xs
xsm
sm
md
lg

อัมเบดการ์ : ผู้แสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในอินเดีย (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล


หลังจากอัมเบดการ์ประสบการกีดกันทางวรรณะอันเลวร้ายในคุชราต เขาก็ร้องเรียนต่อท่านมหาราชาสายาจีราว คายกวาทในบอมเบย์ อัมเบดการ์ยืนกรานที่จะไม่กลับไปทำงานที่นั่นอีก ท่านมหาราชาทรงตอบสนองอัมเบดการ์โดยประทานทุนให้อัมเบดการ์ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แท้จริงแล้ว ท่านมหาราชาได้ตัดสินพระทัยแล้วว่าจะสนับสนุนนักศึกษาจำนวนหนึ่งให้รับทุน เมื่อพิจารณาจากทักษะภาษาอังกฤษอันดีเลิศของอัมเบดการ์ เขาจึงได้รับทุนนี้ ในเดือนมิถุนายน ปี 1913 อัมเบดการ์ได้ทำข้อตกลงรับทุนไปเรียนต่อที่โคลัมเบีย โดยมีเงื่อนไขว่าทันทีที่เรียนจบ เขาจะกลับมาทำงานใช้ทุนให้รัฐบโรดา ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน อัมเบดการ์เดินทางไปสหรัฐฯ ทิ้งให้สมาชิกครอบครัวพยายามเอาตัวรอดด้วยค่าแรงอันน้อยนิดของพลรามผู้เป็นพี่ชาย

วรรณกรรมจำนวนมากเกี่ยวกับอัมเบดการ์มักจะมองการศึกษาในสหรัฐฯ ของเขาอย่างผิวเผิน แท้จริงแล้ว สิ่งที่อัมเบดการ์ได้นั้นมีมากกว่าปริญญาบัตร หรือสูทสีฟ้าที่เขามักจะสวมใส่ อย่างน้อยที่สุดการศึกษาในสหรัฐฯ ก็ช่วยให้อัมเบดการ์ได้เครื่องมือวิเคราะห์ระบบวรรณะที่สำคัญมาก แม้ในช่วงแรกอัมเบดการ์วัย 22 ปีจะไม่ใส่ใจการเรียนมากนัก เพราะบรรยากาศในนิวยอร์กแตกต่างกับอินเดียมาก เขาใช้เวลาดูละคร เล่นแบดมินตัน เล่นสกี และมีเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่คบค้าสมาคมกับเขาโดยปราศจากการตีตราทางวรรณะ ดังที่เขาเคยกล่าวไว้ในบทความของเขาที่เขียนให้นิตยสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1930 ว่า "เพื่อนดีที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยมีมาในชีวิต คือเพื่อนร่วมชั้นบางคนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และอาจารย์ผู้ยอดเยี่ยมหลายท่าน ทั้งจอห์น ดิววี, เจมส์ ชอทเวล, เอ็ดวิน เซลิกแมน และเจมส์ ฮาร์วี โรบินสัน”
อัมเบดการ์ในสูทสีฟ้า ไม่ทราบปีที่ถ่าย (เครดิตภาพ : Incarnation… โดย สุนิล คิลนานี หน้า 478)
เมื่อเวลาผ่านไปได้สักพักหนึ่ง อัมเบดการ์ก็เริ่มรู้สึกผิด เริ่มตระหนักแล้วว่า เขามาศึกษาที่โคลัมเบีย และทิ้งให้สมาชิกครอบครัวลำบากอยู่ในบอมเบย์ อัมเบดการ์เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่า อัมเบดการ์ได้ซื้อหนังสือมือสองในนิวยอร์กอ่านมากถึง 2,000 เล่ม ณ โคลัมเบีย อัมเบดการ์ศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เขาก็ทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้แขนงวิทยาอื่นๆ ทั้งด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย ในช่วงเวลาที่อัมเบดการ์กำลังศึกษานั้น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย

ดิววีนักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักการศึกษาคนสำคัญช่วยเปิดทางให้อัมเบดการ์เห็นศักยภาพของสถาบันทางประชาธิปไตยที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น จากชอทเวลผู้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และผู้สนับสนุนให้ผนวกรวมหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ในสหประชาชาติ อัมเบดการ์เรียนรู้ความสำคัญของสิทธิเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้า อัมเบดการ์เขียนดุษฎีนิพนธ์โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อเซลิกแมน นักวิชาการชั้นนำด้านระบบการจัดเก็บภาษีและการคลังสาธารณะ หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ของเขาคือ ‘วิวัฒนาการการเงินระดับแคว้นในบริติชอินเดีย’ ซึ่งได้รับตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1927 สารัตถะของดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้วิพากษ์ระบบจักรวรรดิอังกฤษและผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาอินเดีย และจากโรบินสัน นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อัมเบดการ์เริ่มเข้าใจประวัติศาสตร์ในฐานะการเคลื่อนไหวเชิงก้าวหน้า นอกเหนือจากนักวิชาการที่กล่าวมา ยังมีแฟรงคลิน กิดดิงส์ นักสังคมวิทยา และอเล็กซานเดอร์ โกลเดนไวเซอร์ นักมานุษยวิทยา ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นนักวิชาการแนวหน้าในการพัฒนาความคิดของอเมริกา คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า ไม่น่าจะมีสถาบันการศึกษาใดในเวลานั้นอีกแล้วที่อัมเบดการ์จะได้รับการศึกษาทั้งเชิงกว้างและลึกพร้อมกับวิธีที่ปฏิบัติได้จริงดังที่ตนได้รับจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ช่างน่าเสียดายมากที่วรรณกรรมจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการศึกษาของอัมเบดการ์ ณ โคลัมเบีย ละเลยหรือปฏิเสธที่จะกล่าวถึงอิทธิพลของการต่อสู้กับการเหยียดผิวโดยปัญญาชนผิวดำที่มีต่ออัมเบดการ์ จำต้องตระหนักด้วยว่า ช่วงเวลาที่อัมเบดการ์ศึกษาที่สหรัฐฯ คือระหว่างปี 1913-1916 ประมาณ 40 ปีก่อนศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ จะตัดสินคดีระหว่าง ‘แอร์นันเดส กับ รัฐบาลเท็กซัส’ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1954 ว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันและกลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ ในสหรัฐฯ มีสิทธิได้รับการคุ้มครองภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 14 ตามด้วยคำตัดสินคดีสำคัญระหว่าง ‘บราวน์ กับ คณะกรรมการศึกษาแห่งโทเปกา รัฐแคนซัส’ ในวันที่ 17 พฤษภาคม ปี 1954 ซึ่งห้ามมิให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแยกสำหรับผิวขาวและผิวสีอีกต่อไป กล่าวอีกนัยคือ สิ่งอำนวยความสะดวกต้องใช้ร่วมกันระหว่างเชื้อชาติต่าง ๆ ได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

แม้แต่งานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอัมเบดการ์โดยเอเลอาเนอร์ เซลเลียต ก็ปฏิเสธอิทธิพลของการต่อสู้การเหยียดผิวโดยปัญญาชนผิวดำที่มีต่ออัมเบดการ์ เซลเลียตกล่าวในความเรียง ‘ประสบการณ์ของอัมเบดการ์ในอเมริกา’ ในหนังสือของเขาว่า

“ข้อเปรียบเทียบโดยตรงระหว่างนิโกรในอเมริกากับผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวในอินเดีย มิได้ปรากฏในงานเขียนของอัมเบดการ์ นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะอัมเบดการ์ปฏิเสธว่ามีพื้นฐานทางเชื้อชาติในการห้ามแตะเนื้อต้องตัว เขาแตกต่างจากผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวคนอื่นๆ เกือบทั้งหมด เพราะเขาปฏิเสธข้อโต้แย้งว่าพวกห้ามแตะเนื้อต้องตัวเป็น ‘อาทิทราวิฑ’ (พวกทราวิฑกลุ่มแรก) หรือ ‘อาทิธรรม’ (ศาสนาแรก คือมีมาก่อนอารยัน) แต่เน้นว่าพวกเขามีภูมิหลังทางเชื้อสายเดียวกับชาวอินเดียพวกอื่น”

ในอีกตอนหนึ่งของความเรียงเดียวกัน เซลเลียตเสริมความคิดดังกล่าวของตนอีกครั้งว่า “อัมเบดการ์มิได้รับอิทธิพลมาจากการต่อสู้ของพวกนิโกร (พวกเขาชอบเรียกตัวเองว่าแอฟริกันอเมริกันหรือคนดำมากกว่า) ในอเมริกา” หากแต่วิธีของอัมเบดการ์ที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ในสหรัฐฯ มาจากอุดมการณ์ที่ “สัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาธิปไตยอเมริกันที่มีลักษณะมองในแง่ดีและในทางปฏิบัติจริง ซึ่งสั่งสอน (แต่มิได้ปฏิบัติจริง) เรื่องความเท่าเทียม ไม่มีการกีดกันการเคลื่อนไหวสู่ด้านบน การใช้เครื่องจักรเพื่อสร้างเวลาว่างให้แก่มนุษย์ และทัศนคติการเคารพปัจเจกบุคคลทุกคน”

ข้อความของเซลเลียตทั้งหมดอาจจะมีส่วนที่ถูกต้องบ้าง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อัมเบดการ์ได้เปรียบเทียบระหว่างทาสกับผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว ในความเรียง ‘ทาสกับผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว’ อัมเบดการ์เปรียบเทียบระบบทั้งสองที่ไร้มนุษยธรรม โดยสำแดงให้เห็นระดับการแบ่งแยกและความเสียหายทางจิตวิทยาที่เกิดจากระบบทั้งสองว่า

“ความเป็นทาสไม่เคยเป็นเรื่องผูกมัด แต่การห้ามแตะเนื้อต้องตัวเป็นเรื่องผูกมัด กฎหมายว่าด้วยทาสอนุญาตให้มีการไถ่ตัวได้ ทาสจึงมิได้มีชะตากรรมที่ว่าเมื่อเป็นทาสแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดกาล แต่ในการห้ามแตะเนื้อต้องตัวนั้นไม่มีช่องทางให้หลุดพ้นได้เลย เมื่อเป็นผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวแล้ว ก็จะต้องเป็นไปตลอดกาล ความแตกต่างอีกข้อหนึ่งคือการห้ามแตะเนื้อต้องตัวนั้นเป็นรูปแบบการกดขี่เป็นทาสทางอ้อม การลิดรอนเสรีภาพของมนุษย์โดยทางตรงและเปิดเผยนั้น ยังคงเป็นการกดขี่เป็นทาสที่พึงปรารถนากว่า เพราะทำให้ทาสสำนึกรู้ว่าตนตกเป็นทาส และความสำนึกรู้ว่าตกเป็นทาสนั้นเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่สุดต่อการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ แต่หากบุคคลถูกลิดรอนเสรีภาพโดยทางอ้อมแล้วไซร้ เขาย่อมไม่สำนึกรู้ว่าตนตกเป็นทาสอยู่ การห้ามแตะเนื้อต้องตัวนี่แหละ คือรูปแบบการกดขี่เป็นทาสทางอ้อมนั้น”

จำต้องตระหนักด้วยว่า ช่วงเวลาที่อัมเบดการ์ศึกษา ณ โคลัมเบียนั้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาวผิวดำในสหรัฐฯ คือช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาร์เลม เมื่อนักคิดนักเขียนชาวผิวดำพยายามปลดแอกตนออกจากจินตนาการของคนผิวขาวที่นิยามการดำรงอยู่ของพวกเขา และการต่อสู้ของคนผิวดำดำเนินไปจนกระทั่งมาร์ติน ลูเธอร์ คิงเรียกร้องสิทธิให้ชาวผิวสีได้สำเร็จในทศวรรษ 1960 (แม้ทุกวันนี้การเหยียดผิวในสหรัฐฯ จะเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า ยังมีการเหยียดผิวอยู่) น่าสังเกตด้วยว่า มหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่อัมเบดการ์กำลังศึกษาเพื่อปริญญาโทและปริญญาเอกตั้งอยู่ใกล้ฮาร์เลม ดังนั้น จึงฟังดูไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะบอกว่า อัมเบดการ์ผู้ซึ่งสนใจเรื่องความอยุติธรรมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสังคมจะไม่ได้รับอิทธิพลการต่อสู้กับการเหยียดผิวในสหรัฐฯ

เหตุผลอีกประการที่ทำให้คำกล่าวของเซลเลียต แลดูจะไม่ถูกต้องคือ อัมเบดการ์เคยเขียนจดหมายถึงดับเบิลยู.อี.บี. ดูบัวส์ ปัญญาชนชาวผิวดำคนสำคัญคนหนึ่งของสหรัฐฯ เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่จะนำประเด็นปัญหาของทลิตเข้าสู่สหประชาชาติที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นได้ไม่นาน จดหมายฉบับนี้ส่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1946 ไปยังมหาวิทยาลัยแอตลานตา จอร์เจีย สหรัฐฯ ที่ซึ่งดูบัวส์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่อัมเบดการ์ผู้ชอบอ่านและสะสมหนังสือมากกว่า 2,000 เล่มจะไม่เคยอ่านงานของดูบัวส์ โดยเฉพาะเล่ม จิตวิญญาณชาวผิวดำ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1903 และถือเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากเล่มหนึ่ง

ในยุคสมัยที่อัมเบดการ์กำลังศึกษาที่สหรัฐฯ นอกจากดูบัวส์แล้ว ยังมีปัญญาชนผิวดำคนสำคัญอีกคนคือ บุ๊คเกอร์ ที. วอชิงตัน ทั้งดูบัวส์และวอชิงตันไม่เห็นพ้องต้องกันในหลายประเด็น รวมถึงลักษณะและทิศทางการศึกษาที่ชาวผิวดำควรจะได้รับ ดูบัวส์ต้องการให้ชาวผิวดำแสวงหาการศึกษาให้มากที่สุด เพื่อให้แข่งขันกับคนผิวขาวได้อย่างเท่าเทียม และช่วยพี่น้องชาวผิวดำที่ตกระกำลำบากได้ ในขณะที่วอชิงตันประสงค์ให้ชาวผิวดำไม่มุ่งมั่นจะเป็นอย่างชาวผิวขาว แต่ควรรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่พวกตนทำได้ แม้จะมีวรรณกรรมที่พูดถึงอิทธิพลที่ปัญญาชนสองคนนี้มีต่ออัมเบดการ์อยู่บ้าง แต่ก็กล่าวได้ว่าจำต้องมีการศึกษามากกว่านี้เพื่อเข้าใจวิถีคิดของอัมเบดการ์ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากปัญญาชนสองคนนี้หรือจากคนผิวสีคนอื่น ๆ ที่กล่าวได้ค่อนข้างชัดเจนคือ ในเวลาต่อมาอัมเบดการ์เรียนรู้ที่จะประนีประนอมเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเขาเชื่อว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยปลดแอกผู้คนที่ไร้สิทธิเสรีภาพ

แม้ว่าที่โคลัมเบีย อัมเบดการ์ได้ศึกษาเกี่ยวกับสหรัฐฯ ไม่น้อยเลย แต่แลดูคล้ายว่าจิตใจของเขาผูกพันอยู่กับอินเดียตลอดเวลา กล่าวอีกนัยคือ อัมเบดการ์ไปศึกษาที่โคลัมเบียเพื่อหาความรู้หรือเครื่องมือในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอินเดีย นอกจากดุษฎีนิพนธ์ของเขาจะเกี่ยวกับอินเดียดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อัมเบดการ์ยังได้เสนอบทความในงานสัมมนาด้านมานุษยวิทยากับโกลเดนไวเซอร์ในหัวข้อ ‘วรรณะในอินเดีย กลไก การกำเนิด และพัฒนาการ’ ซึ่งต่อมาในปี 1917 ได้รับตีพิมพ์เป็นบทความใน Journal of Indian Antiquity ในงานเขียนเกี่ยวกับวรรณะนี้ อัมเบดการ์มิได้โจมตีความไม่เป็นธรรมของระบบวรรณะ หากแต่พยายามจะหาฐานเพื่อเสนอทฤษฎีอธิบายพัฒนาการของระบบวรรณะ ประเด็นสำคัญสองประเด็นในบทความดังกล่าวคือ (1) มีวัฒนธรรมอินเดียพื้นฐานที่เป็นเอกภาพ และ (2) การแบ่งแยกทางวรรณะมิได้เกิดผ่านปัจจัยเชื้อชาติ สีผิว หรืออาชีพ หากแต่ระบบวรรณะพัฒนาผ่านกระบวนการที่กลุ่มอื่นริเริ่มการแต่งงานในกลุ่มเดียวกันของวรรณะพราหมณ์ การวิเคราะห์พัฒนาการระบบวรรณะโดยอัมเบดการ์ที่โคลัมเบียสำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นฐานทฤษฎีของเขาในเวลาต่อมาแล้ว ยังทำให้เขาสนใจศึกษาระบบสังคมอย่างจริงจังด้วย น่าจะด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ในภายภาคหน้าอัมเบดการ์สถาปนาภาควิชาสังคมวิทยา ณ วิทยาลัยสิทธารถในบอมเบย์

พัฒนาการความเข้าใจเรื่องวรรณะในบริบทขบวนการชาตินิยมอินเดียของอัมเบดการ์เริ่มประจักษ์ชัดแจ้งในสมัยที่เขาเรียนที่นิวยอร์กด้วย ที่นั่นเขามีโอกาสพบนักชาตินิยมชาวอินเดียคนสำคัญชื่อ ลาลา ลาจปัต ราย ผู้ซึ่งขณะนั้นเดินทางในสหรัฐฯ ในนามของ ‘สันนิบาตอินเดียสวราชแห่งอเมริกา’ เพื่อหาแรงสนับสนุนในการต่อต้านอังกฤษที่ครอบครองอินเดีย อัมเบดการ์มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมที่รายจัดอยู่หลายครั้ง แต่อัมเบดการ์ก็โต้เถียงกับรายโดยให้ความเห็นว่า ขบวนการชาตินิยมอินเดียเพิกเฉยต่อประเด็นปัญหาของทลิต รายให้ความหวังแก่อัมเบดการ์ รายเชื่อว่าประเด็นปัญหาของทลิตย่อมต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังทันทีหลังอินเดียได้รับเอกราชแล้ว อัมเบดการ์รู้สึกไม่พอใจกับความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของราย และแม้ว่าหลังจากนั้นอัมเบดการ์จะเลิกเข้าร่วมประชุมที่รายจัด แต่ทั้งสองก็ยังญาติดีกันอยู่

ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีวรรณะ ภายหลังอีกไม่นานอัมเบดการ์ได้เริ่มสำแดงความเห็นของตนในเรื่องนี้อย่างมั่นใจ เขาได้โต้แย้งว่า ระบบวรรณะอันเข้มงวดที่มีอยู่ซึ่งส่งผลกระทบเชิงปฏิปักษ์ต่อทลิตนั้น “สร้างขึ้นโดยกฎทางสังคมและเครือญาติอันแบ่งแยกต่างหากของพวกวรรณะพราหมณ์ และแพร่กระจายออกไปด้วยกลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีระดับต่ำที่สุดที่เลียนแบบกฎเกณฑ์ของพราหมณ์ พวกเขาทำเช่นนั้นโดยเชื่อว่าผลดีในทางจิตวิญญาณ สังคม และเศรษฐกิจจะเข้ามาสู่ตนด้วย” อัมเบดการ์คัดค้านวิถีที่ใคร ๆ มองว่าระบบวรรณะมีฐานมาจากความแตกต่างทางเชื้อสาย ดังที่มีตัวอย่างในการตีความของโชติราว ฟูเลว่าด้วยประวัติศาสตร์พราหมณ์ชาวอารยันที่รุกรานดินแดนของชาวทราวิฑ อัมเบดการ์เห็นว่า ข้ออภิปรายที่ว่าวรรณะมีฐานมาจากการแบ่งงานกันทำนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล การวิเคราะห์ระบบวรรณะในอินเดียโดยอัมเบดการ์นี้ จะนำไปสู่การตระหนักรู้อันสำคัญที่ว่า ระดับสูงต่ำของวรรณะนั้นสามารถบังคับใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการข่มเหงทางกายหรือมีน้อยที่สุด ระบบดังกล่าวดำเนินไปโดยความสมัครใจยินยอม ตามสิ่งที่อัมเบดการ์อธิบายไว้อย่างชาญฉลาดว่าเป็น “ระดับความเคารพยำเกรงจากล่างขึ้นบน และระดับความพึงพอใจจากบนลงล่าง” สิ่งนี้เองที่คอยยับยั้งการร่วมมือท้าทายระบบดังกล่าวมิให้เกิดขึ้น ดังที่อัมเบดการ์ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดว่า

“ในระบบความไม่เท่าเทียมที่มีการจัดแบ่งระดับ ฝ่ายที่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจนั้นมิได้อยู่ในระดับทั่วๆ ไป สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระดับสูงต่ำเท่านั้น ในระบบความไม่เท่าเทียมที่มีการจัดแบ่งระดับนั้นย่อมมีระดับสูงสุด (พราหมณ์) ต่ำกว่าระดับสูงสุดคือระดับสูงกว่า (กษัตริย์) ต่ำกว่าระดับสูงกว่าคือระดับสูง (แพศย์) ต่ำกว่าระดับสูงคือระดับต่ำ (ศูทร) ต่ำกว่าระดับต่ำคือระดับต่ำกว่า (พวกห้ามแตะเนื้อต้องตัว) ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีความขุ่นเคืองต่อผู้อยู่ระดับสูงสุด และล้วนอยากล้มล้างผู้สูงสุดทั้งนั้น แต่พวกเขาก็จะไม่รวมตัวกัน ระดับสูงกว่ากระหายใคร่จะขจัดระดับสูงสุด แต่ก็ไม่อยากรวมตัวกับระดับสูง ต่ำ หรือต่ำกว่า มิฉะนั้นพวกนั้นจะกลายเป็นระดับเดียวกันและมีฐานะเสมอกัน ระดับสูงก็อยากจะขจัดระดับสูงกว่าที่อยู่เหนือตน แต่ก็ไม่อยากจะจับมือกับระดับต่ำและต่ำกว่า มิฉะนั้นพวกนั้นก็จะยกฐานะขึ้นมามีระดับเท่าตน ระดับต่ำก็อยากจะขจัดระดับสูงสุด สูงกว่า และสูง แต่ก็จะไม่ยอมร่วมงานกับระดับต่ำกว่า ด้วยเกรงว่าระดับต่ำกว่าจะได้ฐานะทางสังคมสูงขึ้นเท่าเทียมกับเขา ในระบบความไม่เท่าเทียมที่มีการจัดแบ่งระดับนั้น ไม่มีชนชั้นใดจะสูญสิ้นสิทธิโดยสมบูรณ์ นอกจากชนชั้นที่อยู่ฐานต่ำสุดของพีระมิดทางสังคมเท่านั้น สิทธิพิเศษของชนชั้นอื่น ๆ นั้นแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ กัน แม้แต่ระดับต่ำก็ยังมีสิทธิพิเศษ หากเทียบกับระดับต่ำกว่า เมื่อทุกระดับมีสิทธิพิเศษของตน ทุกระดับก็ย่อมพึงพอใจในการรักษาระบบอยู่แล้ว”

ไม่แน่ใจว่าอัมเบดการ์มาสู่การวิเคราะห์ระบบวรรณะในอินเดียอันทรงพลังนี้ได้อย่างไร จะเป็นเพราะเขาได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการคนใดคนหนึ่งของโคลัมเบียหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่มั่นใจได้แน่นอนคือ อัมเบดการ์มีความรู้เกี่ยวกับระบบวรรณะอินเดียอย่างแตกฉาน ส่วนหนึ่งคงเพราะพ่อรามยีทำให้อัมเบดการ์สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งอัมเบดการ์ที่มีการศึกษาในอนาคตจะต่อสู้กับระบบวรรณะอย่างมีอานุภาพ อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากประสบการณ์ที่เขาเคยถกเถียงเอาชนะผู้อื่นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งประสบการณ์นี้ทำให้เขาเห็นว่า การจรรโลงระบบวรรณะอันเลวร้ายมาจากขนบหรือความเชื่อที่ผู้อยู่ในระบบได้รับประโยชน์ และดังนั้นจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะออกจากระบบดังกล่าว จะด้วยเหตุใดก็ตาม จำต้องยอมรับว่าการวิเคราะห์ระบบวรรณะอันทรงพลังของอัมเบดการ์ยังมีอิทธิพลต่อชาวทลิตในปัจจุบันไม่น้อยเลย ดังที่ทลิตคนหนึ่งให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนไว้ว่า

“ทุกวันนี้การกีดกันทางวรรณะยังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ อาจจะแลดูน้อยกว่าสมัยอัมเบดการ์ก็ได้ แต่ในความเป็นจริงก็พบเห็นความรุนแรงอันป่าเถื่อนต่อทลิตในหลายเหตุการณ์ด้วย … การวิเคราะห์ของอัมเบดการ์ทั้งถูกต้องและมีประโยชน์มาก ... มันทำให้เราเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่กฎหมายห้ามการกีดกันทางวรรณะ แต่ตราบใดที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังมีความเชื่อที่จะจรรโลงระบบวรรณะเพราะพวกเขาได้ประโยชน์ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเอาชนะมันได้ ... นี่ก็เป็นเรื่องราวที่คล้ายกับการเหยียดผิวในตะวันตก แม้ทุกประเทศในตะวันตกมีกฎหมายห้ามการเหยียดผิว แต่เราก็ทราบดีว่าการเหยียดผิวยังคงอยู่ ... [ส่วน]การมองวรรณะเป็นเรื่องการแบ่งงานนั้น ผมต้องการจะบอกว่า ไม่มีทลิตคนไหนหรอกที่ชอบทำงานสกปรกและพอใจกับการเป็นผู้คน ‘แปดเปื้อน’ ถึงจะดูคล้ายว่าทลิตหลายคนจะยอมรับกับสิ่งที่ ‘ชะตา’ กำหนด แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาจำต้องยอมรับเพราะระบบสังคมบังคับต่างหาก ยิ่งต้องปากกัดตีนถีบเพื่ออยู่รอด พวกเขาก็ยิ่งต้องยอมรับ ... มนุษย์จำนวนมากใฝ่ฝันจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แล้วทำไมจึงต้องคิดว่าทลิตจะไม่ใฝ่ฝันบ้าง การนำวรรณะไปผูกกับความเชื่อเรื่องแบ่งงานนอกจากจะไม่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นความคิดที่โหดร้าย ช่วยจรรโลงระบบ[วรรณะ]ที่เป็นอยู่ และไม่คำนึงถึงความเป็นคนของทลิตด้วย”

ณ นิวยอร์ก ที่ซึ่งอัมเบดการ์เลือกเขียนดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับอินเดีย เลือกเขียนบทความเกี่ยวกับวรรณะในอินเดีย และโต้เถียงกับรายในประเด็นที่ว่าขบวนการชาตินิยมอินเดียดีแต่กระตือรือร้นที่จะปลดแอกอินเดียแต่กลับเมินเฉยต่อการปลดแอกทลิต ทำให้เชื่อได้ว่า หลังจากอัมเบดการ์จบปริญญาโทในปี 1915 และส่งดุษฎีนิพนธ์ในปี 1916 เพื่อปริญญาเอก ณ โคลัมเบีย พร้อมกับทุนที่ได้รับจากบโรดาเพื่อการศึกษาก็หมดลงแล้วนั้น เขาน่าจะกลับไปต่อสู้เรื่องวรรณะในอินเดียอย่างแน่นอน ทว่าเขากลับตัดสินใจที่จะไปศึกษาต่อที่ลอนดอน เพื่อให้ได้วุฒิเนติบัณฑิต อันเป็นพื้นฐานอีกข้อสำหรับเลี้ยงตนให้รอด แต่เนื่องจากไม่ได้จบปริญญาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์โดยตรง เขาจึงเสนอขอเข้าเรียนปริญญาเศรษฐศาสตร์ที่นั่นด้วย เพื่อหาต้นสังกัดเรียนเนติบัณฑิต ทางการของบโรดาไม่อนุมัติที่จะขยายทุนให้เขาอีก 2 ปี ดังนั้นแล้ว อัมเบดการ์จึงทำเรื่องอุทธรณ์ต่อท่านมหาราชาโดยตรง แม้จะยังไม่ทราบผลของการอุทธรณ์และมีเงินติดตัวไม่มากนัก แต่เขาก็ตัดสินใจเสี่ยงโชคเดินทางไปลอนดอน

เมื่อถึงลอนดอนได้ 2 วัน อัมเบดการ์ก็ได้รับจดหมายแจ้งว่าบโรดาได้พิจารณาการอุทธรณ์แล้วและอนุมัติให้อัมเบดการ์ขยายทุนเป็นเวลาอีก 1 ปีเท่านั้น เขาจึงลงทะเบียนเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน และลงทะเบียนเรียนเนติบัณฑิตที่เกรย์สอินน์ อยู่ลอนดอนได้หนึ่งปี อัมเบดการ์ได้เขียนโครงร่างสำหรับวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่มีชื่อว่า ‘การกระจายการเงินของอินเดียสู่ระดับแคว้น’ แต่ก็ทำได้เพียงโครงร่าง เพราะทุนที่ขยายเวลาให้ 1 ปีนั้น ไม่ได้รับขยายเวลาต่อไปอีก อัมเบดการ์ถูกบังคับให้กลับอินเดีย จะตัดสินใจอยู่ต่อก็ไม่ได้เพราะตนไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกต่อไป

เมื่อกลับอินเดียเขาจำต้องทำงานในรัฐบโรดา แม้ครั้งนี้เขาจะมีปริญญาบัตรจากโคลัมเบีย และมีความรู้ความสามารถที่พิเศษกว่าหลาย ๆ คน แต่ก็หนีไม่พ้นจากการถูกเหยียดวรรณะอีก ครั้งนี้อัมเบดการ์ต้องใช้ชื่อปาร์ซีเพื่อให้ได้ที่พักในหอพักของชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซี แม้อัมเบดการ์ในครั้งนี้จะดำรงตำแหน่งเลขานุการกองทัพของมหาราชาแห่งบโรดา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คาดว่าจะนำไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าในด้านการเงินการคลัง แต่พราหมณ์ที่ดำรงตำแหน่งทั้งเสมียนหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของอัมเบดการ์ก็รังเกียจเดียดฉันท์เขา ทำให้อัมเบดการ์มิอาจหาความชัดเจนในหน้าที่การงานที่ตนได้รับมอบหมายได้ ในเวลาทำงานเพื่อนร่วมงานก็มักจะยืนห่างจากเขา และหากต้องนำเอกสารส่งให้เขา ก็จะโยนไว้บนโต๊ะเพื่อเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือการสัมผัสตัว มิหนำซ้ำผู้ร่วมงานของเขาก็มักจะพูดจาหยาบคายกับเขา และกล่าวถึงเขาในแง่ร้ายให้เขาได้ยินด้วย อัมเบดการ์ได้ขอให้ท่านมหาราชาแทรกแซง แต่ก็ไม่มีผลใด ๆ

ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดท่านมหาราชาจึงไม่แทรกแซง แต่ที่แน่ชัดคือการไม่แทรกแซงของท่านมหาราชานี้น่าจะทำให้อัมเบดการ์เริ่มตกผลึกบ้างแล้วว่า การขจัดการกีดกันทางวรรณะจะมาจากคนที่มีวรรณะไม่ได้ หากแต่จะต้องมาจากการต่อสู้ของชาวทลิตเท่านั้น ดังที่ในภายหลังเขาประกาศว่า

“การห้ามแตะเนื้อต้องตัวนั้น มีรากเหง้าอยู่ในระบบวรรณะ พวกเขาไม่ต้องคาดหวังเลยว่าพวกพราหมณ์จะลุกขึ้นต้านระบบวรรณะ เพราะตัวระบบได้ให้สิทธิพิเศษแก่พราหมณ์ และพวกเขาย่อมไม่ยอมสละสิทธิ์เหล่านั้นด้วยความเต็มใจเอง ... นี่ย่อมหมายความว่า พวกเราเองนั่นแหละต้องสู้ศึกของเราเอง ด้วยความเชื่อมั่นตนเอง”

แม้อัมเบดการ์จะไม่ใช่คนที่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แต่ ณ ขณะนี้ก็ใช่ว่าเขาจะพร้อมต่อสู้กับการเหยียดวรรณะได้ อัมเบดการ์จึงใช้เวลาอยู่คนเดียวเพื่ออ่านหนังสือแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อน เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำในสมัยเรียนระดับมัธยมปลายและปริญญาตรี โดยหวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสที่จะต้องต่อสู้กับระบบวรรณะอันเลวร้ายอย่างจริงจัง และแล้วในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1917 อัมเบดการ์ต้องตัดสินใจเดินทางออกจากบโรดาไปอยู่บอมเบย์อย่างถาวร เพราะชาวปาร์ซีกลุ่มหนึ่งขับไล่เขาออกจากหอพักหลังทราบว่าเขาเป็นทลิตที่ใช้ชื่อปาร์ซีโดยมีเจตนาเพื่ออาศัยในหอพักของปาร์ซี ชาวปาร์ซีกลุ่มนี้นอกจากจะเข้าไปยึดห้องอัมเบดการ์แล้ว ยังหมายมั่นปั้นมือที่จะทำร้ายเขาด้วย อัมเบดการ์ร้องไห้ เขารู้สึกขุ่นเคืองและเสียใจที่วุฒิการศึกษาดี ๆ ของเขามิอาจจะปกป้องศักดิ์ศรีพื้นฐานแห่งความเป็นคนของตัวเองได้

และแล้วในบอมเบย์ ความยากจนข้นแค้นก็กลับมาเยือนอัมเบดการ์อีกครั้ง ใบสมัครงานที่เขาส่งไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนก็ไม่ได้รับการตอบรับ และรายได้จากงานเขียนที่อัมเบดการ์เคยคาดหวังว่าน่าช่วยให้เขายังชีพได้ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย อัมเบดการ์จึงพยายามสอนพิเศษ และตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจเพื่อดำรงชีพ แต่ธุรกิจนี้ก็ล้มเหลวเพราะไม่น่าจะมีลูกค้าที่ต้องการคำปรึกษาทางธุรกิจจากทลิต ในช่วงเวลาหนึ่งมีนักธุรกิจเชื้อสายปาร์ซีให้เขาดูแลบัญชีและตอบจดหมายลูกค้าของนักธุรกิจคนนี้ ในที่สุดความยากลำบากของอัมเบดการ์ก็ได้รับการแก้ปัญหาเมื่อวิทยาลัยการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์ซิดแนมเสนอให้เขารับตำแหน่งอาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมือง ตำแหน่งนี้ได้มาจากการแนะนำโดยคนรู้จักในลอนดอน คือลอร์ดซิดแนม อดีตผู้ว่าการแคว้นบอมเบย์ ซึ่งวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งชื่อตามเขานั่นเอง ตำแหน่งที่ว่านี้มีระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918

ตำแหน่งอาจารย์ ณ วิทยาลัยซิดแนมย่อมหมายว่า อัมเบดการ์จะแก้ไขปัญหาความยากจนของตนและครอบครัวได้ และจะสามารถเก็บเงินเพื่อไปเรียนต่อที่ลอนดอนด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ที่เขาเคยลงทะเบียนเรียนไว้ให้สำเร็จ เพราะความประสงค์ที่จะศึกษาต่อที่ลอนดอนเป็นสิ่งที่คาใจเขาตลอดเวลานับตั้งแต่เขาต้องกลับจากลอนดอน จึงแลดูคล้ายว่า การได้รับตำแหน่งอาจารย์ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ผนวกกับความมุ่งมั่นที่จะศึกษากฎหมายเพื่อยึดเป็นอาชีพน่าจะทำให้เขาใช้วิทยาลัยซิดแนมเป็นหนทางเพื่อไปสู่เป้าหมายของตนได้ ดังนั้นแล้ว เขาจึงไม่น่าจะจริงจังกับการสอนมากเท่าไร ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อัมเบดการ์กลับทุ่มเทกับการสอนหนังสืออย่างจริงจัง ทำให้เขาโด่งดังและดึงดูดนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นให้เข้าฟังการบรรยายของเขาได้อย่างล้นหลาม ดังที่กีร์ ผู้เขียนชีวประวัติอัมเบดการ์คนแรกเขียนว่า

“อาจารย์หนุ่มแต่งตัวดี มีการศึกษาลึกซึ้ง ดวงตามีประกายจริงจัง กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ และด้วยเหตุนี้จึงมีนักศึกษาจากวิทยาลัยอื่นขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษมาร่วมเรียนในชั้นเรียนของเขาด้วย ว่ากันว่าบันทึกและเอกสารอื่นๆ ที่เขารวบรวมไว้เพื่อเตรียมการสอน มีปริมาณมหาศาลขนาดที่นำไปผลิตงานชิ้นใหญ่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ได้เลยทีเดียว”

ความรู้ความสามารถทางวิชาการของอัมเบดการ์ยังสำแดงผ่านงานเขียนทางวิชาการของเขาด้วย นั่นคือ ในปี 1918 Journal of Indian Economic Society ซึ่งเป็นวารสารใหม่ขณะนั้นได้ตีพิมพ์สองบทความที่เขียนโดยอัมเบดการ์ บทความแรกอัมเบดการ์ได้เขียนบทปริทรรศน์ หนังสือ หลักแห่งการสร้างสังคมใหม่ ที่เขียนโดยแบร์ทรานด์ รัสเซล นักคิดคนสำคัญชาวบริติช ผู้ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีในปี 1950 บทความที่สองเป็นบทความด้านเศรษฐศาสตร์เรื่อง ‘ผู้ถือครองรายย่อยในอินเดีย และหนทางเยียวยาพวกเขา’ แม้ทั้งสองบทความจะไม่เกี่ยวกับระบบวรรณะโดยตรง แต่ต่างก็บ่งชี้ความสามารถทางวิชาการของอัมเบดการ์ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์โดยรวม

อัมเบดการ์ให้ชื่อบทความแรกว่า ‘นายรัสเซลกับการปฏิรูปโครงสร้างสังคม’ ในบทความแรกนี้บ่งบอกว่าอัมเบดการ์นั้นมีทัศนคติที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้ศรัทธาในการพัฒนาและความก้าวหน้า อัมเบดการ์ปฏิเสธทรรศนะแบบนิ่งเฉยตามขนบอินเดียและหลักการจำกัดความต้องการ เขามองว่าการเจริญเติบโตทั้งในการผลิตและการบริโภคเป็นส่วนของพัฒนาการมนุษยชาติ เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ทรัพย์สินเป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวมันเอง หากแต่การกระจายทรัพย์สินที่ไม่เสมอภาคต่างหากที่ชั่วร้าย บทความที่สองกล่าวถึงความล้าหลังของเกษตรกรรมอินเดีย การผลิตทางเกษตรกรรมในอินเดียไม่มีประสิทธิภาพ มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามากมาย และระบบเศรษฐกิจทั้งระบบปรับตัวได้ไม่ดี และในสุดท้ายได้เสนอว่าการพัฒนาการผลิตที่มิใช่เชิงเกษตรกรรมเป็นทางออกหลักของปัญหาเกษตรกรรมอินเดีย

แม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงใด หรือจะจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเพียงใดก็ตาม เพื่อนร่วมงานวรรณะสูงบางคนในวิทยาลัยซิดแนม ก็ยังเหยียดความเป็นคนนอกวรรณะของเขาอยู่ อัมเบดการ์ไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำจากเหยือกในห้องพักอาจารย์ ถึงแม้อัมเบดการ์จะไม่ยอมรับการกีดกันทางวรรณะ และยังมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เขาคงจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนแล้วว่า การต่อสู้กับผู้คนไม่กี่คนในองค์กรเดียวหาใช่ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่ อัมเบดการ์จึงเลือกที่จะต่อสู้กับสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะเสียเวลาต่อสู้กับคนไม่กี่คน

ในปี 1919 อัมเบดการ์ได้ตอบสนองความปรารถนาที่จะต่อสู้กับระบบวรรณะในเชิงกว้าง เมื่อเขาใช้นามปากกาเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ เดอะไทม์ออฟอินเดีย ฉบับวันที่ 16 มกราคม 1919 แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชโดยชาวอินเดียในลักษณะเดียวกับที่เคยถกเถียงกับรายในนิวยอร์กว่า ก่อนจะคิดเรื่องเอกราช ชาวอินเดียโดยเฉพาะชนชั้นอภิสิทธิ์จำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ต้องนึกถึงสิทธิของชนชั้นที่ถูกกดขี่ อัมเบดการ์เสนอด้วยว่า เพราะฉะนั้นหน้าที่แรกของชนชั้นอภิสิทธิ์คือต้องให้การศึกษา สร้างความรู้แจ้ง และยกระดับพวกเขาขึ้น มิฉะนั้นสวราชย่อมจะเกิดขึ้นมิได้

ในปีเดียวกันนี้ อัมเบดการ์ได้ให้การต่อคณะกรรมการเซาธ์เบอโร ซึ่งขณะนั้นกำลังแสวงหาข้อมูลเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามแผนปฏิรูปมงตากิว-เชล์มสเฟิร์ดของรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในอินเดียด้วย อัมเบดการ์ประสงค์ที่จะให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแยก และมีที่นั่งสำรองสำหรับทลิตตามสัดส่วนประชากร ในปี 1919 ด้วยที่อัมเบดการ์มีโอกาสใกล้ชิดกับมหาราชาแห่งโกลหาปูร์ กษัตริย์หัวปฏิรูปอีกท่านหนึ่ง ท่านมหาราชาทรงช่วยเหลือบางส่วนให้อัมเบดการ์จัดทำหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ มุกนายัก (ผู้นำแห่งบรรดาผู้ถูกปิดปากเงียบ) ตามความประสงค์ของอัมเบดการ์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกวันที่ 31 มกราคม ปี 1920 แม้ว่าอัมเบดการ์จะไม่ใช่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นี้ แต่เขาคือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะมันคือกระบอกเสียงของเขา ในฉบับแรกนี้เองที่อัมเบดการ์ได้เปรียบอินเดียเสมือนบ้านแห่งความไม่เสมอภาค และอธิบายสังคมฮินดูเป็นหอคอยหลายชั้นที่ปราศจากทั้งบันไดทั้งทางเข้า บทความเสริมต่อด้วยว่า จะต้องพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อปลดแอกบรรดาผู้ถูกกดขี่ให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส ความยากจน และความไม่รู้ ในบทความอื่นๆ เนื้อหาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นั่นคือ การปกครองตนเองหรือสวราชจะต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกเหยียบย่ำเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นเพียงการเปลี่ยนผู้นำจากชาวอังกฤษไปเป็นชาวอินเดีย และนี่ย่อมมิใช่สวราชสำหรับผู้ถูกกดขี่ หากแต่การเป็นทาสรูปแบบใหม่ต่างหาก หนังสือพิมพ์รายปักษ์นี้อยู่ได้ไม่นานก็จะปิดตัวลง

วันที่ 11 มีนาคม ปี 1920 คือวันทำงานวันสุดท้ายของอัมเบดการ์ ณ วิทยาลัยซิดแนม ที่อัมเบดการ์ตัดสินใจลาออกก่อนหมดสัญญาจ้างก็เพราะเขาเริ่มเก็บเงินได้ประมาณ 7,000 รูปี กับอีก 1,500 รูปีที่ท่านมหาราชาแห่งโกลหาปูร์ได้ให้อัมเบดการ์เป็นของขวัญ อัมเบดการ์ตัดสินใจที่จะใช้เงินนี้เพื่อไปศึกษาต่อที่ลอนดอนให้สำเร็จ ระหว่างเตรียมตัวเรียนต่อ เขาก็ต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างในการต่อสู้กับระบบวรรณะ และแล้วในวันที่ 21 มีนาคม ปี 1920 อัมเบดการ์ก็ได้เป็นประธานการประชุมของชาวทลิต ณ เมืองมาณกาวน์ ในรัฐโกลหาปูร์ ในงานนี้ท่านมหาราชาเข้าร่วมด้วย ความรู้ความสามารถอันโดดเด่นของอัมเบดการ์ทำให้ท่านมหาราชากล่าวว่า “… สำนึกของฉันกระซิบว่า ต่อไปจะถึงเวลาที่อัมเบดการ์เปล่งแสงเจิดจรัส เป็นผู้นำแนวหน้า มีเกียรติยศชื่อเสียงทั่วอินเดีย” และหลังจบการประชุม ท่านมหาราชากับบริวารก็สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้มีความคิดหัวโบราณทั้งหลาย ด้วยการร่วมรับประทานอาหารกับอัมเบดการ์และชาวนอกวรรณะ

ในเดือนพฤษภาคม ปี 1920 มีการประชุมที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง แท้จริงแล้ว จะเรียกว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของผู้คนที่ถูกกดขี่ทางวรรณะก็ไม่น่าจะผิด เพราะนี่คือการประชุมระดับชาติครั้งแรกของพวกเขา การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองนาคปูร์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าในภายหลังจะกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญหลักเชิงสัญลักษณ์ต่อชีวิตอัมเบดการ์ ในการประชุมครั้งนี้ซึ่งมีท่านมหาราชาแห่งโกลหาปูร์เป็นประธาน อัมเบดการ์ได้สำแดงความสามารถของตนในเรื่องสำคัญสองเรื่อง เรื่องแรกคืออัมเบดการ์ได้แสดงความเห็นต่อต้านวิตถาล รามยี ชินเด ผู้นำภารกิจกลุ่มผู้ถูกกดขี่ ที่เสนอว่า ผู้แทนของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว ควรได้รับเลือกโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ และมิใช่โดยรัฐบาลหรือโดยสถาบันที่เป็นของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว อัมเบดการ์แย้งว่า “สถาบันและบุคคลย่อมไม่มีสิทธิ์จะปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นที่ถูกกดขี่ หากมิได้บริหารโดยผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว …” สิ่งที่อัมเบดการ์ได้เสนอไว้ได้กลายเป็นหลักของผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะ กล่าวอีกนัยคือ ผู้ถูกกดขี่จะต้องพึ่งพาตนเองในการกระทำเพื่อต่อต้านระบบวรรณะ

เรื่องที่สองคือ อัมเบดการ์ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญในการรวมพลังผู้คนที่ถูกกดขี่ทางวรรณะ แม้อัมเบดการ์จะประสบความสำเร็จในการให้ 18 วรรณะย่อยของมหารรับประทานอาหารด้วยกัน แต่ก็ยังมีทลิตกลุ่มอื่นที่อัมเบดการ์มิอาจชักชวนให้ร่วมรับประทานอาหารได้สำเร็จ นี่ย่อมทำให้อัมเบดการ์เห็นแล้วว่าทฤษฎีที่เขาเคยเสนอเกี่ยวกับวรรณะนั้นน่าจะเป็นจริงแต่ยังไม่ละเอียดพอ กล่าวอีกนัยคือ แม้แต่ในความเป็นคนนอกวรรณะที่มีการแบ่งกลุ่มย่อยอีกนั้น ก็ยังมีแรงจูงใจที่จะไม่ให้ทุกคนร่วมมือกัน ในขณะเดียวกันอัมเบดการ์น่าจะเริ่มมีความมั่นใจในศักยภาพการเป็นผู้นำของตนมากขึ้นจากเดิม ที่สำคัญท่านมหาราชาดูจะหลงใหลอัมเบดการ์มากขึ้นจากการประชุมครั้งนี้

ท่ามกลางความสำเร็จนี้ คงปฏิเสธมิได้ว่า คำกล่าวที่ว่า ‘เบื้องหลังบุรุษผู้ยิ่งใหญ่หรือผู้ประสบความสำเร็จทุกคนมีสตรียืนอยู่’ นั้น เป็นจริงในกรณีของอัมเบดการ์ ชีวประวัติของอัมเบดการ์เล่มสำคัญชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าสามีจะไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ไปทำงานห่างไกลจากบ้าน ใช้เวลาศึกษาและทำงานต่อสู้กับระบบวรรณะ หรือยากจนเพียงใด รามาไบภรรยาของอัมเบดการ์ก็จะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการดูแลครอบครัวของอัมเบดการ์และของพี่ชายอัมเบดการ์ รามาไบเป็นคนมีนิสัยพูดจาน้อย ไม่ปริปากร้องเรียน หรือจู้จี้จุกจิกกับอัมเบดการ์ ในขณะเดียวกัน อัมเบดการ์ซึ่งอาศัยอยู่กับภรรยาในบ้านหลังเล็ก ๆ สองห้อง ก็จะใช้เงินอย่างมัธยัสถ์เพื่อให้เงินภรรยา พร้อมเก็บออมอีกส่วนหนึ่งเพื่อการศึกษาของตนในลอนดอน

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะพรรณนาประสบการณ์ของอัมเบดการ์ในลอนดอนและอินเดีย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นตัวตนของผู้นำคนสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่มากขึ้น

หมายเหตุ : ข้อมูลหลายส่วนในบทความนี้อ้างอิงจาก (1) Dhananjay Keer, Dr. Babasaheb Ambedkar: Life and Mission (Mumbai: Popular Prakashan, 1954, 2016); (2) K. Raghavendra Rao, Babasaheb Ambedkar (New Delhi: Sahitya Akademi, 1993, 2015); (3) Eleanor Zelliot, From Untouchable to Dalit: Essays on the Ambedkar Movement (New Delhi: Manohar, 1992, 2015), (4) Gail Omvedt, Ambedkar: Towards an Enlightened India (Haryana, India: Penguin Random House, 2004, 2008) และ (5) Sunil Khilnani Incarnations: India in 50 Lives (London: Allen Lane, 2016).


กำลังโหลดความคิดเห็น