xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล้วงความลับ “สุริยะใส กตะศิลา” กับข้อครหา มือทำงานลุงกำนัน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันหนาหูว่า “สุริยะใส กตะศิลา” ถูกดึงตัวมาเป็นแนวร่วม “ลุงกำนัน - สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในห้วงเวลาก่อนเลือกตั้งอันใกล้ โดยมีภารกิจในการทำงานการเมืองเพื่อหวังคะแนนเสียงจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยังคงเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นในการผลักดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

ขณะที่ตัวลุงกำนันเองก็มีการเคลื่อนไหวสอดรับไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อวันดีคืนดีก็ออกมาอวยบรรดา “อดีตแกนนำพันธมิตรฯ” จนเป็นที่ผิดสังเกต

และร่ำลือกันถึงขนาดเรียกขานสุริยะใสว่า เป็น “มือทำงานของลุงกำนัน” กันเลยทีเดียว

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” เปิดใจ “สุริยะใส กตะศิลา” ในทุกมิติแบบลึกสุดใจ พร้อมกับสำรวจ “ตลาดการเมือง” ก่อนเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า


- มีการทาบทามจากลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณจริงหรือไม่
ยอมรับว่ามีการหารือกัน ยอมรับว่ามีการคุยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ปรึกษาหารือเรื่องคดีความ แนวทางการต่อสู้ของ กปปส. ซึ่งผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับ กปปส.ด้วย กำนันก็ค่อนข้างจะซีเรียสแนวทางการต่อสู้คดี และมีการพบปะกันบ่อย ประชุมทนายความ ปรึกษาหารือกันเป็นระยะ ก็มีโอกาสได้คุยกันบ้างในงานต่างๆ ที่มีโอกาสเจอ แต่ยังไม่ถึงขั้นพูดคุยเรื่องพรรคการเมืองในระดับที่เป็นรูปธรรม แต่ที่คุยกันเห็นคล้ายๆ กันว่าเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามันไม่มีพรรคที่จะเคลื่อนไหวที่จะชูธงปฎิรูปประเทศอย่างเป็นจริงจัง โอกาสที่การเมืองจะวนกลับไปในโหมดของความขัดแย้งแตกแยกก็เป็นไปได้สูง

ฉะนั้น แนวคิดกำนันก็อยากเห็นพรรคอยากมีพรรคนะ บทเรียนหนึ่งที่เราเห็นกันคือการใช้วิธีไปกวาดต้อนกลุ่มก้อนพรรคโน้นพรรคนี้มารวมกัน สุดท้ายเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจไปไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ควรที่จะไปทำไม่มีประโยชน์อะไร และที่สำคัญกำนันก็ย้ำตลอดว่าจะให้กลับไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ยืนยันว่ายังไม่ทำ แต่ถ้าทำพรรคที่มีเรื่องปฏิรูปไม่ว่าจะชื่อพรรคอะไรก็ตาม จะพิจารณาดูว่าจะสนับสนุนไหม ตอนนี้ถึงขั้นไปเตรียมตั้งพรรคหรือไม่? ยังไม่ขนาดนั้นครับ แต่ผมยอมรับว่ามีการคุย ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสคุยเรื่องนี้กับกำนัน

- ลุงกำนันเป็นตัวแปรสำคัญในคดีทางการเมืองของกลุ่มแกนนำพันธมิตร ส่งต่อการร่วมงานหรือเปล่า
ผมว่านั่นเป็นเรื่องที่กำนันต้องเคลียร์ตัวเอง เรื่องข้อกล่าวหานั้นเป็นสิ่งที่กำนันต้องพิสูจน์ตัวเอง ผมคงตอบแทบเขาไม่ได้ ผมคิดว่าการที่กำนันยืนยันจุดเดิมไม่เข้าสู่การเมืองไม่กลับไปเป็น ส.ส. เป็น รัฐมนตรี นี่คือการรักษาสัญญาประชาชน ไม่ว่าย่างก้าวข้างหน้ากำนันจะทำอะไรอย่างไรต้องมีคำอธิบาย เพราะว่ามีทั้งคนชอบไม่ชอบ แต่เมื่อจะปวารณาตัวทำงานให้กับบ้านเมือง ต้องใส่ใจถูกข้อสงสัยต้องชี้แจงให้ได้

- ถูกวางตัวเป็นมือทำงานลุงกำนัน
ยังไม่มีครับ พรรคการเมืองยังไม่ได้ตั้ง พรรคยังไม่ได้ยื่นจด ก็เม้าท์กันไป ข่าวก็ว่ากันไปครับ

- จะลงสนามการเมืองอีกครั้งไหม
ส่วนตัวผมมันมีหลายเงื่อนไขนะ เรื่องคดีความคดีที่ผูกอยู่กับแกนนำพันธมิตรฯทั้งแพ่งทั้งอาญาหลายคดี ตัวผมอยู่ในจุดที่มีคดีความทางการเมืองที่อาจจะเป็นปัญหาการเข้าสู่การเมืองได้ นาทีนี้ผมก็เรียนตามตรงว่ายังไม่ได้ตัดสินใจจะไปร่วมงานการเมืองกับกำนันหรือพรรคการมืองใดทั้งสิ้น แต่โดยเจตนาผมหากมีพรรคที่สืบสารเจตนาของมวลมหาประชาชน กลุ่มคนที่เคยต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มใดก็ตาม ถึงที่สุดแล้วเราคาดหวังการปฎิรูปประเทศจริงๆ หากมีพรรคใดมาเข้ามาอยู่ตรงนี้ผมยินดีสนับสนุน แต่อยู่ในบทบาทไหนนาทีนี้ผมคิดว่าเวลาอาจจะเป็นเครื่องตัดสินใจได้มากกว่าผม

เพราะสถานะของผมในวันนี้ไม่รู้ว่าคดีผมจะยุติ ณ จุดใด ณ วันนี้คดีแพ่งมาเร็วกว่าที่คิดไว้ หากฟ้องล้มละลายผมก็หมดสิทธิเล่นการเมือง ผมถึงบอกว่าผมพูดไม่ได้ ฉะนั้น จุดยืนของผมคืออย่างนี้ ผมสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ทำหลายพรรคก็ไม่เป็นไร แต่อย่าทำเพียงพรรคเฉพาะกิจ ทำการเมืองให้มันสะอาด เป็นการเมืองแบบใหม่ การเมืองที่ประชาชนคาดหวัง ตอยโจทย์ประชาชนได้จริงจะเป็นกำนันหรือไม่ก็ตาม

- ความคืบหน้าคดีทางการเมือง
สำหรับผมที่หนักอยู่จะมี 2 คดี หนึ่ง - คดีแพ่ง การท่าฯ ซึ่งเราแพ้มาแล้ว 3 ศาล จากนี้เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี การท่าฯ ในฐานะโจทก์ต้องวิธีทวงหนี้ แกนนำพันธมิตรรวมกัน 13 คน ประมาณ 800 กว่าล้าน ถามว่ามีจ่ายไหม? ไม่มี... ฉะนั้น โจทก์ก็มีสิทธิจะยึดอายัด ทรัพย์สินค้นพบเท่าที่มี ยึดรวมกันแล้ว 13 คนไม่ถึง ก็ต้องฟ้องล้มละลายเป็นขั้นสุดท้ายซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ สอง - คดีการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งชั้นต้นพิพากษาผมกับ 5 แกนนำ ไม่รอลงอาญา 2 ปี ชั้นอุทธรณ์ลดเหลือ 8 เดือน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

นาทีนี้หลักไมล์ทางการเมืองของผม ผมกำหนดเองลำบาก ต้องยอมรับมันเป็นเรื่องของเวลาเป็นตัวกำหนด แต่ผมก็หวังว่า สำหรับผมไม่ว่าผมอยู่ตรงไหนก็สบายใจอยู่แล้ว ผมอยู่ตรงไหนก็ยังไม่ทิ้งศรัทธาของผม อุดมคติของผม ผมมีอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าวันนั้นผมอยู่ในฐานะใดก็ตาม ฉะนั้น ผมจะเล่นการเมืองหรือไม่เล่นการเมืองไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ยังมีลมหายใจยังมีศรัทธาอยู่ผมทำอะไรให้บ้านเมืองได้บ้าง...ผมคิดแค่นี้ อย่างสมัยทำพรรคการเมืองใหม่ก็ทำเต็มที่กับพี่น้อง แต่ว่ามันไปไม่ได้ผมก็ไม่ได้ไปโทษใครมันเป็นบทเรียน

- จุดยืนทางการเมืองในสถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง
ต้องตีความก่อนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ต้องอ่านสถานการณ์ให้ขาด และจะจัดการสถานการณ์แบบนี้ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขใด นักการเมืองต้องคิดแล้วว่าจะจัดการการเมืองด้วยเงื่อนไขอะไร เพื่อที่นั่ง 10 - 20 ที่นั่งเท่านั้นเหรอ แล้วเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนประเทศได้ไหม ประเทศดีขึ้นไหม หรือถ้าไม่เล่นการเมืองแล้วอยู่ข้างนอกเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวจะเคลื่อนแบบไหนอย่างไร และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งรอบใหม่และอาจจะหนักกว่าเดิม เรื่องที่ใหญ่กว่าเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง หากเลือกตั้งแล้วเปลี่ยนไปอย่างไร การเมืองจะออกจากวังวนของความแตกแยกได้จริงไหม จะไม่กลับสู่การขัดแย้งที่รุนแรงตลอด 10 ปีที่ผ่านมาหรือเปล่า ตอบได้ไหมสำหรับคนที่เสนอตัวเข้ามาเล่นการเมือง

หลายพรรคการเมืองที่เปิดตัวขึ้นใหม่ ผมรู้สึกว่าเขาไม่อินังขังขอบ ผมเลยเป็นห่วงว่าเลือกตั้งมาเร็วความขัดแย้งก็อาจมาเร็ว ฉะนั้น ไม่แปลกใจหรอกที่คนจำนวนไม่น้อย ไม่มีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะไม่เป็นคำตอบ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองคิดว่าเลือกตั้งเป็นคำตอบสุดท้าย ที่ร้ายกว่านั้นคิดว่าเป็นคำตอบเดียวที่เหลืออยู่ของปรเะทศ เป็นรูหายใจเดียวที่เหลืออยู่ของประเทศ

เราผิดพลาดมาตลอด ทั้งนักการเมืองกระทั่งผู้ที่อวดอ้างเป็นนักประชาธิปไตย เราไปลดรูปทอนคุณค่าประชาธิปไตยเหลือแต่การเลือกตั้ง และเราคิดว่าพอมีเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตย เราคิดว่ารัฐบาลเลือกตั้งดีกว่ารัฐบาลทหาร เราคิดว่าเลือกตั้งคือคำตอบของทุกอย่าง ผมคิดว่านี่เป็นตรรกะที่คลาดเคลื่อนและผิดอย่างรุนแรง การเลือกตั้งเป็นขาหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยแต่ระบบประชาธิปไตยไม่ได้มีขาเดียวเพียงการเลือกตั้วเท่านั้น ฉะนั้นการไปลดคุณค่าประชาธิปไตยให้เหลือเพียงการเลือกตั้ง คืออันตรายด้านกลับที่กำลังกัดกินเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาผู้ชนะเลือกตั้งกินรวบนั่นคือข้อผิดพลาดของประชาธิปไตยเรา จุดยืนของผม... ถ้าเราปฏิรูปการเมืองยังไม่ได้ ปฎิรูปประชาธิปไตยยังไม่ลงตัว ผมอยากดึงความสนใจวาระบ้านเมืองกลับมาที่การปฏิรูปอีกครั้ง เวลาที่เหลือของ คสช. เรื่องใดที่ปฏิรูปได้รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญ

- มองว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งสำคัญกว่า
สมมติโรดแมปเลือกตั้งปี 2562 อย่างเร็วสุดถ้าไม่เจออภินิหารทางกฎหมายอาจจะเลื่อนไปอีกก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ เร็วสุดตามโรดแมป ก.พ. 2562 รัฐบาลนี้ก็จะเหลือเวลาอยู่ปีเศษๆ ผมว่าทำอะไรได้เยอะนะ มาตรา 44 จะถูกยกเลิกเมื่อมีรัฐบาลใหม่ เวลาที่เหลือรัฐบาลต้องปฏิรูปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ประเทศชาติกับประชาชนคนไทย

ผมอยากเห็นความกล้าหาญของรัฐบาลชุดนี้ ทำการปฏิรูปที่คนส่วนใหญ่อยากเห็น ผมอยากเรียกว่า “ปฏิรูป 360 องศา” อย่างปฏิรูปตำรวจทำไมตั้งมาแล้วได้แค่นั้น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งทุกอย่างจะไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็เป็นไปได้ แต่เมื่อเงื่อนไขในบริบทอย่างนี้ การเมืองไม่ปลอดดอง ปฏิรูปไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หลังเลือกตั้งคนไทยก็จะเห็นความขัดแย้งเดิมๆ กลับมาอีก

- ประเทศไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
ณ ตอนนี้ผมคิดว่า คสช. ใช้เวลากับการจัดการตัวเองมากไป การบริหารอำนาจ การบริหารเครือข่ายกลุ่มก้อนตัวเองมากเกินไป ทั้งที่มีอำนาจสูงกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังๆ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพะรุงพะรัง คงไม่ต้องปฏิเสธกันแล้วว่าพรรคที่ทหารเชียร์หรือพรรคที่เชียร์ทหารกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องไม่นานนี้ก็คงเปิดตัว ไม่ต้องเหนียมอาย เหตุนี้อาจให้เวลาในโอกาสที่ไปจัดการบริหารบ้านเมืองปฏิรูปให้มันเสร็จสรรพก่อนเลือกตั้งน้อยไปหน่อย

คสช. ในขณะที่คุณถืออำนาจอยู่ควรจจะจัดการบ้านเมืองให้มีความหวังในแนวทางที่ประชาชนคาดหวัง ผมไม่เข้าใจจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค หรือพรรคทหารที่ตั้งขึ้นมาจะได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผมก็ไม่เชื่อว่าจะบริหารประเทศได้ แค่ถ่ายมือจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง กรอบคิดเดิม กลุ่มอำนาจเดิม ความขัดแย้งกลับไปที่เดิม สุดท้ายเราถึงบอกว่า เรายังอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ ที่ไม่ได้ต่างจากเมืองในอดีตที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีทุจริตคอร์รัปชัน โค่นล่มรัฐบาล สุดท้ายรัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สุดท้ายก็วนเวียนวงจรอุบาทว์ ถ้าการเมืองไม่ถูกปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าเราก็ต้องอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารวนอยู่อย่างนี้ ประชาชนต้องชินชาไปในที่สุดกับการเมืองอย่างนี้

- แล้วพรรคทหารจะไปรอดไหม
เราต้องยอมรับว่ายังไม่เห็นรูปร่างหน้าตาที่สมบูรณ์ เพียงแต่ว่าเราสามารถถามได้ว่า “ทำไมถึงต้องตั้งพรรคทหาร” ผมว่านี้เป็นคำถามใหญ่พอสมควร อำนาจของทหารขณะนี้ยังไม่พอจัดการบ้านเมืองมให้สงบเรียบร้อย อำนาจ คสช. ในขณะนี้ใหญ่และเหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ฉะนั้น ถ้าคาดหวังรัฐบาลปฏิรูปประเทศในขณะนี้ไม่ได้ ผมก็ไม่เห็นรัฐบาลหน้าจะปฏิรูปได้ และผมไม่ค่อยเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพูดเรื่องปฎิรูปกันโดยเฉพาะปฎิรูปตำรวจ ที่ผมย้ำเรื่องตำรวจเพราะว่าโพลล์ทุกสำนักสัมภาษณ์ชาวบ้านทีไร “อยากเห็นการปฏิรูปเร่งด่วนเรื่องใดมากที่สุด” คำตอบคือ “ตำรวจ” แต่ว่ายังไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนพูด มีพรรคการเมืองไหนจะกล้าชูธงปฎิรูปตำรวจ คาดหวังทหารก็ดูไม่กล้า ขณะรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุดเป็นรัฐบาลที่ไม่มีอะไรได้เสียกัน แต่สุดท้ายก็ไม่กล้าแตะไม่กล้าผ่าตัด ฉะนั้น จะไปหวังอะไรกับรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งสมการหลังเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ฉะนั้น ความเข้มแข็ง เสถียรภาพ เอกภาพรัฐบาลยิ่งคาดหวังไม่ได้เลย สูตรการเมืองรูปแบบใหม่จะทำให้หลังการเลือกตั้งอ่อนแอกว่ารัฐบาลก่อนรัฐประหารด้วยซ้ำ

ฉะนั้น สมมติ พลเอกประยุทธ์ มีหลักไมล์ว่าอยากกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ แต่ต้องคิดให้ดีนะครับ เพราะรอบหน้าท่านจะอยู่บนฐานกลุ่มก้อนมาจากการเมืองหลายพรรคหนุนท่านอยู่ ซึ่งอาจจะฟังท่านหรือไม่ฟังก็ได้ วันนึงอาจจะแตกแยกถอนตัวแบ่งขั้วแบ่งข้าง แต่วันนี้ท่านไม่ต้องพึ่งพานักการเมืองเลย ท่านมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำตอนนี้ซ่ะ ทำเรื่องดีๆ ตอนนี้เลย

- โครงการไทยนิยมมีผลต่อฐานเสียงทหารหรือเปล่า
อย่าประมาทพรรคทหารครับ อำนาจเงินกับอำนาจรัฐอยู่ในมือ ที่สำคัญโครงการไทยนิยมบางด้านดูเห็นผล คสช. มีเวลาอีก 1 ปี อาจจะมีแพคเกจก่อนเลือกตั้งอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าประเมินทหารต่ำหรือโง่ เขายิ่งมีอำนาจทั้งอำนาจรัฐอำนาจเงินด้วย เป้าหมายของพรรคทหารต้องการแย่งพื้นที่พรรคเพื่อไทยทั้งอีสานและเหนือ

สำหรับพรรคทหารผมยังไม่เห็นสูตรนะ แต่ที่ฟังมาใช้สูตรคลาสสิคเหมือนที่ทำๆ กันมา กวาดต้อนพรรคเล็ก ก๊วนการเมืองทางกลุ่มโน้นกลุ่มนี้มารวมกันเป็นพรรค แว่วว่าวางไว้ที่ 100 เสียง แต่จุดเปราะบางคือว่าเอกภาพจะเกิดขึ้นในระยะยาวหรือเปล่าไม่ง่ายเลย การเมืองแบบนี้มันเคยพังมาแล้ว ถ้าบริหารสูตรกวาดต้อนพรรคเล็กๆ มา แบบพรรคไทยรักไทยก็ต้องใช้วิธีแบบ ทักษิณ ชินวัตร กินรวบ - ผูกขาด ใช้อำนจอำนาจเด็ดขาด ถามว่าระสั้นทำได้ไหม ทำได้ แต่ระยะยาวเป็นอย่างไรเราเห็นบทเรียนของทักษิณอยู่ มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่มีพรรคเดียวเสียงข้างมากอยู่แล้ว มันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เท่าที่ดูโฉมหน้ารัฐมนตรีหน้าใหม่เยอะที่ลงเล่นการเมืองโอกาสประสบคววามเร็จไม่ง่าย ฉะนั้น ต้องพึ่งบารมีกลุ่มนักการเมืองเดิมที่กระจัดกระอยู่ตามพรรคต่างๆ บวกกับคะแนนปาร์ตี้ลิส ถ้าเขาประเมิน 100 เสียง ไม่แน่นะ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการออกแบบ และในขณะเดียวกันตัวแปรสำคัญคือจุดยืน พลเอกประยุทธ์ กับพรรคทหารจะยืนแบบแนบแน่นใจกลางหรือรักษาระยะ แต่ถ้าวัดดวงถืออธงลงหัวหน้าพรรคชูธงลงเลือกตั้งเองก็ไม่แน่ แต่ถ้ารักษาระยะห่าง ก็ไม่ง่าย ผมว่าการตัดสินใจของ พลเอกประยุทธ์ เป็นตัวแปรในการกำหนดพรรคทหารด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็น คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังขายชนบทไม่ง่ายเท่ากับ พลเอกประยุทธ์ ชาวบ้านรู้สึกผูกพันใกล้ชิดมากกว่า เขาก็มีตัวแค่นี้ ทุกพรรคมีข้อจำกัด ไม่มีพรรคไหนที่สมบูรณ์ที่สุดและหุ้นขึ้นที่สุด

- โอกาสผงาดของเพื่อไทย VS ประชาธิปัตย์
ในแง่ของการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคที่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยอ่านง่าย มีเจ้าของชัดเจน รู้จุดยืนชัดเจน เป้าหมายของพรรคคืออะไร การปรับตัวช่วงเลือกตั้งในระบบรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเชื่อว่าจะมีการตั้งขึ้นหลายพรรค อย่างพรรคอนาคตใหม่ถูกมองว่าเป็นแนวร่วมทักษิณ สืบสาวราวเรื่องมาจากกลุ่มก้อนเดียวกัน ก็ถูกมองว่าอาจจะใช้วิธีในการสร้างพรรคเล็กๆ โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้เสียงเดียวมันทำไม่ได้แล้วในรัฐธรรมนูญ เพื่อไทยก็ปรับตัว การเลือกตั้งตอนนี้มันเป็นการเมืองคล้ายๆ แบบ 3 ก๊ก ทหาร เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ จากแต่เดิม 2 ก๊ก เพื่อไทย กับ ประชาธิปัตย์ แต่ 3 - 4 ปีมานี้ ประชาธิปัตย์และทหารมีช่องว่าง แล้วโอกาสที่ประชาธิปัตย์จะรวมกับเพื่อไทยเป็นเรื่องยาก เช่นนั้น ทหารจะจับมือประชาธิปัตย์เอาพรรคเล็กมาร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็เป็นสูตรที่เป็นไปได้สูงแต่ก็ไม่ง่าย เป็นสูตรง่ายที่สุดที่จะชนะเพื่อไทย แต่สูตรนี้แหละสุดท้ายอาจเปราะบางที่สุดในการบริหารอำนาจเพื่อได้รัฐบาล ประชาธิปัตย์กับทหารหลังๆ มานี้ผมรู้สึกว่ามันคงละภาษาคนละท่วงท่า แต่ก็ไม่แน่ว่าถึงเวลามีอำนาจแล้วแบ่งปันผลประโยชน์ลงตัวอีกเรื่องหนึ่ง

พรรคประชาธิปัตย์ รอบนี้ก็ถูกวิจารณ์กันเยอะว่าจะรักษาที่นั่งได้หรือเปล่า จะรักษาได้เท่าเดิมไหม ผมว่าไม่ง่าย ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ถ้าประเมินทหารต่ำไปอาจจะผิดดหวังก็ได้ คะแนนมากกว่าเดิมเป็นไปไม่ได้ในระบบใหม่ แต่จะลดจากเดิมเท่าไหร่ไม่รู้ ผมคิดว่าทั้ง 2 พรรคมีโอกาสถูกซอยถูกหาร ฉะนั้น การเปิดตัวของพรรคทหารแรงกระเพื่อมทางการเมืองจะค่อนข้างชัดขึ้น ทหารเขามีบทเรียนนะครับ จะต่างจากอดีตพรรคสามัคคีธรรม ที่สำคัญพรรคทหารอยู่ในเงื่อนไขที่เขาถืออำนาจยาวมา 4 ปี ฉะนั้น ไม่ธรรมดาไม่ควรประเมินทหารต่ำ

- สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่จะไปรอดไหม
คนกลุ่มนี้เขาก็มีจุดยืนทางการเมือง แสดงจุดยืนในปัญหาใหญ่ทางการเมือง รู้อยู่ว่าคิดอะไร อาจจะเป็นที่สนใจในเรื่องที่ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้พูดไว้ สังคมบางส่วนกำลังไล่ล่ากับวาทกรรมกับความคิดความอ่านที่พูดในขณะนั้น มันเกิดจากตัวเขาทั้งนั้นถ้าจะเป็นปัญหา สิ่งที่เขาเคยพูดไว้ ม.112 โรฮิงญา ความขัดแย้งชายแดนใต้ ทั้งหมดเป็นหลักฐานที่สังคมเอามาถกเถียง คนในพรรคนี้เปิดประเด็นแหลมคมที่มีความอ่อนไหว และมันเป็นกระแส ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสื่อจับกระแสขาลงของรัฐบาลได้ ฉะนั้น พรรคใดหรือกลุ่มคนใดก็ตามออกมาโจมตี คสช. มันจะดูคล้ายๆ มีเวทีได้รับการตอบรับจากสื่อเต็มที่ พรรคอนาคตใหม่บอกจะจัดการกับมรดก คสช. คำถามคือว่า มรดกทักษิณไม่จัดการหรอ ก็จะเป็นคำถามว่าพรรคนี้ตั้งขึ้นเพื่ออะไร

ผมเข้าใจความเป็นคนรุ่นใหม่ อาจเสนออะไรที่มันแหลมคมและก็มีความอ่อนไหว แต่บทเรียนที่สำคัญอุดมการณ์อุดมคติ ถ้าจะเล่นการเมืองอุดมการณ์กับอุดมคติเป็นเรื่องที่ดีต้องชมเชย แต่มันต้องใช้การได้จริงด้วย แต่ที่สำคัญจะต้องระมัดระวังประเด็นที่มันเป็นเรื่องเปราะบางและอ่อนไหว คุณต้องถอดบทเรียนจากพรรคเพื่อไทย คุณถือเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภา คุณก้าวร้าวมากไม่ฟังใครเลย สุดท้ายเหิมเกริมหัวหน้าพรรคไม่มีแผ่นดินอยู่ อนาคตใหม่ต้องกล้าสรุปบทเรียนความล้มเหลวยุคระบอบทักษิณ ซึ่งหลายคนก็มาจากยุคต่อยอดความคิดเครือข่ายเดิมที่อาจจะเปลี่ยนรูปแปลงร่างบ้าง ผมคิดว่าเวลาคุณพูดคำว่าคนรุ่นใหม่ ใหม่แค่ว่าไม่เคยลงเลือกตั้งแต่บอกว่าใหม่หรือเปล่า ถ้าบอกว่าใหม่คือการคิดขาวดำไปเลยก็ไม่ใช่ง่ายในสังคมแบบไทยๆ และที่สำคัญการเล่นประเด็นที่มันมีความอ่อนไหวอาจจะทำให้คุณไปไม่ถึงฝันได้และสุดท้ายตกม้าตายต้องระวัง

ผมคิดว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ตาม สังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบด้วยความหลากหลายทั้งชนชั้น วัย อายุ อุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเจเนอเรชันหนึ่ง ผมคิดว่าเราต้องเชื่อมพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคที่มีบทบาทในการบริหารอำนาจ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้เข้ากันมากที่สุด ต้องไม่ทำให้เกิดสภาวะที่มันมีคนได้ 100 เสีย 100 ประกาศตัวเป็นคนรุ่นใหม่แล้วรังเกียจเดียดฉันท์ขยะแขยงกรอบความคิดเป็นดาบ 2 คมนะ อาจจะดูเท่ดูดีแต่ไม่ระวังจะเกิดความขัดแย้งซ้อนขึ้นมาอีกในสังคม การเมืองเรายังอยู่วังวนแตกแยกเผชิญหน้า เราต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งที่จะถึงยังอยู่ในบริบทความขัดแย้งที่ยังเรื้อรัง ตอนนี้เราพักรบเฉยๆ ไม่ใช่เลิกรบ ฉะนั้น ใครอยากจะปวารนาตัวเองเข้าสู่การเมืองต้องไม่มองข้ามปัจจัยความขัดแย้งแตกแยก

พรรคการเมืองใหม่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองในทัศนะผมครับ เรื่องความใหม่ไม่ใช่แค่อายุวัยหน้าตา แต่มันต้องเป็นความคิดแก้ปัญหาบ้านเมืองได้จริงด้วย ที่สำคัญเขาสตาร์ทก่อนอาจจะได้เปรียบช่วงแรก แต่อย่าลืมว่าการเมืองมันสู้กันจนถึงวันเลือกตั้ง สมมติพรรคทหารเปิดตัว หรือว่าหากมีการทำพรรคกำนันกันจริงๆ หวือหวาแน่!




กำลังโหลดความคิดเห็น