตน ครั้งที่สองเมื่อเขาเดินทางไปทำงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทั้งสองครั้งไม่มีใครประสงค์จะให้ทลิตอัมเบดการ์พักอาศัยในเคหะสถานของตน ในครั้งแรกอัมเบดการ์จึงต้องพึ่งอารยสมาช และในครั้งที่สองเขาจึงต้องใช้ชื่อปาร์ซีเพื่อให้ได้ที่พักในหอพักของชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซี แต่ในที่สุดก็ถูกชาวปาร์ซีกลุ่มหนึ่งขับไล่ออกจากหอพักหลังความดังกล่าวแตก พหิษกฤตหิตการิณีสภาได้จัดตั้งห้องสมุดขนาดเล็กในปาเรล ซึ่งการอ่านหนังสือเพื่อแสวงหาความรู้นั้นคงไม่ต้องกล่าวแล้วว่าสำคัญอย่างไรในทรรศนะของอัมเบดการ์ นอกจากนี้พหิษกฤตหิตการิณีสภายังริเริ่มการประชุมหัวข้อต่าง ๆ และจัดการประท้วงเรียกร้องสิทธิของผู้ถูกกดขี่ทั่วพื้นที่ที่ใช้ภาษามราฐีเป็นภาษาแม่ด้วย
ในการบริหารจัดการพหิษกฤตหิตการิณีสภา อัมเบดการ์ได้สำแดงให้เห็นภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการจัดประชุมฝูงชน นอกจากจะเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม รู้จักใช้สำนวน จังหวะจะโคน และน้ำเสียงที่เหมาะสมแล้ว อัมเบดการ์ยังใช้ตรรกะเหตุผลที่สั่งสมจากการศึกษา การอ่านนอกเวลา และประสบการณ์ของเขาได้อย่างชาญฉลาดด้วย เขาพร้อมเสมอที่จะตอบโต้ผู้สนับสนุนระบบวรรณะทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งก่อให้เกิดความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสัมบูรณ์และอย่างสัมพัทธ์
ในเดือนกรกฎาคม ปี 1926 โศกนาฏกรรมมาเยือนอัมเบดการ์อีกครั้ง เมื่อลูกชายคนที่สามชื่อราชารัตนาต้องเสียชีวิตในวัยเยาว์ อัมเบดการ์เสียอกเสียใจกับการจากไปของลูกคนนี้มากเป็นพิเศษ เหตุผลประการหนึ่งเพราะลูกคนนี้มีชีวิตอยู่ได้หนึ่งปีก่อนจะสิ้นกรรมด้วยปอดติดเชื้อทั้งสองข้าง อัมเบดการ์รู้สึกผูกพันกับราชารัตนามาก และในเวลาต่อมาเขียนความรู้สึกอันขมขื่นต่อการจากไปของบุตรคนนี้ว่า “... ลูกคนเล็กของฉันเป็นเด็กที่วิเศษมากอย่างที่ฉันไม่ค่อยพบเห็นเท่าไรนัก เมื่อเขาจากไป ชีวิตของฉันก็อับเฉาดั่งสวนที่รกเรื้อด้วยวัชพืช”
การตายก่อนวัยอันควรของราชารัตนา และสมาชิกครอบครัวของอัมเบดการ์บ่งบอกอะไรบ้าง อินเดียในยุคสมัยนั้นผู้คนมีอายุขัยเฉลี่ยไม่สูงนัก แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็อาจกล่าวอย่างคลุม ๆ ได้ด้วยว่า ทลิตหรือศูทรที่ไม่มีจะกินย่อมมีโอกาสตายก่อนวัยมากกว่าคนในสามวรรณะแรก (พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์) ที่มีจะกิน เพราะทลิตหรือศูทรมีโอกาสประสบภาวะทุพโภชนาการ ขาดสุขอนามัย อยู่กันอย่างแออัดซึ่งง่ายต่อการติดโรค และอาจเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ไม่ดีนัก ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าการที่แม่ของอัมเบดการ์มีลูก 14 คน แต่อยู่รอดเพียง 7 คน หรือการตายก่อนวัยของแม่อัมเบดการ์ หรือของลูกอัมเบดการ์ทั้ง 4 คนจากทั้งหมด 5 คนนั้น ปัจจัยวรรณะน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญไม่น้อยเลย ทลิตผู้หนึ่งในคยาสนทนากับผู้เขียนในประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า
“การตายก่อนวัย หรือการประสบโรคภัยไข้เจ็บ คือเรื่องเดียวกับการศึกษาและชีวิตที่ดี ถ้ามีการศึกษาดี มีงานการดี คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามลำดับ ... ผมจำไม่ได้ว่า ท่านภิม [อัมเบดการ์] เสียลูกไปกี่คน แต่ผมว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเท่าที่ผมทราบคือท่านเคยลำบากมามากต่อมากก่อนจะมีฐานะดี มีชื่อเสียงโด่งดัง ... เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ฟังจากวิทยุว่า มีคนร้องเรียนต่อสู้กับหมอและโรงพยาบาลที่เขาบอกว่าทำให้ลูกเล็กเขาตาย ผมก็นึกขึ้นได้ทันทีว่า มีทลิตกี่คนที่ลูกของเขาต้องตายก่อนวัย แต่ไม่มีทางต่อสู้กับโรงพยาบาลเลย เด็กทลิตจำนวนหนึ่งตายก่อนจะถึงมือหมอด้วยซ้ำ เด็ก [ทลิต] บางคนตายในมือหมอ แต่เพราะเขามีโรคภัยหนักหนาสาหัสมาก่อนจะถึงมือหมอ ก็คงไม่ต้องตรวจสอบแล้วว่าทำไมถึงตาย ... ปัจจุบันนี้คนจำนวนมากต่างเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่มันพอหรือเปล่าล่ะ เพราะตราบใดที่สภาพความเป็นอยู่ยังย่ำแย่ แทนที่เราจะตายที่บ้าน ก็ไปตายที่โรงพยาบาลแทน”
ในปี 1926 อัมเบดการ์ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติบอมเบย์ พร้อมกับผู้นำห้ามแตะเนื้อต้องตัวชาวคุชราตชื่อ พี.จี. โซลังกี ประธานก่อตั้งมายาวตีราชปุตหิตวรรธักสภา ซึ่งมุ่งยกระดับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ การได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นงานด้านนิติบัญญัติของอัมเบดการ์จนกว่าเขาจะถึงแก่อสัญกรรม อัมเบดการ์ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติได้อย่างน่าเคารพยิ่ง เขาจริงจังกับหน้าที่มาก และมักจะกล่าวปาฐกถาว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ เขาเข้าร่วมการโต้วาทะในสภาอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญคำถามยั่วยุอารมณ์ หรือวาทะและการพูดสอดแทรกที่ค่อนข้างยียวน ครั้งหนึ่งเมื่อถูกท้าทายจากนักชาตินิยมผู้หนึ่ง ให้สำนึกว่าตนเป็นเพียง “ส่วนหนึ่งจากส่วนรวมทั้งหมด” อัมเบดการ์สวนไปว่า “แต่ผมไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากส่วนรวมทั้งหมด ผมเป็นส่วนที่แยกต่างหากออกมาต่างหาก!” รูปแบบคล้าย ๆ กันนี้ยังพบได้ในการประชุมที่สตารา เมื่ออัมเบดการ์แขวะพราหมณ์ผู้หนึ่งเรื่องความมือถือสากปากถือศีลของพวกพราหมณ์ที่ได้ผูกขาดระบบราชการมายาวนานเหลือเกิน และยังใช้เหตุผลชาตินิยมคัดค้านความก้าวหน้าของทลิตเมื่อทลิตเริ่มมีการศึกษามากขึ้น
ในประเด็นภาวะผู้นำของอัมเบดการ์นี้ ทลิตคนหนึ่งเชื่อมโยงอัมเบดการ์กับผู้นำทลิตร่วมสมัยในอินเดียอย่างน่าสนใจว่า
“วันนี้การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะยังไม่ได้ดั่งใจ ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการขาดดุลผู้นำ ในอินเดียปัจจุบันแม้จะมีผู้นำทลิตมากมาย แต่ไม่มีใครที่มีศักยภาพเยี่ยงท่านภิม [อัมเบดการ์] ลองบอกผมสิว่าใครบ้างที่จริงใจ พูดจาฉะฉาน มีความรู้ความสามารถ และยึดหลักศีลธรรมอย่างเขา ท่านภิมไม่ใช่พระเจ้าที่จะมีความสมบูรณ์แบบหมด แต่ท่านเป็นคนมีหลักศีลธรรมชัดเจน ท่านทะยานขึ้นมาสู่อำนาจมิใช่เพราะต้องการความสะดวกสบาย หากแต่ท่านมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อพวกเราทุกคน ความเสมอต้นเสมอปลาย ความมีศีลธรรม และการเตรียมการเพื่อพิชิตความท้าทายคือคุณสมบัติที่ประกอบขึ้นเป็นท่านภิม หรือผู้นำที่ดีนั่นเอง”
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นกลยุทธ์การต่อสู้ของอัมเบดการ์ทั้งที่ล้มเหลวและที่สำเร็จ
หมายเหตุ : ข้อมูลหลายส่วนในบทความนี้อ้างอิงจาก (1) Dhananjay Keer, Dr. Babasaheb Ambedkar: Life and Mission (Mumbai: Popular Prakashan, 1954, 2016); และ (2) Gail Omvedt, Ambedkar: Towards an Enlightened India (Haryana, India: Penguin Random House, 2004, 2008)