ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ้นสุดการรอยคอยเสียที เมื่อ กระทรวงพลังงาน เบิกฤกษ์เปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม “แหล่งเอราวัณและบงกช” ภายใต้ “ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) หรือพีเอสซี” หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ เห็นชอบตามแผนบริหารจัดการการประมูลที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชงขึ้นไป
งานนี้ มีเสียงร่ำลือกันกระหึ่มทั้งวงการว่าหน้าใหม่ไม่ว่าจะทุนหนาหรือว่าใหญ่มาจากไหน ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาร่วมประมูลให้ยาก เพราะมีการวิเคราะห์กันว่า ทีโออาร์ที่ออกมานั้นมีเงื่อนไขเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับรายเก่าเจ้าประจำแบบชนิดที่ว่านอนมา ถ้าหากกลุ่มทุนหน้าใหม่อยากแบ่งปันน้ำแกงกินบ้างก็ต้องหิ้วกระเป๋ามาขอร่วมเป็นพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับรายเดิมยิ่งขึ้น เป็นหนทางเดียวที่อาจยังพอมีหวังอยู่บ้าง
ไม่เพียงหน้าใหม่ที่มีโอกาสหมดสิทธิ์ปิดประตูตายหากจะขอลุยเดี่ยว แม้แต่ “เชฟรอน” บรรษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่ยึดครองแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณผลิตปิโตรเลียมมากที่สุดอยู่เก่าก่อนมานมนานก็คงถึงเวลาต้องคายให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัทในเครือ ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศไทย เข้าร่วมหุ้นให้มากขึ้นจากเดิมที่มีแค่จิ๊บๆ ประมาณ 5% เท่านั้น ถ้าการเจรจาถือหุ้นเพิ่มในเชฟรอนลงตัว ปตท.สผ. ก็พร้อมจับมือร่วมประมูลด้วยกัน แต่ถ้าไม่บรรลุข้อตกลง ปตท.สผ.และพันธมิตรก็จะแยกประมูลเข้าร่วมชิงชัยกลายเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวของเชฟรอนแทน
ในแง่ธุรกิจ นับเป็นจังหวะเหมาะที่ ปตท.สผ.จะฉวยโอกาสขอแบ่งปันความรวยจากเชฟรอนให้มากขึ้นในแหล่งเอราวัณ ขณะที่แหล่งบงกช ตัวเต็งหนึ่งก็ยังไงเสียก็ต้องเป็น ปตท.สผ. และพันธมิตรเดิมอยู่วันยังค่ำ นับเป็นผลงาน “การปฏิรวบพลังงาน” ของรัฐบาลทหารเพื่อเครือปตท.โดยแท้ ใช่หรือไม่?
นี่ยังไม่นับว่า การเปิดประมูลคราวนี้แม้จะใช้ระบบพีเอสซี แต่ก็ไม่มีอะไรต่างไปจากระบบสัมปทาน หรืออีกนัยหนึ่งจะเรียกว่านี่เป็น “สัมปทานจำแลง” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะแทบไม่มีอะไรต่างไปจากระบบสัมปทานเดิมๆ สักเท่าไหร่
ไม่ว่าจะเป็นตัวเต็งเจ้าเก่านอนมาเพื่อว่าจะได้ผลิตกันไปให้ต่อเนื่อง ก๊าซฯไม่ขาดแคลนแน่ในช่วงรอยต่อ ลงตัวตามแผนสงครามข่าวเขย่าขวัญคนไทยที่มีการผลิตวาทกรรมซ้ำซากถ้าไม่เอาเจ้าเก่าพวกคุณคนไทยมีสิทธิ์เจอวิกฤตก๊าซฯขาดแคลนแน่
ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขต้องขายก๊าซฯ ให้กับเอกชนรายเดิม รัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีส่วนบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดค้นขึ้นมาเหมือนเดิม เพียงรอรับส่วนแบ่งจากกำไรซึ่งกำหนดว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ฟังดูเหมือนจะดีกว่าเดิมเท่านั้น
ลืมเรื่องการศึกษาจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” - National Oil Company (NOC) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใส่ไว้ในข้อสังเกตท้ายพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ระบุให้ศึกษาการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี ก่อนประมูลเอราวัณ-บงกช กันไปเลย โดยเวลาที่ผ่านมาหนึ่งปีนับจากวันที่ 30 มี.ค. 2560 - 30 มี.ค.2561 จนบัดนี้ NOC มีแต่ความอ่อนปวกเปียกและว่างเปล่า
ทวนความจำกันสักนิด บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนเรียกร้องตามวาระปฏิรูปพลังงานของประเทศนั้น จะเป็นหน่วยงานรัฐที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดแทนรัฐ เป็นตัวกลางในการเข้าทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับเอกชน ซึ่งแต่เดิมบทบาทหน้าที่นี้เป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. แต่เมื่อ ปตท.แปรรูปเป็นเอกชนตามกฎหมายจึงไม่อาจมีอำนาจมหาชนทำแทนรัฐได้
ยังไม่ต้องพูดถึงใส้ในลึกๆ ที่ยังคลุมๆ เครือๆ หาความกระจ่างไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจทรัพย์สินที่เอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องยกให้แก่รัฐตามเงื่อนไขหลังสิ้นสุดสัมปทานนั้น แทบไม่มีปรากฏข่าวคราวออกสู่สาธารณชนเลยว่าเอกชนต้องส่งมอบอะไรให้กับรัฐบ้าง ครบถ้วนกระบวนความหรือไม่ ตีมูลค่าทรัพย์สินเหล่านั้นก่อนที่จะให้เอกชนเข้าไปใช้ต่อหลังการประมูลรอบนี้แล้วเสร็จยังไง รัฐได้ผลตอบแทนคุ้มไหม
ควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเรียกใช้บริการของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้าสำรวจตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะส่งมอบให้แก่รัฐเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างคราวแปรรูป ปตท. ซึ่งป่านนี้กว่าทศวรรษแล้วยังเถียงกันเรื่อง ปตท. คืนท่อก๊าซฯ ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติให้แก่รัฐ ครบหรือไม่ครบ เป็นประเด็นที่จบไม่ลงไม่สิ้นสงสัยคาใจสังคมอยู่จนบัดนี้ คราวนี้ก็สู้ทำให้ทุกเรื่องราวโปร่งใส ไม่ควรที่จะทำให้เครือ ปตท. หรือเชฟรอน ต้องมาหมองหม่นเปล่าๆ จะดีกว่า
นอกจากนั้น ยังจะทำให้รัฐบาลทหารไม่ถูกข้อครหาซ้ำรอยรัฐบาลนายทักษิณ ว่ามีนอกมีใน หรือมีอะไรบางประการที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของชาติครั้งนี้ที่มาถูกจังหวะประเหมาะกับความที่รัฐบาลทหาร กำลังได้รับฉายาว่าเป็น “จอมดูดทั้งแผ่นดิน” ก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่จะมาถึงในเร็ววันนี้
มาว่ากันในการเปิดประมูลคราวนี้กัน หลังจากยืดเยื้อเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ในที่สุด เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทาน ในปี 2565 - 2566 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล ในวันที่ 24 เม.ย. 2561 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลัก ดังนี้
• ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61
• ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติ ในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล
• ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่างๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ
• ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้ การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เม.ย. 2565
ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกชมีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เม.ย. 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มี.ค. 2566
หลังจาก กพช. เคาะเสร็จสรรพ ในวันถัดมา นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แถลงความพร้อมการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 พื้นที่ประมาณ 4,501 ตร.กม. และ G2/61 พื้นที่ประมาณ 3,247 ตร.กม. ภายใต้ระบบ PSC ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดขั้นตอนและเวลาการประมูล 4 ขั้นตอน สรุปได้ ดังนี้
1.การออกประกาศเชิญชวน และพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมกำหนด และเนื่องจากพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิ ทั้ง 2 แปลง เป็นแหล่งที่รองรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ขอรับสิทธิในฐานะผู้ดำเนินงานจึงต้องยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยต้องแสดงข้อมูลการถือครองหุ้นในกิจการ ระหว่างปี 2559 - 2560 รวมถึงจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลตามที่กำหนดในเอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูล ผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(http://www.dmf.go.th/bidding2018) ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป จากนั้นสามารถยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 4 พ.ค.2561 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 15 - 16 พ.ค. 2561 ซึ่งจะแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 28 พ.ค. 2561
2.การเข้าถึงและการศึกษาข้อมูล ผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ตามรายชื่อที่ได้ประกาศ สามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล ในระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2561 จากนั้นสามารถเข้าศึกษาข้อมูลในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. - 21 ก.ย. 2561
3.การยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จัดทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในวันที่ 25 ก.ย. 2561
4.การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการประกาศผลผู้ที่ชนะการประมูล และได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจะมีการลงนามสัญญา กับผู้ชนะการประมูลต่อไป
หลังจากการประกาศทีโออาร์และกำหนดไทม์ไลน์ในการประมูล นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แสดงถึงความพร้อมในการเข้าร่วมแข่งขัน
".... แหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการมาถึง 20 ปี ทำให้บริษัทมีความเข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งเป็นอย่างดี รวมถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และหาก ปตท.สผ. ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการต่อจะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการหยุดชะงักในการผลิต รวมทั้งสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับภาครัฐได้มากกว่า"
ในการประมูลในแหล่งบงกช ปตท.สผ. มีแผนจะเข้าประมูลร่วมกับผู้ร่วมทุนรายเดิม คือบริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์ เนื่องจากเป็นพันธมิตรในการลงทุนที่ดี สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีร่วมกันในการพัฒนาแหล่งบงกชได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ดำเนินการปัจจุบัน (เชฟรอน) และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูลในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
ส่วนเชฟรอน นายเจย์ จอห์นสัน รองประธานบริหารธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ก็พร้อมเช่นเดียวกัน ".... แหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ที่นับเป็นประจักษ์พยานความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างเชฟรอนกับประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างยาวนานมากว่า 55 ปี และแม้ว่าในขณะนี้การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณจะทวีความท้าทายมากขึ้นจากการดำเนินการมาอย่างยาวนานและสำรองปิโตรเลียมที่ลดน้อยลง แต่เชฟรอนก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการกับความท้าทายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่เพียงสองรายหลักนี้เท่านั้น มีกระแสว่าผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลนอกเหนือไปจาก ปตท.สผ. กับเชฟรอนฯ ยังจะมีรายใหม่อย่างบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น หรือ ซีนุก (CNOOC), บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) และบริษัทมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น เข้าร่วมอีกด้วย กระทั่งมีคอลัมนิสต์ชื่อดังของสำนักข่าวหัวสีออกมาตีกันทุนจีนแบบออกนอกหน้าให้เห็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชคราวนี้ มีการตั้งข้อสังเกตและข้อท้วงติงมาจากนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ติดตามประเด็นเรื่องการปฏิรูปพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายธีระชัย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เตือนมิให้ กพช. ซึ่งนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ทำผิดกฎหมาย โดยมีเนื้อหาสรุปรวมความได้ว่า ร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่เสนอต่อ กพช.นั้น อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง อำนวยให้บริษัทดังกล่าวผูกขาดธุรกิจก๊าซฯต่อไป
“.... การให้น้ำหนักร้อยละ 65 ต่อข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติ อันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์หลักต่อบริษัท XXX จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเอกชนได้รับประโยชน์ รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างประเทศ แต่ให้น้ำหนักเพียงร้อยละ 25 ต่อส่วนแบ่งกำไรภาครัฐ อันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์หลักต่อรัฐบาลไทย และเป็นผลประโยชน์หลักต่อประชาชนคนไทยทั้งมวลนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลเป็นการลิดดรอนสิทธิประโยชน์ของปวงชนชาวไทยไปเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างชาติอีกด้วย ซึ่งผิดกฎหมายอีกประการหนึ่ง....” นายธีระชัย ตั้งข้อสังเกต
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณกับบงกช เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ทีโออาร์ที่ออกมาเป็นสัมปทานจำแลงเพื่อล็อกสเปกเอื้อกลุ่มทุนกินรวบทรัพยากรของประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่า 2 แสนล้าน
"การออกแบบTOR ครั้งนี้ รัฐมนตรี (พลังงาน) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ สมควรรู้อยู่แล้วว่าเป็น TOR สัมปทานจำแลง ไม่ใช่ TOR สำหรับการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต ดร.ศิริ ทราบดีว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ต้องมีการแบ่งปันผลผลิตเป็นปิโตรเลียม ไม่ใช่จ่ายเป็นเงินแบบระบบสัมปทาน จึงต้องมีหน่วยงานที่เป็นของรัฐ 100% ที่เรียกว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติ มาเป็นผู้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียม และบริหารการขายปิโตรเลียมที่รัฐได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งเป็นผู้รับมอบทรัพย์สินทั้งหมดของเอกชนที่เมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้ว ต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐเพื่อนำมาบริหารกิจการปิโตรเลียมต่อไป" น.ส.รสนา ระบุ
แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้ง เป็นไปตามคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่าเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปพลังงานของประเทศจากภาคประชาชนตลอด 4 ปีที่รัฐบาลทหารครองอำนาจ สุดท้ายไม่ได้มีความหมายใดๆ ด้วยว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและรายละเอียดปลีกย่อยก็มิได้มีอันใดเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น