xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอย 15 ปี จัดงบ? ปรับโครงสร้าง"สทท./NBT" หอยแดง/หอยม่วง : ก่อน"ไก่อู"ขอ ม.44หาโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

27 ก.ย. 59 เป็นวันที่ครม. แต่งตั้งพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศขณะนั้น) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รักษาราชการ “อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์”ชั่วคราว อีกตำแหน่งหนึ่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 59/2559 มาตลอดกว่า 2 ปีเศษ

ครั้งนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. การันตีว่าเพื่อบูรณาการงานประชาสัมพันธ์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เนื่องจากโฆษกรัฐบาลมีความรู้ทั้งงานในคสช. และรัฐบาล ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ ก็มีหน้าที่เป็นโฆษกประชาสัมพันธ์งานรัฐอยู่แล้ว และรับรองว่า“ท่านสรรเสริญ จะรู้บทบาทตัวเอง”

ขณะที่รักษาการอธิบดีฯ บอกว่า“อยากให้มีการเชื่อมโยงงานคสช.และรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ผมคงจะเข้าทำเพิ่มเติมจากงานอธิบดีคนเก่าๆ”

“ก็ต้องพยายามหาอะไรที่จะทำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และเข้าใจประเด็น แต่คงไม่ถึงกับต้องไปจัดระเบียบอะไร เพราะผมก็ไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากไหน และต้องการให้ช่อง 11 เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการพัฒนาประเทศ”

ล่าสุด 3 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ (ยศล่าสุด) ออกมาแจ้งกับสื่อมวลชลและสาธารณะว่าได้เสนอในที่ประชุม คสช. (27 มี.ค.) ให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ช่วย “กรมประชาสัมพันธ์”ให้สื่อฯ และผู้ประกอบการที่ร่วมผลิตสื่อภายใต้ช่องทางของกรมฯ สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ เพราะกฎหมายเดิมใบอนุญาตประกอบกิจการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประเภทที่ 3 คือ ใบอนุญาตทีวีช่องสาธารณะ แต่ข้อจำกัดของกรมฯ คือ มีงบประมาณอย่างเดียว แต่ไม่สามารถหาโฆษณาได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพไม่อยากมาผลิตรายการให้

“ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการขอให้มีโฆษณาเพื่อมีเงินจำนวนมาก หรือเป็นช่องเชิงธุรกิจ เพราะเราไม่ได้เป็นอยู่แล้ว แต่ต้องการให้มีผู้ประกอบการที่มีฝีมือ ตอบโจทย์ต่อรัฐ แต่การผลิตแบบนี้ต้องใช้ต้นทุนสูง หากใช้งบประมาณอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ”

“ที่ผ่านมาในแต่ละปี กรมประชาสัมพันธ์จะได้รับงบประมาณในการทำรายการข่าวทั้งวิทยุ โทรทัศน์ รวมกันเพียง 239 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่ต้นทุนในการผลิตรายการดีๆ มีคุณภาพ ต้องใช้ต้นทุนมากถึง 60-70 ล้านบาท”

ดังนั้นกรมประชาสัมพันธ์จึงไม่สามารถที่จะผลิตรายการดีๆ ได้ จึงจำเป็นที่ต้องยืดหยุ่นในส่วนนี้ด้วย และไม่ได้หมายความว่าการเปิดทางครั้งนี้ กรมฯจะมีโฆษณาจนเกินเหตุ แต่จะเป็นการโฆษณาที่มีเงื่อนไขในระยะเวลาที่น้อยกว่าทีวีช่องอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการหาโฆษณาในเชิงพาณิชย์อย่างแน่นอน”พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

รุ่งขึ้น “นายวิษณุ เครืองาม”รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และควบคุมกรมประชาสัมพันธ์ ออกมาให้ความเห็นว่า ได้ให้กรมประชาสัมพันธ์ไปคุยกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อวางแผนปฏิบัติงานกันเอง

“ยังไม่รู้ว่าติดล็อกอะไร ถึงต้องปลดล็อก ส่วนที่บอกว่าเพราะงบประมาณไม่เพียงพอนั้น เขาก็อ้างอย่างนั้น และคงไม่ถึงกับหาโฆษณาได้ขนาดนั้น แต่อาจหาโฆษณาได้เพียงบางส่วน ซึ่งผมไม่รู้ว่า ใครจะเป็นคนบอกว่าหาได้เท่าไร จึงจะเพียงพอแล้ว”

“รู้ว่าเขามีความจำเป็น เพราะผมอยู่มาหลายรัฐบาลแล้ว มีการขอมาในหลายรัฐบาล แต่เหตุผลแรกเริ่มที่ไม่ให้มีโฆษณา เพราะช่อง 11 เป็นสถานีของรัฐเพียงแห่งเดียว ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจและให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล จึงถูกเบรกไม่ให้มีโฆษณามาตั้งแต่ยังไม่มี กสทช. ด้วยซ้ำ”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 สมัยที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับกรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบนโยบาย

มีการมอบหมายให้ผู้บริหารไปจัดทำแผนให้เป็นสื่อสาธารณะที่สามารถโฆษณา และบริการธุรกิจได้ เช่นเดียวกับช่อง 5 พร้อมทั้งขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากเงินภาษีสุรา ยาสูบ หรือ ภาษีบาป (Earmarked Tax)จากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ได้จากโรงงานยาสูบเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส เนื่องจากปัจจุบัน งบประมาณที่กรมประชาสัมพันธ์ได้รับมีจำนวนน้อยมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ

“ช่อง 11 จะต้องเป็นทีวีสาธารณะ สามารถบริการโฆษณาได้ นอกจากนั้นยังสามารถบริการธุรกิจ แต่ไม่ถึงกับต้องมีละคร”นายออมสิน ระบุตอนหนึ่ง เมื่อต้นปีที่แล้ว ก่อนปลายปี 2560 จะถูกปรับออกจากครม.“ประยุทธ์ ”

ทีนี้มาย้อนหลัง ดู“กรมประชาสัมพันธ์-ช่อง 11”ตลอด 15 ปี ก่อนที่จะถูกปรับโครงสร้าง เป็น NBTในปัจจุบัน ก่อนหน้าและในช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นข้อมูลที่ ผ่านเป็นมติครม. ทั้งหมด

17 มิ.ย.45 ตอนนั้น ฮือฮา! มาก สมัย “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน”เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลไทยรักไทย ริเริ่ม “โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ ของกรมประชาสัมพันธ์”กรณีการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์จากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการส่งวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ โครงการจัดหาอุปกรณ์ห้องส่งวิทยุโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ช่อง 11 กรุงเทพ ถนนวิภาวดีรังสิต โครงการปรับปรุงอุปกรณ์ผลิตข่าวและรายการโทรทัศน์ ของสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดทั่วประเทศ และโครงการปรับปรุงสมรรถนะ ในด้านข่าวและรายการ ของสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 - 8 ดำเนินการโดยเน้นการค้าต่างตอบแทนตามโครงการเงินกู้ (SAL)โดยกำหนดอัตราส่วนการค้าต่างตอบแทนในอัตรา ร้อยละ 50 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

22 ม.ค. 45 ครม. มติอนุมัติให้ใช้เงินกู้ SALวงเงิน 820.446 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า เครื่องมืออุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ที่จะจัดซื้อ มีเทคโนโลยีและราคาค่อนข้างสูง “กรมประชาสัมพันธ์”ควรจัดหารายได้เพื่อใช้ในการดำเนินการ โดยไม่เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน

3 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาอุปกรณ์ ห้องส่งวิทยุโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ช่อง 11 ถนนวิภาดีรังสิต กรุงเทพ ฯ วงเงิน 232.50 ล้านบาท โครงการปรับปรุงอุปกรณ์ผลิตข่าว และรายการโทรทัศน์ ของสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดทั่วประเทศ วงเงิน 128.25 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงสมรรถนะในด้านข่าว และ รายการของสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1- 8 วงเงิน 44 ล้านบาท

“ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่า ในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายแห่งไม่สามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ (สทท.11) ได้”

20 ธ.ค. 48 ยังอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทย สมัยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ยังคุมกรมประชาสัมพันธ์ มีนโยบายแปรสภาพวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และสถาบันการประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ สำนักงานก.พ.ร.เป็นผู้ดำเนินการในประเด็น“เกี่ยวกับการโฆษณา”ครั้งนั้นให้มีโฆษณาได้เฉพาะโฆษณาที่เป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ขององค์กร(corporate image)เท่านั้น โดยส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจให้ความสนับสนุนในการจัดทำรายการได้ตามความเหมาะสม

“ควรให้ความสำคัญกับการออกอากาศรายการที่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร (capacity building)การสาธิต หรือฝึกปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ อันเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย เพื่อเผยแพร่แก่ชาวต่างชาติด้วย เช่น การปรุงอาหารไทย เป็นต้น”เป็นมติ ครม.

ตลอดปี 50 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนน์ ช่อง11 เปลี่ยนแปลงไปตามยุค แต่ช่วงนี้รัฐบาลมีของเล่นใหม่ หลังจาก สปน. มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.50 เป็นต้นไป หลังจากยึดมาจากไอทีวี จัดตั้งกิจการ TITV ในวันเดียวกัน มีสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ เฉพาะกิจ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษในกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาเปลี่ยน เป็นสถานีสาธารณะในนาม"ทีวีไทย และ TPBS"ตามลำดับ

ปี 51 - 52 ยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่มี นายจักรภพ เพ็ญแข กำกับดูแล เปลี่ยนชื่อ และ โลโก้ “หอยม่วง”เป็น “NBTสีขาวบนพื้นแดง”มีการว่าจ้าง “บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์”ร่วมบริหารงาน

เข้าสู่ ยุคประชาธิปัตย์ ในปี52-53 เมื่อเดือนเมษายน 52 ช่อง NBTกลับมาเป็น สทท. มีการเปลี่ยนโลโก้ จากอักษร NBTสีขาวบนพื้นแดง เป็นหอยสังข์สีม่วง ยกเลิกสัญญากับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ ลดเวลาข่าวจาก 12 ชั่วโมง เหลือ 7 ชั่วโมงต่อวัน ให้บริษัทภายนอกเป็นแค่ผู้ช่วยผลิตข่าวและรายการ โดยผู้ผลิตหลักยังเป็นพนักงานช่อง 11 ซึ่งถูกมองว่าเป็น กลุ่มบริษัทเดียวกับผู้ผลิตรายการข่าวเดิม ที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองดัง มีการเพิ่มรายการด้านแก้วิกฤตความขัดแย้งในสังคม และรายการแก้วิกฤตด้านเศรษฐกิจและแรงงาน

2 มี.ค.53 ครม. ยังมีมติอนุมัติให้ สปน. 30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ “โครงการ ASEAN TV” ในระยะก่อตั้ง

7 ก.ย.53 ครม.ให้กรมประชาสัมพันธ์ 200 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ก่อสร้างและปรับปรุงอาคารปฏิบัติงานอาคารสำนักงานตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ทางเทคนิค ทดแทนของเดิมที่ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

18 ม.ค.54 ครม.ให้กรมประชาสัมพันธ์ 150 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับดเนินโครงการจัดซื้อทดแทนรถผลิตรายการนอกสถานที่พร้อมอุปกรณ์พิเศษระบบ Digital Full High Definitionจำนวน 1 คัน

ยังให้ กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ไปบูรณาการจัดทำแผนการปรับปรุงระบบแพร่ภาพออกอากาศไปเป็นระบบ Digital Full High Definition

แต่ไม่น่าเชื่อในยุครัฐบาล เพื่อไทย แม้จะอนุมัติงบประมาณให้ช่อง 11 หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรเด่นมากนัก

1 ม.ค.56 กรมประชาสัมพันธ์ เปิดตัวสถานีโทรทัศน์ NBT World ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ เริ่มออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ทุนจากรัฐบาลไทย 30 ล้านบาท

ต่อมาในยุค พล.ท.สรรเสริญ รักษาการ อธิบดีฯ มีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นรัฐมนตรีกำกับ เมื่อ 17 ม.ค.60 อนุมัติให้กรมประชาสัมพันธ์ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพัน รายการโครงการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อก สู่ระบบดิจิทัล สถานีเสริม 17 สถานี จำนวน 175,460,740 บาท และรายการโครงการเปลี่ยนผ่านการส่งโทรทัศน์ระบบอนาล็อก สู่ระบบดิจิทัล ระยะที่ 2 จำนวน 887 ล้านบาท

ล่าสุดปี 60 สปน. ที่กำกับกรมประชาสัมพันธ์ และช่อง 11 ได้เสนอ ครม.ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเพิ่มรายการลงทุน และวงเงินลงทุนร่วมโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง หรือโทรทัศน์

ปีงบประมาณ 57 - 59 ได้ใช้งบประมาณลงทุนโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือ ทีวีดิจิตอล ตลอด 3 ปี รวม 3,700 ล้านบาท พบว่า งบประมาณปี 57 ได้ จำนวน 980 ล้านบาท เพื่อลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 18 สถานีส่งหลัก ครอบคลุมครัวเรือนทั่วประเทศ 50%

ส่วนปี 58 ลงทุนเพิ่มอีก 1,250 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณอีก 21 สถานีส่งหลัก หรือครบทั้ง 39 สถานีส่งหลักทั่วประเทศ ขณะที่ งบประมาณปี 59 ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณในสถานีส่งเสริม 114 สถานี

ขณะที่มีต้นทุนการให้บริการคงที่ ประกอบด้วย ค่าเช่าสิ่งอำนวยความสะดวก (สถานีส่งสัญญาณ) รวม 39 ล้านบาท/ปี, ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม 60 ล้านบาท/ปี และค่าเช่าโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก 20 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ จะมีรายได้จากการให้บริการเช่าช่องทีวีดิจิตอลเอสดี เดือนละ 4.5 ล้านบาท และช่องเอชดี เดือนละ 13 ล้านบาท

“แต่ต่อมาได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน”

ล่าสุด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด จะเสนอครม.อีกครั้งหนึ่ง หลังจากคสช.ไฟเขียวแล้ว โดยพ่วงเรื่อง“เอกชนที่มีสัญญากับช่อง 11 หาโฆษณาเองได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น