xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งบเพิ่มเติมแสนล้าน หว่านลงฐานราก มหาดไทยกวาดเยอะสุด 3.1 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561  เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านฉลุย 3 วาระรวด สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาในวาระการประชุมเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 150,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวน 100,358.077 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อชดใช้เงินคงคลังในความควบคุมของกระทรวงการคลัง เป็นจำนวน 49,641.923 ล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อที่ประชุม สนช.ว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวที่สูงขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนและความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การเพิ่มขึ้นของการลงทุนต่างประเทศและภาคเอกชนไทย รวมทั้งการขยายตัวของภาคบริการที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคการเกษตรและชนบท แม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังไม่ฟื้่นตัวเต็มที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลด้านราคาพืชผล การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลเศรษฐกิจโดยส่วนรวมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท จึงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากให้สามารถพึ่งตนเองแข่งขันได้ รวมทั้งการรักษาวินัยการคลังโดยการตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการเรื่องสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างคุ้มค่าโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า จัดสรรงบประมาณได้ตรงจุด รวมถึงเป็นการนำงบประมาณไปช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรง เน้นสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ขอให้รัฐบาลควบคุมและติดตามการใช้งบประมาณจำนวน 1.5 แสนล้านบาทให้เกิดความโปร่งใสเพื่อให้เงินถึงมือชาวบ้านจริงๆ ด้วย

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนที่เป็นของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวน 100,358.077 ล้านบาทนั้น จำแนกเป็น

1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง 4,600 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนทั้งหมด

2.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงการคลัง 5,325,000 บาท เป็นงบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งหมด

3.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 106.291 ล้านบาท เป็นงบของกรมการท่องเที่ยว ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชนทั้งหมด

4.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22,742.165 ล้านบาท แบ่งให้ 13 หน่วยงาน เพื่อใช้ในแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร และแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมส่วนนี้มากที่สุด 13,701.395 ล้านบาท รองลงมาเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ 5,690.679 ล้านบาท และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ 1,791.534 ล้านบาท

5.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 72 ล้านบาท เป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำหรับแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชนทั้งหมด
6.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานในกำกับ จำนวน 258.4 ล้านบาท เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำหรับแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน แผนงาน

ยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร และแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

7.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 31,875.769 ล้านบาท แบ่งให้ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 20,000 ล้านบาท กรมการปกครอง ใช้ตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 2,547.65 ล้านบาท และกรมการพัฒนาชุมชน ใช้ตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 9,328.118 ล้านบาท

8.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงแรงงาน จำนวน 2,120.025 ล้านบาท สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

9.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 68.118 ล้านบาท สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน

10.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 489.602 ล้านบาท สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร

11.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,988.866 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 1,421.255 ล้านบาท และ ธนาคารออมสิน จำนวน 185.725 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน 785 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน และการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1,596.855 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร

12.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 34,022.513 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 20,000 ล้านบาท กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 13,872.513 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช 150 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายกระทรวงก็จะเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมากที่สุด ถึง 3.1 หมื่นล้านบาท รองลงไปคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ไป 2.2 หมื่นล้านบาท และกองทุนหมู่บ้านฯ ก็ได้ไปถึง 2 หมื่นล้าน รวมทั้ง กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ได้ไป 1.3 หมื่นล้านบาท จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการอัดเงินงบประมาณลงไปในกลุ่มประชาชนระดับฐานรากโดยเฉพาะ

นี่จะเป็นหาเสียงจากประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2562 หรือไม่ ก็คงมองออกได้ไม่ยาก





กำลังโหลดความคิดเห็น