xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุติ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ถอดชนวนความขัดแย้ง “ลุงป้อม” ทำเข้าท่าครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิกัดของโครงการที่ได้รับการปักหมุดระบุพิกัดลงบนแผนที่ Google Maps ในชื่อ  “หมู่บ้านป่าแหว่ง”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โครงการสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการตุลาการ บนเนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้กับเขตอุทยานสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากภาคประชาสังคมเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อเห็นรูปภาพประกอบตัวอาคารบ้านพักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของ “ป่าไม้” คำถามถึงเรื่องความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ก็ยิ่งดังกระหึ่มมากขึ้นทุกที

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ “ความเหมาะสม” เพราะถึงแม้ว่าการดำเนินงานก่อสร้างและการขออนุญาตใช้พื้นที่จะทำอย่างถูกต้อง และดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ประชาชนยังคงร้องถามถึง “ความเหมาะสม” อย่างไม่เลิกรา กระทั่งกลายเป็นที่มาของชื่อที่ดังสั่นสะท้านไปทั้งแผ่นดินว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง”

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาไกล่เกลี่ยหาทางออก เพราะถ้าหากขืนปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไป อาจลุกลามบานปลายและกระทบต่อศรัทธา ตลอดรวมถึงความน่าเชื่อถือของ “ศาลยุติธรรม” ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจประเมินผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมาได้

“รัฐบาลกำลังหาทางออกในเรื่องนี้ในชั้นต้นได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงไปพิจารณาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร โดยต้องแยกเป็นสองส่วน คือ หนึ่ง ดูสถานที่ทำงาน ซึ่งอยู่ด้านล่าง สอง ส่วนของบ้านพักด้านบน โดยต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามจะต้องปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิมให้ได้ นี่คือหลักการเดิมของเรา และจะมีการหารือระหว่างศาลและฝ่ายกฎหมาย คสช. เพื่อหาทางออก” พล.อ.ประยุทธ์ ให้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ทำท่าจะลุกลามบานปลายออกไป

และในที่สุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ความตึงเครียดก็ได้ยุติลง เมื่อ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดได้ประกาศผ่าทางตันในเบื้องต้นให้ยุติก่อสร้าง และยกเลิกโครงการที่จะใช้เป็นบ้านพักศาล พร้อมทั้งได้ปวารณาเป็นตัวกลางประสานความขัดแย้ง โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาล จังหวัด มณฑลทหารบกที่ 33 กองทัพภาคที่ 3 ได้พูดคุยกันในวันที่ 9 เม.ย. 2561

นี่ต้องนับเป็นการตัดสินใจที่ต้องชื่นชม “ลุงป้อม” กันอย่างซึ่งๆ หน้าและไม่เหนียมอาย แม้อาจจะไม่อาจลบเลือนภาพจำเกี่ยวกับ “แหวนพ่อ-นาฬิกาแม่” ให้จางหายไปได้ แต่ก็พอจะทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นได้บ้าง...ไม่มากก็น้อย

โดยในเบื้องต้น พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า จะไม่มีการก่อสร้างต่อ และให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันว่าจะทำอะไรเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ พร้อมปลูกป่าทดแทน แต่คงใช้เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ในส่วนของบ้านพักจะทำอะไรต่อไปก็ต้องคุยกันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ใช้เป็นที่พักผ่อน และเชื่อว่าศาลคงไม่มีการฟ้องร้องภาคประชาชน หากต้องยุติโครงการ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์เคยให้กองทัพดูแล แล้วกองทัพก็คืนให้แก่ราชพัสดุ ซึ่งราชพัสดุได้ให้ศาลใช้ประโยชน์ต่อ คงต้องพูดคุยในรายละเอียดว่าจะหาทางออกอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย และอยากให้กลุ่มที่คัดค้านยุติการเดินเท้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนจำเป็นต้องใช้ ม.44 แก้ปัญหานี้หรือไม่ ก็ให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกันก่อน

ในฐานะประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนเองจริงจังต่อการดูแลพื้นที่ป่าไม้ เมื่อก่อนมีการบุกรุกถึง 13 ล้านไร่ หลังจากที่เข้ามารับผิดชอบก็เหลือการบุกรุกเพียง 1.3 ล้านไร่ แต่ปัญหาบ้านพักศาลที่เชียงใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ป่า แต่เป็นที่ราชพัสดุ

แน่นอน เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักตุลาการนี้ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ในข้อกฎหมายโครงการนี้ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ในข้อกฎหมาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เคยแถลงเอาไว้ว่าได้ขอใช้ที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 33 เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลพร้อมบ้านพัก จำนวน 47 หลัง และอาคารชุด 13 หลัง งบประมาณกว่า 900 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2557 เมื่อสร้างเสร็จสิ้นจะมีการปรับภูมิทัศน์ให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด

แต่กระนั้น กระแสคัดค้านการสร้างที่ทำการศาลและบ้านพักเชิงดอยสุเทพ ก็ยังคุกรุ่นเรื่อยมาจนกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง กระทั่ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก มีคำสั่งชะลอโครงการไว้ก่อนชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา

โดย ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) จ.เชียงใหม่ นำกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการศาลยุติธรรม บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ว่าได้สั่งให้ระงับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นการชั่วคราวแล้วก็มาคุยกัน โครงการนี้ได้รับการอนุมัติมานานแล้ว แต่ตอนนี้ชาวเชียงใหม่เห็นว่าไม่เหมาะสม อาจเป็นการทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ จึงใช้อำนาจของกองทัพภาคที่ 3 สั่งชะลอโครงการไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันต่อไป

จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้อธิบาย ว่า สิ่งที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เตรียมการไว้แล้วก็คือการดูแลสภาพพื้นที่ในการที่จะปลูกป่าทำให้เข้ากับพื้นที่บริเวณเดิมซึ่งเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะศาลยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ศาลย่านรัชดาภิเษกก็มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนช่วยลดสภาวะโลกร้อน

“สิ่งนี้เราให้ความสำคัญ และเราไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่เราทำ โดยวันที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบก่อตั้งศาลยุติธรรม เราก็จะปลูกป่าและดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเราก็เข้าใจความห่วงใยของพี่น้องประชาชน” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวและยืนยันชัดเจนว่า การดำเนินงานก่อสร้างทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย โดยตามสัญญาก่อสร้างต้องส่งมอบงานภายในเดือนมิถุนายนนี้ ดังนั้นการก่อสร้างก็ยังดำเนินต่อไป

“ตอนนี้งานก่อสร้างใกล้จะเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ เหลืออีกประมาณ 2 เดือนเศษ สิ่งที่สำคัญก็คิดว่างบประมาณที่ใช้ไปและการอยู่ดูแลพื้นที่ คิดว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงได้ และจะอยู่ช่วยดูแลพื้นที่ป่าใกล้เคียงได้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่เราจะทำ และเราจะลงมือทำทันที” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งคนเชียงใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ด้วยว่า เราพยายามให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เราทำมีเจตนาดี เราไม่ได้จะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติ
โครงการสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนทั้งแผ่นดิน
ขบวนเดินเท้าของ“ภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเลิกโครงการ โดยเริ่มเดินทางวันแรกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561
และจากนั้นในวันถัดมาคือวันที่ 28 มีนาคม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาทก็ประกาศยกเลิกคำสั่งชะลอการก่อสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า “กรณีดังกล่าวเดินมาไกลแล้ว จะลงตัวอย่างไรให้ยอมรับกันได้และไม่เสียหายมากนัก เพราะใช้งบประมาณลงไปพอสมควร ก็พอมีเวลาในการพูดคุยกัน อยากให้หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้พูดคุยกันและหาจุดที่เหมาะสมเพราะเป็นพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่หลายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ที่เราจะหยุดโครงการเพราะจะเกิดความเสียหาย แต่จะเดินต่อไปได้อย่างไร ที่จะเกิดต่อผลกระทบและความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ให้น้อยที่สุด”

นับจากนั้นมา เสียงคัดค้านก็ขยายวงกว้าง พร้อมกับแคมเปญรณรงค์ในหลายรูปแบบ เช่น เพจ “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ได้โพสต์รูปภาพจำนวน 4 รูป พร้อมระบุข้อความว่า “ขณะนี้ชื่อ!! “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ได้ถูกระบุพิกัดลงบนแผนที่ Google Maps เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับสมาชิกท่านใดต้องการไปเยี่ยมชมหมู่บ้านให้คะแนนความดีงามของหมู่บ้านนี้ หรือจะคอมเมนต์ก็เชิญกันได้ตามอัธยาศัย ตามลิงก์นี้ https://goo.gl/maps/UsALhkUhFYG2 แคมเปญขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ https://goo.gl/N2cnns

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ภาคีคนฮักเชียงใหม่, เครือข่ายเขียวสวยหอม, ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และเครือข่ายรักษ์แม่ปิง เป็นต้น ได้ร่วมกันจัดเสวนาระดมความคิดเห็น “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” กรณีโครงการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ และรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “ภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” มีเป้าหมายเพื่อเคลื่อนไหวพิทักษ์พื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยได้ร่วมกันแผ่เมตตาและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เพื่อหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลใจให้ทางเจ้าของโครงการยุติการก่อสร้างและย้ายไปใช้พื้นที่อื่น ซึ่งหากยังไม่เป็นผลอาจจะทำพิธีเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งในโอกาสต่อไป
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นอกจากนั้น ภาคีเครือข่ายฯ ยังยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอข้อมูลและขอให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว เช่น การขออนุมัติใช้พื้นที่ราชพัสดุ, การพิจารณาโครงการ, การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในเชิงวิศวกรรม เป็นต้น และยังจะยื่นหนังสือถึงกรมธนารักษ์ ขอให้ปรับปรุงระเบียบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและการแก้ไขปัญหาทัศนอุจาดของดอยสุเทพ โดยขอไม่ให้มีการอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งมีศักยภาพให้เป็นพื้นที่สีเขียว และขอให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตโครงการก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักตุลาการดังกล่าวและปรับปรุงให้เป็นสภาพป่าเชิงเขาเช่นเดิม

ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมด้วยประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้เชิญชวนผู้ที่ต้องการให้ยุติและยกเลิกโครงการนี้ร่วมกันแสดงพลังด้วย “การผูกริบบิ้นหรือผ้าสีเขียว” ไว้ที่รถหรือตามบ้านเรือน และในวันที่ 8 เม.ย. 2561 ทางเครือข่ายฯ จะจัดกิจกรรมทำบุญบวชป่าพื้นที่โดยรอบโครงการเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงเรียกร้องให้มีการคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพบริเวณดังกล่าว

ภาคีเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องโดยส่งตัวแทนเครือข่ายฯ 3 คน คือ นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร อายุ 49 ปี, นายศรุต ศรีถาวร อายุ 44 ปี และนายดิลก จันทรดิลก อายุ 54 ปี เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเลิกโครงการ โดยเริ่มเดินทางวันแรกวันที่ 4 เม.ย. 2561 กำหนดระยะเดินทางวันละ 50 กม. คาดว่าไม่เกินวันที่ 20 เม.ย. 2561 จะถึงกรุงเทพฯ

นางพิมพ์สุชา สมมิตรวศุตม์ เลขาธิการเครือข่ายฯ กล่าวว่า การดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าวแม้ว่าจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และเป็นเสมือนการเหยียบย่ำทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวเชียงใหม่ เพราะดอยสุเทพถือเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเชียงใหม่เคารพสักการะมายาวนาน

ด้านนายธีรศักดิ์ ธูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยืนยันว่า ทางเครือข่ายฯ ต้องการเรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยให้ทุบทิ้งและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาเป็นดังเดิม แม้ว่าจะชอบด้วยกฎหมายแต่ขัดรัฐธรรมนูญและจรรยาบรรณของผู้พิพากษา เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้ทำร้ายจิตใจชาวเชียงใหม่และคนไทยทั่วทั้งประเทศ สร้างรอยแผลเป็นให้กับดอยสุเทพที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เสมือนเป็นการเหยียบย่ำลบหลู่ครูบาศรีวิชัยและพระธาตุดอยสุเทพ อีกทั้งเป็นการใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย รวมทั้งการก่อสร้างยังเป็นการเลือกและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม อันเป็นการทำลายป่าและระบบนิเวศภูเขา โดยการเรียกร้องนี้ได้ทำมาตั้งแต่ที่เริ่มโครงการแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มเคลื่อนไหวภายหลัง และจะทำต่อไปจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่ายฯ ขนานไปกับความพยายามเปิดเจรจาหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การนัดหมายพูดคุยหารือระหว่างตัวแทนของภาคีเครือข่ายฯ กับผู้แทนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 นัดแรกที่มณฑลทหารบก ที่ 33 ของช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 มีอันต้องยกเลิกไป โดยนายบัณรส บัวคลี่ หนึ่งในตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งรับคำตอบกลับมาว่าศาลไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับการเจรจานัดหมายครั้งนี้

ในเวลาต่อมา มีการนัดหมายอีกครั้ง ณ ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ในเวลา 15.30 น. ของวันเดียวกัน ก็มีอันเลิกล้มเช่นเดียวกัน เนื่องจากทางภาคีเครือข่ายฯ ต้องการให้สื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวด้วย แต่ทางศาลปฏิเสธจึงต้องล้มเลิกการนัดหมายพูดคุยเจรจากันเป็นครั้งที่ 2 ภายในวันเดียว ซึ่งก่อนเดินทางกลับภาคีเครือข่ายฯ ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าป้ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมร่วมกันชูป้ายที่จัดเตรียมมา ข้อความว่า “ต้องรื้อ! บ้านพักตุลาการลงจากดอยสุเทพ เท่านั้น!” จึงแยกย้ายกันกลับ ก่อนที่จะมีการพูดคุยกันใหม่ในวันที่ 9 เม.ย.

ขณะที่ในฟากของศาลนั้น หลังจากที่ พล.อ.ประวิตรประกาศท่าทีชัดเจน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายสุริยันห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า สิ่งที่ประชาชนให้ความห่วงใย ศาลยุติธรรมก็พร้อมจะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะ และแผนที่จะดำเนินการต่าง ๆ ก็อาจจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะศาลก็อยากจะรักษาด้านสิ่งแวดล้อมไว้ แต่การดำเนินการต่างๆ อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน

สำหรับขั้นตอนต่อไป ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จะมีการประชุม ตนเองในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่ามีความเห็นอย่างไร แล้วจะนำเสนอนายกฯ ทราบต่อไป จากนั้นจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชน

ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อยากจะให้มีการประชุม 3 ฝ่าย ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ยังไม่มีการแจ้งหนังสือมาถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แต่อย่างใด ส่วนหากมีการประชุมร่วม ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไร เพียงแต่ว่าต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ตามมติของ ก.บ.ศ. โดยตนยังไม่อาจให้ความเห็นส่วนตัวได้ว่าจะมีการยุติการก่อสร้าง หรือไม่ หรือการจัดการในบริเวณก่อสร้างดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้การก่อสร้างยังคงดำเนินการต่อไป โดยต้องรอการประชุมของ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมก่อน ในฐานะที่ตนอยู่ภายใต้สัญญา ก็จะต้องปฏิบัติตามสัญญาและข้อกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการดำเนินคดีฟ้องร้องได้

ทั้งนี้ เหตุที่เลือกทำเลดังกล่าวเป็นการก่อสร้าง เนื่องจากพื้นที่ในการก่อสร้างของทางราชการมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน จึงจำเป็นต้องหาจากที่ของราชพัสดุ ว่าตรงไหนที่อนุญาตให้ใช้ได้ โดยทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เข้าใจว่าเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าว เพราะอยู่ใกล้ที่ทำการของสำนักงานศาล และเพื่อลดเวลาการเดินทาง

...ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดตามที่พล.อ.ประวิตร ให้แนวทางไว้ ได้จะดำเนินไปอย่างไร แต่หวังว่าจะปลดชนวนขัดแย้งครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่จำเป็นต้อง “รื้อสถานเดียว”




กำลังโหลดความคิดเห็น