xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บทเรียน “เมจิกสกิน” อย่าเชื่อ! แค่มีเลข อย. อย่าเชื่อ! แค่ดารารีวิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตภัณฑ์ในเครือเมจิกสกิน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีจับกุม “เครือข่ายเมจิกสกิน” บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมายไร้คุณภาพ สวมเครื่องหมาย อย. ที่ใช้ศิลปินดาราคนดังโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ถือเป็นคดีที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในด้านตัวเลขผู้เสียหายที่มีจำนวนมาก ทั้งมูลค่าความเสียหายที่พุ่งกว่า 100 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็นำไปสู่ “คำถาม” อันเป็น “บทเรียนสำคัญ” ที่ผู้คนในสังคมกำลังจับตาเรื่อง “ดารากับความรับผิดชอบต่อสังคม” และ “บทบาทขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค” อย่าง “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)” ซึ่งต้องถือว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีความดังกล่าวว่าจะต้องมีมาตรการป้องกันหรือยกเครื่องครั้งใหญ่หรือไม่

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของเรื่องเป็นผลมาจากการที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) บุกทลายแก๊งเครื่องสำอางและอาหารเสริมใน เครือข่ายบริษัท เมจิกสกิน จำกัด จำนวน 13 จุดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2561 สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมากเดินทางไปร้องทุกข์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับ “เครือข่ายเมจิกสกิน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางอาหารเสริมหลายยี่ห้ออย่าง Apple slim, Slim milk, Snow milk, Fern, Mezzo, ชิโนชิ , ตรีชฎา และ เมจิกสกิน หลังพบไม่ได้คุณภาพ สวม อย. ติดเครื่องหมายการค้าผิดประเภท โฆษณาเกินจริงหลอกลวงให้ผู้บริโภค เช่น ทำให้ผิวขาวใส ชะลอไม่ให้แก่ก่อนวัย ฯลฯ ซ้ำร้ายบางรายรับประทานแล้วเกิดอาการมือสั่น ใจสั่น คอแห้ง นอนไม่หลับ

ผู้ต้องหาตามหมายจับ 8 ราย ประกอบด้วย นางวรรณภา พวงสน หัวหน้าทีม, นายกร พวงสน ดูแลการเงิน, นายกสิทธิ์ วรชิงตัน, นายไมยสิทธิ์ สว่างธรรมรัตน์ ทำหน้าที่จัดโรงเรียนสอนรวย, นายพิร์นิธิ ติรณวัตถุภรณ์ ผู้วางกลยุทธ์, น.ส.ธนัญพรรธน์ บุญโญสิทธิ์, น.ส.ตรีชฎา ใจสบาย และ น.ส.มธุรส แดงสัมฤทธิ์ ผู้สั่งผลิต นอกจากนี้ ยังพบบัญชีเครือข่ายเมจิกสกินมีเงินหมุนเวียนสะพัดกว่า 100 ล้านบาท

โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เข้าร้องเรียนเป็น “ตัวแทนจัดจำหน่าย” รูปแบบธุรกิจคล้าย “แชร์ลูกโซ่” กล่าวคือซื้อผลิตภัณฑ์มาสต๊อกไว้และหาลูกทีมให้รับซื้อต่อไป หากทำยอดได้ตามจำนวนสัญญาจะให้ทองหรือท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยแก๊งลวงโลกเมจิกสกินจะชวนเชื่อชักชวนเครือข่ายเข้ามาสต๊อกสินค้า ใช้เงินเป็นกลอุบายหลอกล่อให้หลงเชื่อร่วมธุรกิจ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารเสริมความงาม ย่านสุคนธสวัสดิ์ พบว่าโรงงานดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน พบเอกสารสำหรับติดผลิตภัณฑ์ในลักษณะปลอมเครื่องหมาย อย. พบผลิตภัณฑ์จำนวนมาก การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน วัตถุดิบวางเรียงเลอะเทอะสกปรก ส่วนสารประกอบต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ในเครือเมจิกสกินก็พบว่ามีปัญหาเช่นกัน

จากการตรวจสอบสินค้าในเครือเมจิกสกินพบว่ามีต้นทุนการผลิตราคาต่ำมาก แต่กลับจำหน่ายในราคาที่สูงฟันกำไรหลายเท่าตัว ยกตัวอย่าง “สลิมมิลค์” หนึ่งในผลิตภัณฑ์เครือเมจิกสกิน เป็นเพียงนมผงธรรมดาไม่ได้มีสรรพคุณช่วยในการลดน้ำหนักอย่างที่ระบุไว้ ซึ่งจำหน่ายในราคา 299 บาท จากราคาทุนเพียง 29 บาท

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบว่ามีสินค้าเครือเมจิกสกิน ไม่ขึ้นทะเบียนหลายรายการและอีกหลายรายการสถานที่ผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้ง จึงสั่งระงับการผลิตและห้ามขาย รวมทั้งสิ้น 266 รายการ พร้อมเพิกถอนใบรับจดแจ้ง เรียกเก็บสินค้าคืนเพื่อทำลาย และจัดการเอาผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท จำคุกสูงสุด 10 ปี

ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมถึงการเข้าจับเครือข่ายเมจิกสกินว่า ในส่วนของการโฆษณาในสื่อต่างๆ อย. มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ แต่ในช่วงหลังการทำงานก็ค่อนข้างลำบาก เพราะทางผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวัง เช่น การขอเข้าร่วมกลุ่มไลน์ จะต้องรอแอดมินยืนยันและบางครั้งจะมีการโทรสอบถามว่าเราเป็นลูกค้าเขาจริงหรือไม่


อย่างไรก็ตามในการรีวิวต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าข่ายการโฆษณา ทาง อย. ได้มีการส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังต้นสังกัดของดารานักแสดง นักร้อง พริตตี้ เน็ตไอดอล ที่อยู่ในความดูแลให้มีความระมัดระวังในการีวิวสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทาง อย. ไม่ให้มีการโฆษณาเกินจริงและต้องมีวิจารณญาณในการโฆษณา ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ดังนั้น หากมีการฝ่าฝืนจะอ้างว่าไม่ได้รับเงินหรือผลตออบแทนไม่ได้ หรือหากระบุว่าไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใช้เลข อย.ปลอม ก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยหากมีความผิดผู้โฆษณาจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในท้องตลาดปัจจุบันมี 5 - 6 แสนรายการ และมีที่ขอจดแจ้งก่อนปี 2558 ก่อนมี พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ออกมา ซึ่งจะหมดอายุประมาณเดือน ก.ย. 2561 ประมาณ 4 แสนรายการ ดังนั้น จะทราบตัวเลขผลิตภัณฑ์ที่แน่นอนประมาณเดือน ก.ย. เพราะบางอันอาจเลิกผลิตไปแล้ว

ภก.สมชาย ให้ข้อมูลด้วยว่า เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคได้มีการคุยกันในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยมีวิธีให้ผู้บริโภคตรวจสอบฉลากด้วยวิธีง่ายๆ และแม่นยำ เช่น การทำคิวอาร์โค๊ดติดไปยังตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถสแกนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบสำคัญในสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางในเครือเมจิกสกิน คือการใช้ดาราศิลปินคนดังมาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ การซื้อพื้นที่โฆษณาบิลบอร์ดมากมาย

บทความเรื่อง “ถอดบทเรียน “เมจิก สกิน” แบรนด์โนเนม พึ่งพลัง Influencer เสกคาถาการตลาดโกยเงินมหาศาล” โดย Positioningmag.com วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า การทำตลาดของ เมจิก สกิน กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะการเป็นแบรนด์โนเนม แต่กล้าทุ่มทุนดึงเหล่าดาราตัวท็อปแถวหน้าของวงการ เซเลบริตี้ บล็อกเกอร์ และเหล่า Influencer จำนวนมากช่วยโปรโมต รีวิวสินค้า สร้างยอดขายหลัก สิบล้านบาท ในเวลาอันสั้น 6 ปีเท่านั้น

ที่สำคัญคือ การเลือกใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing ก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือต้องการเรียกศรัทธาและความน่าเชื่อถือจากกลุ่มเป้าหมายบนโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็โกยยอดขายเป็น กอบเป็นกำ

ประหนึ่งดึงเหล่าผู้นำทางความคิด (Key Opinion Leader (KOL) ในแวดวงต่างๆ มาเป็นตัวแทนของแบรนด์ สร้างการรับรู้ สร้าง Engagement ตลอดจนกระตุ้นยอดขาย

แน่อนอนว่า คนดังระดับท็อป รีวิวสินค้าโพสต์ผ่านอินสตาแกรม ย่อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคไม่น้อย ซึ่งนั่นยิ่งกระพือให้อาหารเสริมเครื่องสำอางเครือเมจิกสกินเป็นจุดสนใจ อาทิ วุ้นเส้น วิริฒิพา ภักดีประสงค์, เมย์ พิชญ์นาฏ สาขากร, เป้ย ปานวาด บุญยรัตกลิน, ดีเจพุฒ พุฒิชัย เกษตรสิน, แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา, มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, ไอซ์ อภิษฎา เครือคงคา, นานา ไรบีนา ฯลฯ

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า มีการว่าจ้างให้เหล่าดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงกว่า 56 คน รีวิวโฆษณาสินค้าผ่านหน้าเพจของบริษัทและอินสตาแกรมส่วนตัวในราคา 10,000 - 50,000 บาท

สำหรับขั้นตอนดำเนินคดีทางกฎหมายกับเหล่า ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล ที่รับรีวิวสินค้ากว่า 56 คน จะเรียกให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจะพิจารณาใน 3 ข้อหา คือ การโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000บาท, ผู้ใดที่โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพของอาหารอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน30,000 บาท และข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต 5,000 ปรับบาท

ขณะที่คนดังที่พัวพันกับเมจิกสกินต่างออกมาชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “เมย์ - พิชญ์นาฏ สาขากร” ดาราสาวเซ็กซี่ได้โพสต์รูปโชว์หลักฐานการตรวจสอบเลข อย. อย่างถี่ถ้วนแล้ว พร้อมขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุตอนนี้ความว่า

“ณ ตอนนั้นที่ได้รับของมารีวิว ผจก.ของเมย์เช็ก อย. ก่อนแล้ว และนี่คือหลักฐานการเช็ก อย. ตามฉลากข้อมูลตรงกับสินค้าที่ได้รับมา ล่าสุด เมื่อวานลองเช็กดูอีกทียังขึ้นแบบนี้อยู่ อยากจะชี้แจงกับแฟนคลับและทุกๆ คนว่า เราไม่ได้มีเจตนา เราใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบแล้ว ไม่ใช่ไม่ตรวจ แต่มันขึ้นว่ามี อย.ถูกต้อง ถึงได้กล้ากินกล้ารีวิว ยังไงก็ตามขอโทษและขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยนะคะ”

ด้าน “มาร์ช - จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล” เปิดเผยว่า เวลารับงานตนเองและผู้จัดการส่วนตัวสกรีนงานเบื้องต้นอยู่แล้ว ยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดพลาด รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นข่าวที่ไม่ดีนัก ตอนที่รับงานเราตรวจสอบ อย. แล้วจริงๆ เห็นผลิตภัณฑ์มีโฆษณา มีศิลปินดาราท่านอื่นร่วมโปรโมต วันนี้พอมีเรื่องมีราวขึ้นมาตนต้องขอโทษที่อาจสะเพร่าการตรวจสอบอย่างละเอียด ต่อจากนี้จะตรวจสอบให้ถี่ถ้วนรอบคอบมากขึ้น

เช่นเดียวกับ นักแสดงสาว “นานา ไรบีนา” เปิดเผยผ่านสื่อว่า บริษัทเมจิกสกินได้นำสินค้ามาให้รีวิว ผู้จัดการของตนและทีมที่รับสินค้ามาก็จะดูทุกครั้ง รับเป็นครั้งต่อครั้งไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรนอกเหนือไปจากรับค่ารีวิว เบื้องต้นตนไม่ได้แค่ตรวจสอบสินค้า แต่ทดลองใช้จริงด้วย แต่ไม่ถึงขั้นทราบว่าเลข อย. เป็นของจริงหรือของปลอม ตนไม่เคยคิดเลยว่ามันจะมี อย. ปลอมเกิดขึ้น ตอนนี้คือรู้สึกเสียใจกับผู้บริโภคมากกว่า ต่อข้อถามว่าจะฟ้องร้องบริษัทด้วยมั้ย ส่วนตรงนี้ตนคุยกับทนายความ รวมถึงเพื่อนๆ โดยเฉพาะวุ้นเส้น (วิริฒิภา ภักดีประสงค์) เขารู้สึกเสียใจเหมือนกับตน

สำหรับดาราที่มีชื่อถูกเรียกสอบลอตแรก 7 คน ประกอบด้วย ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน, แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา, มาร์ช - จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, ไอซ์ อภิษฎา เครือคงคา, วุ้นเส้น - วิริฒิพา ภักดีประสงค์, ดีเจพุฒิ - พุฒิชัย เกษตรสิน, ม้า - พรชัย หรือ อรนภา กฤษฎี

จากกรณีที่เกิดขึ้น นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เสนอให้ทบทวนการอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางในประเทศไทย รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเมื่อผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วอย่างเข้มงวด และกรณีการรีวิวของบุคคลีมีชื่อเสียงไปมีส่วนร่วมในการทำผิดกฎหมาย ตรงนี้เข้าข่ายโฆษณาเป็นเท็จและมีความผิด ต้องเรียกมาปรับคนละ 1 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และในกรณีทำผิดซ้ำซากอาจจะถูกดำเนินคดีอาญาด้วย และต่อไปอยากเห็นมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของคนกลุ่มนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคจะดูเครื่องหมาย อย. เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ เพราะต้องยอมรับว่างานคุ้มครองผู้บริโภคของไทยยังอ่อนแอ

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายบริษัท เมจิกสกิน จำกัด ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนถูกต้องตั้งแต่ปี 2555 โดยมีทุนจดทะเบียน 1ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวได้มีการหลีกเลี่ยงภาษี รายงานงบดุลของบริษัทในลักษณะขาดดุล โดยการตรวจสอบโรงงานผลิตเบื้องต้นไม่พบใบสั่งซื้อสินค้าหรือใบเสร็จรับเงิน โดยสืบสวนพบเบาะแสเครือข่ายเมจิกสกินจะสั่งให้โรงงานดังกล่าวผลิตโดยชำระเป็นเงินสดเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีเอกสารในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการในการที่จะหลบเลี่ยงภาษี

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พบว่า บริษัท เมจิก สกิน จำกัด จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 271/37 ซอยวัดท่าตะโก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา (ที่อยู่ตาม สบช.3 คือ 140 ถนนพิบูลละเอียด ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ) โดยแจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงาม ปรากฎชื่อ นายกร พวงสน หนึ่งในผู้ต้องหาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 7 กุมภาพันธ์ 2561 นายกร พวงสน ถือหุ้นใหญ่สุด 80% นางสาว ณภัค พรสกุลวาณิช ถืออยู่10% นาย อโนเชาว์ พินจอหอ 10%

บริษัทได้นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2559 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,120,513.24 บาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายหรือการให้บริการ 1,118,429.91 บาท รายได้อื่น 2,083.33 บาท รวมรายจ่าย 1,208,100.49 บาท ขาดทุน ขาดทุน 87,587.25 บาท

ส่วนข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง มีดังนี้ ปี 2558 แจ้งว่ามีรายได้รวม 3,958.33 บาท รวมรายจ่าย 5,000 บาท ขาดทุน 1,041.67 บาท ปี 2557แจ้งว่ามีรายได้รวม 3,958.34 บาท รวมรายจ่าย 5,000 บาท ขาดทุน 1,041.66 บาท ปี 2556 แจ้งว่ามีรายได้รวม3,958.34 บาท รวมรายจ่าย 5,000 บาท ขาดทุน 1,041.66 บาท ปี 2555 แจ้งว่ามีรายได้รวม 3,958.34 บาท รวมรายจ่าย 20,000 บาท ขาดทุน 16,041.66 บาท

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นพิรุธว่า ข้อมูลงบการเงินย้อนหลังในช่วงปี 2555 - 2558 อยู่หลักพัน ทว่า ปี 2559 ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นหลักล้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่รอการตรวจสอบต่อไป

แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นในคดีเมจิกสกินถือเป็นอุทธาหรณ์และบทเรียนครั้งสำคัญของ “เหล่าดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง” ซึ่งต้องคำนึงต่อความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป โดยจะต้องตรวจสอบข้อมูลและความน่าเชื่อถืออย่างละเอียดถี่ถ้วน จะอ้างว่าตกเป็น “เหยื่อ” ของบริษัท ก็คงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเท่าใดนัก

และไม่ว่าจะอ้างอย่างไร พวกเขาและเธอเหล่านี้ ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ขณะที่ “ประชาชน” ผู้ใช้สินค้าเหล่านี้ ก็จะต้องตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยในมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และต้องจำไว้เสมอว่า ความสวยของเหล่าดาราหรือเซเลบฯ ที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์หรือมารีวิวสินค้านั้น ถูกว่าจ้างมา เช่นกัน และอย่าไปหลงเชื่อรอยยิ้มหวานๆ ของดาราง่ายๆ

ส่วน อย.เองก็จะต้องเพิ่มมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น เนื่องจากรู้อยู่แก่ใจถึง “ช่องว่าง” และ “ช่องโหว่” ทางกฎหมายที่มีอยู่ โดยจำเป็นที่จะต้องยกเครื่องการตรวจสอบ การแจ้งเตือนและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาให้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะบรรดา “อาหารเสริม” ที่นอกจาจะขึ้นทะเบียนได้ง่ายแล้ว ยังอนุญาตให้โฆษณาได้ แต่ห้ามโฆษณาสรรพคุณที่เกินจริง ห้ามโฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค รวมถึง “เครื่องสำอาง” ซึ่งมีการกำกับดูแลหละหลวมมากที่สุด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน เพียงแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ระบุสถานที่ผลิตและรายละเอียดที่ อย. กำหนด จากนั้นก็สามารถผลิตและวางขายได้เลย

ถึงเวลา “ปฏิรูป” ใหญ่กันอีกครั้ง....




กำลังโหลดความคิดเห็น