xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แง้มแผนปฏิรูปป้องกันปราบปรามทุจริต ใช้เงินเฉียด 9 พันล้าน 5 ปี สานฝันหรู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ที่อ้างเอาไว้ในเหตุผลการยึดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เลยก็ว่าได้

หลังการรัฐประหารครั้งนั้นผ่านมาเกือบ 4 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกับการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ รวม 11 ด้าน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

โดยวางวัตถุประสงค์ไว้สวยหรู ให้มีการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งให้มีกฎหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตและชี้เบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำความผิดโดยมีมาตรการสนับสนุนและการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสด้วย

ให้มีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของบุคลากร ใช้ดุลยพินิจโดยสุจริต ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลและการกำกับกิจการที่ดีอย่างแท้จริง
ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้และสนับสนุนแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ

ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง หรือมาตรการทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบหรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด

ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน(ไต่สวน ชี้มูล ฟ้องศาล พิพากษา) ทั้งแพ่งและอาญาให้รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด เป็นธรรม เสมอภาค โดยเฉพาะมีการจัดทำและบูรณาการฐานข้อมูลคดีทุจริต ตลอดจนเร่งรัดการติดตามนำทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ตกเป็นของแผ่นดิน และในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ก็ให้เร่งบัญญัติเพิ่มเติม

ให้มีกลไกที่เหมาะสมในการประสานงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดทุจริต

แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้วางจุดเน้นการปฏิรูปในระยะเวลา 5 ปี
โดยในด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง จะผลักดันให้มีกฎหมายรองรับการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ ภายใน 2 ปี

ด้านการป้องปราม ให้มีการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการใช้อำนาจรัฐที่ได้รับมอบให้ส่วนราชการต้องมีการกำหนดมาตรการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในสังกัด ด้วยการปรับปรุงกรอบแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐอยู่เสมอ และประกาศให้ประชาชนทราบผ่านสื่อสาธารณะ

ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 2 ปี ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องร้องขอ
ให้มีการแสดงฐานะทางการเงินของเจ้าพนักงานของรัฐที่เปิดเผย ตรวจสอบได้

ให้มีมาตรการที่เป็นไปได้ในการสืบหาและกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของตนซึ่งเงินสดและตราสารเปลี่ยนมือได้
ด้านการปราบปราม ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินมาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดที่ถูกกล่าวหาหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่าประพฤติมิชอบ หรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด

ให้มีกฎหมายกำหนดความผิดจากการกระทำโดยเจตนาของเจ้าพนักงานของรัฐที่ทุจริตต่อหน้าที่ การใช้อำนาจโดยมิชอบ และการร่ำรวยผิดปกติที่ชัดเจน เพื่อความรวดเร็วในการไต่สวนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐละเลย ละเว้น รู้เห็นเป็นใจหรือมีสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่โดยแจ้งให้ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนใช้อำนาจทางปกครอง (ย้าย/พักราชการ/พ้นจากราชการ) ทันที

เร่งรัดติดตามนำทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ตกเป็นของแผ่นดิน ออกแบบกระบวนการบริหารคดีใหม่ ให้มีขั้นตอนเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

ด้านการบริหารจัดการ จะปรับปรุงกลไกการประสานการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนประสานการบริหารกับส่วนประสานการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

และ จัดตั้งสถาบันการสร้างเสริมสมรรถนะด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (Anti-Corruption Capacity Building Institute)

ทั้งนี้ ได้กำหนดวงเงินดำเนินการตามแผน 5 ปี ไว้เป็นจำนวน 8,970 ล้านบาท จากงบประมาณปกติและงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของงบประมาณของท้องถิ่น

โดยประเด็นปฏิรูปด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง กำหนดงบประมาณไว้ 6,310 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) มีสถาบันวิชาการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบที่เป็นอิสระและได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน
(2) มีพิพิธภัณฑ์ต่อต้านทุจริต 5 แห่งในภูมิภาค
(3) มีเครือข่ายต่อต้านทุจริตประพฤติมิชอบภาคประชาชนทุกจังหวัดและไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 5 กลุ่ม
(4) มีระบบการเฝ้าระวังการทุจริต (Watch Dog) ที่มีประสิทธิผลในทุกจังหวัด
(5) มีกฎหมายส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบภาคประชาชน

การปฏิรูปด้านการป้องปราม (1) กำหนดงบประมาณไว้ 520 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ทั้ง 5 มิติ
(2) ทุกหน่วยงานของรัฐมีแนวทางการใช้ดุลยพินิจ ตามภารกิจของหน่วยงาน ทบทวน ให้มีการลดการใช้ดุลพินิจ และมีการบันทึกเหตุผลการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในรายงานผลงานประจำปี
(3) ได้รับการประเมินจาก International Institute for Management Development(IMD) และ World Economic Forum (WEF) ในลำดับที่ดีขึ้นทุกปี และไม่มีจุดที่อาจต่ำลง (Trend)

การปฏิรูปด้านการป้องปราม (2) กำหนดงบประมาณไว้ 770 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและมีข้อจำกัดเท่าที่จำเป็นโดยประกาศให้ทราบล่วงหน้า
(2) ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของ The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในปี 2565
(3) มีการนำระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และการป้องกันการทุจริตในงานก่อสร้าง (CoST) มาใช้อย่างเป็นทางการ
(4) รัฐสามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินบาททั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้

การปฏิรูปด้านการปราบปราม (1) กำหนดงบประมาณไว้ 710 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) มีการบังคับใช้การดำเนินการทางจริยธรรมและวินัยที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิผลกับเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน
(2) การร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบภาครัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
(3) จำนวนคดีที่ ป.ป.ช./ป.ป.ท. ไต่สวนลดลงร้อยละ 10 ในแต่ละปี

การปฏิรูปด้านการปราบปราม (2) กำหนดงบประมาณไว้ 410 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) การไต่สวนคดีทุจริตประพฤติมิชอบสามารถนำตัวผู้กระทำผิดขึ้นสู่ศาลได้ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทุกคดี
(2) จำนวนคดีที่ชี้มูลแล้วแต่ศาลยกฟ้องไม่เกินร้อยละ 5
(3) สามารถนำทรัพย์สินที่รัฐเสียหายกลับมาได้มากกว่าร้อยละ 80
(4) มีฐานข้อมูลคดีทุจริตประพฤติมิชอบและมาตรการป้องกันมิให้การทุจริตประพฤติมิชอบลักษณะนั้นทุกคดีเกิดขึ้นอีก

การปฏิรูปด้านการบริหารจัดการ กำหนดงบประมาณไว้ 250 ล้านบาท มีตัวชี้วัด ได้แก่
(1) รัฐมีกลไกและมาตรการในการประสานงานระดับนโยบายที่มีประสิทธิภาพ
(2) มีมาตรการประสานการขับเคลื่อนด้านการประสานการบริหารและประสานการตรวจสอบที่มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ
(3) มีสถาบันวิชาการระดับชาติที่เป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ในทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) มอบหมายหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายรวมไว้ว่า ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี 2579

อันเป็นเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลลิบลิ่ว เมื่อ CPI ของปีล่าสุด คือ 2560 ไทยอยู่ที่อันดับ 96 จาก 180 ประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น