ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร่ำลือกันมานานสองนาน จนผู้คนคิดว่า น่าจะเป็นเรื่องจริงไปแล้ว สำหรับกรณีกระแสข่าวเรื่อง “การควบรวม” ของ 2ธนาคารไทยคือ “ธนาคารทหารไทย” และ “ธนาคารกรุงไทย” โดยเฉพาะหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งถูกตีความทันทีว่า เป็นการเตรียมการหรือเป็นการเอื้อให้มีการควบรวมกิจการของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการให้บริการของธุรกิจและลดต้นทุนของธนาคารและจะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี
เหตุเป็นธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงไทยก็เพราะทั้งสองธนาคารมีผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลังร่วมกัน โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยอยู่ 55.07% แม้กองทุนฟื้นฟูฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็ยกอำนาจในการดูแลให้คลังไป ส่วนธนาคารทหารไทยนั้นกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 25.92%
ทั้งนี้ ร่องรอยของนโยบายดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศแนวทางเอาไว้เมื่อปลายปี 2560 ว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะทำให้สถาบันการเงินของไทย มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในภาวะที่สถาบันการเงินต้องปรับตัว เพื่อการอยู่รอดในยุคดิจิทัลที่ความจำเป็นของการบริการการเงินที่อาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวกลางมีน้อยลง กระทรวงการคลังมีแนวคิด ส่งเสริมให้สถาบันการเงินควบรวม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถแข่งขันกับแบงก์ต่างชาติได้ โดยได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) แล้ว ธปท. ไม่ขัดข้อง
“กระทรวงการคลังไม่ได้บังคับให้สถาบันการเงินต้องควบรวมกัน แต่จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจ อยากเห็นแบงก์ไทยมีความเข้มแข็ง ขนาดใหญ่ขึ้น เป็นแชมป์เปียนแบงก์ เพราะปัจจุบัน แบงก์ไทยเล็กกว่าแบงก์ต่างชาติ หากควบรวมได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ แบงก์ไทยจะมั่วมากินเค้กก้อนเดียวกันอยู่ไม่ได้ แบงก์ต่างชาติก็ยังออกไปลงทุนต่างประเทศ” นายอภิศักดิ์ กล่าวในงาน Thailand Smart Money Bangkok 2017 ครั้งที่ 8 และเป็นรูปธรรมหลัง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 17เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มติ ครม.ดังกล่าวจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธนาคารที่จะควบรวมกิจการกันด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยยกเว้นภาษีหลายประเภทพร้อมๆกัน ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้ถือหุ้นของธนาคาร หรือธนาคารที่ควบรวมกัน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้กับธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ใช้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงทำให้ดีขึ้น และหากสินทรัพย์หลังควบรวมกันแล้วเกิน 4 ล้านล้านบาท ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ถ้าอยู่ระหว่าง 3-4 ล้านบ้านบาท หักได้ 1.75 เท่า ระหว่าง 2-3 ล้านล้านบาท ได้ 1.5 เท่า และตั้งแต่ 1-2 ล้านล้านบาทได้ 1.25 เท่า
สำหรับเงื่อนไขการยกเว้นภาษีสำหรับรายจ่าย นายณัฐพรกล่าวว่า จะต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้ไปเพื่อการลงทุน ดังนี้ 1.รายจ่ายเพื่อการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะต้องมีระบบคอลแบงกิ้งใหม่ รวมทั้งรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวร ที่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย 2.รายจ่ายเพื่อการเลิกหรือปรับปรุงสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาจ้าง หรือสัญญาบำรุงรักษา ที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือธนาคารพาณิชย์ 3.กรณีรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการรื้อถอนเครื่องจักร ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ โดยระยะเวลาสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่เข้าควบกันหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ขณะที่มาตรการการลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ครม.เห็นควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเครื่องจักรตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวม กิจการได้ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2565 หรือมีระยะเวลาถึง 5 ปีเท่านั้น
“กระทรวงการคลังระบุเหตุผลของการเสนอเรื่องนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันระบบธนาคารมีการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนการเชื่อมต่อ จึงต้องมีมาตรการทางภาษีและมาตรการการลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการควบรวม ให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับธนาคารที่มีเงินทุนเพียงพอ เพื่อแข่งขันและลงทุนในระดับอาเซียนได้ โดยมีการยกตัวอย่าง ธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ขนาดปกติมีสินทรัพย์ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เท่านั้น”นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 เมษายน 2561
และนั่นก็นำไปสู่กระแสข่าวลือเรื่องการควบรวมของธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงไทยขึ้นมาในทันที กระทั่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ต้องออกมาปฏิเสธว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐควบรวมกิจการ แต่เป็นมาตรการที่เอื้ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนหากจะเกิดการควบรวมกิจการกันของธนาคารพาณิชย์ไทย
คำถามมีอยู่ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ทั้ง 2 ธนาคารจะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน?
และถ้าทั้ง 2 ธนาคารไม่ได้ปรารถนาจะควบรวมกัน แล้วมีธนาคารอื่นอีกหรือไม่ที่เข้าข่ายนี้ เพราะการที่ ครม.โดยกระทรวงการคลังมีมติในเรื่องดังกล่าวออกมาย่อมมิใช่ออกมาแบบเรื่อยเปื่อย หากแต่ย่อมรู้ดีถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะมีการควบรวมธนาคารเกิดขึ้น เช่น ธนาคารขนาดใหญ่ก็อาจควบรวมกับธนาคารที่มีขนาดเล็ก ธนาคารที่มีขนาดใหญ่และเล็กอาจควบรวมกับธนาคารต่างชาติก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
เพราะสูตรการควบรวมดังกล่าวก็ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างกรณีของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือแอลเอชแบงก์ ได้ควบรวมกับ ธนาคารซีทีบีซี ธนาคารขนาดใหญ่จากไต้หวัน เมื่อปีที่แล้ว เป็นต้น
กล่าวสำหรับธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงไทยนั้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในทำนอง “สนใจ” เพียงแต่ว่า จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) เสียก่อน รวมทั้งต้องหารือกับ “ธนาคารไอเอ็นจี” ในฐานะผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธนาคารไอเอ็นจีจะเห็นดีเห็นงามกับการควบรวมกิจการ
มิหนำซ้ำ ถ้าจะว่าไปแล้ว โครงสร้างองค์กรของทั้ง 2 ธนาคารก็ที่ไม่สอดรับกันอีกต่างหาก ดังคำกล่าวของ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ที่บอกว่า ธนาคารทหารไทยและกรุงไทย มีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะทหารไทยมุ่งพัฒนารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารที่ตอบสนองความต้องการของรัฐบาล แม้จะมีผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลัง เหมือนกัน แต่ธนาคารทหารไทยมีกลุ่มไอเอ็นจี ของเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 30 และที่ผ่านมากลุ่มไอเอ็นจีก็ลงทุนเพิ่มในธนาคารตลอด
กล่าวคือ ธนาคารทหารไทยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย คือ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 25.92% และธนาคารไอเอ็นจี 25.02% และ ที่ผ่านมาไอเอ็นจีแบงก์พยายามขอซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยในสัดส่วนของกระทรวงการคลังหลายรอบเนื่องจากต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่คลังตั้งราคาขายสูงกว่าราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาก ทำให้ตกลงกันไม่ได้
แต่ถ้าหากควบรวมกันได้จริง จะทำให้มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในระบบ ที่ 3.7 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับธนาคารกรุงเทพ (3.07 ล้านล้านบาท) ธนาคารไทยพาณิชย์ ( 3.02 ล้านล้านบาท) และ ธนาคารกสิกรไทย (2.90 ล้านล้านบาท)โดยปัจจุบันธนาคารกรุงไทย มีขนาดสินทรัพย์ 2.85 ล้านล้านบาท ขณะที่แบงก์ทหารไทย มีขนาดสินทรัพย์ 8.43 แสนล้านบาท
ที่สำคัญคือ ปัจจุบันสถานการณ์ของธนาคารทหารไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาตลอด โดยในปี 2557 กำไรสุทธิทำนิวไฮแตะ 9.5 พันล้านบาท ส่วนปี 2558-2560 มีกำไรสุทธิ 9.3 พันล้านบาท, 8.2 พันล้านบาท และ 8.6 พันล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ในไตรมาสที่ 1ของปี 2561 นี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิเป็น 2,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า หลังจากได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเป็น 2,305 ล้าน บาท หรือเพิ่มขึ้น 3% โดยในไตรมาสนี้ธนาคารสามารถ ขยายฐานเงินฝากเพิ่มได้ 2% มาอยู่ที่ 623,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สินเชื่อคุณภาพเติบโต 0.4% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 628,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่มีวาระเกี่ยวกับการควบรวมธนาคารแต่อย่างใด
ส่วนธนาคารกรุงไทย กำไรไตรมาสที่ 1 ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ และภาษีเงินได้) อยู่ที่ 15,995 ล้านบาท ลดลง 13.11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 และมีกำไรสุทธิ 6,787 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เท่ากับ 20,540 ล้านบาท ลดลง 7.17% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.50% ต่อปี เมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรวมค่อนข้างทรงตัว โดยสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายย่อยขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ 3.07%
รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 6,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.75% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ Bancassurance ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการรักษาระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 120.25% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2560 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ 6,908 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากไตรมาส 1/2560
สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs gross) ณ ไตรมาส 1/2561 จำนวน 107,774 ล้านบาท โดยมี NPL Ratio Gross อยู่ที่ 4.33% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 4.19% จากลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยบางส่วน เงินกองทุนของธนาคาร อยู่ที่ 17.72% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 17.45% โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.81% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และได้ประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางการ และครอบคลุมถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต
“นายผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการควบรวมว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจทำให้ขนาดของธนาคารใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้ฐานลูกค้าโตขึ้นตามไปด้วยและจะมีผลบวกทำให้เกิดการบริการลูกค้าในหลากหลายมิติ แต่ในส่วนของ KTB ไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ถือหุ้นใหญ่หรือจากคณะกรรมการธนาคารก็ตาม โดยธนาคารมีทั้งข้อดีและข้อเสียในการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะมุ่งเน้นถึงลูกค้าเป็นหลักมากกว่าทางธุรกิจ
ทั้งนี้ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ทั้ง 2 ธนาคารจะควบรวมกัน และกระแสข่าวการควบรวมดังกล่าวมีมาเป็นระยะเนื่องจากมองว่า ธนาคารทั้ง 2 แห่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลังเหมือนกันจึงเป็นแรงจูงใจให้มีข่าวนี้เกิดขึ้น โดยในด้านพื้นฐาน ธนาคารแต่ละแห่งมีความแข็งแกร่งเฉพาะตัว จากที่ก่อนหน้านี้ TMB มีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดการคุณภาพหนี้มาโดยตลอด ทำให้หนี้เสียลดลง และถึงแม้เป็นแบงก์ขนาดเล็ก แต่ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ ROE สูงกว่า KTB และการเติบโตกำไรดีกว่า คุณภาพหนี้จัดการดีกว่า
...ด้วยเหตุดึงกล่าว ทำไปทำมา หวยอาจจะไม่ได้ออกที่ธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงไทย หากอาจจะกลายเป็นการควบรวมของธนาคารนอกตลาดหลักทรัพย์อย่าง ธนาคารออมสินกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ก็เป็นได้ โดยเฉพาะไอแบงก์ที่แม้ผลการดำเนินงานในเดือน ม.ค. 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานแล้วราว 50 ล้านบาท ถือเป็นกำไรในครั้งแรกในรอบ5 ปี และคาดว่าทั้งปีจะมีกำไรถึง 500 ล้านบาท แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเข้าขั้น “โคม่า” อันเป็นผลมาจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ที่แม้จะโอนก้อนใหญ่กว่า 5 หมื่นล้านบาทไปให้บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) แล้ว ก็ยังเหลือราว 3,600 ล้านบาทที่ต้องเร่งจัดการให้หมดสิ้นในเร็ววัน และมีความชัดเจนว่า ต้องการหา “พันธมิตร” มาร่วมทุน