xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดผลวิจัย “นอนกลางวัน ทำงานตอนกลางคืน” จะทำให้อายุสั้นลง จริงไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 วารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อว่า The Journal of Pediatrics ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 9 ชิ้นที่ใช้การวิจัยในกลุ่มเด็กรวมจำนวน 1,567 คน ซึ่งใช้รูปแบบการวิจัยจากข้อมูล ณ จุดเวลาหนึ่ง (cross-sectional data) สำหรับเด็กที่เกิดในปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543 และพบข้อมูลสำคัญว่า

ทุกๆ ชั่วโมงที่เด็กนอนน้อยลงมีความสัมพันธ์กับความยาวของหางโครโมโซมหรือที่เรียกว่า เทโลเมียร์สั้นลงเร็วขึ้น ผลการวิจัยในครั้งนี้เป็นการต่อยอดขยายผลจากงานวิจัยจำนวนมากที่ได้บอกว่าการนอนต่อเนื่องที่น้อยจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะความเครียดทางร่างกาย และสุขภาพบกพร่อง [1]

เทโลเมียร์ ก็คือหางของโครโมโซม ที่ใช้เป็นเครื่องมือวัดอายุขัยของมนุษย์ โดยปกติแล้วทุกๆครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ จากตัวอ่อนเติบโตเป็นทารก จากทารกเติบโตเป็นเด็ก จากเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น และจากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ เทโลเมียร์ที่ว่านี้จะสั้นลงเรื่อยๆ และเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้วแม้จะไม่มีการเจริญเติบโตแล้ว แต่การแบ่งเซลล์ก็จะยังมีความสำคัญในการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายหรือตายลงไป

เมื่อเทโลเมียร์สั้นลงก็จะส่งผลทำให้เซลล์ที่ถูกสร้างใหม่จะมีคุณภาพด้อยลงไปด้วย เช่นเดียวกับผิวหนังของคนแก่ที่สร้างใหม่ไม่เหมือนกับผิวเด็ก และยังส่งผลทำให้อวัยวะทุกส่วนของมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยเซลล์จึงย่อมต้องเสื่อมตามไปด้วย

ยิ่งเซลล์มีความเสียหายมากหรือเซลล์ต้องคอยแบ่งตัวเร็วมากขึ้นเท่าไหร่เทโลเมียร์ก็จะสั้นลงเร็วขึ้นเท่านั้น จนเมื่อเทโลเมียร์สั้นลงจนถึงขั้นแบ่งเซลล์ไม่ได้แล้ว มนุษย์เราก็จะหมดอายุขัยและตายลงในที่สุด

งานวิจัยข้างต้นจึงเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สรุปว่าการนอนน้อยทำให้เทโลเมียร์สั้นลงเร็วขึ้น !!!!

การนอนหลับนั้นเป็นกระบวนการสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายในเวลากลางวัน ดังนั้นการนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือนอนหลับด้วยคุณภาพที่ไม่ดีมีความสัมพันธ์ทำให้เกิดความผิดปกติและบกพร่องของระบบประสาท [2],[3] นอกจากนั้นยังส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของปลายประสาทรู้สึกและการป่วยเรื้อรังหลายโรค [4] -[6] อีกทั้งยังทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้นด้วย [7]-[9]

ตามปกติแล้วการนอนของคนแต่ละวัยไม่เหมือนกันทั้งในแง่ของระยะเวลาการนอนหลับและคุณภาพของการนอนหลับ เช่น ทารกเกิดใหม่สามารถนอนหลับต่อเนื่องได้ถึงประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน และระยะเวลาการนอนจะค่อยๆลดลงเมื่อเจริญเติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ที่จะนอนหลับวันละประมาณ 6-7 ชั่วโมง และเมื่อกลายเป็นผู้สูงวัยคุณภาพการนอนก็จะน้อยลงด้วยเรื่องปัจจัยทางด้านสุขภาพหลายด้านประกอบกัน อีกทั้งผู้สูงวัยอาจมีการนอนหลับในเวลากลางวันเพิ่มขึ้นได้ด้วย

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยพบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอจะนำไปสู่ระบบการเผาผลาญน้ำตาลบกพร่องไป ทำให้เพิ่มระดับฮอร์โมนอินซูลินซึ่งนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นหากนอนหลับๆตื่นๆ หรือนอนไม่อิ่มยังมีความสัมพันธ์ทำให้ฮอร์โมนที่คอยควบคุมระบบความหิวที่ชื่อว่าเลปตินและเกรลินมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้รับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น [10]

การนอนไม่หลับทำให้หิวแป้งและน้ำตาลมากขึ้น ก็ย่อมจะทำให้มีความเสี่ยงโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีโรคลูกโซ่ที่ต่อเนื่องจากโรคเบาหวาน ก็คือโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดก็ตามมาโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ และเมื่อหลอดเลือดหัวใจเกิดความเสียหายก็จะเกิดการอักเสบทำให้หลอดเลือดตีบ และถ้าเกิดความเสียหายต่อเซลล์มากก็ย่อมต้องมีการแบ่งเซลล์มากขึ้น ส่งผลทำให้เทโลเมียร์สั้นลงเร็วตามไปด้วย

แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือกลุ่มคนที่ “นอนดึกมากแล้วตื่นสายมาก” นั้นเป็นอย่างไร?

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าในทุกวันนี้มีผู้คนบางกลุ่มต้องทำงานตอนกลางคืนอยู่จำนวนไม่น้อย บางคนชอบทำงานตอนกลางคืนเพราะคิดว่าเงียบสงบทำให้มีสมาธิดี แต่บางคนนั้นมีความจำเป็นต้องมีอาชีพทำงานตอนกลางคืนด้วย เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย, คนที่ทำงานในสถานบันเทิง, คนทำงานขายอาหารหรือรสเข็นหลังเที่ยงคืน, พนักงานร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เปิด 24 ชั่วโมง , แรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน หรือพนักงานขับรถของธุรกิจบางแห่งที่ต้องทำงานในตอนกลางคืน ยังไม่นับคนบางกลุ่มที่ชอบเที่ยวในยามราตรีอีกด้วย

ซึ่งแม้จะมีเวลานอนนานเท่ากัน คนที่นอนผิดเวลา เช่น ทำงานเป็นกะกลางคืน หรือ กลุ่มคนที่ชอบทำงานในเวลากลางคืนนั้นมีสุขภาพเป็นอย่างไร ยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ผลปรากฏว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลของสุขภาพที่มาจากอาชีพและสิ่งแวดล้อม ชื่อOccupational and environmental medicine.ได้เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจประชากรผู้หญิงจำนวน 54,724 คนที่เคยทำงานกะกลางคืนในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน ผลปรากฏว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น37%โดยคนเหล่านี้จะดื่มกาเฟอีนมาก กินมาก สูบบุหรี่ และนอนน้อยกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานกะกลางคืน โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี จะมีความเสี่ยงจากโรคและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นน้อยกว่า [11]

สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในวารสารการดูแลโรคเบาหวาน Diabetes Care ซึ่งได้เผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 ถึงการสำรวจของประชากรที่ทำงานตอนกลางคืนพบความสัมพันธ์ว่ายิ่งทำงานกลางคืนบ่อยยิ่งมีความเสี่ยงโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าทำงานกะกลางคืนเป็นประจำความเสี่ยงโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นถึง 44% [12]

สอดคล้องกับวารสารด้านนาฬิกาชีวิตชื่อChronobiology International ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2561 จากการสำรวจประชากร 433,268 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 38-73 ปี โดยมีการติดตามผลเป็นเวลา 6 ปีครึ่ง พบโดยภาพรวมว่ากลุ่มคนที่นอนดึกสุดและตื่นสายสุด เทียบกับกลุ่มที่นอนเร็วตื่นเช้าสุดปรากฏว่า

กลุ่มคนที่นอนดึกสุดมีอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 10%, ความผิดปกติทางจิตใจเพิ่มขึ้น 94%, โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 30 %, โรคกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น 23%, โรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 22% [13]

สอดคล้องกับงานวิจัยที่ปรากฏในวารสารChronobiology International ก่อนหน้านี้ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่นอกจากจะระบุว่าการนอนดึกจะทำให้ความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแล้ว ยังทำให้ความเสี่ยงภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงเพิ่มขึ้นด้วย [14]

อย่างไรก็ตามการทำงานตอนกลางคืนนั้น นักวิจัยยังมีข้อสงสัยว่าอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยแบบไปข้างหน้าจำนวน 9 ชิ้น ครอบคลุมประชากรเพศชายจำนวน 2,570,790 คนนั้น ยังไม่พบว่าการทำงานตอนกลางคืนเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวกลับเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่ม “ผู้ชายชาวเอเชีย” ที่ทำงานกะกลางคืนเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.45 เท่าตัว [15]  โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2557 จะพบงานวิจัยของผู้ชายในสเปนว่ากลุ่มที่ทำงานตอนกลางคืนมีความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน [16]

เนื่องจากคนที่ทำงานตอนกลางคืนจะต้องมานอนหลับในเวลากลางวัน นักวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยมีความสนใจว่าฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งจะหลั่งออกมาช่วงเวลาที่หลับโดยไม่มีแสงไฟในเวลากลางคืน และเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมด้วยนั้น ฮอร์โมนเมลาโทนินย่อมลดต่ำลงของคนที่ทำงานในเวลากลางคืนแล้วจะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่?

คำตอบนี้สามารถสืบค้นได้จากงานวิจัยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ในวารสาร Current Environmental Report ซึ่งได้ทำการทบทวนงานวิจัยจำนวนมากพบว่าผู้หญิงที่ทำงานตอนกลางคืนยาวนานเป็นเวลา 20 ปีขึ้นไป หรือแม้แต่ทำงานตอนกลางคืนในระยะสั้นๆแต่ต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมได้ด้วย [17]

จนล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 วารสาร Cancer Epidemiology Biomarkers and Prevention ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยกว่า 61 ชิ้น พบว่า

ผู้หญิงที่ทำงานในตอนกลางคืนหลายปีจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, โรคมะเร็งระบบย่อยอาหาร, โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในเวลากลางคืนในทุกๆ 5 ปี จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 3.3% [18]

บทเรียนจากข้อมูลของงานวิจัยข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า

1.การนอนไม่เพียงพอ หรือคุณภาพการนอนไม่ดี สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยหลายโรค ทั้งนี้อาจะเป็นเพราะผู้ที่นอนน้อยขาดองค์ความรู้ในด้านพฤติกรรมและการบริโภคด้วย อย่างน้อยที่สุดหากไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะนอนหลับน้อย ถ้ามีการระมัดระวังอาหารที่ทำให้หลอดเลือกอักเสบ เช่น หลีกเลี่ยง กลุ่มแป้งขัดขาว น้ำตาล เนื้อแดง และอาหารที่ไขมันที่ผัดทอดด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เลือกบริโภคไฟเบอร์สูง ไขมันชนิดดี และกลุ่มพืชผักผลไม้ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงและเครื่องเทศรสสุขุม ซึ่งจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าอาจจะช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยจากการหลอดเลือดอักเสบได้ [19]

2.ความเข้าใจที่ว่าขอจำนวนชั่วโมงการนอนเพียงพอโดยไม่สนใจกลางวันและกลางคืนอาจจะไม่ถูกต้องอีกต่อไป มนุษย์เรามีนาฬิกาชีวิตปกติในการใช้ชีวิตตอนกลางวัน และพักผ่อนในเวลากลางคืน ดังนั้นคนที่นอนดึกเป็นประจำและยังมีโอกาสที่จะปรับวิถีชีวิตตัวเองได้ อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีเป็นนอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้ามืดมาทำงานแทน เพื่อลดผลกระทบต่อการทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมเพราะนอนผิดเวลา และในระหว่างการนอนควรปิดไฟให้มืดสนิทเพื่อสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินด้วย

เรื่องการนอนและเวลาทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพ มีการสอนกันในวิชาธรรมานามัยในแพทย์แผนไทยประยุกต์ องค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งผลการวิจัยเพื่อนำไปใช้ หรือการค้นคว้าด้วยตนเองผ่าน หลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์” หรือLifestyle Medicineจึงเป็นหลักสูตรที่เปิดให้ประชาชนธรรมดา ที่ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษาให้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนการป้องกันและรักษาด้วยวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันกับแพทย์หลากสาขา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในหลายมิติที่มีประสบการณ์ตรงในการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยจนสามารถหายป่วยมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อทำให้ผู้เข้าเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดการใช้ยา ลดการไปหาหมอในโรงพยาบาล

วิชาที่จะเรียนได้แก่ การเรียงลำดับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ, โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย-อายุรเวทจนถึงงานวิจัยยุคใหม่, การใช้สมุนไพรในบ้าน, การลงมือทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การกดจุดแก้อาการและฟื้นฟูสุขภาพในบ้านในแนวทางแพทย์แผนไทยประยุกต์, การฝังเข็มและการแมะสำหรับบางอาการสำหรับการดูแลตนเองของแพทย์แผนจีน, ธรรมานามัย, การบูรณาการล้างพิษ, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การค้นคว้าและการอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพ, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การออกกำลังกายเพื่อการชะลอวัย, การเลือกใช้วิตามินและอาหารเสริม, การแพทย์ทางเลือกในยุคปัจจุบัน ฯลฯ

หลักสูตรดังกล่าวนี้รับจำนวนจำกัด โดยเริ่มรับสมัครเรียนแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และเริ่มเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ยกเว้นวันหยุดตามที่กำหนด โดยเริ่มเรียนวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต รวมประมาณ 84 ชั่วโมง

สามารถสมัครได้โดยไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต สนใจสมัครเรียนด่วนก่อนเต็ม ได้ที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681,02-791-5683,02-791-5684

ด้วยความปรารถนาดี

อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] Sarah James, et al, Sleep Duration and Telomere Length in Children, The Journal of Pediatrics, Published Online: June 08, 2017

[2] Verstraeten E. Neurocognitive effects of obstructive sleep apnea syndrome. Curr Neurol Neurosci Rep. 2007;7:161-166.

[3] Verstraeten E. Neurocognitive effects of obstructive sleep apnea syndrome. Curr Neurol Neurosci Rep. 2007;7:161-166.

[4] Weissman MM, Greenwald S, Niño-Murcia G, Dement WC. The morbidity of insomnia uncomplicated by psychiatric disorders. Gen Hosp Psychiat

[5] Leproult R, Copinschi G, Buxton O, Van Cauter E. Sleep loss results in an elevation of cortisol levels the next evening. Sleep. 1997;20:865-870.

[6] Scheen AJ, Byrne MM, Plat L, Leproult R, Van Cauter E. Relationships between sleep quality and glucose regulation in normal humans. Am J Physiol. 1996;271(2 Pt 1):E261-E270.

[7] Wingard DL, Berkman LF. Mortality risk associated with sleeping patterns among adults. Sleep. 1983;6:102-107.

[8] Lavie P, Herer P, Peled R, et al. Mortality in sleep apnea patients: a multivariate analysis of risk factors. Sleep. 1995;18:149-157.

[9] Punjabi NM, Caffo BS, Goodwin JL, et al. Sleepdisordered breathing and mortality: a prospective cohort study. PLoS Med. 2009;6:e1000132.

[10] Knutson KL. Impact of sleep and sleep loss on glucose homeostasis and appetite regulation. Sleep medicine clinics. 2007;2(2):187-197. doi:10.1016/j.jsmc.2007.03.004.

[11] Ramin C, Devore EE, Wang W, Pierre-Paul J, Wegrzyn LR, Schernhammer ES. Night shift work at specific age ranges and chronic disease risk factors. Occupational and environmental medicine. 2015;72(2):100-107. doi:10.1136/oemed-2014-102292.

[12] Céline Vetter, et al.,Night Shift Work, Genetic Risk, and Type 2 Diabetes in the UK Biobank,Diabetes Care. 2018 Apr; 41(4): 762-769. Published online 2018 Feb 12. doi:10.2337/dc17-1933

[13] Kristen L. Knutson & Malcolm von Schantz, Associations between chronotype, morbidity and mortality in the UK Biobank cohort, Chronobiology International, 2018 Apr 11:1-9. doi: 10.1080/07420528.2018.1454458.

[14] Ilona Merikanto, et al., Associations of Chronotype and Sleep With Cardiovascular Diseases and Type 2 Diabetes, Chronobiology International, Pages 470-477 | Received 06 Jun 2012, Accepted 20 Sep 2012, Published online: 02 Jan 2013, https://doi.org/10.3109/07420528.2012.741171

[15] Du H-B, Bin K-Y, Liu W-H, Yang F-S. Shift work, night work, and the risk of prostate cancer: A meta-analysis based on 9 cohort studies. Lu. M, ed. Medicine. 2017;96(46):e8537. doi:10.1097/MD.0000000000008537.

[16] Kyriaki PapantoniouKyriaki Papantoniou, et al., Night shift work, chronotype and prostate cancer risk in the MCC‐Spain case‐control study, International Journal of Cancer,
First published: 20 December 2014 https://doi.org/10.1002/ijc.29400

[17] Hansen J, Night Shift Work and Risk of Breast Cancer., Current Environmental Health Reports, 2017 Sep;4(3):325-339. doi: 10.1007/s40572-017-0155-y.

[18] Xia Yuan, et al., Night Shift Work Increases the Risks of Multiple Primary Cancers in Women: A Systematic Review and Meta-analysis of 61 Articles, Cancer Epidemiology Biomarkers and Prevention, DOI: 10.1158/1055-9965.EPI-17-0221 Published January 2018

[19] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดงานวิจัยชัดๆ คอเลสเตอรอลลดลงแต่เสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้น !?, MGR Online , คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์เผยแพร่: 8 ธ.ค. 2560 16:58: ปรับปรุง: 10 ธ.ค. 2560 11:11:




กำลังโหลดความคิดเห็น