ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “จินดามณี” สลักสำคัญอย่างไร เหตุใด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงสั่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปท่องกันมาคนละบทก่อนจะแสร้งทำเป็นขอทดสอบปากเปล่า หลังจากหนังสือจินดามณีไปปรากฏอยู่ในฉากหนึ่ง ของละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องดัง “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างปรากฏการณ์ “ออเจ้าฟีเวอร์” ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาตร์กันอุ่นหนาฝาคั่ง
ขณะที่ กรมศิลปากร ถือโอกาสจัดพิมพ์หนังสือจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ทั้งฉบับปกแข็ง - ปกอ่อน วางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. - 8 เม.ย. 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คำตอบก็คือ จินดามณี เป็นวรรณกรรมสําคัญเรื่องหนึ่งของไทยที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิพนธ์โดยพระโหราธิบดี เดิมเชื่อว่าเป็น ตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก
จินดามณี ฉบับพิมพ์ใหม่ โดยกรมศิลปากร วางจำหน่ายงานสัปดาห์หนังสือฯ 2561
ทว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่เคยพบต้นฉบับ จินดามณี ตัวเขียนฉบับดั้งเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเพียงฉบับคัดลอกในแผ่นดิน ร.1 พ.ศ. 2325 ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่ไม่ระบุแหล่งที่มา
ขณะที่ข้อสันนิษฐานของกรมศิลปากร จากหนังสือวรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2 อธิบายว่า จินดามณีไม่ใช่หนังสือที่ใช้สำหรับหัดอ่านเขียนเบื้องต้น แต่เป็นสมบัติของคนชั้นนำตระกูลขุนนางยุคนั้น กล่าวคือ จินดามณีเป็นหนังสือเรียนสำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือเป็นตำราสำหรับผู้ที่จะฝึกหัดเป็นกวีสมัยนั้น เสมือนสมุดข่อยส่วนตัวของผู้รู้หนังสือ ใช้จดวิชาความรู้ต่างๆ ทางฉันทลักษณ์และอักขรวิธี
จินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี จึงไม่น่าจะเป็นแบบเรียนสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นแบบเรียนสำหรับคนที่ต้องการถวายตัวเข้ารับราชการ หรือสนใจด้านกวีนิพนธ์
สำหรับเนื้อหาของเรื่อง จินดามณี เป็นแบบการเรียนการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ และรวบรวมคำศัพท์ที่สำคัญ
รวมทั้ง การรวบรวมคำที่เขียนผิดบ่อย เช่น คำพ้องรูป พ้องเสียง คำยืมจากภาษาต่างประเทศ การใช้ไม้ม้วน (ใ), ไม้มลาย (ไ) ตัวอย่างคําที่ใช้ ส, ศ, ษ ไปจนถึงการอธิบายฉันทลักษณ์ในโคลงกลอนแต่ละประเภท
และหนึ่งในคำประพันธ์ที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดีก็คือ
เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่นฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
นั่นเป็นคำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ ที่บรรจุอยู่ในหนังสือจินดามณี
ทั้งนี้ หนังสือจินดามณี เดิมทีเขียนลงใน สมุดข่อย จนกระทั่งมีการนำเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาในสยามประเทศโดย “หมอบรัดเล” มีการตีพิมพ์จินดามณีด้วยกระดาษเป็นครั้งแรก ต่อมา กรมศิลปากร ได้พิมพ์เผยแพร่ จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ในยุคต่อๆ มา มีผู้แต่งหนังสือจินดามณีเพิ่มอีกหลายสำนวน จินดามณี เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทยจึงมีหนังสือหลายเล่มใช้ชื่อตาม
อนึ่ง จินดามณี แปลว่า แก้วสารพัดนึก หมายถึง แก้วอันอาจให้ประโยชน์ทุกประการแก่ผู้ครอบครองดังใจนึก หนังสือจินดามณีนั้นมีหลายฉบับ มีเนื้อหาลักลั่นแตกต่างกัน เช่น ฉบับพระโหราธิบดี แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ, ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
จินดามณี มีคุณค่าต่อสังคมไทยหลายประการ เป็นต้นแบบในการเขียนแบบเรียนภาษาไทย รวมทั้ง เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญในสมัยพระนารายณ์มหาราช จินดามณี มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์สูงควรค่าแก่การศึกษาด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีไทยในยุคโบราณ
แต่การท่องจำหนังสือจินดามณีอาจไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดีเสียเท่าไหร่ ต้องทำความเข้าใจว่าจินดามณีเป็นเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ลักษณะคัดลอกสืบต่อกันมาและอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสัปดาห์ก่อน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เข้ารายงานเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือ “จินดามณี เล่ม 1 และ จินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” พร้อมแจกคณะรัฐมนตรี ( ครม.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรม เผยแพร่หนังสือเล่มดังกล่าวให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ส่งเสริมให้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม รวมถึงต่อยอดการเผยแพร่องค์ความรู้ในหนังสือจินดามณี อาทิ ประกวดการอ่านโคลง กาพย์ กลอน ฯลฯ โดยจะเผยแพร่หนังสืมจินดามณีไปยังหน่วยงานราชการ ห้องสมุดสถานศึกษาทั่วประเทศ
นายวีระ กล่าวว่า ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ประพันธ์โดย รอมแพง ก่อให้เกิดกระแสเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่และประชาชน สนใจค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และนิยมแต่งกายด้วยชุดไทยอยู่ในขณะนี้ ซึ่งละครได้กล่าวถึงหนังสือจินดามณีหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ทำให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ สอบถามมายังกรมศิลปากรจำนวนมาก ว่าต้องการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวและอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก เนื่องจากทราบว่ากรมศิลปากรเคยจัดพิมพ์จินดามณีเผยแพร่มาแล้ว 1 ครั้ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดพิมพ์ตามฉบับจินดามณี เล่ม 1 และนำสำเนาเอกสารสมุดไทยหนังสือจินดามณี เอกสารเลขที่ 83 จินดามณีฉบับใหญ่ เอกสารเลขที่ 4 และจินดามณี เล่ม 2 เอกสารที่ 29
รวมจัดพิมพ์เป็น “จินดามณี เล่ม 1 และจินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์” การจัดพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้ทุกคนได้เห็นลักษณะของหนังสือแบบเรียนไทยในอดีต ที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการที่สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษา
ทั้งนี้ ในงานงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-8 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร นำสำเนาหนังสือจินดามณี เล่ม 1 และจินดามณีฉบับใหญ่บริบูรณ์ พระโหราธิบดีแต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาจัดพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 3 จำนวน 4,500 เล่ม รวมทั้งจัดพิมพ์สำเนาหนังสือจินดามณี ฉบับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระปรมานุชิต สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 1,000 เล่ม มาวางจำหน่ายจำนวน 400 เล่ม และ 200 เล่ม ตามลำดับ ปรากฏว่า เพียงแค่วันแรก มีประชาชนให้ความสนใจซื้อไปอ่านและสะสมเป็นจำนวนมากจนหนังสือจำหน่ายหมดในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันนอกจากในรูปแบบหนังสือแล้วยังสามารถอ่านจินดามณีฉบับ E-Book ได้ที : http://www.digitalcenter.finearts.go.th/book-detail/2476… ได้อีกด้วย
สำหรับต้นเรื่องคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สั่งให้ ครม. ไปท่องจำ จินดามณี กันมาคนละบทก่อนจะทดสอบปากเปล่า โดยกล่าวทีเล่นทีจริงมีนัยให้ไปขับเคลื่อนภาคสู่ประชาชน เล็งเห็นคุณค่าวรรณศิลป์ไทย ทั้งนี้ ไล่หลังไม่กี่วัน นักข่าวจ่อไมค์ถามไถ่ความคืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวพร้อมกับจึงท่องให้ฟังขึ้นว่า
“ไม่ต้องสอบท่องอะไรหรอก เพียงแต่อยากให้รัฐมนตรีทุกคนสนใจ และตั้งใจอ่านหนังสือของไทยเท่านั้น
“...ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”
เพียงแต่บทกลอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ท่องนั้น ไม่ได้อยู่ในหนังสือจินดามณี แต่เป็นท่อนหนึ่งจาก “นิราศภูเขาทอง” ของ “สุนทรภู่” ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 2373 หลังจากจินดามณีประมาณ 150 ปี นะเจ้าค่ะ...