xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “บุญสร้าง” ถึง “มีชัย” ปฏิรูปตำรวจ...ทำ “จริงๆ” สักทีเถอะ “พ่อคู้ณณณณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่รู้ว่าจะ “หัวเราะ” หรือว่า “ร้องไห้” ดี สำหรับความคืบหน้าใน “การปฏิรูปตำรวจไทย” ที่ทำไปทำมายังคง “พายเรืออยู่ในอ่าง” ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยคาดหวังให้มีการปฏิรูปเป็นเรื่องแรก และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมทั้งรัฐบาลก็มีอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” อยู่ในมือเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

แถมทำไปทำมา แทนที่จะเดินหน้าปฏิรูปก็กลับกลายเป็นว่ารัฐบาล คสช.ดูจะอี๋อ๋อกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยการใช้เป็นมือไม้ในการทำงานสารพัดเรื่องอีกต่างหาก

4 ปีนับแต่มีการรัฐประหาร และรัฐบาล คสช.เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ในเบื้องแรกหลังจากถูกสังคมเรียกร้องอย่างหนักในมีการปฏิรูปตำรวจ รัฐบาล คสช.ก็แก้เกมด้วยการแต่งตั้ง “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แอ่นอกรับประกันความสามารถว่า “อาจารย์โผ้ม” ขึ้นมาประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2560 มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ศึกษาโน้นนี่นั่น จนมีข้อสรุปออกมาชัดเจนระดับหนึ่ง และนำประเด็นต่างๆ ไปนำเสนอให้รัฐบาล คสช.พิจารณา

แต่สุดท้ายก็ทำท่าว่าจะกลายเป็นเพียง “พิธีการ” เพื่อ “ซื้อเวลา” และลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น เพราะข้อเสนอของ พล.อ.บุญสร้างที่ตั้งใจทำงานมาแรมปีก็ “เป็นหมัน”(อีกแล้วครับท่าน) เนื่องเพราะก็ถูก คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มี “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นมาพิจารณาอีกชั้น ประกาศฉีกทิ้งไปเรียบร้อย

“จารย์มีชัย” ประกาศเสียงดังฟังชัดเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมาว่า แผนการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมานั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เพราะยังไม่มีความเด็ดขาดในการปฏิรูปยังมีความเกรงใจตำรวจอยู่จึงจะต้องปรับแก้ไขใหม่

สรุปก็คือ สิ่งที่ “บิ๊กสร้าง” ทำมาทั้งหมดยังไม่เจ๋งพอ และต้องไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการชุดนายมีชัยจะรื้อการปฏิรูปตำรวจใหม่ว่า ไม่ทราบจะรื้อแค่ไหน เพราะในที่ประชุมก็ไม่ได้มีการพูดตรงๆ แต่ขอให้สิ่งที่ทำนั้นออกมาดีและเป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง

“ถ้ามีการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งฉบับ ก็เป็นธรรมดาที่ปฏิรูปตำรวจอาจล่าช้าออกไป อาจจะเลื่อนได้บ้าง แต่ขอให้ออกมาดี จะช้าไปบ้างทุกฝ่ายก็คงรอได้ ซึ่งทราบว่าภารกิจที่เหลืออีก 2 ด้าน ซึ่งเป็นงานถึงร้อยละ 70 ที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้ดำเนินการมาจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ในวันที่ 24 เม.ย.นี้” พล.อ.บุญสร้างกล่าว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเจ็บ “ข้างใน” หรือไม่ หรือรู้สึก “เฉยๆ” เพราะอาจทราบผลลัพธ์ที่จะออกมาเยี่ยงนี้ล่วงหน้าแล้วก็มิรู้ได้

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า ผลการศึกษาของ “บิ๊กสร้าง” ไม่สูญเปล่า โดยระบุว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นเสี้ยวหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จะนำข้อสังเกตและรายงานของคณะกรรมาธิการ 3 คณะ คือ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้างเป็นประธาน, คณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ที่มีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มาประกอบการพิจารณา และนายมีชัยได้สั่งให้นำรายงานการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ทำไว้อย่างละเอียดมาพิจารณาด้วย

23 เมษายน คณะกรรมการของอาจารย์ชัยมีข้อสรุปพื้นฐานว่า จะเน้นการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยแท้เป็นหลัก เพราะเห็นว่าแก่นแท้ของงานตำรวจคือการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การนำบุคคลที่กระทำความผิดทางอาญามาสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นงานหลักที่ต้องรักษาไว้ นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนงานที่นอกเหนือไปจากนี้ที่มีลักษณะเป็นงานบริการประชาชน งานทะเบียน งานจัดระเบียบอื่น ๆ อาทิ งานจราจร ถือเป็นงานรอง สมควรถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมเพื่อให้องค์กรตำรวจกระชับขึ้น และกำลังพลที่มีอยู่สามารถรองรับงานหลักได้เต็มที่ ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ 1. ต้องไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ประชาชน และ 2. ต้องไม่สร้างภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป

ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การถ่ายโอนภารกิจในความหมายนี้จึงไม่ใช่การถ่ายโอนงานสอบสวนคดีอาญาบางประเภทที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปให้หน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นและปัจจุบันทำงานทางด้านสืบสวนและมีอำนาจจับกุมอยู่แล้วทำแทนทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดหน่วยงานสอบสวนขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากอยู่ต่างสังกัดกัน เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก หากทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างนรกให้กับประชาชนหรือทำให้ประชาชนประสบสภาวะหนีเสือประจระเข้

จากนั้น วันที่ 25เมษายน กรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจได้ พิจารณาประเด็นโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเห็นควรในเบื้องต้นให้แบ่งออกเป็น 4 สายงาน หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า 4 แท่ง ประกอบด้วย แท่งที่ 1 งานสืบสวนสอบสวน แท่งที่ 2 งานป้องกันปราบปราม แท่งที่ 3 งานเทคนิคและวิชาการ แท่งที่ 4 งานบริหารและอำนวยการ

ทั้งนี้ คำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้อธิบายความของแต่ละแท่งเอาไว้ว่า แท่งที่ 1 ส่วนใหญ่คือเจ้าพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่ทำสำนวนคดีเพื่อส่งฟ้อง จะยกระดับให้เป็นวิชาชีพเฉพาะเสมือนงานส่วนอื่นในกระบวนการยุติธรรม มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตำแหน่ง มีระบบศึกษาอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกฎเกณฑ์ให้สามารถทำงานตามวิชาชีพได้โดยอิสระจากการสั่งการของผู้บังคับบัญชาในส่วนของคดีทำนองเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมหน่วยงานอื่น และจะมีค่าตอบแทนพิเศษให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงและมีเกียรติโดยเทียบเคียงกับผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมหน่วยงานอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเติบโตก้าวหน้าในแท่งวิชาชีพเฉพาะนี้ไปตามลำดับโดยไม่ถูกแทรกแซงจนถึงชั้นสูงสุด

อย่างไรก็ดี การทำงานของเจ้าพนักงานสอบสวนก็จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม โดยจะพิจารณากันในโอกาสต่อไป

ส่วนแท่งที่ 2, 3 และ 4 ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางตามลักษณะของหน่วยงานที่หลากหลาย
ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้ามแท่งกระทำได้หากมีคุณสมบัติเฉพาะตรงตามตำแหน่งในแท่งที่จะย้ายไป แต่เงื่อนไขสำคัญคือจะต้องเป็นการย้ายไปลงตำแหน่งระนาบเดียวกันเท่านั้น และไปเติบโตต่อภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันของแท่งที่ย้ายไปนั้นโดยไม่ได้สิทธิพิเศษ ไม่ใช่ย้ายไปกินตำแหน่งที่สูงกว่า

โดยในทุกแท่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเติบโตในหน้าที่ไปตามลำดับจนถึงชั้นยศสูงสุดที่พล.ต.อ. ตำแหน่งรองผบ.ตร.

นั่นหมายถึงจะมีรองผบ.ตร.จากทุกแท่ง ๆ ละ 1 คน และจะมีผช.ผบ.ตร.จากทุกแท่ง ๆ ละอย่างน้อย 2 คน โดย ผบ.ตร.อาจมาจากแท่งใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการคัดเลือกและแต่งตั้งที่จะพิจารณาในโอกาสต่อไป

ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า การปฏิรูปตำรวจจะเดินหน้าต่อไปในลักษณะใด และสุดท้ายจะทำได้จริงๆ หรือไม่ แต่เชื่อเถอะว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” อย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น