ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้วสำหรับปฏิบัติการ “ล้างทุจริตเงินทอนวัด ล็อตที่ 3” ของ “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) ในเฟสที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้ช็อกยุทธจักรดงขมิ้นด้วยการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ “3 พระพรหม” แห่งมหาเถรสมาคม(มส.)กับ “2 พระราช” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
เนื่องเพราะ “ฝ่ายตรงข้าม” เริ่มตั้งหลักได้และผนึกกำลังฮึดสู้แบบไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แถมดูเหมือนว่า “กองหนุน” ในฝั่งพุทธจักรของ “มือปราบเงินทอนวัด” จะแทบไม่มีใครปรากฏตัวเป็นแนวร่วมเลย
ยิ่ง “มหาเถรสมาคม(มส.)” ด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่า ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ พ.ต.ท.พงศ์พรอย่างชัดแจ้ง
ข้อมูลจากทุกสำนัก ทุกแหล่งข่าวยืนยันตรงกันว่า ในการประชุม มส.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561ที่ผ่านมา สถานการณ์ของ พ.ต.ท.พงศ์พรเข้าขั้น “น่าเป็นห่วง” ไม่น้อย
หลังการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง พ.ต.ท.พงศ์พรได้ออกมาส่งกรรมการ มส.ทุกรูปขึ้นรถ ทั้งยังได้รับพรจากพระพรหมเมธีด้วย จากนั้น พ.ต.ท.พงศ์พรได้เปิดแถลงข่าวว่า มส. มีมติให้ตนออกมาแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่จะไม่ตอบ คำถามใดๆ เนื่องเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของหน่วยบังคับใช้กฎหมาย คือ ตำรวจปปป. และ ป.ป.ช. ถ้าอยากได้ข้อมูลให้ไปสอบถามทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว การกล่าวหาเป็นการกล่าวหาตามมูลหรือหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปแจ้งความ มิได้กระทำในลักษณะที่มีอคติ แต่เป็นหน้าที่จะต้องไปกระทำ และกระทำแล้วมิได้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ้าหน้าที่หรือพระสงฆ์เป็นผู้กระทำผิด เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวน ถ้าไปที่ ป.ป.ช.เรียกว่าการไต่สวนและวินิจฉัย ซึ่ง ป.ป.ช.ยังมิได้เริ่มเลย จึงยังไม่มีพยานหลักฐานครบถ้วนที่จะพิสูจน์ได้ว่าใครผิดใครถูก
ทั้งนี้ การแถลงข่าวของ พ.ต.ท.พงศ์พรหลังการประชุม มส.ครั้งนี้ นับเป็นการแถลงข่าวครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้กลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. เมื่อปลายเดือน ก.ย.2560 โดยเหตุที่ พ.ต.ท.พงศ์พรต้องออกมาแถลงข่าวเนื่องจากระหว่างการประชุม กรรมการ มส. แต่ละรูปทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต สอบถามถึงความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.พงศ์พร ต่อความเสียหายในพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น เพราะคณะสงฆ์ช่วยกันรักษาความมั่นคงในพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน พ.ต.ท.พงศ์พรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกรรมการ มส.ยังสอบถาม พ.ต.ท.พงศ์พรด้วยว่า ทำไมถึงไม่มาสอบถามที่มาที่ไปกันก่อน ทั้งๆ ที่เข้าประชุม มส.ด้วยกันอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายฝ่ายฆราวาส” ออกมาโรงขู่ฮึ่มฮั่มท้ารบกันแบบโต้งๆ ด้วยการยื่นฟ้องร้องเอาผิดต่อ พ.ต.ท.พงศ์พร ในความผิด ม.157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีได้เข้าร้องทุกข์กล่าวหาพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปมีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตเงินทอนวัด ล็อตที่ 3 ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)
แกนนำคนสำคัญที่เปิดหน้าออกมาก็คือ ดร.จรูญ วรรณกสิณานนท์ และน.อ.เอกวินัย เสวกวิ ซึ่งเคลื่อนไหวในนามตัวแทน “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน”
ดร.จรูญชี้เปรี้ยงลงไปว่า พ.ต.ท.พงศ์พรปฏิบัติหน้าที่นอกเหนืออำนาจในตำแหน่ง ผอ.พศ. ซึ่งกฎหมายมิได้มอบอำนาจไว้ มีเจตนาทำให้วงการคณะสงฆ์เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามจากประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้เกิดวิกฤติศรัทธาขึ้นต่อพระสงฆ์ และอันตรายต่อความมั่นคงต่อสถาบันศาสนา
“การตรวจสอบทุจริตนั้นมี สตง.ดำเนินการอยู่แล้ว และคณะสงฆ์มีธรรมวินัยเพื่อดำเนินการตรวจสอบพระสงฆ์ด้วยกันเอง ฆราวาสไม่มีสิทธิกล่าวโทษหรือวินิจฉัยแทน โดยทาง พศ.เป็นหน่วยงานสนองงานเพื่อพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มาตรวจสอบว่าถูกหรือผิดเสียเอง ทั้งนี้ หาก ผอ.พศ.จะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ควรถอดเครื่องแบบราชการออกและมาในฐานะประชาชนธรรมดาจะดีกว่า”
ขณะที่ น.อ.เอกวินัยก็ระบุว่า เรื่องเงินทอนนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเงินมาถวายพระและนำเงินกลับไป แต่สุดท้ายมาโยนความผิดให้พระสงฆ์ เรื่องดังกล่าว ผอ.พศ.และพระสงฆ์ควรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหาผู้กระทำความผิดมากกว่า ไม่ใช่มาดำเนินคดีต่อพระสงฆ์
ทว่า สืบไปสืบมาก็พบว่า ดร.จรูญและน.อ.วินัย ที่เคลื่อนไหวในนามตัวแทน “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” เป็นเครือข่ายเดียวกับ “นายกรณ์ มีดี” เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย และ รศ.บรรจบ บรรณรุจิ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัดในสายธรรมกาย ทั้งวัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสามพระยา ที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ต.ท.พงศ์พรมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งในการเดินทางไปยื่นหนังสือครั้งนี้ ได้ปรากฏร่างของ “นายวรัญญชัย โชคชนะ” โผล่ไปร่วมกับเครือข่ายอีกต่างหาก
ขณะที่ตัว นอ.วินัยนั้น เมื่อสืบประวัติย้อนหลังก็จะพบว่าไม่ธรรมดา เป็นแกนนำพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่รับรู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์กับใครและวัดใดเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.ท.พงศ์พร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 3 ที่เหลืออีก 7 วัดจากทั้งหมด 10 วัดต่อ บก.ปปป. เมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ ปปป.จะนำสำนวนการสอบสวนกว่า 4,000 แผ่นเข้ายื่นต่อ ป.ป.ช.เป็นรอบที่ 2 ต่อจากรอบแรกที่ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย.
สำหรับ 7 วัดดังกล่าวจากการตรวจสอบพบเป็นวัดอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมดได้แก่จังหวัดนนทบุรี 3 วัด จังหวัดอุดรธานี 1 วัด จังหวัดลำปาง 1 วัด และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 วัด ซึ่งต้องบอกว่า “ผิด” ไปจากที่เคยกะเก็งไว้เป็นอย่างมาก เพราะเดิมข่าวหลุดออกมาว่าเป็น “วัดใหญ่ในกรุง” แต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็น “วัดบ้านนอก” ไปเสียอย่างนั้น
โดย3 วัดในจังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วยวัดบางอ้อยช้าง วัดใหม่ผดุงเขตและวัดศรีบุญเรือง ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 วัด ประกอบด้วยวัดมุขธารารามและวัดท่าพญา ส่วนที่เหลืออีก 2 วัดคือวัดต้นธงชัย จังหวัดลำปาง และวัดศรีนคราราม จังหวัดอุดรธานี
ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสำนวนคดีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะข้อมูลในสำนวนที่ บก.ปปป. ส่งมานั้นยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีเวลารวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพียง 30 วัน ทาง ป.ป.ช.เห็นว่ายังไม่ชัดเจนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยตามระเบียบของ ป.ป.ช.จะมีกรอบเวลาในการแสวงหาข้อมูล 6 เดือน หากยังทำไม่เสร็จเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนจะขอขยายเวลาได้อีก 3 เดือน หากยังทำไม่เสร็จจะต้องเสนอเข้าที่ระชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอขยายเวลาอีก 3 เดือน แต่หลังจาก 1 ปี หากรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้คณะกรรมการลงไปดำเนินการ
ฟังความจากเด็กในบ้านของ “เสี่ยป้อม” แล้ว ก็ต้องบอกว่า ยาวไปๆ และคงไม่ต่างจากเรื่องแหวนเรื่องนาฬิกาที่จนป่านนี้ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่อง “3 พระพรหมและคณะ” ในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตเงินอดหนุนพระปริยัติธรรมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และเผลอๆ “ความซวย” อาจย้อนกลับมาเล่นงาน “พงศ์พร” อีกครั้ง ดังที่ “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” อดีตผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) อธิบายว่า กรณี้นี้เป็นการกล่าวโทษ 5 พระเถระนำงบไปใช้ดำเนินการในส่วนที่ไม่ใช่การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งหากมองตามหลักการแล้ว การตั้งงบดังกล่าว รวมทั้งการโยกงบที่จะให้แก่วัด การตั้งเรื่องอนุมัติงบ วิธีการต่างๆ ต้องทำโดยเจ้าหน้าที่ พศ.วัดเป็นเพียงผู้ทำเรื่องเสนอของบเท่านั้น การจัดสรรงบก็ขึ้นอยู่กับงบที่มีอยู่ และโอนให้แก่วัดตามที่จัดสรร โดยที่พระหรือวัดไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับวิธีการอนุมัติงบของ พศ.
“เท่าที่ได้เห็นเอกสารการเสนอขอรับงบประมาณในปี 2556-2557 ของวัดที่เป็นข่าวอยู่นั้น จะเขียนแบบกว้างๆ เพื่อได้บริหารจัดการงบในการทำงานได้สะดวก โดยเมื่อวัดได้รับงบมาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับวัด หากนำไปใช้ในกิจการพระพุทธศาสนาของวัดโดยไม่ได้นำงบไปให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าทำได้ แต่ถ้านำงบไปใช้ในนามบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถือว่าเข้าข่ายทุจริต นอกจากนี้ วิธีการผันงบของหน่วยราชการไปใช้ในอีกโครงการหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่หน่วยงานราชการปฏิบัติกัน เรียกว่าการบริหารจัดการงบ
“แนวปฏิบัติของ สตง.จะดูที่เจตนาการใช้งบด้วยว่า ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน สังคม ประเทศชาติหรือไม่ อาจไม่ตรงวัตถุประสงค์แบบไม้บรรทัด แต่เมื่อเป้าหมายที่ออกมาเกิดประโยชน์และชี้แจงที่มาที่ไปได้ ก็ถือว่าไม่มีเจตนาทุจริต ดังนั้น จึงเชื่อว่าพระสงฆ์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นวิธีการอนุมัติเสนองบ เนื่องจากก่อนที่วัดจะเป็นผู้เสนอของบนั้น ทาง พศ.ต้องแจ้งว่ามีงบหรือไม่ ซึ่งเจ้าห้าที่ พศ.ต้องให้คำแนะนำ”
ฟังความจากอดีตผู้ว่าฯ สตง.ซึ่งเคยมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบ “พระพรหมสุธี” หรือ “เจ้าคุณเสนาะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 67 ล้านบาท แล้วก็ต้องบอกว่า “โปรดอย่ากะพริบตา”